xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อกลุ่มพลังงาน “Big Oil” ถูกแซงหน้าด้วย “Big Data”

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

นักคิดนักเขียนเกี่ยวกับอนาคต (Futurist) คนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “จำคำพูดผมไว้นะว่า ภายใน 6-7 ปี ข้อมูลจะมีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมากกว่าพลังงานฟอสซิลซึ่งหมายถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ” เขาผู้นี้คือ Gerd Leonhard ชาวสวิสเป็นนักบรรยายไปทั่วโลกที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการสื่อสารการโทรคมนาคมและเป็น CEO ของ The Futures Agency เขาน่าจะพูดประโยคดังกล่าวเมื่อประมาณปี 2013

เราคงคุ้นเคยกันดีแล้วกับความหมายของ “Big Oil” ซึ่งหมายถึงกลุ่มบริษัทผู้ค้าน้ำมันขนาดใหญ่ของโลกจำนวน 5 บริษัท ซึ่งได้แก่บริษัทบีพี (1908-อังกฤษ) บริษัทเชฟรอน (1879-สหรัฐอเมริกา) บริษัทเอ็กซอนโมบิล (1870-สหรัฐอเมริกา) บริษัทเชลล์ (1907-เนเธอร์แลนด์) และบริษัทโทเทล (1924-ฝรั่งเศส) โดยบางบริษัทมีการควบรวมกิจการจากเดิมที่มี 7 บริษัท หรือ “เจ็ดนางยักษ์ (Seven Sisters)” คงไม่ต้องบอกให้รู้สึกสับสนเล่นนะครับว่ามูลค่าการตลาดของ 5 บริษัทนี้รวมกันได้เท่าใด

แต่คำว่า “Big Data” ซิครับมีปัญหาในการอธิบายเพราะมันมี 2 ความหมายและค่อนข้างจะเข้าใจยากอยู่สักหน่อย

ความหมายแรก คำว่า Big Data นั้นถ้าแปลตรงๆ ก็คือ ข้อมูลขนาดใหญ่ ส่วนความหมายที่แท้จริงนั้นคือ การนำข้อมูลมหาศาลมาสรุปประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และนำเสนอในรูปแบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ จุดสำคัญของ Big Data อยู่ที่คำว่า “Big” หรือมหาศาลนั่นเอง ที่ทำให้ Big Data แตกต่างจากการประมวลผลข้อมูลในรูปแบบเก่า (คัดลอกมาจากบทความ “ทำความรู้จักกับ Big Data” ใน eCommerce ฉบับที่ 182, Feb 2014 in How to โดยดร.เสฎฐวิทย์ เกิดผล)

ทั้งนี้การประมวลผลและแสดงผลดังกล่าวต้องอยู่บนหลักการ “3V” คือ รวดเร็ว(Velocity) ใช้ปริมาณข้อมูลมาก (Volume) และข้อมูลหลากหลายประเภท (Variety) แค่รูปภาพเพียงรูปเดียวก็ประกอบด้วยหลายล้านข้อมูลแล้ว

แต่ในความหมายที่สอง เป็นการเลียนแบบ “Big Oil” นั่นคือ “Big Data” ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบริษัทธุรกิจที่เกี่ยวกับการประมวลข้อมูล (Data) การจัดทำโปรแกรม(Software) การสร้างเครือข่าย รวมทั้งการคิดค้นระเบียบวิธีในการเขียนโปรแกรม (Algorithms) เป็นต้น

คุณ GerdLeonhard ได้สรุปในเบื้องต้นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจของโลกได้เคลื่อนตัวจากการที่เคยขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิลหรือพูดสั้นๆ ว่าน้ำมัน (Oil) ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data) ดังภาพประกอบครับ

ด้วยความที่อยากจะรู้ว่าคำพยากรณ์ของคุณ Gerd จะมีความน่าสนใจและเป็นไปได้แค่ไหน ผมจึงได้สืบค้นข้อมูลและสรุปผลได้ว่า จากการจัดอันดับของ Financial Times ในปี 2014 พบว่ามูลค่าการตลาดของ 10 บริษัทที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลกอันดับ 1 คือบริษัทแอปเปิล อันดับ 3 และ 5 คือบริษัทไมโครซอฟท์ และบริษัทกูเกิล (ซึ่งอยู่ในกลุ่ม “Big Data” สัญชาติอเมริกันทั้งหมด) โดยมีมูลค่ารวม 1.360 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 38% ของมูลค่ารวมของทั้ง 10 อันดับ

ในขณะที่ธุรกิจ “Big Oil” ติดมา 2 อันดับ คืออันดับที่ 2 (ExxonMobil) และอันดับที่ 6 คือบริษัทปิโตรไชน่า (สัญชาติจีน) โดยมีมูลค่ารวมกัน 0.697 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 20% ของมูลค่าทั้ง 10 บริษัท (แค่ 2 บริษัท คิดเป็นประมาณ 9 เท่าของจีดีพีของประเทศไทย)

หากย้อนหลังไป 10 ปีคือปี 2004 บริษัทในกลุ่ม “Big Oil” มีมูลค่าการตลาดใน 10 อันดับแรก จำนวน 3 บริษัท มูลค่ารวม $0.813 ล้านล้าน คิดเป็นร้อยละ 33 ในขณะที่กลุ่ม “Big Data” ติดอันดับมาเพียง 1 บริษัท คือ ไมโครซอฟท์ $0.234 ล้านล้าน คิดเป็น 11%ของมูลค่าทั้ง 10 อันดับ

จากข้อมูลเชิงประจักษ์ในช่วง 10 ปีคือ 2004 ถึง 2014 พบว่าคำทำนายของคุณ Gerdเป็นจริงแล้ว ไม่ต้องรอถึง 6-7 ปี นี่ยังไม่ได้นับ Facebook.com และ Amazon.com ที่เจ้าของได้กลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 11 และ 12 ของโลก และเพื่อให้เห็นความสำคัญของธุรกิจเกี่ยวกับข้อมูลผมขอสรุปประเด็นนี้ด้วยคำพูดของคุณ GerdLeonhard ในแผ่นสไลด์ของเขาว่า “ข้อมูลคือน้ำมันชนิดใหม่ (Data is the new oil.)” ดังรูป

ความเหมือนและความต่างระหว่าง“Big Oil” และ“Big Data” ต่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย

ความจริงแล้วธุรกิจน้ำมันได้เข้ามามีบทบาทต่อเศรษฐกิจและการเมืองของโลกเมื่อประมาณ 150 ปีมานี้ ด้านหนึ่งได้ทำให้โลกก้าวหน้าไปมาก ซึ่งเราทราบกันดีโดยไม่ต้องพูดกันมาก แต่อีกด้านหนึ่งได้สร้างปัญหาให้กับโลกอย่างมหาศาล ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า “สภาวะโลกร้อน” และอิทธิพลทางการเมืองทั้งระดับประเทศและระดับโลก ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น การจ่ายเงินให้พรรคการเมืองในการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาเอง และการก่อสงครามในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ “Big Oil” ได้เข้าไปขัดขวางการเยียวยาปัญหาโลกร้อนโดยการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ก็ถูกยับยั้งด้วยคนกลุ่มนี้มาตลอดเหตุผลง่ายๆ ก็เพราะพวกเขายังไม่มีโฉนดบนดวงอาทิตย์นั่นเอง

สำหรับ “Big Data” ผลกระทบในด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมมีน้อยมากครับ แต่การละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนตัวก็มีการกล่าวถึงกันอยู่ สำหรับการมีอิทธิพลต่อวงการเมืองผมยังไม่ทราบครับ แต่ที่ผมอยากจะชวนคิดก็คือ ภาคประชาชนจะใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของพวก “Big Data” ที่มีการวิจัยปรับปรุงให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ในขณะที่ราคาก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างที่เราสามารถรับรู้ได้ดีก็คือ โทรศัพท์มือถือ ที่เป็นได้ทุกอย่าง กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ ที่ยังไม่ได้ก็น่าจะเป็นไม้จิ้มฟัน

และเมื่อพูดถึงตรงนี้ก็ขอนำเสนออีกภาพซึ่งเป็นการวิจัยของ “Big Data” ซึ่งจะทำให้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ใกล้เคียงกับการทำงานและสั่งการของสมองมนุษย์ที่เรียกว่า “โครงข่ายประสาทเทียม (Artificial Neural Network)”

กลับมาที่คำถามเดิมครับว่า ภาคประชาชนจะใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้านี้ได้อย่างไร หรือถ้าให้ดูใหญ่หน่อยก็ว่า “รัฐธรรมนูญไทยควรออกแบบอย่างไรเพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

เมื่อสังคมสามารถเชื่อมต่อถึงกันหมด ไม่ว่าจะเป็น LINE, Facebook ฯลฯ ที่ผู้ส่งสารกับผู้รับสารแทบจะรู้เห็น กิน พร้อมกัน คำถามง่ายๆ เช่น แล้วจำนวนสมาชิกในสภาฯซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ควรจะลดลง (จาก 500 คนจะเหลือสัก 200 คน) ได้ไหม หรือไม่จำเป็นต้องมีเลย (ในอุดมคติ) แล้วหันมาใช้ประชาธิปไตยแบบทางตรง (Direct Democracy) รวมทั้งการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ในระยะหลังเราจะเห็นโทรทัศน์กระแสหลักได้นำข่าวสารที่สังคมออนไลน์ส่งถึงกันมาออกอากาศบ่อยๆ จนบางช่องได้ชูคำขวัญว่า “อำนาจในการสื่อสารอยู่ในมือคุณแล้ว”

จากสถิติพบว่า จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เนตทั่วโลกได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดของโลกในปี 2000 (2543) เป็นร้อยละ 26 ในอีก 10 ปีต่อมา และคาดว่าจะกระโดดไปถึง 66% ในอีก 5 ปีข้างหน้า

สิ่งที่ผมอยากเสนอก็คือ การใช้แนวคิดแบบเชื้อโรคระบาด ที่เริ่มต้นมีจำนวนเพียงนิดเดียว แต่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและส่งผลกระเทือนอย่างมหาศาลราวกับสึนามิ เขาเรียกปรากฏการณ์ในลักษณะเช่นนี้ว่า “กฎของคนหยิบมือเดียว (The law of the few)” ดังรูป

กฎของคนหยิบมือเดียวจะสำเร็จและมีพลังได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องประกอบด้วย 3 องค์ประกอบที่สำคัญ คือต้องมี (1) ผู้ประสานงาน (2) มีนักวิชาการ(Maven) ที่คอยผลิตงานวิชาการที่มีความลึกซึ้งออกมาเผยแพร่ แบ่งปันกันอย่างต่อเนื่อง และ (3) มีพนักงานขาย (Salesman) ซึ่งทำหน้าที่แปลเรื่องราวที่ค่อนข้างเข้าใจได้ยากในวงวิชาการมาเป็นเรื่องที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย

จากรูป โปรดสังเกตว่าเส้นใยที่เชื่อมโยงกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรามีอยู่แล้วในระบบของ “Big data” และมีอยู่แล้วในสังคมชีวิตจริงสิ่งที่ท้าทายภาคประชาชนคือ ทำอย่างไรจึงจะได้ดังในรูปท้ายสุดข้างบนนี้

อย่างไรก็ตาม โปรดระลึกอยู่เสมอว่า ในแต่ละวันมีข้อมูลผ่านหูผ่านตาเราจำนวนมหาศาล ส่วนมากเป็นขยะ ไม่มีประโยชน์ เราจะต้องรู้จักคัดกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ และเชื่อมโยงไปสู่ความรู้และปัญญา ดังแผ่นภาพสุดท้าย มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากหากลงมือทำ ลุยครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น