xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” จี้ รบ.ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เตือนเปิดสัมปทานรอบ 21 ไทยเสียดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“รสนา” แจงทั้งกฎหมายทะเลระหว่างประเทศและภูมิหลังประวัติศาสตร์ไทย ชี้ชัดกัมพูชาอ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยรุกล้ำเข้ามาเขตของไทย ระบุ “แม้ว” เซ็นเอ็มโอยู 44 เสี่ยงเป็นการยอมรับตามที่กัมพูชาอ้างมั่ว อีกทั้งสัมปทานรอบ 21 มี 2 แปลงที่เกาะอยู่กับเส้นไหล่ทวีปที่เขมรอ้างสิทธิ หากปล่อยฉลุยเท่ากับยอมรับไปโดยปริยาย จี้รัฐบาลทหารยกเลิก MOU 2544 ไม่ควรไปเจรจาเพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านปิโตรเลียมก่อนแก้ไขเรื่องเส้นไหล่ทวีปให้ถูกต้องเสียก่อน ลั่นความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านต้องเร่งสร้าง แต่อธิปไตยก็ต้องรักษาให้มั่นคง

วันนี้ (16 พ.ย.) เมื่อเวลา 23.40 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อ “เหตุผลหนึ่งในหลายข้อ ว่าทำไมจึงไม่ควรเปิดสัมปทานรอบ 21”

โดยระบุว่า “พื้นที่พิพาทที่อ้างสิทธิว่าทับซ้อนกันในอ่าวไทยมีขนาดพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร (ดูแผนที่รูปที่ 1) เกิดจากเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นเส้นที่ลากผ่านยอดสูงสุดของเกาะกูดของไทยเข้ามาในอ่าวไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร จึงให้ลากเส้นไหล่ทวีปใหม่ โดยลากเส้นกึ่งกลางระหว่างเกาะกูด กับเกาะกง ของกัมพูชา ตามกฎหมายทะเล
แผนที่รูปที่1
การที่รัฐบาลสมัย พ.ต.ท ทักษิณ ไปเซ็น MOU 2544 กับกัมพูชาจึงมีความสุ่มเสี่ยงว่าประเทศไทยได้ยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิล้ำเข้ามาในเขตไทย

เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเกาะกูดที่แสดงว่าเป็นของไทยนั้น ได้ปรากฏตามหนังสือสัญญากรุงสยามและกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 23 มีนาคม ร.ศ. 125 (ค.ศ. 1907) ข้อ 2 ที่กล่าวว่า “รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด้านซ้าย แลเมืองตราดกับทั้งเกาะซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม...”

และมีหนังสือสัญญาว่าด้วยปักปันเขตแดนแนบท้าย ซึ่งกล่าวถึงเกาะกูดไว้ว่า “เขตแดนในระหว่างกรุงสยามกับอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ตั้งแต่ชายฝั่งของทะเลที่ตรงข้ามจากยอดเขาสูงที่สุดของเกาะกูดเปนหลักแล้ว...” ซึ่งหมายความว่าใช้ยอดเกาะกูดเป็นจุดเล็งไปยังชายฝั่งเพื่อกำหนดเขตแดนทางบกหลักเขตที่ 73 ไม่ใช่เป็นการแบ่งเขตทางทะเล

ดังนั้น เส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิด้วยการลากผ่านเกาะกูดของไทยนั้นจึงไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และข้อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอนุสัญญาสหประชาชชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 ได้มีการกล่าวถึงระบอบของเกาะเอาไว้ว่า “บริเวณแผ่นดินที่ก่อตัวขึ้นตามธรรมชาติ โดยมีน้ำล้อมรอบ ซึ่งอยู่เหนือในขณะน้ำขึ้นสูงสุด (ข้อ 121) และโดยสภาพมนุษย์สามารถอยู่อาศัยยังชีพได้ โดยเกาะนี้จะมีเขตทางทะเลเหมือนผืนแผ่นดิน” จากข้อกฎหมายดังกล่าว เกาะกูดย่อมมีเขตทางทะเลเช่นเดียวกับผืนแผ่นดิน

ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยได้ตีเส้นกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทย กับเกาะกงของกัมพูชาเมื่อปี 2516 จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ และตามภูมิหลังประวัติศาสตร์ไทยที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงต่อสู้เพื่อรักษาแผ่นดินไทยโดยยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้แก่เมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณให้กรุงฝรั่งเศสเพื่อแลกเอาจันทบุรีและตราด ซึ่งรวมเกาะกูดกลับมาเป็นของไทย

นักการเมืองที่มาบริหารบ้านเมือง ถ้าเห็นแก่ประโยชน์ของชาติ ย่อมต้องอาศัยการเจรจาให้มีการแก้ไขเส้นแบ่งเขตแดนให้ถูกต้องเสียก่อน แต่นักการเมืองที่เป็นกลุ่มทุนการเมือง จะไม่สนใจอธิปไตยของบ้านเมืองมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้า ซึ่งต้องตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผลประโยชน์ของใครกันแน่?

เหตุผลที่ว่ารัฐบาลไม่ควรเปิดสัมปทานรอบ 21 เพราะมีแปลงสัมปทาน 2 แปลงในสัมปทานรอบนี้ คือ G1/57 และ G2/57A (ดูแผนที่รูปที่ 2) ที่เกาะอยู่กับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิ หากมีการให้สัมปทาน 2 แปลงดังกล่าว เท่ากับประเทศไทยยอมรับเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิโดยปริยาย

รัฐบาลไทยโดยเฉพาะในยุคนี้ที่เป็นรัฐบาลทหาร จะต้องแก้ไขในสิ่งผิดที่รัฐบาลในสมัย พ.ต.ท ทักษิณ ได้สร้างปัญหาความสุ่มเสี่ยงไว้ต่ออธิปไตยด้านดินแดนทางทะเลของประเทศ ด้วยการประกาศยกเลิก MOU 2544 ในทันที ไม่ควรไปเจรจากับกัมพูชาเพื่อแสวงหาประโยชน์ด้านปิโตรเลียมก่อนที่จะแก้ไขเรื่องเส้นไหล่ทวีปที่กัมพูชาอ้างสิทธิอย่างไม่ถูกต้องเสียก่อน

ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่ต้องเร่งสร้าง แต่เหนืออื่นใด อธิปไตยเหนือดินแดนไทยต้องรักษาไว้ให้มั่นคง”
แผนที่รูปที่2
กำลังโหลดความคิดเห็น