เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีกลาโหม ชัค เฮเกล แห่งสหรัฐฯ และรัฐมนตรีกลาโหม พล.อ.ฉาง ว่านฉวน ของจีน “แลกหมัด” กันในประเด็นข้อพิพาทด้านอธิปไตยในเอเชีย ระหว่างแถลงข่าวร่วมกันที่กรุงปักกิ่งในวันอังคาร (8 เม.ย.) โดยที่นายใหญ่เพนตากอนยืนกรานว่า ปักกิ่งไม่มีสิทธิ์กำหนดเขตป้องกันภัยทางอากาศเหนือหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทโดยไม่ปรึกษาหารือคนอื่น อีกทั้งวอชิงตันมีหน้าที่ปกป้องญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ขณะที่บิ๊กทหารแดนมังกร ระบุว่า ปักกิ่งจะไม่เป็นฝ่ายก่อปัญหากับโตเกียว แต่พร้อมใช้กำลังทหารหากจำเป็นต้องปกป้องดินแดนของตนเอง ด้านสื่อมวลชนทางการจีนก็วิจารณ์วอชิงตันว่า ก่อกวนสถานการณ์ด้วยการหนุนให้พันธมิตรในเอเชียเผชิญหน้ากับปักกิ่ง เพื่อบ่อนทำลายอิทธิพลของจีนทางอ้อม
หลังจากหารือนานเกือบสองชั่วโมงในวันอังคาร (8) ที่ปักกิ่ง เฮเกล แถลงว่า ทุกประเทศมีสิทธิ์กำหนดเขตป้องกันภัยทางอากาศ แต่ต้องหารือกับชาติเพื่อนบ้าน มิเช่นนั้นอาจนำไปสู่ความตึงเครียด ความเข้าใจผิด และความขัดแย้งอันตรายในที่สุด
สิ่งที่รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ พาดพิงถึงคือ เขตป้องกันภัยทางอากาศที่จีนประกาศจัดตั้งขึ้นเหนือทะเลจีนตะวันออกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีพื้นที่ครอบคลุมหมู่เกาะเซงกากุ/เตี้ยวอี๋ว์ ซึ่งปักกิ่งและโตเกียวต่างอ้างกรรมสิทธิ์แต่ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ในเวลานี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ฉาง แถลงตอบว่า จีนพร้อมแก้ไขข้อพิพาทด้วยแนวทางการทูต แต่ก็พร้อมตอบโต้การคุกคามในประเด็นอธิปไตยเหนือดินแดน โดยรัฐมนตรีกลาโหมแดนมังกรยืนกรานว่า “เราจะไม่ประนีประนอม ไม่ยอมแพ้ ไม่แลกเปลี่ยน และไม่ยินยอมให้มีการล่วงละเมิดแม้เพียงน้อยนิด” พร้อมกันนี้ เขายังประกาศว่า จีนมีอำนาจอธิปไตยเด็ดขาดเหนือหมู่เกาะที่เป็นข้อพาทกับญี่ปุ่นแห่งนี้
ฉาง ยังขอให้สหรัฐฯ “ดูแล (ญี่ปุ่น) ให้อยู่ภายในขอบเขต อย่าได้ตามอกตามใจหรือให้ท้าย” และยืนกรานว่า “ฝ่ายญี่ปุ่นนั่นแหละที่กำลังยั่วยุจีน” ทั้งนี้เขาขยายความว่า “ถ้าหากท่านมีข้อสรุปว่าจีนกำลังจะหันมาใช้กำลังต่อญี่ปุ่นแล้ว นั่นก็เป็นการสรุปที่ผิดพลาด … เราจะไม่เป็นฝ่ายริเริ่มก่อให้เกิดความยุ่งยากขึ้นมาหรอก”
รัฐมนตรีกลาโหมแดนมังกร ยังพูดถึงฟิลิปปินส์ว่า เป็นชาติที่ “พยายามอำพรางตนเองว่ากำลังตกเป็นเหยื่อ” พร้อมกับพูดย้ำอีกครั้งถึงจุดยืนของแดนมังกรซึ่งคัดค้านมะนิลาที่หยิบยกกรณีพิพาทช่วงชิงดินแดนในทะเลจีนใต้ไปฟ้องร้องต่อศาลกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ
ทางด้าน เฮเกล ซึ่งเพิ่งพบหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ที่ฮาวายเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่นที่กรุงโตเกียวในวันอาทิตย์ (6) ย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ในการไม่เข้าข้างฝ่ายใดในปัญหาพิพาทเรื่องดินแดน และต้องการให้มีการแก้ไขด้วยสันติวิธี แต่สำทับว่า ทั้งฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นต่างเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน และอเมริกามีพันธะผูกพันตามสนธิสัญญาในการปกป้องสองประเทศนี้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วการเจรจาหารือของ 2 รัฐมนตรีกลาโหมในครั้งนี้ มุ่งเน้นที่การปรับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หลังจากเย็นชากันมาหลายปีจากกรณีการสั่งสมแสนยานุภาพทางทหารของปักกิ่ง การโจมตีทางไซเบอร์ต่อหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯและอุตสาหกรรมเอกชนอเมริกัน รวมทั้งการอ้างสิทธิ์อย่างแข็งกร้าวเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออกของปักกิ่ง
เฮเกล กล่าวย้ำว่า จีนและอเมริกาต้องเปิดกว้างมากขึ้นเกี่ยวกับความสามารถด้านไซเบอร์ เพื่อลดความเสี่ยงในการสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งอาจนำไปสู่การคำนวณผิดพลาด
นายใหญ่เพนตากอน เผยว่า เขายังหยิบยกประเด็นภัยคุกคามต่อเนื่องจากเกาหลีเหนือ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งขู่ทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์เพิ่มอีก ขึ้นหารือกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน พร้อมกับระบุว่า อเมริกาและจีนมีผลประโยชน์ร่วมกันในการทำให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดอาวุธนิวเคลียร์อย่างแท้จริงและถาวร
“วิสัยทัศน์ของเราคืออนาคตที่ฝ่ายทหารของทั้งสองประเทศร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ เป็นต้นว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์ ซึ่งจะเป็นไปได้ต่อเมื่อเราพูดคุยอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับประเด็นที่เราคิดต่างกัน” เฮเกลกล่าวและเสริมว่า จีนและอเมริกาตกลงที่จะร่วมกันฝึกซ้อมภารกิจด้านเสนารักษ์ แต่ยังไม่ระบุเวลาที่แน่นอน
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังจะกำหนดกระบวนการอย่างเป็นทางการใหม่เพื่อให้กองทัพของแต่ละฝ่ายสามารถสื่อสารกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งจัดให้มีการเจรจาด้านความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมฝ่ายกิจการเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ และผู้อำนวยการสำนักงานกิจการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหมจีน เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ง่ายขึ้น
ในส่วนความพยายามของวอชิงตันที่จะส่งเสริมสนับสนุนให้ปักกิ่งเปิดเผยมากขึ้น เกี่ยวกับการขยายแสนยานุภาพและเจตนารมณ์เทางการทหารของตนนั้น ก็ปรากฏเป็นรูปธรรมมากขึ้นในวันจันทร์ (7) เมื่อเฮเกลได้รับเชิญขึ้นชมเรือบรรทุกเครื่องบินเ” หลียวหนิง” ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำเดียวที่จีนมีอยู่ในขณะนี้ ทว่า ความพยายามในการทำให้มหาอำนาจแห่งเอเชียรายนี้ เพิ่มความโปร่งใสมากขึ้นในเรื่องการโจมตีทางไซเบอร์และปฏิบัติการทางทหารอื่นๆ นั้น ดูจะไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ ปักกิ่งกล่าวหาวอชิงตันว่าทำสงครามไซเบอร์เช่นเดียวกัน หลังจากมีการเปิดโปงโครงการสอดแนมบันลือโลกของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ (เอ็นเอสเอ) รวมถึงรายงานจากสื่อที่ระบุว่า เอ็นเอสเอได้แฮ็กเครือข่ายของหัวเว่ย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน
นอกจากนี้ บทบรรณาธิการของไชน่า เดลี่ ของทางการปักกิ่งฉบับวันอังคาร ยังโจมตีอเมริกาว่า ทำให้ข้อพิพาทด้านดินแดนระหว่างจีนกับญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ตึงเครียดยิ่งขึ้น ด้วยการสนับสนุนให้สองประเทศดังกล่าวเผชิญหน้ากับปักกิ่งเพื่อบ่อนทำลายการขยายอิทธิพลของจีนทางอ้อม
ทั้งนี้ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางถึงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ หลังจากเยือนญี่ปุ่นซึ่งเขาได้แถลงเตือนจีน ให้แสดงตนสมกับที่เป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ โดยเคารพประเทศเพื่อนบ้านมากกว่าที่เป็นอยู่ อย่าแก้ปัญหาความขัดแย้งด้านดินแดนตามอำเภอใจแบบรัสเซียที่ใช้กำลังยึดไครเมียจากยูเครน