xs
xsm
sm
md
lg

จีนเปิดบ้านรับ “ชัค เฮเกล” เตรียมพาชม “เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง” ลำแรกของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง ลำแรกของจีน
รอยเตอร์ - ชัค เฮเกล รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะเดินทางไปเยี่ยมชมเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนหลังเดินทางถึงยังกรุงปักกิ่งในวันนี้ (7 เม.ย.) ซึ่งถือเป็นโอกาสพิเศษครั้งแรกจากรัฐบาลจีนหยิบยื่นให้ และยังเป็นการประกาศแสนยานุภาพของจีนไปในตัว

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ชี้ว่า เฮเกล น่าจะเป็นชาวต่างประเทศคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปชมเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ในฐานะ “แขกอย่างเป็นทางการ” แต่ยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลนี้ได้

กำหนดการเยี่ยมชมเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงของเฮเกล เป็นไปตามคำเรียกร้องของสหรัฐฯ ซึ่งทางการจีนก็ตอบสนองให้ด้วยดี แต่ยังไม่เคยมีการแถลงข่าวมาก่อนหน้านี้

เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงถูกดัดแปลงจากเรือยุคสหภาพโซเวียตที่จีนซื้อต่อจากยูเครนในปี 1988 และถูกนำมายกเครื่องใหม่ภายในอู่ต่อเรือของจีนเอง ด้วยระวางขับน้ำถึง 60,000 ตัน เรือลำนี้จึงเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน และสอดคล้องกับความมุ่งหมายของปักกิ่งที่ต้องการขยายอิทธิพลในเวทีโลก

เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในญี่ปุ่น รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะเดินทางต่อไปยังเมืองท่าชิงเต่า (Qingdao) ของจีน จากนั้นจะเดินทางไปยังฐานทัพเรือเพื่อเยี่ยมชมเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิง แต่คาดว่าผู้สื่อข่าวที่ติดตามเฮเกล จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นไปทำข่าวบนเรือ

กำหนดการเยี่ยมชมเรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงถูกเปิดเผยเพียง 1 วัน หลัง เฮเกล แถลงเจตนารมณ์ที่ญี่ปุ่นว่า เขาจะถือโอกาสในการเยือนจีนครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กดดันให้จีนใช้ “อำนาจยิ่งใหญ่” ของพวกเขาอย่างชาญฉลาด และเคารพในเกียรติภูมิของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกำลังถูกกดดันจากการที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำพิพาท

“การบีบบังคับและการข่มขู่ผู้อื่นเป็นอาวุธร้ายแรงที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งเท่านั้น” เฮเกล แถลงต่อสื่อมวลชนที่กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ (6)

“ทุกประเทศ และทุกคน ล้วนสมควรได้รับการให้เกียรติ”

น่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งกินพื้นที่ราว 3.5 ล้านตารางกิโลเมตรและเต็มไปด้วยทรัพยากรก๊าซและน้ำมัน ถูกจีนอ้างกรรมสิทธิ์ไปถึง 90% ขณะที่ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, บรูไน, มาเลเซีย และไต้หวัน ต่างก็อ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำบางส่วนเช่นกัน

สื่อของจีนและผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารบางคนเชื่อว่า เรือบรรทุกเครื่องบินเหลียวหนิงเป็นเพียงความสำเร็จขั้นแรก และจีนจะมีเรือบรรทุกเครื่องบินอีกหลายลำเป็นของตนเองภายในปี 2020
กำลังโหลดความคิดเห็น