xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟิลิปปินส์’ เดินหน้าพึ่ง ‘กฎหมาย’ ต่อสู้กับ ‘จีน’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เกรกอรี โพลิ่ง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Philippines tests rule of law
By Gregory Poling
11/04/2014

ฟิลิปปินส์เลือกเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว ในการเดินหน้ายื่นเอกสารหลักฐานทางคดีของฝ่ายตนที่มีความหนาร่วมๆ 4,000 หน้า ต่อศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก เพื่อโต้แย้ง แผนที่เส้นประ 9 เส้น ของจีน ตลอดจนแง่มุมอื่นๆ ของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง มาถึงตอนนี้ ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องพยายามทำให้จีนเกิดความตระหนักแน่ใจขึ้นมาว่า การรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ดีที่สุดนั้น อยู่ที่การยอมรับและกระทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ อยู่ที่การรักษาหลักนิติธรรมระหว่างประเทศเอาไว้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

จีนนั้นไม่ได้จำกัดการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ใต้ทะเลของตน ซึ่งเลยเข้าไปในส่วนไหล่ทวีปของประเทศอื่น เฉพาะในรายของฟิลิปปินส์เท่านั้น เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรือของทางการจีน 3 ลำได้ออกตรวจการณ์บริเวณหาดน้ำตื้น "เจมส์ โชล” (James Shoal) ซึ่งเป็นลักษณะรูปโฉมทางภูมิศาสตร์ที่จมอยู่ใต้น้ำอย่างสิ้นเชิง และตั้งอยู่บนไหล่ทวีปของมาเลเซีย โดยนาวาของแดนมังกรเหล่านี้ได้ทำพิธีสาบานตนที่จะทำการปกป้องอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือพื้นที่ตรงนี้ สำหรับการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือ สคาร์โบโร โชล ตลอดจนเกาะเล็กเกาะน้อยซึ่งพิพาทช่วงชิงอยู่กับชาติอื่นๆ ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ ปักกิ่งยังมีการอ้างอิงข้อโต้แย้งทางกฎหมายแม้จะฟังดูไม่ค่อยมีสาระน่าเลื่อมใสอะไร แต่ในการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือ เซกันด์ โธทัส โชล หรือ เจมส์ โชล ปักกิ่งไม่ได้ให้เหตุผลทางกฎหมายใดๆ เลย

จากการอ้างกรรมสิทธิ์ในลักษณะเช่นนี้เอง เมื่อบวกกับการที่กองกำลังทางเรือของจีนใช้ยุทธวิธีแบบก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงกลายเป็นการผลักดันพวกชาติที่เคยนิ่งนอนใจมากกว่าฟิลิปปินส์ ให้ขยับเคลื่อนเข้าใกล้จุดยืนของมะนิลามากขึ้น เป็นต้นว่า พวกเจ้าหน้าที่มาเลเซียได้ส่งเสียงดังยิ่งขึ้นทุกทีในการประชุมหารือกับพวกเพื่อนสมาชิกสมาคมอาเซียน ตั้งแต่ที่ฝ่ายจีนทำการตรวจการณ์ที่ เจมส์ โชล แม้กระทั่งในอินโดนีเซีย ซึ่งก่อนหน้านี้พยายามวางจุดยืนของตนเองให้ห่างออกมาจากการพิพาท เวลานี้พวกเจ้าหน้าที่แดนอิเหนาก็ดูเหมือนกำลังแสดงความกังวลเพิ่มขึ้น

ในวันที่ 12 มีนาคม เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งของสำนักรัฐมนตรีผู้ประสานงานด้านกิจการการเมือง, กฎหมาย, และความมั่นคง ของอินโดนีเซีย (coordinating minister for political, legal, and security affairs) ได้กล่าวยอมรับว่า แผนที่เส้นประ 9 เส้นนั้น ในทางเป็นจริงแล้วมีการเหลื่อมซ้อนอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย ในบริเวณตอนเหนือของหมู่เกาะนาตูนา (Natuna Islands) อีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา รัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์ตี นาตาเลกาวา (Marty Natalegawa) ได้กล่าวลดทอนน้ำหนักของคำพูดของเจ้าหน้าที่คนดังกล่าว ทว่าก็เน้นย้ำด้วยว่า อินโดนีเซียมีความเห็นว่า แนวเส้นประ 9 เส้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทั้งนี้พวกเจ้าหน้าที่ในจาการ์ตาดูเหมือนกำลังตระหนักรับทราบมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ถ้าหากปล่อยไว้โดยไม่ทัดทานแล้ว ปักกิ่งจะกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ในทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งอยู่ภายในแนวเส้นประ 9 เส้น ไม่ว่าจะเป็นหมู่เกาะ, น่านน้ำ, และกระทั่งพื้นที่ซึ่งอยู่ใต้ทะเล

การเจรจาที่มีอยู่จนถึงเวลานี้ ยังคงล้มเหลวไม่สามารถสร้างความคืบหน้าอะไรนัก แม้กระทั่งในเรื่องกรอบวิธีจัดการกับกรณีพิพาทขัดแย้งทั้งหลายในทะเลจีนใต้ โดยยังไม่ต้องไปพูดถึงการคลี่คลายข้อพิพาทกันโดยตรง ชาติอื่นๆ ที่อ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในอาณาบริเวณนี้ ไม่มีชาติใดเลยซึ่งมีสมรรถนะทางทหารอันอาจจะต้านทานความก้าวร้าวอย่างจงใจของฝ่ายจีนได้ ยิ่งฟิลิปปินส์ด้วยแล้วอยู่ในระดับที่เรียกได้ว่าอ่อนด้อยกว่าคนอื่นเขาหมด สำหรับสหรัฐฯแสดงท่าทีว่าจะไม่เข้ามาแทรกแซงด้วยกำลังทหารยกเว้นในกรณีที่เกิดพฤติกรรมแบบทำสงครามกันอย่างชัดเจนเท่านั้น สภาวการณ์เช่นนี้จึงทำให้ฟิลิปปินส์เหลือเส้นทางที่จะเดินได้เพียงทางเดียวเท่านั้น ได้แก่การพึ่งพาอาศัยกฎหมาย ถึงแม้มะนิลากำลังต้องควักกระเป๋าจ่ายต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับการผลักดันเดินเรื่องของตน ทว่าผู้เขียนเห็นว่ามะนิลาวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องแล้ว ที่มองเห็นว่าต้นทุนค่าใช้จ่ายของการอยู่นิ่งเฉยไม่ทำอะไร จะต้องสูงยิ่งกว่านี้อีก

หลายๆ ประเทศเพื่อนบ้านของฟิลิปปินส์ เป็นต้นว่า อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, และเวียดนาม แสดงความสนับสนุนเห็นด้วยว่าเป็นสิทธิของมะนิลาที่จะดำเนินการทางกฎหมาย แต่ชาติเหล่านี้ก็ยังหลบหลีกไม่ออกมาหนุนหลังอย่างตรงไปตรงมายิ่งกว่านี้ เป็นต้นว่า ประกาศเห็นดีเห็นงามกับการยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลอนุญาโตตุลาการ ทว่าในส่วนของพวกผู้เล่นรายใหญ่ที่อยู่นอกภูมิภาคแถบนี้ ยังกล้าส่งเสียงแสดงออกมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เท่าที่ผ่านมาในปีนี้ รัฐบาลสหรัฐฯกำลังออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างโจ่งแจ้งชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับแผนที่เส้นประ 9 เส้น โดยที่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) ระบุว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ ในระหว่างที่เขาไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภาอเมริกัน ในวันเดียวกับที่ฟิลิปปินส์ยื่นเอกสารบันทึกทางคดีของตนนั้นเอง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯก็ได้ออกคำแถลงแจกจ่ายสื่อมวลชน แสดงความสนับสนุนความพยายามของมะนิลาคราวนี้ โดยระบุว่า จะทำให้เกิด “ความชัดเจนแน่นอนทางกฎหมาย ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล”

ในความเห็นของผู้เขียนนั้น ความสนับสนุนที่สหรัฐฯให้แก่คดีที่ฟิลิปปินส์ฟ้องร้องจีน เป็นสิ่งที่ทรงความสำคัญมากเกินกว่าแค่การให้ความสนับสนุนแก่พันธมิตรที่ได้ทำสนธิสัญญาไว้ต่อกัน หรือแค่การสกัดกั้นความโน้มเอียงกลับไปในทางลบของมหาอำนาจที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมารายหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องการพิทักษ์ปกป้องระบบแห่งตัวบทกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศอีกด้วย เกือบทุกๆ ชาติในโลก รวมทั้งจีนด้วย ต่างก็เป็นผู้ที่ได้ร่วมลงนามในกฎหมายทะเลของสหประชาชาติ และแม้กระทั่งชาติที่รวมลงนามทว่าไม่ได้รับรองให้สัตยาบัน อย่างเช่นสหรัฐฯ ก็ยังคงดำเนินการภายใต้ระเบียบหลักเกณฑ์ของกฎหมายนี้ โดยที่พื้นฐานของระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนใหญ่ก็เป็นที่รับรองของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) และองค์การยุติธรรมระหว่างประเทศอื่นๆ ในฐานะที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศตามธรรมเนียมประเพณี

ชาติต่างๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต่างจำกัดการอ้างกรรมสิทธิ์ดินแดนทางทะเลของพวกเขาให้อยู่ภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ แม้กระทั่งในอาณาบริเวณซึ่งพวกเขาพิจารณาเห็นว่าตัวพวกเขาเองมีอภิสิทธิ์ที่เป็นพิเศษเหนือปกติธรรมดา ตัวอย่างเช่น ทะเลแคริบเบียน สำหรับสหรัฐฯ และอาร์กติกสำหรับรัสเซีย ถ้าหากปล่อยให้ประเทศจีนมีเสรีที่จะเพิกเฉยละเลยต่อกรอบโครงดังกล่าวนี้ โดยอาศัยคุณสมบัติในเรื่องขนาดหรือแสนยานุภาพทางทหารของตนแล้ว โครงสร้างของระบบแห่งการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยองค์รวม ย่อมมีอันตรายที่จะสูญเสียความน่าเชื่อถือ ไม่มีประเทศใดหรอก แม้กระทั่งจีนเอง ที่จะพบว่าเป็นการดีกว่าสำหรับความมั่นคงปลอดภัยและความมั่งคั่งรุ่งเรืองของตนเอง หากหวนกลับไปใช้ระบบของยุคสมัยใกล้ๆ ศตวรรษที่ 20 ซึ่งประเทศต่างๆ มีความสัมพันธ์กันในแบบใครมีอำนาจก็เป็นฝ่ายถูกต้อง หรือ “อำนาจคือธรรม”

ศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก จะวินิจฉัยออกมาในทางใด จะตัดสินว่าตนเองมีอำนาจที่จะพิจารณาตัดสินคดีฟ้องร้องของฟิลิปปินส์นี้หรือไม่ ยังไม่เป็นที่แน่นอนชัดเจน แต่ถ้าผลวินิจฉัยออกมาว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลของตนแล้ว ย่อมเท่ากับว่าคณะผู้พิพากษาตัดสินในทางที่เป็นประโยชน์ต่อแดนตากาล็อก อย่างน้อยก็ในบางส่วน คำตัดสินดังกล่าวจะยังไม่สามารถจำกัดการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือลักษณะรูปโฉมทางภูมิศาสตร์ที่อยู่เหนือพื้นน้ำในอาณาบริเวณตามแผนที่เส้นประ 9 เส้นได้ก็จริงอยู่ แต่ก็น่าจะมีน้ำหนักในทางปฏิเสธการกล่าวอ้างอธิปไตยต่อพื้นที่บางอย่างบางประการของแดนมังกร เป็นต้นว่า เซกันด์ โธมัส โชล ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดถือเป็นประเพณีกันมา

ปักกิ่งประกาศยืนกรานเรื่อยมาว่าคำตัดสินใดๆ ของศาลอนุญาโตตุลาการนี้ จะไม่มีผลผูกพันต่อตนเอง ด้วยเหตุนี้ จึงยังต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาคมระหว่างประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ที่จะต้องพยายามทำให้จีนเกิดความตระหนักแน่ใจขึ้นมาว่า การยอมรับและกระทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งก็คือการรักษาหลักนิติธรรมระหว่างประเทศเอาไว้ จะสามารถรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ดียิ่งกว่าการเชิดหน้าดื้อรั้นใส่ประชาคมของชาติทั้งหลายในโลก

เกรกอรี โพลิ่ง (GPoling@csis.org) เป็นนักวิจัยในโครงการ สุมิโตร เพื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา (Sumitro Chair for Southeast Asia Studies) ที่ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies ใช้อักษรย่อว่า CSIS) ในกรุงวอชิงตัน
‘ฟิลิปปินส์’ เดินหน้าพึ่ง ‘กฎหมาย’ ต่อสู้กับ ‘จีน’ (ตอนแรก)
ฟิลิปปินส์เลือกเส้นทางที่ถูกต้องแล้ว ในการเดินหน้ายื่นเอกสารหลักฐานทางคดีของฝ่ายตนที่มีความหนาร่วมๆ 4,000 หน้า ต่อศาลอนุญาโตตุลาการในกรุงเฮก เพื่อโต้แย้ง แผนที่เส้นประ 9 เส้น ของจีน ตลอดจนแง่มุมอื่นๆ ของการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ของปักกิ่ง มาถึงตอนนี้ ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องพยายามทำให้จีนเกิดความตระหนักแน่ใจขึ้นมาว่า การรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้ดีที่สุดนั้น อยู่ที่การยอมรับและกระทำตามกฎหมายระหว่างประเทศ อยู่ที่การรักษาหลักนิติธรรมระหว่างประเทศเอาไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น