xs
xsm
sm
md
lg

‘กรณีแท่นขุดเจาะ’ บ่งชี้ ‘จีน’ หันใช้ ‘ไม้แข็ง’ รับมือ ‘ปักหมุด’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ปีเตอร์ ลี

(เก็บความจากเอเชียไท มส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China drills its hardpower reserves
By Peter Lee
08/05/2014

จีนทราบดีว่าความพยายามล่าสุดของตนที่จะเข้าขุดเจาะแหล่งน้ำมัน ซึ่งตั้งอยู่ตรงน่านน้ำที่ยังช่วงชิงกันอยู่บริเวณนอกชายฝั่งเวียดนามนั้น เป็นการท้าทายที่ชาติเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของตนรายนี้ไม่สามารถที่จะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ได้ กระนั้นก็ตามที แท้ที่จริงแล้วกลเม็ดนี้ของแดนมังกรเล็งไปยังเป้าหมายซึ่งชัดเจนและใหญ่กว่านั้นเสียอีก กล่าวคือ มันเป็นการฝึกซ้อมเอาไว้สำหรับการเผชิญหน้ากับฟิลิปปินส์ –ประเทศซึ่งปักกิ่งต้องการที่จะหยามหยันอย่างแท้จริง รวมทั้งมันยังเป็นการยั่วญี่ปุ่นให้เข้าแสดงบทบาทเป็นผู้พิทักษ์ เพื่อที่จะกลายเป็นการลดทอนความสำคัญของสหรัฐฯในเอเชียลงไปอีกด้วย สัญญาณทั้งหลายทั้งปวงในทะเลจีนใต้ในเวลานี้ ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังละทิ้งการใช้ “อำนาจละมุน” และหันมาแสดง “อำนาจแข็งกร้าว” แทนที่

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ในส่วนของวัตถุประสงค์ระดับสูงกว่านี้และยาวไกลออกไปนั้น ผมเชื่อว่าคณะผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้วินิจฉัยและมีมติแล้วว่า สหรัฐฯไม่สามารถที่จะเสนอสิ่งที่เป็นผลบวกใดๆ เพิ่มเติมเข้าสู่โต๊ะเจรจา เพื่อให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้พิจารณาตัดสินใจอีกแล้ว เนื่องจากสหรัฐฯนั้นได้แสดงการทุ่มเทยึดมั่นอย่างสุดตัวและอย่างเป็นสัญลักษณ์ ต่อ “การปักหมุดในเอเชีย” (Asia pivot) ตลอดจนนัยแห่งการมุ่งปิดล้อมสาธารณรัฐประชาชนจีนของนโยบายนี้ไปเรียบร้อยแล้ว จากการตระเวนเยือนเอเชียของโอบามาเมื่อเร็วๆ นี้

ผมคิดว่ามันจะเป็นการสุขุมรอบคอบกว่ามากนัก ถ้าหากประธานาธิบดีโอบามาจะ “ออกตัว” กระจายความเสี่ยงในการทุ่มเทวางเดิมพันของอเมริกาเสียบ้าง ด้วยการแวะเยือนปักกิ่งด้วย ทว่าเขากลับไม่ได้ทำเช่นนี้ โดยเพียงแค่ส่ง มิเชล โอบามา ไปแทน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สถานการณ์เวลานี้ไปไกลจนถึงขั้นที่ไม่สามารถหวนกลับได้อีกแล้ว

ผมเชื่อว่า การตอบโต้ของสาธารณรัฐประชาชน จะไม่ใช่อยู่ในลักษณะของการเข้าเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ แต่จะเป็นการมุ่งทำให้สหรัฐฯหมดค่าหมดความสำคัญลง ด้วยการผลักดันให้เรื่องความมั่นคงของเอเชีย เข้าสู่ขอบเขตซึ่งเหล่าเพื่อนบ้านของแดนมังกรต่างพากันวิตกกังวลอย่างลึกซึ้ง ทว่าเกี่ยวข้องพัวพันสหรัฐฯในระดับเพียงแค่แตะๆ ผิวๆ เท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในระยะไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ผมอยากจะยืนยันว่า เป็นการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนปรับจุดโฟกัสของลิ่มที่ใช้ตอกใส่เพื่อบั่นทอนทำลายความเป็นพันธมิตรกันระหว่างสหรัฐฯกับญี่ปุ่น

แทนที่จะพยายามตอกลิ่มเพื่อให้สหรัฐฯถอยห่างออกจากญี่ปุ่น และหันมาปรองดองรอมชอมในบางลักษณะกับผลประโยชน์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน เวลานี้สาธารณรัฐประชาชนจีนกลับกำลังพยายามที่จะตอกลิ่มเพื่อให้ญี่ปุ่นถอยห่างออกจากสหรัฐฯ ด้วยการยั่วยวน/ล่อใจ ญี่ปุ่นให้แสดงบทบาทอย่างเป็นอิสระชนิดที่ทำให้สหรัฐฯหมดความสำคัญลงไป

ดังนั้น เราจึงได้เห็นสาธารณรัฐประชาชนจีนรอคอยจนกระทั่งประธานาธิบดีโอบามาเดินทางออกไปพ้นเอเชียแล้ว จากนั้นจึงหวนมารื้อฟื้นการยั่วยุของตนในเรื่องหมู่เกาะเซงกากุ ขณะเดียวกันนั้นก็ทำการติดต่อแลกเปลี่ยนเพื่อสันติภาพในขั้นผู้แทนระดับกลางๆ กับญี่ปุ่นไปด้วย ...

... และพร้อมๆ กันนั้นก็แสดงการโอ่อวดทุบตีเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ญี่ปุ่นกำลังเฝ้าเกี้ยวพา เพื่อให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกรายหนึ่งในพันธมิตรทางเศรษฐกิจและความมั่นคงที่มุ่งแอนตี้สาธารณรัฐประชาชนจีน ของนายกรัฐมนตรีอาเบะ

ผมขอคาดเดาต่อไปว่า แรงจูงใจในการทำเช่นนี้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน คือการบีบบังคับญี่ปุ่นให้ต้องละทิ้งการแสดงตัวว่ากำลังเดินอยู่ในจังหวะเดียวกันกับสหรัฐฯ โดยที่ยอมรับนับถือความเป็นผู้นำของสหรัฐฯในการปักหมุดในเอเชีย (ผมต้องขอยืนยันว่า อันที่จริงญี่ปุ่นได้แอบละทิ้งเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว จากการเที่ยวไล่จีบเวียดนาม, ฟิลิปปินส์, และเกาหลีเหนือ โดยที่อาเบะมีวาระอย่างเป็นอิสระของตนเอง ไม่ใช่เป็นการเดินตามความต้องการของโอบามา) การบีบบังคับเช่นนี้จะทำให้ญี่ปุ่นมีหนทางดินอยู่ 2 ทาง ทางหนึ่งคือแบแผนการริเริ่มของตนเองที่จะให้การสนับสนุนทางด้านการทูต, เศรษฐกิจ, หรือการทหารบางอย่างบางประการแก่เวียดนาม หรือไม่เช่นนั้นญี่ปุ่นจะถูกเปิดโปงว่าสิ่งที่ญี่ปุ่นกำลังเสนอต่อพวกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อล่อใจพวกเขาให้เข้ามาอยู่ในค่ายของทางญี่ปุ่นนั้น เอาเข้าจริงแล้วก็มีแต่ความกลวงกลางว่างเปล่าเท่านั้น

ในทันทีที่ญี่ปุ่น “เลิกสงวนท่าที” ก็จะถูกบังคับให้ต้องมีปฏิสัมพันธ์อย่างชนิดที่มีความหมายกับสาธารณรัฐประชาชนจีน “ความหมาย” ที่ว่านี้ อาจจะเป็นการปฏิสัมพันธ์ในหนทางของการเผชิญหน้ากัน หรือของการเจรจาต่อรองกันก็ได้ ทั้งนี้เพราะมีแต่ทำเช่นนี้เท่านั้น ญี่ปุ่นจึงจะสามารถผลักดันยุทธศาสตร์เอเชียของตนให้คืบหน้าไปได้ ... ส่วนทางสหรัฐฯก็จะได้เห็นอิทธิพลบารมีของตนต้องเสื่อมโทรมอับเฉาลงไป และจำเป็นต้องหันมาติดต่อสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถกลับเข้าสู่เกมได้อีกครั้งหนึ่ง

เมื่อพิจารณาจากการที่แต่กี้แต่ก่อนมา สาธารณรัฐประชาชนจีนย่อมมุ่งโฟกัสไปที่การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า พร้อมๆ กับที่เสริมความแข็งแกร่งของตนทั้งในทางทหารและทางการทูต ดังนั้น การยั่วยุและการยกระดับความตึงเครียดอย่างเปิดเผยอย่างที่ผมพรรณนามานี้ ดูออกจะขัดแย้งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราเคยมีความเข้าใจเกี่ยวกับจีนกันมาในอดีต

แต่ผมคิดว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตัดสินใจแล้วว่า จากการที่สาธารณชนในสหรัฐฯผูกพันเห็นชอบกับนโยบายการปักหมุด รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนญี่ปุ่นให้ปฏิบัตินโยบายป้องกันตนเองร่วมกันระหว่างหลายๆ ประเทศในเอเชีย สหรัฐฯจึงไม่อยู่ในฐานะใดๆ อีกแล้วที่จะแสดงตัวเป็น “คนกลางผู้ซื่อสัตย์” บทบาทด้านความมั่นคงอันแท้จริงของสหรัฐฯในเอเชียนั้นกลับอยู่ที่การหนุนหลังพวกพันธมิตรปักหมุดของตนเองเท่านั้น และด้วยเหตุนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงต้องท้าทายแนวเส้นสมรภูมิของการปักหมุด ก่อนที่มันจะบีบรัดล้อมวงกระชับเข้ามาจนอึดอัดหายใจไม่ออก

และสาธารณรัฐประชาชนจีนก็กำลังทำการท้าทายดังกล่าวนี้ ด้วยการสาธิตให้เห็น (ในรูปลักษณ์ที่ค่อนข้างหยาบกระด้าง) ว่ายุทธศาสตร์แห่งการป้องปราม ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องลึกของการปักหมุดนั้น จะไม่สามารถป้องปรามสาธารณรัฐประชาชนจีนได้หรอก และสาธารณรัฐประชาชนจีนพรักพร้อมที่จะแบกรับค่าใช้จ่ายความสูญเสียในทางเศรษฐกิจ จากการท้าทายเจตนารมณ์และท้าทายความปรารถนาของสหรัฐฯตลอดจนพันธมิตรในเอเชียของสหรัฐฯ

ส่วนสำหรับคำถามที่ว่า ทำไมสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงตัดสินใจที่จะกระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวและความชิงชังไปทั่วในช่วงจังหวะเวลานี้นั้น เราอาจเลือกให้คำตอบแบบที่ฟังดูเป็นบวก ด้วยการบอกว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนเพียงแต่กำลังเร่งรัดให้ “ระเบียบใหม่แห่งเอเชีย” ที่มีความสมดุลใหม่ระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ตลอดจนมีการปลดริบสหรัฐฯออกเสียจากบทบาทฐานะเป็นเจ้าครอบงำ รีบถือกำเนิดออกมาโดยเร็ว

แต่การตีความในทางลบอาจจะฟังดูเร้าใจน่าเชื่อถือมากกว่า นั่นก็คือ สาธารณรัฐประชาชนมองเห็นแล้วว่า ช่วงทศวรรษข้างหน้าจะเป็นระยะเวลาแห่งความยากลำบากและน่าเกลียดน่าชัง โดยที่จะมีคณะรัฐบาลที่แอนตี้สาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นครองอำนาจในเมืองหลวงจำนวนมากของเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้จุดที่สำคัญที่สุดก็คือการที่ ฮิลลารี คลินตัน จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ วิธีการที่ดีที่สุดในการฟาดฟันการปักหมุดให้แตกสลาย ก็คือทำให้มันเดือดพล่านเสียตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่การปักหมุดในทางการทหารจะเพิ่มขยายจนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ และจะต้องลงมือกระทำการฟาดฟัน ตั้งแต่ในช่วงที่ประธานาธิบดีโอบามาซึ่งค่อนข้างจะปรองดองรอมชอมมากกว่ายังอยู่ในอำนาจ แถมโอบามายังกำลังถูกหันเหเบี่ยงเบนความสนใจ ด้วยความคิดที่ว่า เขาไม่ต้องการที่จะนำเอาเรื่องการเผชิญหน้ากับจีน มาสุมกองอยู่บนปัญหาอันยุ่งยากมากมายที่มีอยู่กับรัสเซียในปัจจุบัน

ช่วงทศวรรษแห่งการมุ่งใช้อำนาจละมุน (soft power) ของสาธารณรัฐประชาชนจีน จึงเป็นอันว่าได้รูดม่านปิดฉากลงก่อนเวลาอันสมควรไปแล้ว เรื่องนี้ต้องขอบคุณความสำเร็จของการปักหมุด ซึ่งทำให้แรงขับดันของสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะครอบงำภูมิภาคแถบนี้ โดยอาศัยคุณสมบัติแห่งอิทธิพลบารมีทางเศรษฐกิจ, ทางประชากรศาสตร์, ตลอดจนทางการทหารอย่างเป็นนัยๆ ของตน ต้องมีอันเป็นหมันไม่สามารถใช้การได้อีกต่อไป ผมคาดหมายว่าความสัมพันธ์ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีกับพวกชาติเพื่อนบ้านทางทะเลในเวลาต่อจากนี้ไป จะถูกขับดันด้วย “อำนาจแข็งกร้าว” (hard power) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนตัดสินใจแล้วที่จะปักหลักตั้งสติ และดูดซับค่าใช้จ่ายความสูญเสีย ทั้งในทางการทูต, เศรษฐกิจ, และสังคมทั้งหลายทั้งปวง จากการทำให้เกิดความหวาดกลัวและความโกรธเกรี้ยวเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ โดยที่พนันวางเดิมพันว่าตนเองจะสามารถงัดเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงซึ่งเหนือกว่า ตลอดจนสามารถยืนหยัดอยู่ได้ยาวนานกว่าความเป็นปรปักษ์ของพวกชาติปักหมุดทั้งหลาย

มันเป็นเกมการพนันที่ทั้งน่าชิงชังและมีอันตรายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากสัญชาตญาณทั้งระดับแรกสุด, ระดับสอง, และระดับสาม ของทุกๆ ฝ่ายที่เข้าพัวพันโยงใยอยู่กับฝ่ายแอนตี้สาธารณรัฐประชาชนจีน จะต้องมีการยกระดับเพิ่มสูงขึ้นไปเช่นกัน เพื่อสร้างความรู้สึกว่ามั่นคงปลอดภัยให้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เชื่อถืออย่างจริงจังในแนวทางป้องปรามที่ว่า สมรรถนะทางทหารของสหรัฐฯและเหล่าหุ้นส่วนปักหมุดของสหรัฐฯนั้น คือสิ่งที่จะช่วยปกปักรักษาเอเชียให้มีความปลอดภัย

มันช่างเป็นวันเวลาที่มีอันตรายมากจริงๆ

เมื่อพิจารณาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนาในแปซิฟิกตะวันตกแล้ว การนั่งงมอยู่เฉยๆ หรือกระทั่งการใช้ความพยายามในทางอำนาจละมุนเพื่อประจบเอาใจพวกชาติประชาธิปไตยในเอเชียตลอดจนสหรัฐฯนั้น ดูจะไม่ได้เป็นทางเลือกที่สาธารณรัฐประชาชนจีนตีค่าให้ราคาอย่างสูงส่งแต่อย่างใด

จากความเคลื่อนไหวในทางมุ่งประจันหน้าอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะใน ชิงเต่า และในเซี่ยงไฮ้ ดูเหมือนว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังส่งสัญญาณว่า ตนเองเตรียมพร้อมแล้วที่จะละทิ้ง “อำนาจละมุน”, รวมทั้งยุติเลิกใส่ใจกับคำมั่นสัญญาของสหรัฐฯที่ว่าจะแสดงออกซึ่งความอดกลั้นอดทน, และหันมาเตรียมรับมือจัดการกับกิจการของตนภายใต้สมมุติฐานที่ว่าสภาพแวดล้อมระดับภูมิภาคจะมีความเป็นปรปักษ์สูงขึ้นทุกทีๆ

ดูเหมือนว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้กำลังแผดเสียงคำราม เพียงเพื่อให้สหรัฐฯยอมอ่อนข้อให้บ้างที่จะเป็นช่วยรักษาหน้าของปักกิ่งเอาไว้ หรือเพียงเพื่อให้สหรัฐฯยินยอมลั่นคำมั่นสัญญาลมปากบางอย่างบางประการเท่านั้น หากแต่สาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังพุ่งเป้าเล่นงานญี่ปุ่น แทนที่จะกำลังมุ่งรับมือกับสหรัฐฯ และกำลังท้าทายสหรัฐฯให้ต้องทำอะไรบางอย่างที่มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นการแสดงความสนับสนุนพันธมิตรของตน

สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นมีความฉับไวเสมอมา ในการมองเห็นความจำเป็นหรือในการมองหาโอกาสที่จะทำการท้าทายเครดิตความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการป้องปรามของสหรัฐฯ และยิ่งเมื่อเกิดกรณีรัสเซียเข้าผนวกไครเมีย ซึ่งทำให้สถานการณ์มีความว้าวุ่นปั่นป่วนเพิ่มสูงขึ้นด้วยแล้ว โอกาสดังกล่าวก็ดูจะมาถึงเร็วกว่าที่ใครๆ คาดหวังเอาไว้

ถ้าหากสาธารณรัฐประชาชนจีนจงใจที่จะบ่มเพาะวิกฤตส่งเสบียงที่แนวปะการังอายุนกิน (Ayungin Shoal ชื่อนี้เรียกกันในฟิลิปปินส์ สำหรับโลกภายนอกแล้วส่วนใหญ่รู้จักในชื่อว่า แนวปะการังเชกันด์ โธมัส Second Thomas Shoal –ผู้แปล) ขึ้นมา ด้วยความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะยอมปล่อยให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-สาธารณรัฐประชาชนจีน ออกทะเลไปเลยหากจำเป็น แทนที่จะอยู่เฉยๆ ปล่อยให้พลังพลวัตแห่งการปักหมุดเคลื่อนไปในทิศทางที่ตนเองต้องเสียประโยชน์แล้ว นี่ย่อมหมายความว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาอันตึงเครียดและไม่น่าชื่นชมแน่ๆ แล้ว และต้นทุนในการธำรงรักษาเครดิตความน่าเชื่อถือของการป้องปรามของสหรัฐฯ ก็อาจจะสูงกว่าที่เราปรารถนาอย่างมากมายมหาศาลทีเดียว

สาธารณรัฐประชาชนจีนดูเหมือนกำลังส่งสัญญาณถึงความมุ่งมั่นของตนที่จะปักหลักตั้งสติและต้านพายุลมแรงทางภูมิรัฐศาสตร์ (โดยในเร็ววันนี้ พายุดังกล่าวอาจจะรวมไปถึงวิกฤตไต้หวัน และติดตามมาด้วยการประณามให้สหรัฐฯกลายเป็นแพะรับบาป) ถึงแม้ว่ามันอาจจะต้องกินเวลานานหลายๆ ปีก็ตามที และพร้อมๆ กันนั้นก็จะเดินหน้าดำเนินการต่อสู้ในเวทีต่างๆ ภายในประเทศ ซึ่งตนเองสามารถยึดครองความได้เปรียบเอาไว้

ปีเตอร์ ลี เป็นนักเขียนที่สนใจเรื่องกิจการเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ตลอดจนจุดตัดกันระหว่างภูมิภาคเหล่านี้กับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น