xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อกลุ่มพลังงาน “Big Oil” ถูกแซงหน้าด้วย “Big Data”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นักคิดนักเขียนเกี่ยวกับอนาคต (Futurist) คนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “จำคำพูดผมไว้นะว่า ภายใน 6-7 ปี ข้อมูลจะมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจ และการเมืองมากกว่าพลังงานฟอสซิลซึ่งหมายถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” เขาผู้นี้คือ Gerd Leonhard ชาวสวิส เป็นนักบรรยายไปทั่วโลกที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสารการโทรคมนาคม และเป็น CEO ของ The Futures Agency เขาน่าจะพูดประโยคดังกล่าวเมื่อประมาณปี 2013

เราคงคุ้นเคยกันดีแล้วกับความหมายของ “Big Oil” ซึ่งหมายถึงกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันขนาดใหญ่ของโลก จำนวน 5 บริษัท ซึ่งได้แก่ บริษัทบีพี (1908-อังกฤษ) บริษัทเชฟรอน (1879-สหรัฐอเมริกา) บริษัทเอ็กซอนโมบิล (1870-สหรัฐอเมริกา) บริษัทเชลล์ (1907-เนเธอร์แลนด์) และบริษัทโทเทล (1924-ฝรั่งเศส) โดยบางบริษัทมีการควบรวมกิจการจากเดิมที่มี 7 บริษัท หรือ “เจ็ดนางยักษ์ (Seven Sisters)” คงไม่ต้องบอกให้รู้สึกสับสนเล่นนะครับว่ามูลค่าการตลาดของ 5 บริษัทนี้รวมกันได้เท่าใด

แต่คำว่า “Big Data” สิครับมีปัญหาในการอธิบาย เพราะมันมี 2 ความหมาย และค่อนข้างจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย

ความหมายแรก คำว่า Big Data นั้นถ้าแปลตรงๆ ก็คือ ข้อมูลขนาดใหญ่ ส่วนความหมายที่แท้จริงนั้นคือ การนำข้อมูลมหาศาลมาสรุปประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และนำเสนอในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จุดสำคัญของ Big Data อยู่ที่คำว่า “Big” หรือมหาศาลนั่นเอง ที่ทำให้ Big Data แตกต่างจากการประมวลผลข้อมูลในรูปแบบเก่า (คัดลอกมาจากบทความ “ทำความรู้จักกับ Big Data” ใน eCommerce ฉบับที่ 182, Feb 2014 in How to โดย ดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล)

ทั้งนี้ การประมวลผลและแสดงผลดังกล่าวต้องอยู่บนหลักการ “3V” คือ รวดเร็ว (Velocity) ใช้ปริมาณข้อมูลมาก (Volume) และข้อมูลหลากหลายประเภท (Variety) แค่รูปภาพเพียงรูปเดียวก็ประกอบด้วยหลายล้านข้อมูลแล้ว

แต่ในความหมายที่สอง เป็นการเลียนแบบ “Big Oil” นั่นคือ “Big Data” ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวกับการประมวลข้อมูล (Data) การจัดทำโปรแกรม (Software) การสร้างเครือข่าย รวมทั้งการคิดค้นระเบียบวิธีในการเขียนโปรแกรม (Algorithms) เป็นต้น

คุณ GerdLeonhard ได้สรุปในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของโลกได้เคลื่อนตัวจากการที่เคยขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิล หรือพูดสั้นๆ ว่า น้ำมัน (Oil) ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data) ดังภาพประกอบครับ

ด้วยความที่อยากจะรู้ว่าคำพยากรณ์ของคุณ Gerd จะมีความน่าสนใจ และเป็นไปได้แค่ไหน ผมจึงได้สืบค้นข้อมูล และสรุปผลได้ว่า จากการจัดอันดับของ Financial Times ในปี 2014 พบว่ามูลค่าการตลาดของ 10 บริษัทที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลกอันดับ 1 คือ บริษัทแอปเปิล อันดับ 3 และ 5 คือ บริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทกูเกิล (ซึ่งอยู่ในกลุ่ม “Big Data” สัญชาติอเมริกันทั้งหมด) โดยมีมูลค่ารวม 1.360 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 38% ของมูลค่ารวมของทั้ง 10 อันดับ

ในขณะที่ธุรกิจ “Big Oil” ติดมา 2 อันดับ คือ อันดับที่ 2 (ExxonMobil) และอันดับที่ 6 คือ บริษัทปิโตรไชน่า (สัญชาติจีน) โดยมีมูลค่ารวมกัน 0.697 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 20% ของมูลค่าทั้ง 10 บริษัท (แค่ 2 บริษัทคิดเป็นประมาณ 9 เท่าของจีดีพีของประเทศไทย)

หากย้อนหลังไป 10 ปี คือ ปี 2004 บริษัทในกลุ่ม “Big Oil” มีมูลค่าการตลาดใน 10 อันดับแรก จำนวน 3 บริษัท มูลค่ารวม $0.813 ล้านล้าน คิดเป็นร้อยละ 33 ในขณะที่กลุ่ม “Big Data” ติดอันดับมาเพียง 1 บริษัท คือ ไมโครซอฟท์ $0.234 ล้านล้าน คิดเป็น 11% ของมูลค่าทั้ง 10 อันดับ

จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในช่วง 10 ปี คือ 2004 ถึง 2014 พบว่า คำทำนายของคุณ Gerd เป็นจริงแล้ว ไม่ต้องรอถึง 6-7 ปี นี่ยังไม่ได้นับ Facebook.com และ Amazon.com ที่เจ้าของได้กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 11 และ 12 ของโลก และเพื่อให้เห็นความสำคัญของธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลผมขอสรุปประเด็นนี้ด้วยคำพูดของคุณ GerdLeonhard ในแผ่นสไลด์ของเขาว่า “ข้อมูลคือ น้ำมันชนิดใหม่ (Data is the new oil.)” ดังรูป

ความเหมือนและความต่างระหว่าง“Big Oil” และ“Big Data” ต่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ความจริงแล้วธุรกิจน้ำมันได้เข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจ และการเมืองของโลกเมื่อประมาณ 150 ปีมานี้ ด้านหนึ่งได้ทำให้โลกก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเราทราบกันดีโดยไม่ต้องพูดกันมาก แต่อีกด้านหนึ่งได้สร้างปัญหาให้แก่โลกอย่างมหาศาล ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “สภาวะโลกร้อน” และอิทธิพลทางการเมืองทั้งระดับประเทศ และระดับโลก ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น การจ่ายเงินให้พรรคการเมืองในการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเอง และการก่อสงครามในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ “Big Oil” ได้เข้าไปขัดขวางการเยียวยาปัญหาโลกร้อนโดยการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ก็ถูกยับยั้งด้วยคนกลุ่มนี้มาตลอด เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะพวกเขายังไม่มีโฉนดบนดวงอาทิตย์นั่นเอง

สำหรับ “Big Data” ผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมมีน้อยมากครับ แต่การละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนตัวก็มีการกล่าวถึงกันอยู่ สำหรับการมีอิทธิพลต่อวงการเมืองผมยังไม่ทราบครับ แต่ที่ผมอยากจะชวนคิดก็คือ ภาคประชาชนจะใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของพวก “Big Data” ที่มีการวิจัยปรับปรุงให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ในขณะที่ราคาก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เราสามารถรับรู้ได้ดีก็คือ โทรศัพท์มือถือ ที่เป็นได้ทุกอย่าง กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ ที่ยังไม่ได้ก็น่าจะเป็นไม้จิ้มฟัน

และเมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ขอนำเสนออีกภาพซึ่งเป็นการวิจัยของ “Big Data” ซึ่งจะทำให้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ใกล้เคียงกับการทำงาน และสั่งการของสมองมนุษย์ที่เรียกว่า “โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network)”

กลับมาที่คำถามเดิมครับว่า ภาคประชาชนจะใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้านี้ได้อย่างไร หรือถ้าให้ดูใหญ่หน่อยก็ว่า “รัฐธรรมนูญไทยควรออกแบบอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องต่อโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

เมื่อสังคมสามารถเชื่อมต่อถึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook ฯลฯ ที่ผู้ส่งสารกับผู้รับสารแทบจะรู้เห็น กิน พร้อมกัน คำถามง่ายๆ เช่น แล้วจำนวนสมาชิกในสภาฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ควรจะลดลง (จาก 500 คน จะเหลือสัก 200 คน) ได้ไหม หรือไม่จำเป็นต้องมีเลย (ในอุดมคติ) แล้วหันมาใช้ประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct Democracy) รวมทั้งการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ในระยะหลังเราจะเห็นโทรทัศน์กระแสหลักได้นำข่าวสารที่สังคมออนไลน์ส่งถึงกันมาออกอากาศบ่อยๆ จนบางช่องได้ชูคำขวัญว่า “อำนาจในการสื่อสารอยู่ในมือคุณแล้ว”

จากสถิติพบว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของโลกในปี 2000 (2543) เป็นร้อยละ 26 ในอีก 10 ปีต่อมา และคาดว่าจะกระโดดไปถึง 66% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ การใช้แนวคิดแบบเชื้อโรคระบาดที่เริ่มต้นมีจำนวนเพียงนิดเดียว แต่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลกระเทือนอย่างมหาศาลราวกับสึนามิ เขาเรียกปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้ว่า “กฎของคนหยิบมือเดียว (The law of the few)” ดังรูป

กฎของคนหยิบมือเดียวจะสำเร็จ และมีพลังได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือต้องมี (1) ผู้ประสานงาน (2) มีนักวิชาการ (Maven) ที่คอยผลิตงานวิชาการที่มีความลึกซึ้งออกมาเผยแพร่ แบ่งปันกันอย่างต่อเนื่อง และ (3) มีพนักงานขาย (Salesman) ซึ่งทำหน้าที่แปลเรื่องราวที่ค่อนข้างเข้าใจได้ยากในวงวิชาการมาเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย

จากรูป โปรดสังเกตว่า เส้นใยที่เชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรามีอยู่แล้วในระบบของ “Big data” และมีอยู่แล้วในสังคมชีวิตจริงสิ่งที่ท้าทายภาคประชาชนคือ ทำอย่างไรจึงจะได้ดังในรูปท้ายสุดข้างบนนี้

อย่างไรก็ตาม โปรดระลึกอยู่เสมอว่า ในแต่ละวันมีข้อมูลผ่านหูผ่านตาเราจำนวนมหาศาลส่วนมากเป็นขยะ ไม่มีประโยชน์ เราจะต้องรู้จักคัดกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยงไปสู่ความรู้และปัญญา ดังแผ่นภาพสุดท้าย มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากหากลงมือทำ ลุยครับ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น