xs
xsm
sm
md
lg

‘ญี่ปุ่น’ เล็งถก US ถึงภัยคุกคามจากจีน แต่ ‘มะกัน’ สงวนท่าที - เกรงยั่วยุ ‘ปักกิ่ง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากแฟ้มที่สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นถ่ายเอาไว้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2013 แสดงให้เห็นการเผชิญหน้ากันขณะที่ เรือตรวจการณ์ทางทะเลของจีนที่ชื่อ “ไห่เจี้ยน หมายเลข 51” (กลาง) แล่นเข้าไปใกล้กลุ่มเรือกองกำลังรักษาชายฝั่งของญี่ปุ่น (ทางขวากับทางซ้ายของภาพ) และเรือประมงญี่ปุ่นอีกลำหนึ่ง (ด้านหน้า ลำที่ 2 จากซ้าย) โดยที่เกาะซึ่งอยู่ทางด้านหลังของภาพนั้น คือ เกาะหนึ่งในหมู่เกาะพิพาท เตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ
รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - โตเกียวคาดหวังเต็มที่ ผลักดันประเด็น “การคุกคามจากจีน” ระหว่างการหารือสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นเพื่อทบทวนแนวทางปฏิบัติด้านกลาโหมครั้งแรกในรอบ 17 ปีในสัปดาห์นี้ที่ฮาวาย ขณะที่วอชิงตันต้องการเน้นการเจรจากว้างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความขุ่นเคืองให้จีน และถูกลากเข้าสู่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจแห่งเอเชีย

อเมริกานั้นประกาศจุดยืนไม่เข้าข้างฝ่ายใดในข้อพิพาทอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะเล็กๆ ในทะเลจีนตะวันออกที่ญี่ปุ่นเรียกว่า เซงกากุ และจีนเรียกว่าเตี้ยวอี๋ว์ แต่ก็ยอมรับว่าญี่ปุ่นเป็นผู้บริหารหมู่เกาะเหล่านั้น จึงถือว่าหมู่เกาะดังกล่าวอยู่ภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น ที่กำหนดว่าอเมริกาต้องเข้าช่วยเหลือ หากแดนอาทิตย์อุทัยถูกโจมตี

แต่แม้สถานการณ์ความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิกตึงเครียดหนัก วอชิงตันยังคงแสดงท่าทีชัดเจนว่า ไม่ต้องการถูกดึงเข้าสู่ความขัดแย้งระหว่าง 2 ยักษ์เอเชียที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของโลก
ภาพจากแฟ้ม แสดงให้เห็น นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น (ที่2 จากซ้าย) เดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ในกรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2013
ไม่เพียงมีข้อพิพาทช่วงชิงดินแดนเท่านั้น รัฐบาลนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ยังระบุว่าหวั่นวิตกกับการสร้างสมแสนยานุภาพทางทหารอย่างรวดเร็วของพญามังกร ขณะที่ปักกิ่งก็กล่าวหาโตเกียวว่าเป็นภัยคุกคามในภูมิภาค โดยยกตัวอย่างจุดยืนของอาเบะในการส่งเสริมลัทธิชาตินิยม ตลอดจนความพยายามของเขาในการเพิ่มงบกลาโหม และการที่เมื่อปลายปีที่แล้วเขาเดินทางไปสักการะศาลเจ้ายาสุคุนิ ซึ่งเป็นสถานที่รำลึกอาชญากรสงครามของญี่ปุ่น

เมื่อวันเสาร์ (8 มี.ค.) ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของจีน หวัง อี้ ยังออกมาย้ำว่า ปักกิ่งจะไม่ยอมประนีประนอมกับญี่ปุ่นในประเด็นข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์และดินแดนที่เป็นข้อพิพาทเด็ดขาด

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า ในระหว่างการหารือกับสหรัฐฯ เกี่ยวกับการทบทวนแนวทางปฏิบัติทางด้านกลาโหมคราวนี้ โตเกียวต้องการชูประเด็นภัยคุกคามจากจีน และต้องการให้มีการระบุบทบาทที่ชัดเจนของอเมริกาและญี่ปุ่นใน “กรณีก้ำกึ่ง” ซึ่งหมายถึงการที่ญี่ปุ่นถูกโจมตีทางทหารอย่างเป็นระบบแต่ไม่ถึงขั้นเต็มรูปแบบที่สนับสนุนโดยรัฐ ทว่ายังถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของญี่ปุ่น เป็นต้นว่า การยกพลขึ้นสู่หมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทโดยกองกำลังจีนที่ปลอมตัวเป็นชาวประมง

นารูชิเกะ มิชิชิตะ อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาลญี่ปุ่นในยุคนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิ ชี้ว่า ญี่ปุ่นต้องการให้อเมริการ่วมร่างสถานการณ์จำลองที่สองประเทศจะตอบโต้ในกรณีที่เฉพาะเจาะจงต่างๆ แต่วอชิงตันกังวลว่าการกระทำดังกล่าวอาจยั่วยุให้จีนขุ่นเคือง เนื่องจากมีความเฉพาะเจาะจงเกินไป และอเมริกาไม่ต้องการถูกลากเข้าสู่การเผชิญหน้าและกระทั่งการขัดแย้งกับจีน

ในส่วนเจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯนั้น ปฏิเสธความคิดที่ว่าวอชิงตันกังวลกับการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์กับจีน กระนั้นก็ย้ำว่าการทบทวนแนวทางปฏิบัติคราวนี้ ควรคำนึงถึงบริบทวงกว้าง ที่ครอบคลุมสถานการณ์ฉุกเฉินบนคาบสมุทรเกาหลีและทั่วโลกด้วย เพื่อให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์แวดล้อมด้านความมั่นคงในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีความชัดเจนอย่างที่ได้เคยคิดกันเอาไว้ในการทบทวนคราวก่อนเมื่อปี 1997 ซึ่งภัยคุกคามสำคัญที่สุดยังคงเป็นเรื่องโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

เจ้าหน้าที่คนเดิมเสริมว่า การเกี่ยวข้องของอเมริกาในกรณีก้ำกึ่ง อาจจะอยู่ในรูปของการข่าวกรอง การสอดแนม และการลาดตระเวน

โตเกียวนั้นกังวลถึงขั้นว่า วันหนึ่งวอชิงตันอาจไม่สามารถหรือไม่เต็มใจปกป้องญี่ปุ่น แม้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประกาศยุทธศาสตร์ “ปักหมุดเอเชีย” ก็ตาม และ “ความกลัว” นี้กำลังเป็นตัวขับดันความพยายามของอาเบะในการสร้างเสริมกำลังทหาร ควบคู่กับการผ่อนคลายข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญในส่วนปฏิบัติการทางทหารในต่างประเทศ

มิชิชิตะ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ของสถาบันบัณฑิตนโยบายศึกษาแห่งชาติ ในโตเกียว สำทับว่า หากวอชิงตันไม่ร่วมหารือในประเด็นการคุกคามของจีนโดยเฉพาะเจาะจง ก็จะเป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของพันธมิตรญี่ปุ่น-สหรัฐฯ และให้ท้ายพญามังกรให้ฮึกเหิมยิ่งขึ้น

เขาเสนอแนะให้พวกผู้วางนโยบายของอเมริกา หาจุดสมดุลระหว่างการรักษาความน่าเชื่อถือและการป้องปราม ควบคู่ไปกับการไม่เข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับญี่ปุ่นมากเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น