xs
xsm
sm
md
lg

เค้าลางของความขัดแย้งใหม่ในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Balloon goes up over the South China Sea
By Peter Lee
13/08/2014

วุฒิสมาชิกสหรัฐฯผู้หนึ่งเพิ่งกล่าวคำพูดระบุยืนยันว่า สหรัฐฯและประชาคมโลกจะต้องเข้าพิทักษ์คุ้มครองไม่ให้มี “การคุมคามใดๆ” ต่อเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศอื่น ใช่หรือไม่ว่าเขากำลังสะท้อนให้เห็นฝีก้าวอันตรายของการที่สหรัฐฯขยับเข้าใกล้สู่การทำให้กรณีพิพาทเรื่องทะเลจีนใต้กลายเป็นการพิพาทกันทางการทหาร หาใช่เป็นเพียงแค่เป็นคำกล่าวลอยๆ อันไร้ความหมายจริงจัง ทั้งนี้เราต้องเข้าใจว่า ความเป็นไปได้ที่จะสั่งกองทัพเรือสหรัฐฯเคลื่อนกองนาวีเข้าไปในท่ามกลางกรณีพิพาทซึ่งเกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจจำเพาะระดับท้องถิ่น อาจจะกลายเป็นการโหมกระพือให้เกิดสถานการณ์ที่บรรดาเรือตรวจการณ์ทางทะเลของจีน ก่อกวนเล่นเอาเถิดเจ้าล่อแบบไม่ยอมเลิกกับเรือรบของสหรัฐฯก็เป็นได้

มีสัญญาณหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯกำลังจะยกระดับความเคลื่อนไหวของตนในทะเลจีนใต้ให้เพิ่มสูงขึ้นครั้งใหญ่ ถึงแม้ยังจะไม่ทำเช่นนั้นในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนที่เมืองหลวงพม่าคราวนี้ (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://www.bloomberg.com/news/2014-08-09/south-china-sea-tension-seen-dominating-asean-ministers-meeting.html)

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ผมได้เขียนเอาไว้ถึงความหงุดหงิดผิดหวังของสหรัฐฯ จากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนประสบความสำเร็จ ในการใช้ความพยายามเข้าท้าทายต่อกรกับการรณรงค์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะป้องปรามสกัดกั้นการแสดงท่าทีแข็งกร้าวยืนกรานของสาธารณรัฐประชาชนจีนในทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ ความโกรธกริ้วไม่พอใจของสหรัฐฯในกรณีเกี่ยวกับแท่นขุดเจาะน้ำมัน HYSY 981 ของจีนซึ่งถูกเคลื่อนย้ายเข้าไปในน่านน้ำที่พิพาทอยู่กับเวียดนามบริเวณนอกหมู่เกาะพาราเซล แล้วจากนั้นก็ถูกถอนออกมา ถือเป็นสัญลักษณ์ของความหงุดหงิดผิดหวังดังกล่าวนี้ ถึงแม้มันไม่ได้จำกัดอยู่แค่เฉพาะกรณีนี้เท่านั้น (ดูรายละเอียดได้ที่เรื่อง America's Scarborough Shoaldolchstoss , Asia Times Online, 15 July 2014 เว็บเพจ http://www.atimes.com/atimes/China/CHIN-01-150714.html หรือฉบับที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว ดูได้ที่เรื่อง สหรัฐฯกล่าวหาจีน ‘หักหลัง’ ข้อตกลงเกาะสคาร์โบโรโชล แท้จริงคือ ‘วอชิงตัน’เลิกเสแสร้งเล่นบท ‘คนกลาง’ เว็บเพจ http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000082003) โดยที่ผมเขียนเอาไว้อย่างนี้ครับ:

นโยบายเรื่องทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันใหม่ เรื่องนี้มีการพูดเอาไว้ในรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ดังนี้: “ความพยายามทั้งหลายของเราในการป้องปรามจีน [ในทะเลจีนใต้] เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ได้ผลเลย” เจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯคนหนึ่งกล่าวยอมรับ

เมื่อปี 2010 สหรัฐฯได้อ้างเหตุผลความชอบธรรมของการที่ตนเองให้ความสนใจเน้นหนักในเรื่องที่สหรัฐฯจะต้องเข้าถึงประดาพื้นที่ห่างไกลทั้งหลายของทะเลจีนใต้ให้จงได้ โดยบอกว่า มันเป็นเรื่องของ “ผลประโยชน์แห่งชาติในด้านเสรีภาพทางการเดินเรือ”

… เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องพึ่งพาอาศัยเสรีภาพในการเดินเรือเพื่อการสัญจรเชิงพาณิชย์เป็นอย่างมากในระดับที่มีผลตัดสินการดำรงคงอยู่ของประเทศนี้ทีเดียว (เราต้องไม่ลืมว่า เรือพาณิชย์ซึ่งสัญจรผ่านไปมาในทะเลจีนใต้นั้น ส่วนใหญ่ที่สุดก็เป็นเรือที่แล่นเข้าแล่นออกบรรดาท่าเรือของจีนนั่นเอง) ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากเย็นเต็มทีที่ฝ่ายจีนจะกระทำการล่วงละเมิดเสรีภาพทางการเดินเรือ จนกระทั่งทำให้สหรัฐฯต้องออกมาปฏิบัติการ…

(เหตุการณ์ในกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมัน HYSY 981 ของจีน) ดูเหมือนจะทำให้สหรัฐฯมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องหันมานิยามจำกัดความเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติของอเมริกาในทะเลจีนใต้กันเสียใหม่ เพื่อให้วอชิงตันสามารถออกแรงผลักดันได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในการทำให้สาธารณรัฐประชาชนต้องยอมถอยหลังกลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะเป็นการดีมากถ้าการออกแรงผลักดันให้ถอยหลังกลับไปดังกล่าวนี้ บรรจุเอาไว้ด้วยการคุกคามว่า หากไม่ยินยอมถอยก็จะเผชิญกับผลลัพธ์ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนมีความปรารถนาให้เกิดขึ้นมาน้อยที่สุด กล่าวคือ การเผชิญหน้ากับกำลังทหารของสหรัฐฯ ...

ในรายงานข่าวของไฟแนนเชียลไทมส์ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นนี้ น่าสนใจมากที่ได้มีการตัดคำบางคำออกไปในเวลาที่พูดอ้างอิงเกี่ยวกับผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ กล่าวคือไฟแนนเชียลไทมส์เน้นเพียงแค่ว่า “คณะรัฐบาลโอบามาได้ประกาศว่าทะเลจีนใต้เป็น “ผลประโยชน์แห่งชาติ” ของสหรัฐฯอย่างหนึ่งเมื่อปี 2010” ขอให้สังเกตให้ดีนะครับว่า มีการตัดเอาวลีอธิบายขยายความซึ่งมีความสำคัญมากที่ว่า “ในด้านเสรีภาพทางการเดินเรือ” ออกไป ...

ในวันนี้ ถ้าสหรัฐฯประกาศเพียงแค่ว่า “ในทะเลจีนใต้” นั้นถือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติอย่างหนึ่งของตน (โดยตัดวลีขยายความที่ว่า “ในด้านเสรีภาพทางการเดินเรือ”) มันก็สามารถบ่งชี้ส่อนัยอะไรได้ตั้งมากมาย เรียกว่าสามารถบ่งชี้ส่อนัยอะไรก็ได้ตามแต่ที่สหรัฐฯจะต้องการบ่งชี้นั่นแหละครับ ในทางปฏิบัติแล้ว นี่ย่อมหมายความว่าสหรัฐฯมีสิทธิพิเศษที่จะกระทำการใดๆ ตามอำเภอใจฝ่ายเดียวในสิ่งที่ตนเองนิยามกำหนดเอาเองว่าเป็นผลประโยชน์แห่งชาติของตน โดยไม่ถูกจำกัดกีดกั้นจากข้อพิจารณาอันเข้มงวดต่างๆ ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ (ทั้งนี้สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว ส่วนใหญ่ที่สุดทีเดียวมีความพยายามที่จะวิเคราะห์ที่จะทำความเข้าใจเนื้อหาของบรรดากฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างระมัดระวัง ส่วนสหรัฐฯนั้น จากการที่ไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญากฎหมายทะเลของสหประชาชาติ จึงถือได้ว่าอยู่ในจุดยืนที่ย่ำแย่กว่า) และโดยไม่ถูกจำกัดกีดกั้นจากจุดยืนของสมาคมอาเซียน (สำหรับสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนใหญ่ที่สุดทีเดียวได้พยายามทำให้รัฐสมาชิกอาเซียนแตกคอกัน และก็นับว่าประสบความสำเร็จทีเดียว)

เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯยังมีความเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งในเรื่องเกี่ยวทะเลจีนใต้ ได้แก่การเรียกร้องให้ห้ามทำการก่อสร้างทุกๆ อย่างในอาณาบริเวณนี้ (โดยที่สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น กำลังสาละวนอยู่กับการขุดเจาะ, ขยาย, และปรับปรุงพื้นที่เกาะต่างๆ ซึ่งตนอ้างกรรมสิทธิ์ เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่การอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะเหล่านี้) ...

ฟังดูเหมือนกับว่าสหรัฐฯได้ตัดสินใจแล้วว่า จำเป็นที่จะต้องเพิ่มแรงผลักดันอาเซียน เพื่อให้ออกนโยบายต่อต้านสาธารณรัฐประชาชนจีนกันแบบเจ๋งๆ และถึงแม้ว่าสหรัฐฯเองไม่ได้เป็นสมาชิกอาเซียนกับเขาด้วย แต่สหรัฐฯก็จะแสดงความกระตือรือร้นและเป็นฝ่ายรุกให้มากยิ่งขึ้นอีก เพื่อผลักดันนโยบายของอาเซียน รวมทั้งเพื่อต้านทานความพยายามของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มุ่งแบ่งแยกและส่งอิทธิพลต่อสมาคมแห่งนี้


คราวนี้จากช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เรามาเร่งเวลาเดินหน้ากันเร็วๆ และเราก็จะพบว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ จอห์น เคร์รี ของสหรัฐฯ ได้ผลักดันข้อเสนอ “แช่แข็ง” การก่อสร้างใดๆ ในทะเลจีนใต้ ต่อที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนในพม่าเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้จริงๆ ด้วยความสนับสนุนอย่างแข็งขันของฟิลิปปินส์

ปรากฏว่าแผนการนี้ “แท้งตั้งแต่เริ่มตั้งท้อง” โดยถูกหมายหัวเด็ดทิ้งด้วยการปฏิเสธอย่างกระจ่างแจ้งชัดเจนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งก่อนหน้า, ระหว่าง, และภายหลังการประชุมคราวนี้ แล้วอาเซียนก็ตัดสินใจที่จะไม่เอ่ยอ้างพาดพิงถึงข้อเสนอเรื่องการแช่แข็งนี้เอาไว้ในแถลงการณ์ของพวกตน แต่เลือกที่จะหันมาเน้นแสดงการรับรองเห็นชอบกับการเร่งเจรจาเพื่อให้ได้ข้อตกลงว่าด้วยแนวทางปฏิบัติ (code of conduct) ในทะเลจีนใต้

ในที่ประชุมอาเซียนคราวนี้ สหรัฐฯยังต้องเสียเชิงเสียเหลี่ยมอีกประการหนึ่ง โดยที่ความพยายามวางตัวให้อยู่ในฐานะของการเป็น “คนกลางผู้ซื่อสัตย์เที่ยงตรง” ของสหรัฐฯ ในกรณีพิพาทต่างๆ เกี่ยวกับทะเลจีนใต้ ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ค่อยเป็นที่ต้อนรับและถูกตั้งข้อระแวงสงสัยมาโดยตลอด ตอนนี้ก็มาถึงจุดที่ว่า อาเซียนประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า ต่อไปนี้อินโดนีเซียต่างหากเป็น “คนกลางผู้ซื่อสัตย์เที่ยงตรง” ที่แท้จริง นั่นคือ เป็นมหาอำนาจซึ่งมีความคิดเป็นอิสระ ที่ทุกๆ ฝ่ายสามารถเข้าหาพูดจา หรือกระทั่งจำเป็นต้องเข้าหาพูดจาด้วย เพื่อให้เกิดการผ่อนสั้นผ่อนยาวกันอย่างแท้จริง อันจะสามารถนำไปสู่ความสามัคคีเป็นเอกภาพกันและการประนีประนอมชนิดที่ใช้ปฏิบัติได้จริงๆ

กระนั้นก็ตาม ในตอนที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจัดการบรรยายสรุปภูมิหลังเกี่ยวกับการเข้าร่วมการประชุมอาเซียนของรัฐมนตรีเคร์รีในคราวนี้ ให้พวกนักข่าวรับฟัง (ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://m.state.gov/md230473.htm) คณะผู้แทนที่เข้าประชุมของสหรัฐฯยังคงประกาศว่าได้รับชัยชนะ โดยกล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากว่า เราประสบความสำเร็จในภารกิจของเรา ซึ่งได้แก่การใช้ความพยายามในการ เผยแพร่ความคิดของเราในระหว่างการสนทนากับฝ่ายต่างๆ (เพื่อให้เกิดปฏิกิริยาและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นจริงขึ้นมาในอนาคต)”

ทว่า ดูเหมือนนักข่าวบางคนยังรู้สึกไม่พึงพอใจกับการแถลงเช่นนี้ และได้มีการซักถาม ดังนี้:

คำถาม: ขอให้ย้อนกลับไปถึงคำถามที่ แมตต์ กำลังพยายามขอความกระจ่าง ในเรื่องเกี่ยวกับข้อเสนอให้แช่แข็ง คืออยากจะถามว่า ในครั้งนี้จะยังไม่มีการตกลงกันในเรื่องนี้ใช่ไหม

เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะรัฐบาล: ที่ถามอย่างนี้คิดว่าคุณคงต้องการจะ –

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศ: เรื่องนั้น (การให้ที่ประชุมอาเซียนตกลงเห็นชอบกับข้อเสนอนี้) ไม่เคยอยู่ในการคาดหมายของเราอยู่แล้ว

เจ้าหน้าที่อาวุโสของคณะรัฐบาล: ถูกต้อง

เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศ: ใช่แล้ว ดังนั้นวัตถุประสงค์ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของการเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดการสนทนา โฟกัสให้การสนทนาในภูมิภาคนี้มุ่งไปที่เรื่องความประพฤติและการยืนกรานแข็งกร้าวต่างๆ ซึ่งกำลังบังเกิดขึ้น และทำให้มั่นใจว่ามีแรงกดดันบีบคั้นต่อพวกผู้คนที่กำลังประพฤติเช่นนั้น – พวกประเทศที่กำลังแสดงความประพฤติแบบยืนกรานแข็งกร้าว


ปรากฏว่ามีสื่อมวลชนบางรายพาดหัวข่าวไปในทิศทางที่ทางการสหรัฐฯปรารถนา เป็นต้นว่า

เสียงอเมริกา: US Presents ASEAN Meeting as Setback for China (สหรัฐฯพูดเสนอต่อที่ประชุมอาเซียน ซึ่งถือเป็นความเพลี่ยงพล้ำของจีน)

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก: China Thwarts US Bid to Reduce South China Sea Tensions (จีนขวางข้อเสนอสหรัฐฯที่จะลดความตึงเครียดในทะเลจีนใต้)

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่ที่สุดแล้ว การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนออกมาปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอแช่แข็ง ตลอดจนการที่สหรัฐฯไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ในทางบวกสำหรับตนเองออกมาให้เห็นกัน ดูจะเป็นที่รับรู้กันอยู่ทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐฯก็เลยต้องออกมาประกาศอย่างเย่อหยิ่งว่า ต่อไปนี้ตนจะ “ติดตามเฝ้าระวัง” พัฒนาการต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งผมเข้าใจว่า ข้อความจริงๆ ที่สหรัฐฯต้องการจะส่งก็คือว่า สหรัฐฯประกาศอ้างสิทธิที่จะทำการโปรโมตส่งเสริมวาระว่าด้วยทะเลจีนใต้ของตน อย่างเป็นอิสระโดยไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สมาคมอาเซียนปรารถนาจะทำ -หรือไม่ปรารถนาจะทำ

สำหรับทางสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ได้ประกาศใช้ “2 เส้นทางคู่ขนานกันไป” โดยที่จะทั้งทำการพูดจาแบบทวิภาคีกับชาติอาเซียนแต่ละราย และจะทำการเจรจากับอาเซียนทั้งกลุ่มในเรื่องข้อตกลงแนวทางปฏิบัติ พร้อมกันนั้นก็กล่าวย้ำปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอเรื่องแช่แข็ง –ซึ่งในนี้ก็รวมถึงการปฏิเสธไม่ยอมรับการที่สหรัฐฯอ้างตัวว่ากำลังแสดงบทบาทในฐานะที่เป็น “ผู้ใหญ่ซึ่งมีความรับผิดชอบ” ในทะเลจีนใต้ด้วยนั่นเอง

สำนักข่าวซินหวา ของทางการจีนได้พูดประเด็นนี้ ด้วยการเสนอบทวิจารณ์ที่มีน้ำเสียงแบบตัดรอนไร้เยื่อใย โดยใช้ชื่อว่า “A Calm South China Sea Needs No Flame Stoker” (ทะเลจีนใต้ที่สงบไร้คลื่นลมย่อมไม่ต้องการช่างไฟให้มาควบคุมเพลิงใดๆ ทั้งสิ้น) โดยมีเนื้อหาย้ำเตือนให้อาเซียนระลึกว่า ข้ออ้างบังหน้าที่สหรัฐฯใช้สำหรับการเข้าแทรกแซงในครั้งก่อนนั้น ไม่ได้มีมูลความจริงรองรับอะไรเลย “การที่สหรัฐฯแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินเรือทะเล (ในทะเลจีนใต้) นั้น เป็นการแสดงออกที่ไม่สมเหตุผลเอาเลย เนื่องจากเสรีภาพในการเดินเรือคือสิ่งที่ได้รับการประกันรับรองอย่างเต็มที่อยู่แล้ว”

บทวิจารณ์นี้สรุปด้วยถ้อยคำซึ่งถึงแม้จะถือเป็นคำโฆษณาชวนเชื่อของ “จีนคอมมิวนิสต์” แต่ก็ใกล้เคียงกับความจริงอย่างแสบสันต์ บทสรุปดังกล่าวพูดเอาไว้อย่างนี้:

มันเป็นความเป็นจริงอันแสนจะเจ็บปวดที่ว่า “ลุงแซม” กำลังทิ้งให้สถานที่ต่างๆ จำนวนมากมายเกินไปแล้ว ต้องตกอยู่ในความปั่นป่วนวุ่นวาย ภายหลังจากที่เขาก้าวเข้าไปแทรกแซง ดังที่ผู้คนทั้งหลายกำลังเป็นประจักษ์พยานอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะในอิรัก, ซีเรีย, หรือลิเบีย

ทะเลจีนใต้ไม่ควรที่จะกลายเป็นสถานที่แห่งต่อไป


โอ้โห แสบจริงๆ

อย่างไรก็ตาม การจุดพลุดอกไม้ไฟของจริงนั้น ผู้ที่จัดให้ก็คือ 2 วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จอห์น แมคเคน (John McCain) กับ เชลดอน ไวต์เฮาส์ (Sheldon Whitehouse) ในระหว่างที่ทั้งคู่เดินทางไปเยือนเวียดนาม

แน่นอนทีเดียวว่า เวลานี้เวียดนามเข้ามาร่วมวงเล่นด้วย พวกนักปฏิรูปภายในชนชั้นนำของเวียดนามกำลังใช้แนวทางแบบนักชาตินิยม มาวิพากษ์วิจารณ์คณะผู้นำของประเทศตน โดยบอกว่าคณะผู้นำเหล่านั้นก้มศีรษะให้แก่สาธารณรัฐประชาชนจีนมากเกินควรแล้ว ขณะเดียวกัน พวกนักปฏิรูปเหล่านี้ยังแอบๆ ซ่อนๆ ให้การสนับสนุนส่งเสริมความโน้มเอียงที่จะหันไปเข้าหาสหรัฐฯ, การเมืองการปกครองแบบพหุนิยม (pluralism) ซึ่งยอมรับให้หลายๆ ฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมีบทบาท, และการใช้ระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างมากขึ้น ถึงแม้ว่าในที่สุดแล้วรัฐบาลเวียดนามได้ระงับแผนการส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปเยือนกรุงวอชิงตันเพื่อหารือกันถึงเรื่องการเพิ่มความร่วมมือกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (โดยที่เข้าใจกันว่าเป็นเพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ถอนแท่นขุดเจาะ HYSY981 ออกไปจากน่านน้ำพิพาทแล้ว) แต่ แมคเคน กับ ไวต์เฮาส์ ก็เดินทางไปเวียดนาม เพื่อเจรจาเรื่องการยกเลิกคำสั่งห้ามส่งอาวุธแก่เวียดนามของสหรัฐฯ รวมทั้งคาดกันด้วยว่าคงมีการสำรวจลู่ทางความเป็นไปได้สำหรับคำถามอันแสนล่อใจที่ว่า ในที่สุดแล้วสหรัฐฯจะมีโอกาสกลับคืนไปตั้งฐานที่อ่าวคัมรานห์ (Cam Ranh Bay) ไหม

ในระหว่างการเยือนของพวกเขา สื่อมวลชนเวียดนามรายงานเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมว่า วุฒิสมาชิกไวต์เฮาส์ได้กล่าวถ้อยคำซึ่งน่าจับตามองเป็นพิเศษเอาไว้ดังนี้:

ในการแถลงสรุปต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ หนังสือพิมพ์ “เตื่อยแจ๋” (Tuoi Tre) ได้สอบถามวุฒิสมาชิกเชลดอน ไวต์เฮาส์ ว่า เนื่องจากประชามติในเวียดนามค่อนข้างแรงมาก จึงขอให้เขาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าสหรัฐฯจะแสดงการตอบโต้คัดค้านจีนอย่างไร สืบเนื่องจากความตึงเครียดเมื่อเร็วๆ นี้ในทะเลเวียดนามตะวันออก (East Vietnam Sea ซึ่งก็คือชื่อเรียก “ทะเลจีนใต้” ในเวียดนาม)

วุฒิสมาชิกไวต์เฮาส์ได้ตอบว่า เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zones เรียกกันย่อๆ ว่า EEZs) ของทุกๆ ประเทศนั้น มีการก่อรูปกลายเป็นเครือข่ายอันยั่งยืนของเขต EEZs โดยที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะก็เป็นการก่อตั้งขึ้นบนพื้นฐานของอนุสัญญาระหว่างประเทศและกฎหมายต่างๆ ตลอดจนบนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งช่วยให้สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งต่างๆ และธำรงรักษาเสถียรภาพในเขต EEZs เอาไว้ได้

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่เกิดมีการท้าทายขึ้นมา และกลายเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและเสถียรภาพในเขต EEZs เมื่อนั้นไม่เพียงเฉพาะสหรัฐฯเท่านั้น หากแต่ยังประชาคมโลกทั้งมวลอีกด้วย จะต้องลงมือปฏิบัติการคัดค้านการคุกคามดังกล่าว วุฒิสมาชิกผู้นี้บอก
[การใช้ตัวเอนเพื่อแสดงการเน้นย้ำในย่อหน้านี้ กระทำโดยผู้เขียน –ปีเตอร์ ลี]

ไวต์เฮาส์ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า เมื่อเกิดกรณีดังกล่าวนี้ขึ้นมา สหรัฐฯและประเทศอื่นๆ ก็จะดำเนินการตอบโต้คัดค้าน

ตัวผมเองนะไม่คุ้นเคยเอาเสียเลยว่าได้มีตัวอย่างทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว ตามที่วุฒิสมาชิกผู้นี้กล่าวอ้างหรือเปล่า

เมื่อตอนที่สหรัฐฯประกาศใช้กองเรือรบของตน เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) จะยังคงเปิดต่อไปในตอนช่วงปี 2011-2012 นั้น มันเป็นการกระทำซึ่งอิงอาศัยหลักการความเชื่อที่มีเนื้อหาจำกัดกะทัดรัดเอามากๆ นั่นคือ: ภายใต้หลักกฎหมายระหว่างประเทศชนิดที่เป็นประเพณีปฏิบัตินั้น ย่อมเป็นสิทธิของประชาคมโลก ที่จะต้องทำให้มีการเปิด “ช่องทางผ่านเข้าออก” บริเวณช่องแคบอันทรงความสำคัญยิ่ง ภายในน่านน้ำอาณาเขต (territorial waters) 12 ไมล์ทะเล (ไม่ใช่เพียงแค่เป็นเขต EEZs) ของอิหร่านกับโอเมน ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีช่องทางอื่นๆ ที่จะให้หันไปเลือกใช้ได้ดำรงอยู่เลย

ทางฝ่ายอิหร่านนั้นพยายามที่จะยกเหตุผลโต้แย้งว่า เฉพาะพวกรัฐซึ่งมีพันธะผูกพันเนื่องจากได้ไปให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS) แล้วเท่านั้น คือผู้ที่จะต้องดำเนินการเปิด “ช่องทางผ่านเข้าออก” ทว่าอิหร่านและสหรัฐฯต่างก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาฉบับนี้กันทั้งคู่ อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดเจนว่าสหรัฐฯเลือกที่จะเพิกเฉยไม่แยแสต่อข้อคัดค้านของอิหร่าน ในเวลาเดียวกัน ความจำเป็นซึ่งเป็นที่ยอมรับกันมายาวนานแล้วในเรื่องที่ว่า จะต้องทำให้เป็นที่มั่นใจได้ว่าพวกช่องแคบที่ทรงความสำคัญยิ่งยวดทั้งหลาย ยังคงมีช่องทางสำหรับผ่านเข้าออกได้อยู่เสมอนั้น ก็ได้ทำให้โลกไม่ค่อยต้องใช้เวลาพิจารณาอะไรนักในการปฏิเสธไม่ยอมรับจุดยืนของฝ่ายอิหร่าน

แต่สำหรับเรื่องเขต EEZs แล้ว มันเป็นอีกอย่างหนึ่งต่างหากไปจากน่านน้ำอาณาเขต เขตดังกล่าวนี้ ตามอนุสัญญา UNCLOS นิยามเอาไว้ให้ครอบคลุมพื้นที่น่านน้ำประมาณ 200 ไมล์ทะเล ถัดออกมาจากน่านน้ำอาณาเขต (ซึ่งครอบคลุมน่านน้ำที่อยู่ห่างจากชายฝั่ง 12 ไมล์ทะเล) โดยที่ถือว่าเขต EEZs เป็นบริเวณซึ่งรัฐที่กล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ (อีกทั้งมีศักยภาพที่จะกระทำการเพื่อสนับสนุนการกล่าวอ้างของตนด้วย) สามารถที่จะดำเนินการต่างๆ ในทางเศรษฐกิจได้

เท่าที่ผมสามารถสืบค้นและพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น กรณีพิพาทต่างๆ เกี่ยวกับกิจกรรมทั้งหลายในเขต EEZ มักจะแก้ไขคลี่คลายกันแบบทวิภาคี โดยพวกหน่วยยามฝั่ง (coast guard) และพวกเรือตรวจการณ์ทางทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน, เวียดนาม, และฟิลิปปินส์ ต่างฝ่ายต่างก็ก่อกวนรังควาญเรือประมงและเรือขุดเจาะน้ำมันของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้อย่าว่าแต่ “ประชาคมโลกทั้งมวล” เลย แม้กระทั่ง “ฝ่ายที่สาม” ซึ่งหมายถึงชาติที่มิได้เป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์อะไรกับเขาด้วย ก็ยังไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร

นอกจากนั้นผมยังไม่เคยพบเห็นว่า มีแผนการริเริ่มไม่ว่าจากฝ่ายใดก็ตาม ในอันที่จะทำให้ข้อพิพาทในบริเวณ EEZ เหล่านี้ กลายสภาพไปเป็นการพิพาททางการทหาร (ถึงแม้เวียดนามได้กล่าวอ้างว่ามีเรือที่สังกัดกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน เข้าทำการพิทักษ์คุ้มครองแท่นขุดเจาะน้ำมัน HYSY 981 ด้วยก็ตาม)

ในช่วงหลังๆ มานี้ อย่างน้อยที่สุดก็จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถ้าหากวินิจฉัยเอาจาก รายงานวิจัยของรัฐสภาสหรัฐฯว่าด้วยข้อพิพาททางดินแดนในทะเลที่ประเทศจีนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย (Congressional Report on Maritime Territorial Disputes Involving China ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://news.usni.org/2014/03/20/document-congressional-report-maritime-territorial-disputes-involving-china) เราจะพบว่า ข้อกังวลสนใจข้อหลักของสหรัฐฯนั้นอยู่ที่ว่า กรณีพิพาทต่างๆ ในเรื่องเขต EEZ ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าไปพัวพันด้วยนั้น ยังคงเป็นการพิพาทแบบไม่ใช่ทางการทหารใช่หรือเปล่า เพราะถ้าหากมันเป็นการพิพาททางทหารขึ้นมาแล้ว สหรัฐฯก็จะถูกดูดเข้าไปในความขัดแย้ง เนื่องจากต้องปฏิบัติตามพันธะผูกพันในสนธิสัญญาที่ตนเองทำไว้กับญี่ปุ่นและกับฟิลิปปินส์ อย่างที่ในรายงานวิจัยของรัฐสภาสหรัฐฯฉบับนี้บอกไว้ดังนี้:

การปฏิบัติการต่างๆ ของจีนเพื่อการยืนกรานและเพื่อการปกป้องคุ้มครองน่านน้ำอาณาเขต ตลอดจนข้อกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของตนในทะเลจีนตะวันออก และในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 นั้น ได้ทำให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหลายรู้สึกห่วงกังวลเพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากเกรงว่าการพิพาทกันที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับน่านน้ำเหล่านี้และที่เกี่ยวกับหมู่เกาะบางแห่งซึ่งอยู่ภายในน่านน้ำเหล่านี้ อาจจะเดินไปสู่วิกฤตการณ์ หรือ การขัดแย้งสู้รบกัน ระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านรายหนึ่งรายใด เป็นต้นว่า ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, หรือเวียดนาม โดยที่สหรัฐฯอาจจะถูกดึงเข้าไปอยู่ในวิกฤตการณ์หรือการขัดแย้งสู้รบกันดังกล่าวด้วย เนื่องจากผลของพันธะผูกพันที่สหรัฐฯต้องกระทำตาม ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงทวิภาคีซึ่งทำไว้กับญี่ปุ่น และที่ทำไว้กับฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ดี ท่าทีเช่นนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว ซึ่งก็คงต้องขอบคุณการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีการปรับตัวนำเอาพวกมาตรการที่มิใช่การทหารมาใช้อย่างสนุกสนาน ตั้งแต่การให้ความอุดหนุนตลอดจนเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ แก่ฝูงเรือประมงของตนเพื่อเอาไว้ใช้สำหรับการปฏิบัติการจู่โจมเร็วในทะเลจีนใต้ ไปจนถึงการลากจูงแท่นสำรวจขุดเจาะน้ำมันมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์เข้าไปยังเขต EEZs ที่กำลังแย่งชิงกันอยู่ ทั้งนี้แนวความคิดในขณะนี้กำลังปรากฏออกมาว่า หนทางที่ดีที่สุดซึ่งเวียดนามกับฟิลิปปินส์จะสามารถผลักดันให้การปฏิบัติการที่มิใช่การทหารของจีนต้องยอมหันหลังถอยกลับไป น่าจะได้แก่การนำเอาพลานุภาพทางนาวีของสหรัฐฯเข้ามาแทรกแซง

อันที่จริง สิ่งซึ่งอาจจะถือเป็นสัญญาณล่วงหน้าของเรื่องอย่างนี้ ก็ได้แก่การที่สหรัฐฯส่งเครื่องบินตรวจการณ์ ไปบินอยู่เหนือพวกเรือตรวจการณ์ทางทะเลของจีน ในระหว่างเหตุการณ์การส่งเสบียงให้แก่พวกนาวิกโยธินฟิลิปปินส์ ซึ่งพำนักอยู่บนซากเรือรบ “เซียร์รา มาเดร” (Sierra Madre) ที่ถูกนำมาเกยตื้นอยู่ตรงเกาะปะการัง “เซกันด์ โทมัส โชล” (Second Thomas Shoal) ในเดือนเมษายน 2014 ทั้งนี้การบินตรวจการณ์แบบคุกคามอยู่บนท้องฟ้าเช่นนี้ ถือกันว่าเป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งในวิกฤตซึ่งเกิดขึ้นใน “พื้นที่สีเทา” ทั้งหลาย โดยพิจารณากันว่ามันเป็นศิลปะของการเข้าประจันหน้าแบบที่นิ้วเท้ายังแตะอยู่ตรงปลายขอบก่อนจะย่างเข้าสู่ความขัดแย้งต่อสู้กันทางการทหาร ทว่าก็ไม่ได้ทำท่าว่าจะก้าวข้ามเข้าสู่ความขัดแย้งดังกล่าวอย่างชัดเจน

ต่อมา ในเดือนพฤษภาคม เรือรบ ยูเอสเอส บลู ริดจ์ (USS Blue Ridge) ซึ่งเป็นเรือธงของกองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ได้แล่นอวดศักดาผ่านเกาะปะการัง “สคาร์โบโร โชล” (Scarborough Shoal) ที่เป็นจุดร้อนระอุของการเผชิญหน้ากันระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับฟิลิปปินส์อยู่ในตอนนั้น และจัดแจงส่งเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งขึ้นไปสังเกตการณ์พร้อมกับถ่ายภาพเรือรบของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน 2 ลำซึ่งแล่นอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

บางทีในอนาคต เรือของกองทัพเรือสหรัฐฯอาจจะพาตัวเองเข้าไปสอดแทรก ในขณะที่พวกเรือตรวจการณ์ทางทะเลของจีนพยายามที่จะก่อกวนรังควาญเรือสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน ในเขตพื้นที่ EEZs ที่ฟิลิปปินส์กับเวียดนามกำลังพิพาทช่วงชิงอยู่กับจีน หรือบางทีในครั้งต่อไปเมื่อแท่นขุดเจาะ HYSY 981 ไปจอดอยู่ในน่านน้ำซึ่งช่วงชิงกัน เรือของสหรัฐฯอาจจะเข้าไปขัดขวางไม่ให้มีการส่งเสบียงแก่แท่นขุดเจาะยักษ์นี้กระมัง

*ทางเลือกเยอะแยะเต็มไปหมด*

การส่งกำลังทหารสหรัฐฯเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกรณีพิพาทเขต EEZ เช่นนี้ น่าที่จะถือว่าเป็นเรื่องชอบธรรม ถ้าหากพิจารณาจากข้อความซึ่งวุฒิสมาชิกไวต์เฮาส์บัญญัติขึ้นมา ที่ว่า “การท้าทายต่อสันติภาพและเสถียรภาพของเขต EEZs ทั้งหลาย” จะถูกถือว่าเป็นการคุกคามซึ่ง “สหรัฐฯและประชาคมโลกทั้งมวล” จะต้องลงมือปฏิบัติการคัดค้าน

อย่างไรก็ดี การออกมาประกาศว่า มันเป็นภารกิจแห่งชาติประการหนึ่งที่จะต้องเข้าแทรกแซงในกรณีพิพาทเกี่ยวกับเขต EEZ ของฝ่ายที่ 3 เช่นนี้ ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะนำเราเข้าไปในน่านน้ำทางกฎหมายซึ่งมืดมัวไร้ความชัดเจน

เป็นเรื่องทราบกันดีอยู่แล้วว่า สหรัฐฯนั้นไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ตรงกันข้าม ในปี 1983 สหรัฐฯกลับหันมาใช้สภาวการณ์ที่ทั่วโลกต่างก็ให้การรับรอง UNCLOS (รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย แม้ยังไม่ได้ให้สัตยาบันก็ตามที) ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะประกาศอ้างเสียเลยว่า บทบัญญัติว่าด้วยเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลในอนุสัญญา UNCLOS ต้องถือเป็น “กฎหมายระหว่างประเทศตามประเพณีปฏิบัติ” และดังนั้นจึงทำให้สหรัฐฯสามารถประกาศเขต EEZ 200 ไมล์ทะเลของตนขึ้นมาได้ตามลำพังฝ่ายเดียว

ลักษณะของการประกาศแต่เพียงลำพังฝ่ายเดียว ตลอดจนฐานะทางกฎหมายของประกาศนี้ซึ่งแยกออกมาต่างหากจากอนุสัญญา UNCLOS ได้รับการรับรองยืนยันอย่างน่าขบขันไม่ใช่น้อยทีเดียวในปีที่แล้ว เมื่อพวก ส.ส.พรรครีพับลิกันในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอริเริ่มให้ตั้งชื่อแก่พื้นที่เขต EEZ ของสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณประมาณ 3.4 ล้านตารางไมล์ ว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ โรนัลด์ วิลสัน เรแกน” (Ronald Wilson Reagan Exclusive Economic Zone) โดยที่พวกเขาแถลงกันเอาไว้ดังนี้ครับ:

“อำนาจที่ประธานาธิบดีเรแกนใช้ในการประกาศคำสั่งฝ่ายบริหารของเขา [เพื่อจัดตั้งเขต EEZ ขึ้นมา] นั้น ไม่ได้อิงอยู่กับสหประชาชาติ หรืออิงอยู่กับสนธิสัญญากฎหมายทะเล หากแต่มันมาจากอำนาจอธิปไตยของรัฐบาลสหรัฐฯเอง นี่เป็นแนวความคิดซึ่งบางทีก็ดูจะรอดหูรอดตาจากการพบเห็นของสมาชิกบางรายของรัฐสภาแห่งนี้” ส.ส.ทอม แมคคลินท็อค (Tom McClintock) จากแคลิฟอร์เนียสังกัดพรรครีพับลิกัน กล่าว

ดังนั้น ผมจึงสันนิษฐานว่า สหรัฐฯอาจจะมองเห็นเช่นกันว่า สหรัฐฯเองนี่แหละก็สามารถที่จะประกาศอำนาจในการแทรกแซงเข้าไปในกรณีพิพาทเรื่องเขต EEZ ของใครสักรายหนึ่ง โดยอ้างว่ามันเป็นไปตามหลัก “กฎหมายระหว่างประเทศตามประเพณีปฏิบัติ” ไม่ใช่เป็นไปตามแนวความคิดอันคลุมเครือที่มาจากอนุสัญญา UNCLOS ซึ่งช่างอุดมไปด้วยถ้อยคำฟุ่มเฟือยทว่ากลับก่อให้เกิดการโต้แย้ง จนกระทั่งกลายเป็นการถูกบีบรัดให้ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

ผมยังสงสัยต่อไปอีกว่า สหรัฐฯจะมองเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไรเลย ในการที่สหรัฐฯจะประกาศแต่ลำพังฝ่ายเดียวว่า กิจกรรมทางนาวีที่สหรัฐฯเคยกระทำอยู่ในน่านน้ำอาณาเขตในช่องแคบฮอร์มุซ นั้น สามารถถือเป็นแบบอย่างอันเคยมีมาก่อน ซึ่งเพียงพอแล้วสำหรับการนำมาตีความประยุกต์ใช้แก่เขต EEZ ในทะเลจีนใต้ และถ้าหากฝ่ายจีนต้องการที่จะแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยแล้ว ผมสันนิษฐานว่าสหรัฐฯก็ยินดีให้ฝ่ายจีนนำเอาเหตุผลข้อโต้แย้งต่างๆ ของพวกเขาไปยื่นเสนอต่อสถาบันโปรอเมริกันแห่งใดก็ได้ แล้วสถาบันแห่งนั้นก็จะจัดแจงค่อยๆ เคี้ยวบดกลืนกินข้อพิพาทต่างๆ เหล่านี้ ต่อจากนั้นก็จะใช้เวลาอีกหลายๆ ปีไปในการย่อยประเด็นเหล่านี้ แล้วในที่สุดก็บ้วนถ่มมติคำตัดสินชนิดไร้ข้อผูกมัดออกมา

มีความเป็นไปได้อยู่เสมอที่ว่า วุฒิสมาชิกไวต์เฮาส์ซึ่งแถลงเช่นนี้ขณะอยู่ในเวียดนามไม่ใช่ในสหรัฐฯ เพียงแค่กำลังพูดพร่ำเพ้อไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่เข้าใจสิ่งที่ตนพูดเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากการที่วุฒิสมาชิกแมคเคนก็ปรากฏตัวอยู่ตรงนั้นด้วย (ต้องไม่ลืมว่าวุฒิสมาชิกแมคเคน เป็นผู้ซึ่งมีความคิดเห็นตรงกันกับรัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น เคร์รี ในเรื่องที่ว่าต้องให้ความสนอกสนใจอย่างใกล้ชิดแก่การบ่มเพาะความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เวียดนาม) รวมทั้งในเวลานั้นก็กำลังมีการประชุมของสมาคมอาเซียนอยู่ในพม่าพอดี ด้วยเหตุนี้ ผมจึงพิจารณาคำพูดของไวต์เฮาส์ ว่ามันเสมือนการส่งคำเตือนไปถึงสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ยุติความพยายามที่จะทำการท้าทายสหรัฐฯได้แล้ว ทั้งนี้ ถ้าหากจะพูดให้เข้าใจง่าย (ด้วยถ้อยคำภาษาของผมเอง) ก็คงพูดได้อย่างนี้ครับ:

สาธารณรัฐประชาชนเลือกที่จะดำเนินการตบตี จนข้อเสนอริเริ่มเรื่องการแช่แข็งของรัฐมนตรีเคร์รีต้องถูกมองเมิน ถ้ายังงั้นก็ต้องเห็นดำเห็นแดงกัน ...

ถ้าหากเป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ นั่นคือ คณะอนุญาโตตุลาการ (จริงๆ แล้ว คือ ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศถาวร ในกรุงเฮก –ผู้แปล) ประกาศคำตัดสินออกมาในทางที่ให้ประโยชน์แก่ฟิลิปปินส์ และแผนที่เส้นประ 9 เส้นของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็ถูกปฏิเสธโยนทิ้งไป สาธารณรัฐประชาชนจีนก็อาจตัดสินใจเลือกที่จะสำแดงอภิสิทธิ์แห่งความเป็นมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ของตน ด้วยการเพิกเฉยไม่แยแสต่อคำตัดสินดังกล่าว รวมทั้งเพิกเฉยไม่แยแสต่อเสียงเรียกร้องทั้งหลายที่ให้สาธารณรัฐประชาชนจีนยินยอมนำเอาการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในเขต EEZ ที่อยู่ในทะเลจีนใต้ทั้งหลายของตน ไปให้คณะอนุญาโตตุลาการภายใต้กรอบของอนุสัญญา UNCLOS เป็นผู้ตัดสินชี้ขาด

แต่แล้วเมื่อถึงตอนนั้นสหรัฐฯก็อาจจะสำแดงอภิสิทธิ์แห่งความเป็นมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่ของตนเองบ้าง ด้วยการประกาศใช้คำนิยามอย่างใหม่เอี่ยมเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศตามประเพณีปฏิบัติของตน ภายในเขต EEZs ต่างๆ ในทะเลจีนใต้ แล้วจากนั้นก็เริ่มต้นก่อกวนรังควาญกิจกรรมต่างๆ ของฝ่ายจีนในอาณาบริเวณดังกล่าว


ผมยังจะขอเพิ่มข้อสังเกตต่อไปอีกว่า ผมคาดหมายว่า ความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดส่งพลานุภาพของกองทัพเรือสหรัฐฯเข้าไปแทรกแซงในกรณีพิพาท EEZ ระดับท้องถิ่นต่างๆ นั้น บางทีอาจจะนำไปสู่การตอบโต้ ด้วยการที่พวกเรือตรวจการณ์ทางทะเล, เรือประมง, ตลอดจนเรืออื่นๆ ทำนองเดียวกันของฝ่ายจีน ซึ่งมีผู้บังคับการหรือกัปตันเป็นพวกชอบป่วนและเฉยชาไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม เข้ารังควาญก่อกวนเล่นเอาเถิดเจ้าล่ออย่างชนิดไม่ยอมเลิกต่อเรือต่างๆ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เรื่องเช่นนี้แหละคือเรื่องชวนปวดหัวภายใน “พื้นที่สีเทา” ชนิดที่กองทัพเรือสหรัฐฯปรารถนาที่จะหลีกเลี่ยง แต่ผมคิดว่าในเมื่อกองทัพเรือสหรัฐฯมีความต้องการที่จะได้เรือสัก 300 ลำปรากฏตัวอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และตระหนักเป็นอย่างดีว่าพวกเขาจะไม่มีทางได้เรือเหล่านี้มาเลย ถ้าหากบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับหน้าที่แบบตำรวจซึ่งแสนจะน่าอัปยศอดสูและยุ่งยากหนักหน่วง ตามที่ทำเนียบขาวเรียกร้องต้องการ

ในส่วนของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ภายในกรอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการต่างประเทศ ซึ่งได้มีการสั่งสมกันมาอย่างยาวนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนย่อมจะตระหนักเป็นอันดีว่าแสนยานุภาพทางทหารของตนเองนั้นยังสู้ของสหรัฐฯไม่ได้ และความหวังของตนที่จะหยิบฉวยหาประโยชน์ต่างๆ เอาไว้ให้ได้มากที่สุดนั้น ขึ้นอยู่กับการหลบเลี่ยงไม่เผชิญหน้ากับสหรัฐฯ, การหน่วงเหนี่ยวถ่วงเวลาในเวลาที่รับมือกับสมาคมอาเซียน, และการใช้ความพยายามทั้งด้วยการซื้อและด้วยการข่มเหงรังแก เพื่อให้ตนเองได้เปรียบในการแลกเปลี่ยนระดับทวิภาคีกับพวกชาติเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่า

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพิจารณากันอย่างธรรมดาสามัญแล้ว สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเกิดความหวั่นกลัวเมื่อมองเห็นถึงลู่ทางที่จะต้องเกิดการเผชิญหน้ากับกองทัพเรือสหรัฐฯในอนาคต อีกทั้งจะควบคุมความประพฤติของตนเองเพิ่มมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าดังกล่าว

แต่ช่างโชคร้ายเหลือเกินที่ตอนนี้มันไม่ใช่ช่วงเวลาธรรมดาสามัญ

สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ส่งคำเชื้อเชิญประธานาธิบดีโอบามา ให้มาร่วมแบ่งปันกันเก็บเกี่ยวดอกผลของ “ความสัมพันธ์แบบใหม่ในระหว่างมหาอำนาจผู้ยิ่งใหญ่” ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในบทบรรณาธิการของสื่อมวลชนจีนอย่างต่อเนื่องเป็นชุดเมื่อเร็วๆ นี้ ทว่าดูเหมือนสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้คาดหมายหรอกว่าสหรัฐฯจะตกลงรับคำเชื้อเชิญนี้ มันดูเหมือนกับเป็นเพียงกลเม็ดในการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง ก็ทำนองเดียวกับข้อเสนอเรื่องแช่แข็งของเคร์รีนั่นแหละ มันเป็นการเล่นเกมในแนวทางที่ว่า “เราพยายามที่จะทำดีด้วยแล้ว แต่ว่า...”

เป็นเรื่องสมเหตุสมผลทีเดียว ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะคาดหมายเอาไว้ว่า ในเดือนมกราคม 2017 ฮิลลารี คลินตัน สถาปนิกใหญ่ผู้วางแปลนเรื่อง “ปักหมุดหวนกลับมายังเอเชีย” จะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเข้ารับตำแหน่งโดยมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่สหรัฐฯจะต้องกลับมาเน้นหนักบทบาทของตนในเอเชียอีกคำรบหนึ่ง ทั้งนี้ด้วยวิธีเดินหมากต่อต้านคัดค้านจีนอย่างแข็งกร้าวบางอย่างบางประการ มันอาจจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทะเลจีนใต้, บางทีอาจจะเป็นประเด็นเรื่องการยืนหยัดอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับญี่ปุ่นในการสกัดกั้นเรือของจีนไม่ให้เข้าสู่น่านน้ำอาณาเขตของหมู่เกาะเซงกากุ, บางทีอาจจะถึงขั้นเข้าไปให้ความสนับสนุนแก่ไต้หวันในการประกาศตัวเป็นเอกราช (ในฐานะที่เป็นประเทศไต้หวัน ไม่ใช่ในฐานะที่เป็นประเทศจีน -ผู้แปล) ตลอดจนการให้ความสนับสนุนแก่การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง

สำหรับสหรัฐฯในตอนนี้ ประธานาธิบดีโอบามากำลังต้องต่อสู้ดิ้นรนหนักเพื่อให้ผ่านพ้นหลุดออกมาจากหลุมโคลนแห่งวิกฤตการณ์ทั้งในยูเครนและในอิรัก (รวมทั้งความล้มเหลวอย่างอัปยศของการเลือกตั้งในอัฟกานิสถานด้วย) การต่อสู้เหล่านี้กำลังสูบกำลังดูดเอาทรัพยากรของเขาให้ต้องกระจัดกระจายออกไป และหลงเหลืออยู่สำหรับให้เขาใช้ทำอะไรอย่างอื่นได้น้อยเต็มที มันเหลือน้อยจนกระทั่งถึงจุดที่เขาไม่สามารถแม้แต่จะขบคิดเกี่ยวกับเรื่องการล่มสลายของลิเบีย

ในขณะเดียวกันมันก็โน้มนำให้พวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในยุโรป บังเกิดความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าอย่างร้ายแรง ตลอดจนบังเกิดความคับข้องใจอย่างรุนแรง ซึ่งนี่ต้องขอบคุณนโยบายว่าด้วยยูเครนของโอบามา ที่มุ่งดึงลากเอายุโรปเข้าไปร่วมอย่างเต็มที่ รวมทั้งการรณรงค์เข่นฆ่าอย่างน่าหดหู่ซึ่งเกิดขึ้นในดินแดนกาซาด้วย

แต่ที่สำคัญมากที่สุด เห็นจะได้แก่การที่โอบามาได้ผลักไสรัสเซีย ซึ่งตามธรรมดาแล้วเป็นเพื่อนที่สหรัฐฯเรียกหาได้ตลอด ให้กลับถอยห่างไปอยู่ในอ้อมแขนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะที่เป็นสหายกันทั้งในทางการทูต, เศรษฐกิจ, และความมั่นคง

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ จีนและทั่วโลกอาจจะมีโอกาสได้เห็นกันจะๆ ว่า รัสเซียซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็นศัตรูผู้ยืนหยัดอย่างมั่นคงเด็ดเดี่ยวที่สุดของอเมริกาแต่อย่างใดเลยนั้น จะตัดสินใจเข้าไปแทรกแซงในยูเครนหรือไม่ รวมทั้งจะท้าทายอย่างประสบความสำเร็จเพียงใด เมื่อเผชิญกับแรงกดดันทั้งในเรื่องมาตรการลงโทษคว่ำบาตร/การบ่อนทำลาย/อำนาจละมุน/อำนาจแข็งกร้าว ของพวกพันธมิตรประชาธิปไตยตะวันตก

การประสมประสานรวมตัวกันทั้งในเรื่องของจังหวะโอกาส, ช่องทางที่ใกล้จะถึงเวลาปิดตายแล้ว, และความคาดหมายเกี่ยวกับอนาคตอันเลวร้ายกว่านี้ที่กำลังจะมาถึง เหล่านี้ย่อมไม่ใช่สภาวการณ์ซึ่งจะทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนรู้สึกว่าจะต้องคอยยับยั้งชั่งใจตนเองเอาเสียเลย

ผมไม่ได้กำลังบอกว่า กองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน กำลังจะเดินหน้าออกไปถล่มโจมตีกองทัพเรือที่ 7 ให้ย่อยยับ หากแต่ผมสามารถจินตนาการภาพสมมุติสถานการณ์ชนิดที่เลวร้ายที่สุดที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นมา โดยที่มีทั้งเหตุการณ์อันน่าชิงชังและสั่นคลอนเสถียรภาพบังเกิดขึ้นตามกันมาเป็นชุด, มีทั้งการสกัดกั้นขัดขวางกัน, การปะทะกัน, การประท้วง, การคว่ำบาตร, ... และแม้กระทั่ง (ถึงแม้ในวันนี้ยังอาจจะลำบากที่จะจินตนาการถึงเรื่องอย่างนี้) การที่จีนออกมาเรียกร้อง ไม่ใช่แค่ขอร้อง ให้สหรัฐฯถอนตัวออกไปจากหัวหาดใหม่ๆ ในอาเซียนของตน และพาตัวเองถอยออกไปจากบรรดากรณีพิพาทว่าด้วยเขต EEZ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีน กับพวกชาติเพื่อนบ้าน

เมื่อพิจารณากันอย่างรอบด้านแล้ว ผมไม่คิดว่าสหรัฐฯกำลังมาถึง “ช่วงขณะแห่งคลองสุเอซ” [1] ของตนแล้ว - ซึ่งถ้าหากมันถึงช่วงขณะดังกล่าวจริงๆ ย่อมหมายถึงการที่สหรัฐฯต้องยอมถอยอย่างน่าอับอาย โดยที่บางทีมันอาจจะเกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ และเป็นสัญญาณแสดงถึงการยินยอมที่จะเลิกเสแสร้งว่าตนเองยังคงเป็นจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

นอกจากนั้น ผมยังคงคิดว่า สี จิ้นผิง กำลังมุ่งโฟกัสไปที่การรักษาการปกครองของเขาเอาไว้ให้มั่นคง ตลอดจนการผลักดันเดินหน้าวาระทางการเมืองและทางเศรษฐกิจภายในประเทศของเขา และจะตัดสินใจไม่เพิ่มเอาเรื่องการประจันหน้าครั้งใหญ่กับสหรัฐฯ เข้าไปในบัญชีรายการเรื่องท้าทายใหญ่ๆ ที่เขากำลังประสบอยู่

อย่างไรก็ตาม พายุกำลังก่อตัวอยู่เหนือทะเลจีนใต้ และทั้งสหรัฐฯกับจีนต่างก็มีส่วนในการกำหนดตัดสินว่าพายุนี้จะโถมกระหน่ำไปยังที่ไหนและเมื่อใด

*หมายเหตุผู้แปล*

[1] “ช่วงขณะแห่งคลองสุเอซ” นี้ เป็นการอ้างอิงพาดพิงถึง “วิกฤตการณ์คลองสุเอซ” ปี 1956 ซึ่งถือกันว่ามันคือสัญญาณแสดงให้เห็นว่าอังกฤษมาถึงจุดจบแห่งบทบาทความเป็นมหาอำนาจรายสำคัญรายหนึ่งของโลกแล้ว วิกฤตการณ์คราวนั้นเป็นการประจันหน้ากันในทางการทูตและทางการทหาร ระหว่าง อียิปต์ ฝ่ายหนึ่ง กับ อังกฤษ-ฝรั่งเศส-อิสราเอล อีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่มีสหรัฐฯ, สหภาพโซเวียต, และสหประชาชาติ แสดงบทบาทสำคัญในการบังคับให้อังกฤษ, ฝรั่งเศส, และอิสราเอล ต้องยอมถอยออกไป ทั้งนี้พวกนักประวัติศาสตร์ต่างโฟกัสไปที่ความล้มเหลวของอังกฤษในตอนนั้น (ข้อมูลจาก Wikipedia)

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ข้อเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์แรกสุดในบล็อก “ChinaMatters” (http://chinamatters.blogspot.com)
กำลังโหลดความคิดเห็น