ASTVผู้จัดการออนไลน์ –- หน่วยพยากรณ์อากาศแห่งต่างๆ ในภูมิภาคกำลังจับตาดีเปรสชันลูกใหม่ที่ก่อตัวในทะเลแปซิฟิกตะวันออกวันจันทร์ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา และทวีความแรงขึ้นเป็นลำดับขณะแล่นห้อผ่านหมู่เกาะฟิลิปปินส์ในคืนนี้ ซึ่งหลายแห่งกล่าวว่ามันมีโอกาสที่จะพัฒนาขึ้นเป็นพายุโซนร้อนลูกใหม่ได้ขณะอยู่ในทะเลจีนใต้สัปดาห์นี้ ปลายทางสุดท้ายอาจจะอยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
นักอุตุนิยมวิทยาต้องจับตาซอไรดาเป็นพิเศษ หลังจากดีเปรสชันลูกหนึ่งจากทะเลแปซิฟิกเช่นกันใช้เวลาไม่กี่วันรอนแรมข้ามทะเลหลวงเข้าสู่อ่าวไทยสัปดาห์ต้นเดือนนี้ และไปสิ้นสุดการเดินทางเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลอันดามัน รวมระยะทางหลายพันกิโลเมตร
ระหว่างพัดเข้าสู่ใจกลางอ่าวไทยดีเปรสชันลูกใหญ่นั้นทำให้กรุงเทพฯ กับหลายจังหวัดภาคกลางฝนตก และครึ้มฟ้าครึ้มฝนเป็นเวลา 2 วัน เพราะฉะนั้น พายุฤดูหนาวไม่จำเป็นจะต้องรุนแรงถึงระดับไต้ฝุ่นก็สามารถสร้างความยากลำบากให้แก่ทุกหนแห่งที่พัดผ่านได้
ตามรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติฟิลิปปินส์ หรือ Pagasa ดีเปรสชันกำลังจะเข้าซ้ำเติมเหยื่อไต้ฝุ่นไห่แย่น (Haiyan) หลายหมื่นคนในย่านหมู่เกาะภาคกลาง หรือวิซายาส (Visayas) ซึ่งยังไร้ที่อยู่อาศัยในขณะนี้
ถึงแม่ว่า ซอไรดา จะไม่นำกระแสลมแรงเข้าพัดทำลายเหมือนไต้ฝุ่นไห่แย่น แต่กำลังจะนำน้ำฝนปริมาณมากมายเข้าสู่ทางตอนใต้ของเขตวิซายาส บริเวณแหลมซัมบวงกา (Zamboanga) กับตอนเหนือของเกาะมินดาเนา (Mindanao) เกาะใหญ่ที่สุดในย่านบิโคล (Bicol) ทางตอนใต้ของประเทศ
องค์การ Pagasa กล่าวว่า ซอไรดา จะทวีความแรงขึ้นอีกเมื่อพัดเข้าเขตเกาะปาลาวัน (Palawan) ในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตกวันพุธ 13 พ.ย.นี้ ขณะที่แผนภูมิพยากรณ์ของบางสำนักชี้ปลายทางของดีเปรสชันไปยังกรุงพนมเปญ กับชายแดน จ.บ้านใต้มีชัย-จ.สระแก้ว ของไทยในอีก 3 วันข้างหน้า
ถึงแม้ดรเปรสชันลูกใหม่จะยังอยู่ไกลเกือบ 700 กิโลเมตร แต่แผนภูมิพยากรณ์โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางเวียดนาม ที่ออกในคืนวันอังคารนี้ ได้ชี้ให้เห็นดีเปรสชันซอไรดา ที่เคลื่อนตัวด้วยความเร็ว 30-25 กม./ชม. จ่ออยู่ที่บริเวณหมูเกาะเจื่องซา (Truong Sa) หรือหมู่เกาะสแปร็ตลีย์ ในวันพุธนี้ และเตือนเรือหาปลาที่เพิ่งได้ออกจากฝั่งเมื่อวันจันทร์ให้เตรียมรับมือพายุลูกใหม่
แผนภูมิพยากรณ์ในเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยในคืนเดียวกันได้ชี้ให้เห็นปลายทางของดีเปรสชันซอไรดาในทะเลจีนใต้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ซอไรดา กำลังจะต้องเจอกับมวลอากาศเย็นที่จะเริ่มแผ่ลงปกคลุมทั่วทั้งอนุภูมิภาคจนถึงทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยในช่วง 24 ชั่วโมงข้างหน้านี้ สำนักอุตุนิยมวิทยาหลายแห่งได้ออกคำพยากรณ์ และให้ทุกดินแดนในย่านนี้จับตาความเคลื่อนไหวของดีเปรสชันอย่างใกล้ชิด.
.
2
3
4
5