xs
xsm
sm
md
lg

‘วอชิงตัน’ ไม่ยอมรับ ‘แผนที่เส้นประ 9 เส้น’ อ้างกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้ของ ‘ปักกิ่ง’

เผยแพร่:   โดย: ปรเมศราวัน ปอนนูดูไร


(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

US rejects China's nine-dash line
By Parameswaran Ponnudurai
10/02/2014

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ สหรัฐฯออกมาแถลงอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ไม่ยอมรับแผนที่เส้นประ 9 เส้นเรียงรายเป็นรูปตัวยู ซึ่งจีนใช้เป็นหลักฐานยืนยันอำนาจอธิปไตยของตนเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายราย ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของสหรัฐฯย่อมช่วยเสริมส่งชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนในทะเลจีนใต้รายอื่นๆ ให้อยู่ในฐานะที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังกำลังกลายเป็นการจัดเตรียมเวทีสำหรับการที่นานาชาติจะจับมือกันออกมาประจันหน้าในทางกฎหมายกับปักกิ่ง

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ สหรัฐฯออกมาแถลงอย่างเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ไม่ยอมรับแผนที่เส้นประ 9 เส้นเรียงรายเป็นรูปตัวยู (U-shaped, nine-dash line) ซึ่งจีนใช้เป็นหลักฐานยืนยันอำนาจอธิปไตยของตนเหนือพื้นที่เกือบทั้งหมดของทะเลจีนใต้ ทั้งนี้ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายราย ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของสหรัฐฯย่อมช่วยเสริมส่งชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนในทะเลจีนใต้รายอื่นๆ ให้อยู่ในฐานะที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังกำลังกลายเป็นการจัดเตรียมเวทีสำหรับการที่นานาชาติจะจับมือกันออกมาประจันหน้าในทางกฎหมายกับปักกิ่งอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ วอชิงตันพูดอยู่เสมอว่าตนเองไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่กำลังแข่งขันกันประกาศอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ไม่ว่าจะเป็นจีน, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, มาเลเซีย, ไต้หวัน, หรือบรูไน รวมทั้งบอกว่าคัดค้านการใช้กำลังใดๆ ก็ตามเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้

ทว่า พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่า สิ่งที่ แดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (U.S. Assistant Secretary of State for East Asian and Pacific Affairs) ไปแถลงต่อคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรอเมริกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ทำให้ความกำกวมคลุมเครือเช่นนี้หมดสิ้นลงในทางเป็นจริง

รัสเซลบอกว่าตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ การอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้นั้น “ต้องมีต้นตอที่มาจากสภาพลักษณะของผืนแผ่นดิน” และดังนั้นการที่จีนใช้แผนที่เส้นประ 9 เส้นเป็นหลักฐานสนับสนุนการประกาศกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทางทะเล โดยที่ไม่ได้อ้างอิงอยู่กับลักษณะพื้นที่ภาคพื้นดินซึ่งตนเองได้ทำการอ้างกรรมสิทธิ์เอาไว้อยู่แล้ว “จึงไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ”

เขากล่าวต่อไปว่า ประชาคมระหว่างประเทศย่อมยินดีต้อนรับ ถ้าหากจีนจะอธิบายขยายความหรือปรับเปลี่ยนข้ออ้างตามเส้นประ 9 เส้นของตนเสียใหม่ เพื่อทำให้มันสอดคล้องลงรอยกับกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ

“ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องทำให้ชัดเจนว่า ต้องการหมายความว่าอะไรกันแน่ เมื่อสหรัฐฯพูดว่าเราไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่กำลังแข่งขันกันอ้างกรรมสิทธิ์อ้างอธิปไตย เหนือลักษณะพื้นที่ภาคพื้นดินที่พิพาทกันอยู่” ในภูมิภาคนี้ รัสเซลบอก

**แผนที่ประวัติศาสตร์**

จีนนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาบริเวณประมาณ 90% ของทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง ไม่ได้อิงอยู่กับข้อกล่าวอ้างในเรื่องหมู่เกาะเฉพาะเจาะจงใดๆ หรือลักษณะของพื้นที่ภาคพื้นดินใดๆ หากแต่อิงอาศัยแผนที่ประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่ง ซึ่งจีนยื่นแสดงต่อสหประชาชาติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2009

แผนที่ดังกล่าวประกอบด้วยขีดเส้นประรวมทั้งสิ้น 9 เส้นเรียงรายเป็นรูปตัว “ยู” (U) ไล่ตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันออกของเวียดนาม ลงมาจนถึงใกล้ๆ ตอนเหนือของอินโดนีเซีย จากนั้นก็กลับขึ้นเหนือไปอีกจนกระทั่งถึงชายฝั่งด้านตะวันตกของฟิลิปปินส์

เส้นประ 9 เส้นนี้ พวกผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากลงความเห็นว่าไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea ใช้อักษรย่อว่า UNCLOS) ปี 1982 โดยที่ในเนื้อหาของอนุสัญญาฉบับนี้ ก็ปฏิเสธไม่ยอมรับการอ้างกรรมสิทธิ์ชนิดที่อ้างอิงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์

เจฟฟรีย์ แบเดอร์ (Jeffrey Bader) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นหัวหน้าที่ปรึกษาในเรื่องจีนของประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ ได้หยิกยกอ้างอิงคำแถลงของรัสเซลนี้ และบอกว่า “ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯออกมากล่าวต่อสาธารณชนด้วยคำแถลงอันเปิดเผยตรงไปตรงมาว่า สิ่งที่เรียกกันว่า ‘เส้นประ 9 เส้น’ … เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศ”

“จากการปฏิเสธไม่ยอมรับเส้นประ 9 เส้นนี้อย่างเปิดเผย ผู้ช่วยรัฐมนตรีรัสเซล และคณะรัฐบาลโอบามา ก็ได้ลากเส้นแบ่งของเราเองออกมา ณ จุดที่ถูกต้องชัดเจนมาก” แบเดอร์ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสถาบันบรูคกิ้งส์ (Brookings Institution) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ระบุเอาไว้เช่นนี้ในรายงานชิ้นหนึ่ง

วอชิงตันได้ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า ข้อคัดค้านของตนนั้นเป็นข้อคัดค้านที่ “ยืนอยู่บนหลักการ อิงอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่เป็นแค่ออกมาคัดค้านการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ เพียงเพราะการกล่าวอ้างดังกล่าวคือการอ้างสิทธิ์ของฝ่ายจีนเท่านั้น” เขาอธิบาย

อย่างไรก็ดี คำแถลงของรัสเซล ได้ถูกมองเมินไม่ยอมรับในทันทีจากฝ่ายปักกิ่ง ทั้งนี้แดนมังกรกำลังมีท่าทีก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ในการยืนกรานผลักดันการกล่าวอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนในภูมิภาคของตน จนกำลังกลายเป็นการเติมเชื้อโหมเพลิงให้แก่ความตึงเครียดต่างๆ ในน่านน้ำซึ่งทรงความสำคัญทั้งทางด้านการประมง, การเดินเรือ, และการสำรวจขุดเจาะน้ำมันแห่งนี้

“มีเจ้าหน้าที่สหรัฐฯบางคนกำลังตั้งข้อหาต่อจีนอย่างไม่มีมูล” หง เหล่ย โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าว

โฆษกผู้นี้บอกด้วยว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้นนั้น เกิดขึ้นมาเมื่อปี 1948 หรือ 1 ปีก่อนหน้าการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยซ้ำ อีกทั้ง “ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนที่สืบทอดอำนาจกันเรื่อยๆ มา”

**เรื่องใหญ่ไม่ใช่เรื่องเล็ก**

การที่วอชิงตันออกมาปฏิเสธอย่างเปิดเผยว่าไม่ยอมรับแผนที่เส้นประ 9 เส้น “ต้องถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ทีเดียว” จูเลียน คู (Julian Ku) อาจารย์ด้านนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮอฟสตรา (Hofstra University) ที่ตั้งอยู่ในนิวยอร์กให้ความเห็น

มัน “แสดงให้เห็นแนวทางที่สหรัฐฯกำลังจะใช้กฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นดาบ ในการท้าทายพฤติการณ์ของจีนในภูมิภาคนี้” เขาพูดเอาไว้เช่นนี้บน “โอปินิโอ จูริส” (Opinio Juris) เวทีออนไลน์สำหรับการอภิปรายกันอย่างมีข้อมูลความรู้และการถกเถียงกันอย่างมีชีวิตชีวาในประเด็นทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

เขาแสดงความประหลาดใจที่ในทางเป็นจริงแล้วรัฐบาลสหรัฐฯยังไม่เคยหยิบยกแถลงเหตุผลโต้แย้งเช่นนี้มาก่อนเลย

คำแถลงของรัสเซล “สอดคล้องเข้ากันได้อย่างสบายกับจุดยืนที่มีนานแล้วของรัฐบาลสหรัฐฯในเรื่องเกี่ยวกับลักษณะที่ควรจะเป็น ในการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทางทะเล”

เท่าที่ผ่านมา วอชิงตันมักจะไม่ค่อยชัดเจนอยู่บ้างเล็กน้อย ว่ามีจุดยืนที่เป็นกลางต่อแผนที่เส้นประ 9 เส้นหรือไม่ แต่รัสเซลเข้ามายุติความคลุมเครือนี้ให้หมดสิ้นไปแล้ว คูบอก

ทางด้านแบเดอร์ขยายความคิดเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯยังควรที่จะสร้างความกระจ่างชัดเจนต่อเหล่าชาติผู้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้รายอื่นๆ ตลอดจนต่อพวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเช่น สิงคโปร์ และ ไทย ว่าวอชิงตันนั้นคาดหมายให้พวกเขาออกมาแถลงต่อสาธารณชน ปฏิเสธไม่ยอมรับแผนที่เส้นประ 9 เส้นโดยใช้เหตุผลเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน

“สหรัฐฯควรที่จะทำให้เป็นที่แน่ใจว่า แนวทางการมองปัญหาของตนในเรื่องนี้จะไม่ถูกเห็นไปว่าเป็นการกระทำตามอำเภอใจฝ่ายเดียว” เขาบอก “ความจริงมันก็ไม่ใช่อย่างนั้นอยู่แล้วละ แต่บางครั้งประเทศอื่นๆ อาจเลือกใช้ท่าทีเงียบเฉยเมื่อในที่สาธารณะ แล้วกลับแสดงความสนับสนุนเมื่อพูดกันเป็นการส่วนตัว”

สำหรับอาจารย์คูมองว่า ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯที่ออกโรงโดยผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศคราวนี้ ยังเป็นการยื่นเสนอ “โรดแมปทางกฎหมาย” ต่อประเทศอื่นๆ ซึ่งมิได้เป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในภูมิภาคนี้อีกด้วย

“นี่เป็นจุดยืนทางกฎหมายที่แทบจะไม่ก่อให้เกิดการโต้แย้งอะไรเลย ดังนั้นจึงควรเป็นที่ยอมรับกระทำตามได้อย่างง่ายๆ ทั้งสำหรับอียู, แคนาดา, หรือออสเตรเลีย” ทั้งนี้ถ้าหากพวกเขาไม่กังวลว่ามันจะเป็นการสร้างความขุ่นเคืองให้แก่จีน คูบอก

**การท้าทายของฟิลิปปินส์**

การกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์โดยอาศัยแผนที่เส้นประ 9 เส้นของจีนนี้ ได้ถูกฟิลิปปินส์ท้าทายอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว ในเวทีของสหประชาชาติ

ทั้งนี้มะนิลาได้หยิบเอาเรื่องนี้ฟ้องร้องต่อศาลพิเศษระหว่างประเทศของ UNCLOS เมื่อ 1 ปีก่อน โดยบอกว่าแผนที่เส้นประ 9 เส้นจะนำเอามาใช้อ้างอิงไม่ได้ตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลของยูเอ็น

UNCLOS นั้นระบุว่า รัฐที่อยู่ริมชายฝั่งอย่างเช่นฟิลิปปินส์ สามารถที่จะอ้างสิทธิ์ครอบครองดินแดนทางทะเลในระยะทางห่างจากฝั่ง 12 ไมล์ทะเล และสามารถประกาศอาณาบริเวณห่างจากฝั่ง 200 ไมล์ทะเลว่าเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (economic exclusion zone) ซึ่งตนมีสิทธิที่จะทำการประมงและขุดค้นทรัพยากรใต้ทะเลได้

นับเป็นครั้งแรกที่ปักกิ่งถูกท้าทายโดยอาศัยอนุสัญญาฉบับนี้ ซึ่งมีกว่า 160 ประเทศได้ลงนามพร้อมทั้งให้สัตยาบันแล้ว รวมทั้งจีนและชาติผู้ออกกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้รายอื่นๆ สำหรับสหรัฐฯนั้นไม่ได้ร่วมลงนามด้วยซ้ำอย่าว่าแต่ให้สัตยาบัน เนื่องจากมีวุฒิสมาชิกบางคนแสดงความกังวลว่าอนุสัญญาฉบับนี้จะจำกัดการค้า อีกทั้งเป็นการยินยอมให้พวกองค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีอำนาจควบคุมเหนือผลประโยชน์ของสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้น

ในปี 2012 จีนได้เข้าควบคุมเกาะ “สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal) ซึ่งเป็นเกาะปะการังในทะเลจีนใต้ซึ่งมีศักยภาพความสำคัญทางยุทธศาสตร์ โดยที่ปักกิ่งกับมะนิลากำลังพิพาทช่วงชิงเกาะนี้กันอยู่ แต่ฟิลิปปินส์เป็นผู้ถืออำนาจในการปกครองเอาไว้

การปฏิเสธไม่ยอมรับแผนที่เส้นประ 9 เส้นของวอชิงตันคราวนี้ บังเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ พยายามหาความสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศในการต้านทานการกล่าวอ้างดินแดนของจีน อีกทั้งเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯจะเดินทางมาเยือนเอเชีย ในความพยายามที่จะชดเชยหลังจากที่เขาต้องยกเลิกกำหนดการตระเวนเยี่ยมภูมิภาคนี้ไปเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ประเทศที่โอบามาจะเยือนแน่ๆ ก็คือ ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, และฟิลิปปินส์ (หมายเหตุผู้แปล- ตามประกาศอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาวเมื่อวันพุธที่ 12 ก.พ. ชาติเอเชียอีกรายหนึ่งซึ่งโอบามาจะเยือนในเที่ยวนี้ด้วยคือ เกาหลีใต้)

“ถ้าหากในตอนนี้ เราพูดว่าต้องยินยอมให้แก่บางสิ่งบางอย่างซึ่งเราเชื่อว่าผิด แล้วมันจะมีหลักประกันอะไรว่าสิ่งที่ผิดนี้จะไม่ขยายใหญ่โตต่อไปเรื่อยๆ” อากีโนกล่าวเช่นนี้ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ “ต้องรอถึงจุดไหนกันล่ะ คุณจึงจะพูดว่า ‘พอกันที’ ครับ ที่จริงแล้วโลกจะต้องพูดคำนี้ออกมาได้แล้ว”

**เขตป้องกันภัยทางอากาศ**

การที่ปักกิ่งแสดงการยืนกรานแข็งกร้าวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการปกป้องการกล่าวอ้างสิทธิ์ทางดินแดนของตนในภูมิภาคนี้ ยังสะท้อนออกให้เห็นในกรณีอื่นๆ อีก เช่น เมื่อเร็วๆ นี้แดนมังกรประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (air defense identification zone ใช้อักษรย่อว่า ADIZ) ในทะเลจีนตะวันออก โดยครอบคลุมไปถึงหมู่เกาะที่ญี่ปุ่นควบคุมอยู่ หรือการที่จีนออกระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ๆ เพื่อจัดระเบียบการทำประมงภายในทะเลจีนใต้ โดยครอบคลุมถึงอาณาบริเวณอันใหญ่โตมหึมา

มีการกะเก็งคาดเดากันสะพัดว่า ปักกิ่งยังจะประกาศใช้เขต ADIZ ในทะเลจีนใต้อีกด้วย ซึ่งทำให้วอชิงตันออกมาเตือนว่าความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจทำให้กองทัพสหรัฐฯถึงขั้นต้องปรับเปลี่ยนสถานะและตำแหน่งแห่งที่ในภูมิภาคก็ได้

“เราคัดค้านการที่จีนจะจัดตั้งเขต ADIZ ขึ้นในพื้นที่อื่นๆ เป็นต้นว่า ในทะเลจีนใต้” อีแวน เมเดริรอส (Evan Medeiros) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกิจการเอเชีย ณ สภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ บอกกับสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

“เราได้บ่งบอกอย่างชัดเจนมากๆ กับฝ่ายจีนว่า เราจะถือเรื่องนี้ (การจัดตั้งเขต ADIZ ขึ้นมาอีก) ว่าเป็นพัฒนาการที่มีลักษณะยั่วยุและสั่นคลอนเสถียรภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องการปรากฏตัวของเราในภูมิภาคนี้ ตลอดจนในเรื่องสถานะและตำแหน่งแห่งที่ทางการทหารของเราในภูมิภาคนี้” เมเดริออส กล่าว

ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกทาง วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia ใช้อักษรย่อว่า RFA) ทั้งนี้วิทยุเอเชียเสรีก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบัญญัติของรัฐสภาสหรัฐฯ และได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากเงินให้เปล่าของรัฐบาลสหรัฐฯ ปัจจุบัน RFA เป็นผู้ดำเนินการสถานีวิทยุและบริการข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น