(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Philippines tests rule of law
By Gregory Poling
11/04/2014
ฟิลิปปินส์เลือกเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว ในการเดินหน้ายื่นเอกสารหลักฐานทางคดีของฝ่ายตนที่มีความหนาร่วมๆ 4,000 หน้า ต่อศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก เพื่อโต้แย้ง แผนที่เส้นประ 9 เส้น ของจีน ตลอดจนแง่มุมอื่นๆ ของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง มาถึงตอนนี้ ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องพยายามทำให้จีนเกิดความตระหนักแน่ใจขึ้นมาว่า การรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ดีที่สุดนั้น อยู่ที่การยอมรับและกระทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ อยู่ที่การรักษาหลักนิติธรรมระหว่างประเทศเอาไว้
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*
เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้ยื่นเอกสารบันทึกทางคดี (memorial) ซึ่งแจกแจงรายละเอียดของข้อโต้แย้งของฝ่ายตน รวมทั้งหลักฐานคัดง้าง “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ของจีน ตลอดจนแง่มุมอื่นๆ ของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง ต่อศาลอนุญาโตตุลาการแห่งหนึ่งในกรุงเฮก [1] เอกสารซึ่งมีทั้งสิ้น 10 เล่มและความหนารวมกันร่วมๆ 4,000 หน้าเหล่านี้ เป็นหลักหมายแสดงให้เห็นถึงการที่มะนิลาตัดสินใจผลักดันจังหวะก้าวอันห้าวหาญ และเป็นจังหวะก้าวซึ่งก่อนหน้านั้นปักกิ่งดูเหมือนมีความเชื่อว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาจริงๆ ได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าฟิลิปปินส์เลือกเส้นทางเดินที่ถูกต้องแล้ว และมาถึงเวลานี้ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องแสดงบทบาทเพื่อทำให้จีนเกิดความตระหนักแน่ใจในข้อเท็จจริงนี้
จีนนั้นได้แสดงท่าทีปฏิเสธไม่ยอมรับและไม่ยอมเข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่ที่ฟิลิปปินส์เริ่มต้นยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้ในเดือนมกราคม 2013 นอกจากนั้นปักกิ่งยังพยายามดำเนินการบีบคั้นกดดันอย่างหนักหน่วงต่อมะนิลา ให้เพิกถอนการดำเนินการตามกระบวนการเช่นนี้อีกด้วย ในขณะที่กำหนดเส้นตายที่ฟิลิปปินส์จะต้องยื่นเอกสารบันทึกทางคดี เพื่อที่ศาลอนุญาโตตุลาการจะได้เดินหน้าในขั้นต่อไป กำลังขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ ครั้นเมื่อการบีบคั้นกดดันต่างๆ ประสบความล้มเหลวไม่สามารถทำให้มะนิลาเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนได้ ปักกิ่งก็ได้หันไปใช้ไม้นวม ทั้งนี้มีรายงานว่าแดนมังกรได้เสนอมาตรการจูงใจต่างๆ หลายอย่างหลายประการ เพื่อให้แดนตากาล็อกยอมถอนคดีออกไปเสีย เป็นต้นว่า การให้ผลประโยชน์ทางด้านการค้า และการกำหนดให้ทั้งสองประเทศต่างฝ่ายต่างถอนเรือของฝ่ายตนออกมาจากเกาะปะการัง “สคาร์โบโร โชล” (Scarborough Shoal) ซึ่งจีนได้เข้ายึดครองเอาไว้เมื่อเดือนเมษายน 2012 ทว่าฟิลิปปินส์ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นใกล้ๆ แนวปะการังอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) เช่นเดียวกันในวันที่ 29 มีนาคม น่าที่จะช่วยอธิบายได้ดีว่าทำไมแดนตากาล็อกจึงแสดงท่าทียืนหยัดเช่นนี้
แนวปะการังอีกแห่งหนึ่งดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า “เซกันด์ โธมัส โชล (Second Thomas Shoal) มีลักษณะเป็นแนวปะการังซึ่งจมอยู่ใต้น้ำ โดยบางส่วนจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาในเวลาน้ำลง แนวปะการังแห่งนี้ฟิลิปปินส์บอกว่า มีความชัดเจนว่าตั้งอยู่บนเขตไหล่ทวีปซึ่งตนเองประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ทว่าก็เหมือนกับลักษณะรูปโฉมทางภูมิศาสตร์อื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งอยู่ภายในแนวแผนที่เส้นประ 9 เส้น นั่นคือจีนก็ถือว่าเป็นพื้นที่ในอธิปไตยของตน ตั้งแต่ปี 1999 กองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้นำเอาเรือรบลำเก่าที่ชื่อ “บีอาร์พี เซียร์รา มาเดร” (BRP Sierra Madre) ไปเกยตื้นที่แนวปะการังนี้อย่างจงใจ แล้วใช้เป็นสถานีสำหรับให้กองทหารหน่วยเล็กๆ ของตนหน่วยหนึ่งตั้งประจำการ เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องปรามไม่ให้จีนรุกขยายดินแดนในอาณาบริเวณนั้นต่อไปอีก
ทุกๆ สองสามเดือนในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา กองทัพเรือฟิลิปปินส์จะจัดส่งทหารหน่วยใหม่เข้าไปผลัดเปลี่ยนตลอดจนส่งเสบียงสัมภาระต่างๆ ให้แก่หน่วยทหารที่ เซกันด์ โธมัส โชล ทว่าเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่แดนมังกรเข้ายึดครองเกาะปะการัง สการ์โบโร โชล ยังคงสดใหม่ไม่ทันลางเลือน หมู่เรือของทางการจีนก็ได้เริ่มทำการตรวจการณ์เป็นประจำในบริเวณใกล้ๆ เชกันด์ โธมัส โชล และเข้ารบกวนขับไล่เรือของฟิลิปปินส์ที่พยายามเดินทางเข้าไป ตอนต้นเดือนมีนาคมปีนี้ แดนมังกรได้เพิ่มระดับการก่อกวนยั่วยุเช่นนี้ ด้วยการเข้าขัดขวางเรือลำหนึ่งที่ฝ่ายแดนตากาล็อกระบุว่ากำลังลำเลียงสัมภาระต่างๆ ไปให้แก่หน่วยทหารฟิลิปปินส์ แต่ปักกิ่งกล่าวหาว่ามีการบรรทุกวัสดุการก่อสร้างเพื่อไปเสริมที่มั่นแห่งนั้นด้วย ทางด้านมะนิลาจึงตัดสินใจหันไปใช้วิธีหย่อนสัมภาระโดยทางอากาศให้แก่ทหารของตน
ในวันที่ 29 มีนาคม ฟิลิปปินส์ได้จัดส่งเรืออีกลำหนึ่งไปที่นั่น แต่ในคราวนี้ได้เชิญพวกผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อบันทึกเป็นหลักฐานว่าฝ่ายจีนมีการกระทำอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าเรือบรรทุกเสบียงสัมภาระลำนี้ ได้ถูกรบกวนจากเรือของหน่วยยามฝั่งจีนลำหนึ่ง ซึ่งพยายามเรียกร้องให้ออกไปจากอาณาบริเวณดังกล่าว และคอยแล่นตัดข้ามเส้นทางเดินเรือของเรือเสบียงซึ่งมีขนาดเล็กกว่าครั้งแล้วครั้งเล่า อันเป็นวิธีบังคับให้ถอยหนีออกไปถ้าหากไม่ต้องการให้เรือชนกัน โดยที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ตกอยู่ในสายตาของพวกนักข่าวต่างประเทศทั้งสิ้น ในที่สุดแล้ว เรือฟิลิปปินส์ใช้วิธีหลบเข้าสู่บริเวณที่น้ำตื้นและสามารถหลุดออกจากการก่อกวนของเรือจีนได้ จากนั้นจึงไปส่งเสบียงสัมภาระและนำทหารรุ่นใหม่ไปผลัดเปลี่ยนที่สถานี ณ เซกันด์ โธมัส โชล หลังจากล่วงเลยกำหนดการมานาน
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ กลายเป็นการตอกย้ำบทเรียนให้ฟิลิปปินส์ภายหลังจากกรณีของ สคาร์โบโร โชล นั่นคือ มันแสดงให้เห็นว่า จีนไม่ได้มีเจตนารมณ์ใดๆ เลยที่จะประนีประนอมในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของฝ่ายตน, หรือว่ากำลังจำกัดตนเองให้อยู่แต่เฉพาะภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ, หรือว่าปฏิบัติต่อชาติอื่นซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ด้วย ในฐานะเป็นฝ่ายที่เท่าเทียมกันของกรณีพิพาท
ถึงแม้ปักกิ่งยืนยันอยู่บ่อยครั้งว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ ของตนในทะเลจีนใต้นั้น วางพื้นฐานอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ และตีวงเพียงแค่ “หมู่เกาะและน่านน้ำที่อยู่ประชิดติดกัน” ทั้งหลายภายในแนวเส้นประ 9 เส้นตามแผนที่ ทว่าการกระทำของฝ่ายจีนกลับบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้ เซกันด์ โธมัส โชล ไม่ได้เป็นเกาะ ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งก้อนหินกลางทะเล ทว่าเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาในช่วงกระแสน้ำลง ซึ่งตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea) หรือกฎหมายระหว่างประเทศตามประเพณี ไม่สามารถประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ในตัวมันเองได้ แนวปะการังนี้ต้องเป็นของชาติใดก็ตามซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปที่มันตั้งอยู่ – ดังนั้นเครื่องบ่งชี้ทุกอย่างล้วนแต่หมายความว่าต้องเป็นของฟิลิปปินส์
หมายเหตุผู้แปล
[1] ศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนแห่งนี้ คือ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ( Permanent Court of Arbitration ใช้อักษรย่อว่า PCA) ที่ตั้งของ PCA อยู่ที่วังสันติภาพ (Peace Palace) ในอาคารเดียวกันกับ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice ใช้อักษรย่อว่า ICJ) หรือที่เรียกขานกันติดปากว่า “ศาลโลก” ในความเป็นจริงแล้ว PCA ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1899 ก่อนหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถาวร (Permanent Court of International Justice) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 1922 แล้วถูกยุบเลิกและแทนที่ด้วย ICJ ในปี 1946 ทว่าแสดงบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ถึงแม้ PCA มีชื่อว่าเป็นศาล ทว่าไม่ได้เป็นศาลในแบบที่เข้าใจกันทั่วไปเมื่อใช้คำๆ นี้ หากแต่มีลักษณะเป็นองค์กรบริหาร ซึ่งวัตถุประสงค์คือการเป็นเครื่องมืออันถาวรและพรักพร้อมให้ใช้ได้เมื่อมีการยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการวินิจฉัยตัดสินระดับระหว่างประเทศ ตลอดจนเพื่อการดำเนินกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า การเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยประนีประนอม คดีความที่ PCA สามารถดูแลดำเนินการได้มีขอบเขตทางด้านประเด็นกฎหมายที่กว้างกวาง เป็นต้นว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนและเกี่ยวกับพรมแดนทางทะเล, อำนาจอธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, การลงทุนระหว่างประเทศ (การวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับรัฐ), ตลอดจนเรื่องต่างๆ ในด้านการค้าระหว่างประเทศและการค้าในภูมิภาค ในการไต่สวนพิจารณาคดีของ PCA มีน้อยครั้งที่เปิดให้สาธารณชนเข้าฟัง กระทั่งคำตัดสินวินิจฉัยบางครั้งยังเก็บเป็นความลับตามคำขอของคู่ความ
ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) เมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับการตีความหรือการประยุกต์ใช้อนุสัญญาฉบับนี้ รัฐที่เป็นคู่กรณีอาจเลือกใช้เครื่องมือมาแก้ไขและทำความตกลงกันได้รวม 4 ประเภท ได้แก่ 1) ศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า ITLOS) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฮัมบูร์ก, เยอรมนี 2) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ 3) ศาลอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นไปตามภาคผนวก 7 ของอนุสัญญา UNCLOS และ 4) “ศาลอนุญาโตตุลาการพิเศษ” เพื่อพิจารณาข้อพิพาทบางอย่างบางประเภท ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ภาคผนวก 8 ของ UNCLOS ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนโดยเลือกเอา PCA เป็นศาลพิจารณา ในฐานะที่เป็น ศาลอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ ตาม 3) (ข้อมูลจาก Wikipedia และ เว็บไซต์ของ PCA ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://www.pca-cpa.org/showpage.asp?pag_id=1288)
เกรกอรี โพลิ่ง (GPoling@csis.org) เป็นนักวิจัยในโครงการ สุมิโตร เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Sumitro Chair for Southeast Asia Studies) ที่ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies ใช้อักษรย่อว่า CSIS) ในกรุงวอชิงตัน
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
Philippines tests rule of law
By Gregory Poling
11/04/2014
ฟิลิปปินส์เลือกเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว ในการเดินหน้ายื่นเอกสารหลักฐานทางคดีของฝ่ายตนที่มีความหนาร่วมๆ 4,000 หน้า ต่อศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก เพื่อโต้แย้ง แผนที่เส้นประ 9 เส้น ของจีน ตลอดจนแง่มุมอื่นๆ ของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง มาถึงตอนนี้ ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องพยายามทำให้จีนเกิดความตระหนักแน่ใจขึ้นมาว่า การรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ดีที่สุดนั้น อยู่ที่การยอมรับและกระทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ อยู่ที่การรักษาหลักนิติธรรมระหว่างประเทศเอาไว้
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก*
เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ได้ยื่นเอกสารบันทึกทางคดี (memorial) ซึ่งแจกแจงรายละเอียดของข้อโต้แย้งของฝ่ายตน รวมทั้งหลักฐานคัดง้าง “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ของจีน ตลอดจนแง่มุมอื่นๆ ของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง ต่อศาลอนุญาโตตุลาการแห่งหนึ่งในกรุงเฮก [1] เอกสารซึ่งมีทั้งสิ้น 10 เล่มและความหนารวมกันร่วมๆ 4,000 หน้าเหล่านี้ เป็นหลักหมายแสดงให้เห็นถึงการที่มะนิลาตัดสินใจผลักดันจังหวะก้าวอันห้าวหาญ และเป็นจังหวะก้าวซึ่งก่อนหน้านั้นปักกิ่งดูเหมือนมีความเชื่อว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นมาจริงๆ ได้ ทั้งนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าฟิลิปปินส์เลือกเส้นทางเดินที่ถูกต้องแล้ว และมาถึงเวลานี้ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องแสดงบทบาทเพื่อทำให้จีนเกิดความตระหนักแน่ใจในข้อเท็จจริงนี้
จีนนั้นได้แสดงท่าทีปฏิเสธไม่ยอมรับและไม่ยอมเข้ามีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีนี้ นับตั้งแต่ที่ฟิลิปปินส์เริ่มต้นยื่นเรื่องต่อศาลอนุญาโตตุลาการแห่งนี้ในเดือนมกราคม 2013 นอกจากนั้นปักกิ่งยังพยายามดำเนินการบีบคั้นกดดันอย่างหนักหน่วงต่อมะนิลา ให้เพิกถอนการดำเนินการตามกระบวนการเช่นนี้อีกด้วย ในขณะที่กำหนดเส้นตายที่ฟิลิปปินส์จะต้องยื่นเอกสารบันทึกทางคดี เพื่อที่ศาลอนุญาโตตุลาการจะได้เดินหน้าในขั้นต่อไป กำลังขยับใกล้เข้ามาทุกขณะ ครั้นเมื่อการบีบคั้นกดดันต่างๆ ประสบความล้มเหลวไม่สามารถทำให้มะนิลาเปลี่ยนแปลงจุดยืนของตนได้ ปักกิ่งก็ได้หันไปใช้ไม้นวม ทั้งนี้มีรายงานว่าแดนมังกรได้เสนอมาตรการจูงใจต่างๆ หลายอย่างหลายประการ เพื่อให้แดนตากาล็อกยอมถอนคดีออกไปเสีย เป็นต้นว่า การให้ผลประโยชน์ทางด้านการค้า และการกำหนดให้ทั้งสองประเทศต่างฝ่ายต่างถอนเรือของฝ่ายตนออกมาจากเกาะปะการัง “สคาร์โบโร โชล” (Scarborough Shoal) ซึ่งจีนได้เข้ายึดครองเอาไว้เมื่อเดือนเมษายน 2012 ทว่าฟิลิปปินส์ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นใกล้ๆ แนวปะการังอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) เช่นเดียวกันในวันที่ 29 มีนาคม น่าที่จะช่วยอธิบายได้ดีว่าทำไมแดนตากาล็อกจึงแสดงท่าทียืนหยัดเช่นนี้
แนวปะการังอีกแห่งหนึ่งดังกล่าว ซึ่งมีชื่อว่า “เซกันด์ โธมัส โชล (Second Thomas Shoal) มีลักษณะเป็นแนวปะการังซึ่งจมอยู่ใต้น้ำ โดยบางส่วนจะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาในเวลาน้ำลง แนวปะการังแห่งนี้ฟิลิปปินส์บอกว่า มีความชัดเจนว่าตั้งอยู่บนเขตไหล่ทวีปซึ่งตนเองประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ทว่าก็เหมือนกับลักษณะรูปโฉมทางภูมิศาสตร์อื่นๆ ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งอยู่ภายในแนวแผนที่เส้นประ 9 เส้น นั่นคือจีนก็ถือว่าเป็นพื้นที่ในอธิปไตยของตน ตั้งแต่ปี 1999 กองทัพเรือฟิลิปปินส์ได้นำเอาเรือรบลำเก่าที่ชื่อ “บีอาร์พี เซียร์รา มาเดร” (BRP Sierra Madre) ไปเกยตื้นที่แนวปะการังนี้อย่างจงใจ แล้วใช้เป็นสถานีสำหรับให้กองทหารหน่วยเล็กๆ ของตนหน่วยหนึ่งตั้งประจำการ เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งในการป้องปรามไม่ให้จีนรุกขยายดินแดนในอาณาบริเวณนั้นต่อไปอีก
ทุกๆ สองสามเดือนในช่วงระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา กองทัพเรือฟิลิปปินส์จะจัดส่งทหารหน่วยใหม่เข้าไปผลัดเปลี่ยนตลอดจนส่งเสบียงสัมภาระต่างๆ ให้แก่หน่วยทหารที่ เซกันด์ โธมัส โชล ทว่าเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่แดนมังกรเข้ายึดครองเกาะปะการัง สการ์โบโร โชล ยังคงสดใหม่ไม่ทันลางเลือน หมู่เรือของทางการจีนก็ได้เริ่มทำการตรวจการณ์เป็นประจำในบริเวณใกล้ๆ เชกันด์ โธมัส โชล และเข้ารบกวนขับไล่เรือของฟิลิปปินส์ที่พยายามเดินทางเข้าไป ตอนต้นเดือนมีนาคมปีนี้ แดนมังกรได้เพิ่มระดับการก่อกวนยั่วยุเช่นนี้ ด้วยการเข้าขัดขวางเรือลำหนึ่งที่ฝ่ายแดนตากาล็อกระบุว่ากำลังลำเลียงสัมภาระต่างๆ ไปให้แก่หน่วยทหารฟิลิปปินส์ แต่ปักกิ่งกล่าวหาว่ามีการบรรทุกวัสดุการก่อสร้างเพื่อไปเสริมที่มั่นแห่งนั้นด้วย ทางด้านมะนิลาจึงตัดสินใจหันไปใช้วิธีหย่อนสัมภาระโดยทางอากาศให้แก่ทหารของตน
ในวันที่ 29 มีนาคม ฟิลิปปินส์ได้จัดส่งเรืออีกลำหนึ่งไปที่นั่น แต่ในคราวนี้ได้เชิญพวกผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อบันทึกเป็นหลักฐานว่าฝ่ายจีนมีการกระทำอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าเรือบรรทุกเสบียงสัมภาระลำนี้ ได้ถูกรบกวนจากเรือของหน่วยยามฝั่งจีนลำหนึ่ง ซึ่งพยายามเรียกร้องให้ออกไปจากอาณาบริเวณดังกล่าว และคอยแล่นตัดข้ามเส้นทางเดินเรือของเรือเสบียงซึ่งมีขนาดเล็กกว่าครั้งแล้วครั้งเล่า อันเป็นวิธีบังคับให้ถอยหนีออกไปถ้าหากไม่ต้องการให้เรือชนกัน โดยที่เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ตกอยู่ในสายตาของพวกนักข่าวต่างประเทศทั้งสิ้น ในที่สุดแล้ว เรือฟิลิปปินส์ใช้วิธีหลบเข้าสู่บริเวณที่น้ำตื้นและสามารถหลุดออกจากการก่อกวนของเรือจีนได้ จากนั้นจึงไปส่งเสบียงสัมภาระและนำทหารรุ่นใหม่ไปผลัดเปลี่ยนที่สถานี ณ เซกันด์ โธมัส โชล หลังจากล่วงเลยกำหนดการมานาน
เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ กลายเป็นการตอกย้ำบทเรียนให้ฟิลิปปินส์ภายหลังจากกรณีของ สคาร์โบโร โชล นั่นคือ มันแสดงให้เห็นว่า จีนไม่ได้มีเจตนารมณ์ใดๆ เลยที่จะประนีประนอมในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของฝ่ายตน, หรือว่ากำลังจำกัดตนเองให้อยู่แต่เฉพาะภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ, หรือว่าปฏิบัติต่อชาติอื่นซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ด้วย ในฐานะเป็นฝ่ายที่เท่าเทียมกันของกรณีพิพาท
ถึงแม้ปักกิ่งยืนยันอยู่บ่อยครั้งว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ต่างๆ ของตนในทะเลจีนใต้นั้น วางพื้นฐานอยู่บนกฎหมายระหว่างประเทศ และตีวงเพียงแค่ “หมู่เกาะและน่านน้ำที่อยู่ประชิดติดกัน” ทั้งหลายภายในแนวเส้นประ 9 เส้นตามแผนที่ ทว่าการกระทำของฝ่ายจีนกลับบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างออกไป ทั้งนี้ เซกันด์ โธมัส โชล ไม่ได้เป็นเกาะ ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งก้อนหินกลางทะเล ทว่าเป็นสิ่งที่ผุดขึ้นมาในช่วงกระแสน้ำลง ซึ่งตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea) หรือกฎหมายระหว่างประเทศตามประเพณี ไม่สามารถประกาศอ้างกรรมสิทธิ์ในตัวมันเองได้ แนวปะการังนี้ต้องเป็นของชาติใดก็ตามซึ่งมีอำนาจอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปที่มันตั้งอยู่ – ดังนั้นเครื่องบ่งชี้ทุกอย่างล้วนแต่หมายความว่าต้องเป็นของฟิลิปปินส์
หมายเหตุผู้แปล
[1] ศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก ที่ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนแห่งนี้ คือ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ( Permanent Court of Arbitration ใช้อักษรย่อว่า PCA) ที่ตั้งของ PCA อยู่ที่วังสันติภาพ (Peace Palace) ในอาคารเดียวกันกับ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice ใช้อักษรย่อว่า ICJ) หรือที่เรียกขานกันติดปากว่า “ศาลโลก” ในความเป็นจริงแล้ว PCA ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1899 ก่อนหน้าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศถาวร (Permanent Court of International Justice) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 1922 แล้วถูกยุบเลิกและแทนที่ด้วย ICJ ในปี 1946 ทว่าแสดงบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน ถึงแม้ PCA มีชื่อว่าเป็นศาล ทว่าไม่ได้เป็นศาลในแบบที่เข้าใจกันทั่วไปเมื่อใช้คำๆ นี้ หากแต่มีลักษณะเป็นองค์กรบริหาร ซึ่งวัตถุประสงค์คือการเป็นเครื่องมืออันถาวรและพรักพร้อมให้ใช้ได้เมื่อมีการยื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการวินิจฉัยตัดสินระดับระหว่างประเทศ ตลอดจนเพื่อการดำเนินกระบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า การเป็นคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและไกล่เกลี่ยประนีประนอม คดีความที่ PCA สามารถดูแลดำเนินการได้มีขอบเขตทางด้านประเด็นกฎหมายที่กว้างกวาง เป็นต้นว่า ข้อพิพาทเกี่ยวกับดินแดนและเกี่ยวกับพรมแดนทางทะเล, อำนาจอธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, การลงทุนระหว่างประเทศ (การวินิจฉัยชี้ขาดในกรณีพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับรัฐ), ตลอดจนเรื่องต่างๆ ในด้านการค้าระหว่างประเทศและการค้าในภูมิภาค ในการไต่สวนพิจารณาคดีของ PCA มีน้อยครั้งที่เปิดให้สาธารณชนเข้าฟัง กระทั่งคำตัดสินวินิจฉัยบางครั้งยังเก็บเป็นความลับตามคำขอของคู่ความ
ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) เมื่อเกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับการตีความหรือการประยุกต์ใช้อนุสัญญาฉบับนี้ รัฐที่เป็นคู่กรณีอาจเลือกใช้เครื่องมือมาแก้ไขและทำความตกลงกันได้รวม 4 ประเภท ได้แก่ 1) ศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า ITLOS) ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองฮัมบูร์ก, เยอรมนี 2) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในกรุงเฮก, เนเธอร์แลนด์ 3) ศาลอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นไปตามภาคผนวก 7 ของอนุสัญญา UNCLOS และ 4) “ศาลอนุญาโตตุลาการพิเศษ” เพื่อพิจารณาข้อพิพาทบางอย่างบางประเภท ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ภาคผนวก 8 ของ UNCLOS ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ยื่นฟ้องจีนโดยเลือกเอา PCA เป็นศาลพิจารณา ในฐานะที่เป็น ศาลอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ ตาม 3) (ข้อมูลจาก Wikipedia และ เว็บไซต์ของ PCA ดูรายละเอียดได้ที่เว็บเพจ http://www.pca-cpa.org/showpage.asp?pag_id=1288)
เกรกอรี โพลิ่ง (GPoling@csis.org) เป็นนักวิจัยในโครงการ สุมิโตร เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Sumitro Chair for Southeast Asia Studies) ที่ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies ใช้อักษรย่อว่า CSIS) ในกรุงวอชิงตัน
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)