xs
xsm
sm
md
lg

‘กรณีแท่นขุดเจาะ’ บ่งชี้ ‘จีน’ หันใช้ ‘ไม้แข็ง’ รับมือ ‘ปักหมุด’ (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไท มส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China drills its hardpower reserves
By Peter Lee
08/05/2014

จีนทราบดีว่าความพยายามล่าสุดของตนที่จะเข้าขุดเจาะแหล่งน้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่ตรงน่านน้ำที่ยังช่วงชิงกันอยู่บริเวณนอกชายฝั่งเวียดนามนั้น เป็นการท้าทายที่ชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของตนรายนี้ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ได้ กระนั้นก็ตามที แท้ที่จริงแล้วกลเม็ดนี้ของแดนมังกรเล็งไปยังเป้าหมายซึ่งชัดเจนและใหญ่กว่านั้นเสียอีก กล่าวคือ มันเป็นการฝึกซ้อมเอาไว้สำหรับการเผชิญหน้ากับฟิลิปปินส์ –ประเทศซึ่งปักกิ่งต้องการที่จะหยามหยันอย่างแท้จริง รวมทั้งมันยังเป็นการยั่วญี่ปุ่นให้เข้าแสดงบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ เพื่อที่จะกลายเป็นการลดทอนความสำคัญของสหรัฐฯในเอเชียลงไปอีกด้วย สัญญาณทั้งหลายทั้งปวงในทะเลจีนใต้ในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังละทิ้งการใช้ “อำนาจละมุน” และหันมาแสดง “อำนาจแข็งกร้าว” แทนที่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*

เป็นเรื่องลำบากที่จะบังเกิดความรู้สึกแช่มชื่นยินดี จากการที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน HYSY981 ของจีน ถูกเคลื่อนย้ายเข้ามาในน่านน้ำพิพาทบริเวณนอกชายฝั่งเวียดนาม อันที่จริงแล้ว ถ้าหากสาธารณรัฐประชาชนจีนส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน “เหลียวหนิง” ของตนเข้ามาตรงนั้นแทนที่จะเป็นแท่นขุดเจาะน้ำมัน ยังจะสร้างความรู้สึกว่าเป็นการยั่วยุน้อยกว่าด้วยซ้ำ

ผลพลอยได้อันน่าสนใจประการหนึ่งจากการรณรงค์เรียกร้อง “เสรีภาพในการเดินเรือ” ในทะเลจีนใต้ของสหรัฐฯที่ผ่านมา ก็คือ สหรัฐฯกำลังประกาศจุดยืนว่า การที่เรือของต่างประเทศจะเข้าปฏิบัติการทางทะเลภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone ใช้อักษรย่อว่า EEZ) ของชาติอื่นนั้น ไม่ได้เป็นการรุกล้ำในทางเศรษฐกิจชนิดที่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) บัญญัติไว้ว่าห้ามกระทำ

ที่จริงแล้ว หลังจากการแสดงพฤติกรรมก่อกวนของเรือ ยูเอสเอ็นเอส อิมเพคคะเบิล (USNS Impeccable) ซึ่งเป็นเรือสำรวจของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซึ่งได้เที่ยวแล่นตระเวนไปทั่วเขต EEZ ของจีน พร้อมๆ กับที่ลากจูงเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ หลายๆ ชิ้นไปด้วยแล้ว สหรัฐฯยังได้ออกมาสำทับว่า เรือของตนลำนี้ไม่ได้ทำอะไรซึ่งจะสามารถวิเคราะห์ตีความได้ว่าเป็นการหาประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งเป็นการหาประโยชน์แบบหลายๆ วัตถุประสงค์โดยที่เรื่องเศรษฐกิจเป็นหนึ่งในนั้น ตัวอย่างเช่นการจัดทำแผนที่พื้นมหาสมุทรในบริเวณดังกล่าว พร้อมกันนั้นสหรัฐฯยืนกรานด้วยว่าเรือกองทัพเรืออเมริกันลำนี้เพ่นพ่านอยู่แถวๆ นั้น ก็เพื่อตามแกะรอยความเคลื่อนไหวของเรือดำน้ำของกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีนต่างหาก

ถ้าใช้หลักเหตุผลเช่นนี้แล้ว การที่เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง แล่นฉึกฉักผ่านน่านน้ำใดๆ ก็ตามในทะเลจีนใต้ ไมว่าจะอยู่ภายในเขต EEZ ที่มีข้อพิพาทกันอยู่หรือไม่ ย่อมเป็นสิ่งที่ไมว่าใครๆ ก็ไม่สามารถร้องเรียนอะไรได้เลย จริงๆ แล้ว นี่เป็นสิ่งที่ เหลียวหนิง เคยทำมา ในเที่ยวเดินเรือทดสอบไปทั่วๆ ทะเลจีนใต้เมื่อช่วงสิ้นปี 2013

แต่การจัดส่ง “HYSY981” แท่นขุดเจาะน้ำมันในเขตน้ำลึกมูลค่าระดับพันล้านดอลลาร์ของจีนเข้ามา (ด้วยภารกิจแบบ “เดธ สตาร์” Death Star ของ ดาร์ธ เวเดอร์ ในภาพยนตร์ชุด สตาร์วอร์ส นั่นคือ เพื่อข่มขู่ประดาชาติปรปักษ์ที่กำลังช่วงชิงแหล่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติกับแดนมังกร โดยที่มันเป็นวิธีสาธิตให้เห็นถึงศักยภาพของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั่นเอง ว่าแม้กระทั่งเพียงลำพังฝ่ายเดียว ประเทศนี้ก็สามารถที่จะเข้าพัฒนาขุดค้นแหล่งน้ำมันต่างๆ ที่แย่งกันอยู่เหล่านั้นได้) คือกลเม็ดชนิดที่สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพในเขต EEZ ทั้งหลายได้อย่างแท้จริง ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ก่อให้เกิดความตึงเครียด และก็เชื้อเชิญให้เกิดการตอบโต้

สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เลือกที่จะให้ตนเองยังพอมีช่องมีพื้นที่สำหรับขยับเนื้อขยับตัวอยู่บ้าง ด้วยการส่งแท่นขุดเจาะนี้ไปยังสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับหมู่เกาะพาราเซล (Paracel Islands) หมู่เกาะซึ่งจีนยึดครองเอาไว้อยู่แล้วในขณะนี้ และดังนั้นจึงทรงสิทธิ์ที่จะอ้างเขต EEZ ที่อยู่ถัดออกไปจากแนวหมู่เกาะนี้ด้วย ถึงแม้ยังไม่ได้มีการระบุออกมาชัดๆ ว่ามันจะครอบคลุมไปถึงแค่ไหนก็ตามที เหตุฉะนี้จึงกล่าวได้ว่า น่านน้ำตรงนั้นทางฝ่ายเวียดนามมีเหตุผลโต้แย้งช่วงชิง ไม่หนักแน่นเท่ากับเหตุผลอ้างกรรมสิทธิ์ของทางฝ่ายจีน ทว่าจากขอบเขตลักษณะของการจู่โจมคราวนี้ บ่งบอกให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้คาดหมายหรอกว่า เวียดนามจะยอมกล้ำกลืนฝืนทนและเพิกเฉยทำไม่รู้ไม่เห็นต่อการท้าทายของตน

มีรายงานว่า การเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะ HYSY981 คราวนี้ มีกองเรือคุ้มกันเป็นจำนวนหลายสิบลำ ในจำนวนนี้หลายลำเป็นเรือตรวจการณ์ทางทะเลธรรมดาๆ ชนิดที่พบเห็นกันได้ทั่วไป นอกจากนั้นผมยังอยากจะขอสันนิษฐานด้วยว่า ยังมีเรือสนับสนุนลักษณะต่างๆ อีกหลายลำซึ่งจำเป็นต้องใช้ในกิจการการขุดเจาะน้ำมัน ผมยังได้เห็นรายงานชิ้นหนึ่ง หรือจริงๆ แล้วน่าจะเรียกได้ว่า มันเป็นการป่าวร้องของบล็อกเกอร์นักชาตินิยมผู้ตื่นเต้นตึงเครียดไปหน่อยผู้หนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งระบุว่าแท่นขุดเจาะน้ำมันนี้มีเรือพิฆาตติดอาวุธต่อต้านขีปนาวุธหลายลำคอยให้ความคุ้มครองด้วย ถ้าหากว่าเป็นความจริงตามที่บล็อกเกอร์ผู้นี้ป่าวร้องแล้ว มันก็จะเท่ากับเป็นการก้าวข้ามเส้นครั้งสำคัญทีเดียว เนื่องจากเป็นการนำเอาองค์ประกอบทางการทหารอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน เข้าไปในการพิพาทช่วงชิงในทางเศรษฐกิจที่สาธารณรัฐประชาชนจีนมีอยู่กับชาติเพื่อนบ้านทางทะเลของตน

แต่ถึงไม่มีเรือพิฆาตปรากฏตัวอยู่ในฉากด้วย สาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีความตั้งอกตั้งใจที่จะ “จัดหนัก” อยู่ดี

ฝ่ายเวียดนามได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ (หาชมได้ที่ http://news.usni.org/2014/05/07/hanoi-chinese-ships-rammed-vietnamese-patrol-boats-escalating-oilrig-dispute) ซึ่งแสดงให้เห็นเรือตรวจการณ์ทางทะเลของสาธารณรัฐประชาชนจีน กำลังชนกระแทกเรือตรวจการณ์ของหน่วยยามฝั่งเวียดนาม ที่พยายามเคลื่อนเข้าไปยังแท่นขุดเจาะ เรื่องนี้เป็นสัญญาณประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นไม่ได้มีความหวาดหวั่นใดๆ เลย ในการแสดงบทบาทเป็นมหาอำนาจภูมิภาคผู้เป็นนักเลงโต/เที่ยวข่มขู่คุกคาม/ก้าวร้าวรุกราน ให้ท่านผู้ชมทั่วโลกได้เห็นกันถนัดถนี่

เรื่องนี้ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามอันใหญ่ๆ ขึ้นมาว่า ทำไมจีนจึงทำเช่นนี้?

ทำไมหลังจากที่เวียดนามแสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะร่วมไม้ร่วมมืออย่างสมเหตุสมผลในการติดต่อสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเรื่อยมา โดยเหตุการณ์ซึ่งสะท้อนให้เห็นท่าทีนี้อย่างชัดเจนเตะตาที่สุด ก็คือการที่ฮานอยไม่ได้ให้ความสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อเรื่องที่ฟิลิปปินส์ฟ้องร้องคัดค้านแผนที่ “เส้นประ 9 เส้น” ของจีนต่อศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ หรือว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังหาเรื่องเอากับเวียดนาม ในลักษณะของการแสดงความดิบเถื่อนมุ่งโอ่อวด และความยะโสโอหังชมชอบข่มคนอื่น ?

สำหรับวัตถุประสงค์ระยะสั้นเฉพาะหน้าแล้ว ผมคิดว่ามันเป็นเพราะว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการการฝึกซ้อม –ฝึกซ้อมการเข้าพัวพันในการปฏิบัติการทางนาวีที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่อุ้ยอ้าย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเป็นปรปักษ์จริงๆ แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ก็เป็นการปฏิบัติการซึ่งมีโอกาสต่ำมากๆ ที่จะเกิดความอับอายขายหน้าจากการเผชิญหน้าทางทหารชนิดที่ก่อให้เกิดความสูญเสียร้ายแรง การเข้าพัวพันแสดงการยั่วยุครั้งใหญ่ภายในพื้นที่ซึ่งเวียดนามประกาศเป็นเขต EEZ ของตน และทำให้ได้โอกาสที่จะข่มเหงระรานเวียดนาม ผู้ซึ่งมีแสนยานุภาพทางนาวีค่อนข้างต่ำชั้น อีกทั้งไม่ได้เป็นพันธมิตรด้านการป้องกันอย่างเป็นทางการกับมหาอำนาจภูมิภาคที่ทรงความสามารถ (อย่างเช่นญี่ปุ่น) หรือกับมหาอำนาจระดับโลก (อย่างเช่นสหรัฐฯ) นับว่ามีคุณสมบัติครบเข้าข่ายดังกล่าวนี้ได้พอดี

สมรรถนะทางทหารและเครดิตความน่าเชื่อถือทางการทหารของสาธารณรัฐประชาชนนั้น มักจะถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ จนกระทั่งกลายเป็นความท้าทายอันใหญ่โตที่สุดประการหนึ่ง คำถามเช่นนี้เกิดขึ้นมา ก็เนื่องจากประเทศนี้ไม่ได้ต่อสู้ทำสงครามร้อนกับใครหน้าไหนเลยมาเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปีแล้วนั่นเอง แต่ด้วยการสร้างเรื่องยั่วยุเวียดนาม ระบบทางทหารของแดนมังกรก็จะมีโอกาสอันสวยงามที่จะได้เอ็กเซอร์ไซส์กันบ้างสักเล็กน้อย

เมื่อขบคิดพิจารณาถึงบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งที่ผมได้อ่านมา ซึ่งพูดเอาไว้ว่า “พวกเรือชั้นเยี่ยมๆ ชุดเดียวกับที่ใช้คุ้มกันเรือเหลียวหนิง กำลังถูกใช้มาดูแลแท่นขุดเจาะ HYSY981 ในเวลานี้ด้วย” มันก็ไม่ต้องใช้จินตนาการอะไรมากมายเท่าใดเลย ในการนึกคิดให้เห็นภาพเรือเหลียวหนิง ถูกยกเอามาวางไว้ภายในวงล้อมคุ้มกันรักษาความปลอดภัย ซึ่งเวลานี้กำลังรายล้อมแท่นขุดเจาะนี้อยู่

สำหรับวัตถุประสงค์ในระยะกลาง ผมมองว่ากลเม็ดเล่นงานเวียดนามนี้ เป็นการเตรียมตัวสำหรับการเผชิญหน้ากับประเทศซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการที่จะหยามหยันจริงๆ ซึ่งก็คือ ฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์ถือเป็นหมากที่มีความเสี่ยงกว่าเวียดนามเยอะ ถ้าหากคิดจะเคี้ยวคิดจะเล่นงาน ทั้งนี้เนื่องจากว่าฟิลิปปินส์มี 1) การจับมือเป็นพันธมิตรทางการทหารกับสหรัฐฯ และ 2) ทีมงานด้านนโยบายการต่างประเทศซึ่งได้กระทำการแบบที่กล่าวไว้ในคำพังเพยที่ว่า นำเอาไข่แทบจะทุกฟองของตนมาวางรวมอยู่ในตะกร้าเพียงใบเดียว ตะกร้าใบที่ว่านี้คือตะกร้าแห่งการท้าทายพร้อมลองเสี่ยงภัยจนสุดๆ ถึงริมขอบเหว ทั้งนี้ฟิลิปปินส์ยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์ระดับทวิภาคกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเอาเสียเลย หากแต่กำลังพึ่งพาอาศัย/กำลังวาดหวังว่า สหรัฐฯจะเป็นผู้ที่ช่วยป้องปรามความก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ และถ้าหากถึงขั้นที่เกิดการขัดแย้งสู้รบกันในบางลักษณะขึ้นมาแล้ว สหรัฐฯก็ยังจะเข้ามาแทรกแซงในหนทางที่เป็นการช่วยเหลือฟิลิปปินส์ได้อย่างทรงประสิทธิภาพ

ทางฝ่ายฟิลิปปินส์เองก็ดูเหมือนมองภาพสถานการณ์ด้วยสายตาอย่างเดียวกันนี้เช่นกัน ถ้าหากกรณีฟิลิปปินส์เข้ายึดเรือประมงจีนลำหนึ่งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสาธิตให้เห็นว่า แดนตากาล็อกมีความเด็ดเดี่ยวมั่นคงขนาดไหนในการช่วยเหลือบรรเทาความลำบากของเวียดนาม โดยเลือกวิธีซึ่งทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนตกอยู่ในสถานการณ์อันไม่น่ายินดีของการเข้าพัวพันอยู่ในข้อพิพาททางทะเล 2 กรณีพร้อมๆ กัน แถมในกรณีหนึ่งมีโอกาสที่สหรัฐฯจะเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย

ผมไม่คิดหรอกว่า ในวันนี้สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเข้าฮุบเหยื่อติดเบ็ดในลักษณะนี้ แต่ผมจะไม่ประหลาดใจอะไรเลย ถ้าหากว่าในอนาคตอันใกล้นี้ จะได้เห็นแท่นขุดเจาะ HYSY981 ไปปรากฏตัวอยู่ใน “ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก”

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น