xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ ‘ฟิลิปปินส์’ เผชิญวิกฤต ‘สหรัฐฯ’ เร่งช่วยแต่ ‘จีน’ หมางเมิน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: โนเอล ตาร์ราโซนา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US gives, China withholds in Philippine crisis
By Noel Tarrazona
13/11/2013

ตัวเลขเงินบริจาคช่วยเหลือที่ให้แก่ฟิลิปปินส์ซึ่งต้องเผชิญความเดือดร้อนหนักจากฤทธิ์เดชมหาพายุไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าจีนกับสหรัฐฯใช้วิธีการอย่างไรในการสร้างโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การที่สหรัฐฯเร่งประกาศตั้งแต่แรกๆ ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ สามารถที่จะมองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะเอาชนะหัวจิตหัวใจของผู้คนแดนตากาล็อก เพื่อที่แดนอินทรีจะได้ปักหลักมั่นคงยิ่งขึ้นในการนำเอากำลังทางทหารมาเคลื่อนไหวในบริเวณนี้ ขณะที่จีนในตอนต้นให้สัญญาจะช่วยเหลือเป็นมูลค่าอันน้อยนิดน่าหัวเราะเพียง 100,000 ดอลลาร์ คือการส่งสัญญาณให้เห็นถึงความไม่พอใจของปักกิ่ง จากการที่มะนิลาประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งแดนมังกรถือว่าเป็นของตน

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ซัมบวงกาซิตี้, ฟิลิปปินส์ – ขณะที่ฟิลิปปินส์กำลังพยายามดิ้นรนด้วยความยากลำบาก เพื่อรับมือกับความเสียหายอย่างพินาศย่อยยับและอย่างใหญ่โตมโหฬารซึ่งบังเกิดขึ้นจากฤทธิ์เดชของมหาพายุไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” อยู่นั้น กำหนดการเดินทางเข้ามาถึงของเรือบรรทุกเครื่องบิน “จอร์จ วอชิงตัน” ของสหรัฐฯ ได้รับการยอมรับเชื่อถือจากหลายๆ ฝ่ายว่า จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อโอกาสในการรอดชีวิตและการฟื้นฟูสภาพให้ดีดังเดิมของชาวฟิลิปปินส์นับล้านๆ คนซึ่งได้รับผลกระทบกระเทือนในคราวนี้ ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯลำนี้ ซึ่งเดินทางมาพร้อมด้วยเรือรบลำอื่นๆ ที่อยู่ในหมู่เรือโจมตีเดียวกัน ตลอดจนเฮลิคอปเตอร์อีกกว่า 20 ลำ ย่อมเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเร่งจัดส่งความช่วยเหลืออันจำเป็นไปยังพื้นที่ซึ่งมีความต้องการอย่างรีบด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกจุดบริเวณที่อยู่ห่างไกลซึ่งถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในด้านการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง ได้ถูกพายุไต้ฝุ่นทำลายเสียหายหนัก [1] (ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน เดินทางไปถึงฟิลิปปินส์ในเช้าวันพฤหัสบดีที่ 14 พ.ย. -ผู้แปล)

ขณะที่องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (The United States Agency for International Development เรียกย่อๆ ว่า USAID ยูเสด) ก็ประกาศจัดสรรความช่วยเหลือต่างๆ ให้แก่ผู้รอดชีวิต คิดเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ โดยรวมถึงการลำเลียงขนส่งอาหาร, ยา, และชุดอุปกรณ์เพื่อสุขอนามัย ไปสู่จุดเป้าหมายด้วยวิธีทิ้งลงไปให้ทางอากาศ ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการที่ทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด กองทัพสหรัฐฯนั้นคือผู้นำในภารกิจการค้นหาและช่วยเหลือกู้ภัยในการปฏิบัติการตามอาณาบริเวณต่างๆ จำนวนมากของโลก และจะประกอบคุณประโยชน์เป็นอันมาก ในด้านการลำเลียงขนส่งความช่วยเหลือทั้งของสหประชาชาติ ตลอดจนขององค์การมนุษยธรรมอื่นๆ โดยที่ในขั้นเริ่มต้น ทหารนาวิกโยธินของสหรัฐฯกว่า 100 คนได้บินด่วนเข้ามาปฏิบัติภารกิจในพื้นที่แล้ว และยังจะตามมาอีกประมาณ 2,000 คน

จนกระทั่งถึงวันอังคารที่ 12 พฤศจิกายน ตัวเลขอย่างเป็นทางการของฟิลิปปินส์ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 1,774 คนเนื่องจากฤทธิ์เดชของมหาพายุลูกนี้ (เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ประสบภัยของฟิลิปปินส์หลายราย ตลอดจนเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ มีความเห็นว่าเมื่อประเมินจากความเสียหายย่อยยับที่เกิดขึ้นมา ตัวเลขผู้เสียชีวิตคราวนี้น่าที่จะเกินระดับ 10,000 คน ทว่าประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ได้ออกมาคัดค้านว่าตัวเลขนี้สูงเกินไปมาก ควรอยู่ระหว่าง 2,000 -–2,500 คนจะถูกต้องกว่า อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นทางการฟิลิปปินส์ก็ได้ปรับเพิ่มตัวเลขผู้เสียชีวิตขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันศุกร์ที่ 15 พ.ย. ยอดอยู่ที่มากกว่า 3,600 คน -ผู้แปล) ขณะที่ประชาชนอีกกว่า 9 ล้านคนกำลังได้รับความกระทบกระเทือนในทางลบในลักษณะต่างๆ พวกเขาเหล่านี้จำนวนมากกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย ปราศจากอาหารและน้ำดื่มอย่างเพียงพอ ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนลูกนี้ ถูกจดสถิติว่าเป็นพายุลูกใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกกันมาเมื่อวัดกันในตอนที่พัดขึ้นบก และถึงแม้มันจะเคลื่อนผ่านไปแล้วหลายวัน แต่ก็ยังคงทิ้งเส้นทางแห่งความตายและความพินาศยับเยินเอาไว้เบื้องหลัง ซึ่งกลายเป็นภาระอันหนักหน่วงสาหัสสากรรจ์จนเกินกำลังของพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฟิลิปปินส์เอง ที่ทั้งมีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ไม่เพียงพอ และทั้งขาดการเตรียมพร้อมที่ดีพอ

ในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯคือแนวหน้าและศูนย์กลางของการตอบโต้รับมือของทั่วโลกต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติอันร้ายแรงคราวนี้ การตอบโต้รับมือของจีนกลับอยู่ในอาการเงียบเชียบหากจะเปรียบเทียบกันแล้ว ในตอนแรกๆ ปักกิ่งประกาศบริจาคเงินสดจำนวน 100,000 ดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือความพยายามในการบรรเทาทุกข์ โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีน ฉิน กัง (Qin Gang) ถึงกับต้องใช้วิธีเฉไฉหลีกเลี่ยงไม่ตอบตรงๆ เมื่อถูกสื่อมวลชนไล่ป้อนคำถามว่าทำไมปักกิ่งจึงเสนอให้ความช่วยเหลือเพียงน้อยนิดเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ภัยพิบัติคราวนี้ใหญ่โตมโหฬารถึงขนาดนี้ (ในเวลาต่อมา ทางการจีนได้สัญญาให้ความช่วยเหลือเพิ่มแก่ฟิลิปปินส์เป็น 1.6 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของการบริจาคเต็นท์และผ้าห่ม กระนั้นแดนมังกรก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ ฝ่ายว่า ช่วยเหลือน้อยเกินไปอยู่ดี -ผู้แปล) พวกนักวิเคราะห์เชื่อกันว่า จำนวนเงินกระจุ๋มกระจิ๋มเช่นนี้ปรากฏขึ้นมา ก็เพราะอิทธิพลของความตึงเครียดระหว่างปักกิ่งกับมะนิลาในระยะหลังๆ สืบเนื่องจากทั้งสองประเทศต่างแข่งขันกันอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนหลายบริเวณในทะเลจีนใต้ โดยที่ฟิลิปปินส์ถึงขั้นพยายามดึงเอาอำนาจยุติธรรมระดับนานาชาติเข้ามาช่วยในการต่อสู้คัดค้านจีน นั่นคือยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลด้านกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ

การเสนอให้ความช่วยเหลืออันน้อยนิดเช่นนี้ บังเกิดขึ้นมาทั้งๆ ที่ปักกิ่งได้เคยบริจาคอย่างเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ยิ่งกว่านี้นักหนา ในการช่วยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคซึ่งประสบภัยพิบัติครั้งก่อนๆ ตัวอย่างเช่น จีนเสนอให้ความช่วยเหลือแก่ปากีสถาน 1.5 ล้านดอลลาร์หลังจากที่ชาติในเอเชียใต้รายนี้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่มีผู้คนล้มตายไปเมื่อเร็วๆ นี้ แม้กระทั่งกับฟิลิปปินส์เอง ย้อนกลับไปในปี 2011 ปักกิ่งก็ยังให้คำมั่นที่จะช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นมูลค่า 1 ล้านดอลลาร์ ภายหลังที่หลายบริเวณทางภาคใต้ของแดนตากาล็อกประสบภัยพิบัติจากพายุโซนร้อน ทั้งๆ ที่ในคราวนั้นขนาดของความเสียหายและความลำบากเดือดร้อนที่ฟิลิปปินส์ประสบ เทียบไม่ได้เลยกับในครั้งนี้ จุดสำคัญอย่างยิ่งที่แตกต่างออกไปก็ดูจะมีเพียงว่า การเสนอให้ความช่วยเหลือของแดนมังกรในปี 2011 นั้น เกิดขึ้นก่อนหน้าที่ทั้งสองประเทศจะเปิดการเผชิญหน้ากันในทะเลจีนใต้เนื่องจากต่างกล่าวอ้างอธิปไตยเหนือหมู่เกาะปะการัง “สการ์โบโร โชล” (Scarborough Shoal) โดยที่การประจันหน้าดังกล่าวมีขึ้นเมื่อปี 2012

ในขณะที่จีนกับสหรัฐฯแข่งขันต่อกรกันเพื่อสร้างอิทธิพลในภูมิภาคอยู่นี้ สหรัฐฯคือฝ่ายที่กำลังฉวยคว้าโอกาสซึ่งเกิดขึ้นมาจากวิกฤตต่างๆ ในภูมิภาค สมรรถนะอันเหนือชั้นกว่ามากของแสนยานุภาพทางทหารของสหรัฐฯ เปิดทางให้วอชิงตันสามารถแสดงบทบาทเป็นผู้นำในแนวหน้า ในการตอบโต้รับมือกับภัยพิบัติทางด้านมนุษยธรรมครั้งต่างๆ นี่คือความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ของแดนอินทรีเมื่อเปรียบเทียบกับแดนมังกร และวอชิงตันก็ได้พยายามฉวยใช้นำมาสนับสนุนผลสำเร็จทางการทูตของตนเองเรื่อยๆ โดยเฉพาะนับตั้งแต่ที่เกิดแผ่นดินไหวใหญ่และคลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อเดือนธันวาคม 2004 ซึ่งได้สร้างความสูญเสียย่อยยับให้แก่หลายๆ ส่วนของอินโดนีเซีย, ศรีลังกา, และประเทศไทย ขณะที่เปรียบเทียบกันแล้ว จีนยังคงมีฐานะเป็นเพลเยอร์รายเล็กๆ ภายในกรอบการตอบโต้รับมือของทั่วโลก ต่อภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในภูมิภาค ทั้งนี้เหตุผลที่สำคัญก็เนื่องจากความอ่อนด้อยกว่าในด้านสมรรถนะทางทหารของแดนมังกรนั่นเอง

โนเอล ที ตาร์ราโซนา เป็นนักหนังสือพิมพ์และศาสตราจารย์อาคันตุกะของมหาวิทยาลัยซัมบวงกา (Universidad de Zamboanga) โครงการปริญญาโทด้านบริหารรัฐกิจ (Master of Public Administration Program) สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ noeljobstreet@yahoo.com

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
เมื่อ ‘ฟิลิปปินส์’ เผชิญวิกฤต ‘สหรัฐฯ’ เร่งช่วยแต่ ‘จีน’ หมางเมิน (ตอนจบ)
ตัวเลขเงินบริจาคช่วยเหลือที่ให้แก่ฟิลิปปินส์ซึ่งต้องเผชิญความเดือดร้อนหนักจากฤทธิ์เดชมหาพายุไต้ฝุ่น “ไห่เยี่ยน” เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าจีนกับสหรัฐฯใช้วิธีการอย่างไรในการสร้างโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทั้งนี้การที่สหรัฐฯเร่งประกาศตั้งแต่แรกๆ ให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ สามารถที่จะมองได้ว่าเป็นความพยายามที่จะเอาชนะหัวจิตหัวใจของผู้คนแดนตากาล็อก เพื่อที่แดนอินทรีจะได้ปักหลักมั่นคงยิ่งขึ้นในการนำเอากำลังทางทหารมาเคลื่อนไหวในบริเวณนี้ ขณะที่จีนในตอนต้นให้สัญญาจะช่วยเหลือเป็นมูลค่าอันน้อยนิดน่าหัวเราะเพียง 100,000 ดอลลาร์ คือการส่งสัญญาณให้เห็นถึงความไม่พอใจของปักกิ่ง จากการที่มะนิลาประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ซึ่งแดนมังกรถือว่าเป็นของตน
กำลังโหลดความคิดเห็น