ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ต้องขอบคุณ ปตท. สักพันครั้งที่ฟ้องร้องนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง เพราะทำให้มีคนจากวงในมาต่อจิ๊กซอว์ “คนบ้านเดียวกัน” ซึ่งช่วยเปิดหูเปิดตาให้สาธารณชนได้รับรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังตัวละครทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับขุมทรัพย์พลังงานไทย และงานนี้อดีตรมว.คลัง ประกาศสงครามดับเครื่องชน ชนิดไม่หวั่นเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม
ความจริงจากปากของอดีตขุนคลังทำให้ถึงบางอ้อและตาสว่างกันเสียทีว่าอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร - รัฐบาลขิงแก่พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ - นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. อดีตรมว.กระทรวงพลังงานสมัยรัฐบาลขิงแก่ - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันท์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) - กลุ่ม ปตท. - เพิร์ลออย นั้นเกี่ยวพันกันอย่างลึกล้ำ ชนิด ที่ว่ารู้แล้วจะหนาวถึงขั้วหัวใจ
และอาจต้องถึงกับอุทานเลียนแบบ “น้องไลล่า” ซึ่งโด่งดังจากคลิป “เหนียวไก่” ว่า ....เหยดดดด พวกเดียวกัน นิ...."
ว่าด้วยเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมเป็นประเด็นแรก เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นต้นน้ำของกิจการพลังงานของประเทศ และยังเกี่ยวพันมาถึงเรื่องที่ว่าทำไมรัฐบาล คสช. ถึงเร่งร้อนเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 กันนัก และทำไมถึงไม่คิดเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทานกันเสียใหม่
ความจริงแล้ว แหล่งปิโตรเลียมของไทยสร้างเม็ดเงินรายได้และมีกำไรมหาศาลให้แก่บริษัทพลังงานที่มาลงทุน ดูได้จากผลประกอบการของปตท.สผ. และเชฟรอน เป็นตัวอย่าง
ไม่ใช่แค่นั้น ยังมีกรณีที่บริษัทพลังงานต่างชาติเข้ามาสัมปทานพื้นที่ไปมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพื่อสำรวจขุดเจาะเองและนำไปเซ็งลี้ต่อ และเป็นเหตุให้อดีตรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาลขิงแก่ ต้องวิ่งล็อบบี้ให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ เสียใหม่ ให้ยกเลิกการจำกัดพื้นที่การให้สัมปทานอย่างไม่น่าเชื่อ จนมีคำถามว่าเป็นการแก้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัทที่เกี่ยวโยงกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีคดีอาญาแผ่นดินอยู่ในเวลานี้ หรือไม่?
เรื่องราวจะซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไรปานนั้น ลองไตร่ตรองดูกันเถิด รัฐบาลขิงแก่ก่อเกิดจากคณะรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ อดีตรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาลขิงแก่ก็ได้ชื่อว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่คราวที่ไปขัดคอในเรื่องการแปรรูป ปตท. ที่เห็นพ้องกันในหลักการแต่รายละเอียดต่างกัน วันดีคืนดีกลับมาวิ่งล็อบบี้แก้กฎหมายช่วยให้บริษัทพลังงานที่อดีตนายกรัฐมนตรีมีส่วนพัวพันเป็นพวกพ้องอยู่ด้วยให้พ้นผิด
เรื่องนี้มีข้อมูลวงในตามที่นายธีระชัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala" เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2557 สรุปสาระสำคัญของเนื้อหาดังกล่าวอยู่ตรงที่การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่เกิดขึ้นในปี 2550 เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่อดีตขุนคลังยุครัฐบาลปูสมมติชื่อว่า P O
นายธีระชัย เล่าว่า เพื่อนที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงหลังรัฐประหาร ปี 2549 เล่าให้ฟังว่า ในปี 2550 มีบุคคลในแวดวงพลังงานระดับรัฐมนตรีที่มีความน่าเชื่อถือ มีความรู้ลึกเพราะเคยทำงานด้านพลังงานมานาน และเรียนจบมหาวิทยาลัยจากอังกฤษ นัดสมาชิกสนช.หลายคนเลี้ยงอาหาร พูดคุย ล็อบบี้ให้ช่วยแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยอ้างเพื่อประโยชน์ของประเทศ กลุ่มเพื่อนจึงให้การสนับสนุน
ต่อมา นายธีระชัย ได้แจ้งข้อมูลให้กลุ่มเพื่อนทราบว่ามีคนนำตารางสรุปพื้นที่สำรวจของบริษัทสมมติชื่อ P O ระหว่างปี 2550 จนถึงปี 2556 มาให้ดู แสดงให้เห็นว่าบริษัทดังกล่าวน่าจะถือพื้นที่สำรวจในปี 2549 อยู่ 11,509 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ต่อมาในปี 2550 ก่อนหน้าสัมปทานรอบที่ 20 เพิ่มเป็น 37,227 ตร.กม. หรือไม่ ซึ่งข้อมูลถูกต้องแสดงว่าบริษัทนี้ถือพื้นที่เกินกว่า 20,000 ตร.กม.ที่กฎหมายกำหนด และภายหลังสัมปทานรอบที่ 20 ก็ปรากฏว่ามีการให้สัมปทานแก่บริษัท P O เพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 61,365 ตร.กม. ดังนั้นจึงเท่ากับว่าการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียมก็เพื่อให้บริษัทนี้พ้นผิดนั่นเอง
การให้สัมปทานพื้นที่สำรวจมากๆ เสียหายตรงไหน นายธีระชัย อธิบายว่า ตั้งแต่ปี 2514 พ.ร.บ.ปิโตรเลียม กำหนดเพดานต่อรายเอาไว้ 50,000 ตร.กม.ต่อมาลดลงเหลือ 20,000 ตร.กม.เพื่อมิให้รายใดรายหนึ่งมีอำนาจต่อรองมากเกินไป และป้องกันมิให้มอบสัมปทานอย่างโอเวอร์แก่รายหนึ่งเพื่อเอาไปขายต่อทำกำไรจนพุงปลิ้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีบริษัท สมมุติ P O ที่ข้าราชการและรัฐมนตรีประเคนพื้นที่บานทะโร่ไปเกินกว่า 67,000 หรือไม่ เปิดโอกาสให้เขาเอาไปเซ็งลี้ต่อแบบง่ายๆ จนล่าสุด พื้นที่ลดลงเหลือเพียงระดับ 20,000 หรือไม่
อดีตขุนคลัง ยังตามขย่มซ้ำ ด้วยการโพสต์ภาพหนังสือกระทรวงพลังงาน ที่ พน 0304/3390 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2549 โดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สมัยนั้น เป็นผู้เสนอ ครม.ให้อนุมัติสัมปทานรอบที่ 19 แก่ 3 บริษัท โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เพิร์ลออย (ประเทศไทย) (Pearl Oil (Thailand ) Ltd.) ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่ามีความเกี่ยวโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กระทั่งนายธีระชัย ตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงกันว่า การอนุมัติสัมปทานรอบที่ 19 และ 20 เอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัทที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยชักนำเข้ามาทำธุรกิจพลังงานในไทยหรือไม่ และส่อเค้าว่าอดีตนายกฯ คนดังกล่าว สามารถเดินเกม เอื้อมมือเข้ามาจัดผลประโยชน์พลังงานในไทย ทั้งรอบที่ 19 และ 20 ได้จริงหรือไม่ จึงมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์พิเศษ แก่บริษัทที่อดีตนายกรัฐมนตรี ชักนำเข้ามาทำธุรกิจพลังงานในไทย หรือไม่
ความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทสำรวจปิโตรเลียมของประเทศตะวันออกกลางกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่ที่นายโมฮัมหมัด อัลฟายเอ็ด เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ก่อตั้งแฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี (ประเทศไทย) เพื่อรับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซ ร่วมกับ ปตท.สผ. เมื่อปี 2541 ต่อมาในปี 2547 บริษัท เพิร์ล เอ็นเนอร์ยี่ เข้าซื้อกิจการแฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเพิร์ลออย (ประเทศไทย)
จากนั้นในปี 2551 บริษัทลงทุนของรัฐบาลอาบูดาบี ชื่อ มูบาดาลา เข้ามาซื้อกิจการของบริษัท เพิร์ลเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงทุนในธุรกิจพลังงาน และพบอีกว่าบริษัท เพิร์ลออย (ประเทศไทย) จำกัด ได้ย้ายสำนักงานจากไทยพาณิชย์ปาร์ค พลาซา ไปอยู่อาคารชินวัตร 3
กลุ่มมูบาดาลาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มี “คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค” ประธานสโมสรฟุตบอลชื่อดัง “เรือใบสีฟ้า” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จากศึกพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ทำหน้าที่เป็น “ซีอีโอ” ควบกับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการ” อยู่ในขณะนี้ มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยที่เข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาประมาณหมื่นล้านบาท นั่นเป็นการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีต่อกลุ่มธุรกิจพลังงาน โดยปัจจุบันกลุ่มมูบาดาลา ถือเป็นผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมรายใหญ่อันดับที่ 3 ในประเทศไทย
ต่อมา นายธีระชัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุถึงความสัมพันธ์ของธุรกิจพลังงานว่า Pearl Oil และ Mubadala และ Aabar และ Abu Dhabi เชื่อมโยงกันหมด ดังนี้
บริษัท Pearl Oil ในวันที่ 28 มกราคม 2549 มีข่าวทาง Bloomberg ว่าบริษัท Aabar ซื้อบริษัท Pearl ไป มีการโอนหุ้นกันช่วงปลายเดือนเมษายน 2549 ดังนั้น Pearl Oil จึงตกเป็นของ Aabar มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอ ครม. วันที่ 25 ตุลาคม 2549 เพื่อแจกสัมปทานรอบที่ 19
บริษัท Aabar บริษัทนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 95.52 คือบริษัท International Petroleum Investment Co. (IPIC) ส่วนเจ้าของ IPIC อีกทอดหนึ่งนั้น คือรัฐบาล Abu Dhabi ซึ่งเป็นเจ้าของเมือง Dubai นั่นเอง ดังนั้น ทั้ง Aabar และ Pearl จึงเป็นของรัฐบาล Abu Dhabi
“บริษัท Mubadala บริษัทนี้ ผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือรัฐบาล Abu Dhabi ที่อยู่ของบริษัท Mubadala Thailand อยู่ที่ชั้น 29 - 31 อาคารชินวัตร 3 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 Aabar แถลงข่าวว่า ได้โอนหุ้นทั้งหมดใน Pearl ไปให้ Mubadala และที่อยู่ของบริษัท Pearl ก็อยู่ที่ชั้น 29 - 31 อาคารชินวัตร 3 เช่นกัน ดังนั้น Pearl Oil และ Mubadala และ อาคารชินวัตร 3 จึงเชื่อมโยงกัน และเป็นการแสดงถึงศักยภาพของปิโตรเลียมในไทย เพราะ Pearl Oil เป็นรายหนึ่งที่ได้รับสัมปทาน หมายเลข G11/48 หรือเรียกว่า "แหล่งนงเยาว์” โดยจะเริ่มดำเนินการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ภายในปี 2558 โดยแหล่งน้ำมันแห่งนี้มีศักยภาพในการผลิตน้ำมันรองรับได้ถึงวันละ 15,000 บาร์เรล
ข่าวล่าสุด บริษัท “มูบาดาลา ปิโตรเลียม” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในเครือ “มูบาดาลา กรุ๊ป” ที่เป็นหนึ่งในแขนขาด้านการลงทุนของรัฐอาบู ดาบี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ประกาศเริ่มเดินหน้าผลิตน้ำมันจากแหล่งมโนราห์ ที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทยตอนเหนือ โดยคาดว่าอาจสูบน้ำมันได้สูงสุดถึงวันละ 15,000 บาร์เรล
ก่อนหน้านี้บริษัทมูบาดาลาฯ เพิ่งได้รับไฟเขียวจากรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ให้เข้าทำสัญญาพัฒนาแหล่งน้ำมันนงเยาว์ที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทยมาแล้วเมื่อต้นปี โดยจับมือกับบริษัท พลังงานคริสเอ็นเนอร์ยี่ ที่เป็นบริษัทลูกของกลุ่มเทมาเส็กในประเทศสิงคโปร์ กลุ่มทุนซึ่งเข้ามาซื้อหุ้นชินคอร์ปมูลค่า 7.3 หมื่นล้านจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนั่นเอง และมูบาดาลาฯ ยังได้สิทธิ์สูบน้ำมันจากแหล่งจัสมินที่มีปริมาณน้ำมันอยู่มากกว่า 50 ล้านบาร์เรลอีกด้วย
ฟังจากนายธีระชัย และข้อมูลที่ค้นคว้าเพิ่มเติมแล้ว เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยที่อยู่แดนไกล เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในธุรกิจพลังงานโดยเฉพาะการทำธุรกิจด้านพลังงานในอ่าวไทย ทั้งที่อยู่ในเขตไทย และในเขตที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างสิทธิในเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา โดยมีการดึงเอาบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.เข้ามาเป็นหุ้นส่วนมาก่อนหน้านี้แล้ว
และบุคคลที่ช่วยเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับการทำธุรกิจพลังงานของพวกพ้องอดีตนายกรัฐมนตรีจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็หาใช่ใครอื่น เขาคนนั้นคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.กระทรวงพลังงานในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ และประธานบอร์ด ปตท. ในเวลานี้ นั่นเอง
ไม่ใช่แค่เรื่องสัมปทานเท่านั้น ยังมีเรื่องท่อก๊าซธรรมชาติ ที่บุคคลทั้งสองเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ เกี่ยวพันกับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ และนายปิยสวัสดิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นข้าราชการระดับสูงอยู่ในกระทรวงพลังงาน และบัดนี้นั่งเป็นประธานบอร์ด ปตท. อย่างไร โปรดติดตาม
นายธีระชัย อดีตขุนคลังและยังเคยนั่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับตลาดทุนอยู่เกือบ 8 ปี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala" เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2557 ในเรื่องดังกล่าวด้วย โดยยกตัวอย่างเป็นกรณีสมมุติ ดังนี้
“....ผมเคยเขียนไว้เกี่ยวกับคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ที่อาจจะเกิดขึ้นในการแปรรูป โดยยกตัวอย่างเป็นกรณีสมมุติ ... ผมจะแปรรูปโดยปล่อยให้สิทธิผูกขาด หรือสาธารณสมบัติ ติดไปกับรัฐวิสาหกิจให้มากที่สุดโดยอาจจะกำหนดเงื่อนไขให้โอนสาธารณสมบัติคืนรัฐเมื่อครบ 1 ปี เงื่อนไขนี้จะทำให้ราคาเริ่มต้นไม่สูงนัก แล้วผมก็จะใช้ชื่อนอมินี เข้าไปจองหุ้นในฐานะผู้มีอุปการคุณ และขอโควตาพิเศษจากสถาบันการเงิน
วิธีนี้ ช่วงแรก หุ้นที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้น ราคาก็จะยังไม่วิ่งมาก ไม่มีอะไรน่าสงสัย หลังจากนั้น ภายหลังครบ 1 ปี ผมก็จะยกเลิกเงื่อนไข ไม่โอนสาธารณสมบัติกันแล้ว คราวนี้ ราคาหุ้นก็จะวิ่งสูงขึ้นอย่างมาก เพราะตัวเลขกำไรจะสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้เดิม ยิ่งผมสามารถยื้อการโอนคืนสาธารณสมบัติได้นานเท่าใด หุ้นก็จะยิ่งวิ่งสูงขึ้นนานเท่านั้น แต่ละปี ๆ ที่ประกาศกำไรสูงขึ้นๆ เนื่องจากบริษัทสามารถใช้สาธารณสมบัติแบบฟรีๆ ราคาหุ้นก็จะยิ่งสูงขึ้นๆ จนเวลาผ่านไป ผมก็จะขายหุ้น ได้กําไรมหาศาล”
ถึงนายธีระชัย จะบอกกล่าวแบบเรื่องเล่าสมมติ แต่ความเป็นจริงที่อดีตนายกรัฐมนตรีและนายปิยสวัสดิ์ รู้ดีในเรื่องธุรกิจท่อก๊าซฯ ก็คือ ก่อนการแปรรูปปตท. ครม.มีมติให้แยกธุรกิจท่อก๊าซฯ ออกไปโดยกำหนดเงื่อนไขทำให้เสร็จภายในหนึ่งปีหลังจากปตท.เข้าตลาด แต่เป็นเพราะว่าถ้าหากแยกธุรกิจท่อก๊าซฯออกไปจะทำให้หุ้นปตท.ไม่จูงใจนักลงทุน เพราะธุรกิจก๊าซฯ ที่ปตท.ผูกขาดครบวงจรเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้ปตท.มากที่สุดและทำให้ราคาหุ้นปตท.พุ่งขึ้นไม่หยุด ดังนั้นจึงมีการยื้อและสุดท้ายไม่มีการแยกธุรกิจออกมาจากปตท.แต่อย่างใด
ต่อมาเมื่อนายปิยสวัสดิ์ ถูกส่งมาเป็นประธานบอร์ด ปตท.ในยุครัฐบาลคสช. มีการเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน เพื่อแยกธุรกิจท่อก๊าซฯ จากปตท.และจัดตั้งบริษัทใหม่โดยกำหนดให้บมจ.ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% และมอบโอนท่อก๊าซฯทั้งหมดไปยังบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ แน่นอน...ย่อมรวมถึงท่อก๊าซฯ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ปตท.ยังคืนให้กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วนตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดด้วย
หากประธาน กพช. ไม่ใช่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมีการเปิดไฟเขียวอนุมัติตามที่บอร์ดปตท.เสนอขึ้นไปหรือไม่ และหากประธานบอร์ด ปตท. ไม่ใช่นายปิยสวัสดิ์ จะผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จหรือไม่ และผลจากการแยกไปจัดตั้งบริษัทท่อก๊าซฯใหม่ที่บมจ.ปตท.ถือหุ้นร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อหุ้นของ บมจ.ปตท. ที่ร่ำลือกันไม่จบสิ้นว่า มีนอมินีอดีตนายกรัฐมนตรีถือหุ้นอยู่ด้วย
กลุ่ม ปตท.เป็นศูนย์กลางให้ทุกขั้วอำนาจมาบรรจบพบกันอย่างสุขเกษมเปรมปรีดิ์
ไม่ใช่แค่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร - ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น แม้แต่ “หลวงลุงกำนัน” พระสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. ผู้นำมวลมหาประชาชน ก็ต้องปลื้มจนน้ำตาไหลแน่ๆ เพราะนายปิยสวัสดิ์ผู้มีภรรยาคือนางอานิก อัมระนันทนน์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์นั้นเป็นหนึ่งในแกนนำกปปส.ที่พระสุเทพ ภาคภูมิใจนำเสนอต่อคสช.ให้แต่งตั้งขึ้นเป็นประธานบอร์ด ปตท. ท่ามกลางเสียงคัดค้านของมวลมหาประชาชนที่ศรัทธาในตัวของหลวงลุงกำนันอย่างล้นพ้น
ด้วยเหตุดังกล่าวจงอย่าแปลกใจที่วันนี้ หลวงลุงกำนันจะเดินสาย “ปราศรัย” สนับสนุนรัฐบาล คสช.อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสะกดมวลชนไม่ให้เคลื่อนไหวต่อต้าน
ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ไม่ใช่แค่ออกมาปกป้องการอนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียมของ “กพช.บิ๊กตู่” เท่านั้น
แต่พล.อ.ประวิตร คนนี้ เคยมีบทบาทในการเจรจาลับเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งขณะนั้นนั่งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี มาแล้ว ดังที่แถลงการณ์ของกัมพูชาที่ระบุว่า “..... อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ใช้นโยบายสกปรก โดยสั่งการให้อดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเจรจาลับๆ กับสมเด็จฯ ฮุน เซน เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลไทยชุดที่แล้วได้เจรจากันในปัญหานี้อย่างเปิดเผย”
วันนี้ จงอย่าแปลกใจว่าทำไมคำว่า “ปรองดอง” จึงเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ของ พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งทำไมหลวงลุงกำนันถึงปกป้องรัฐบาลเต็มสูบโดยปล่อยภาระในการปฏิรูปทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะการปฏิรูปพลังงานให้เป็นของรัฐบาล
วันนี้ จงอย่าแปลกใจที่ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงเร่งเคลียร์กับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อเปิดสัมปทานพลังงาน และจงอย่าแปลกใจที่รัฐบาลเตรียมขึ้นราคาพลังงานทั้งระบบ และใช้อำนาจจัดรายการโทรทัศน์โดยเอาข้าราชการและนักวิชาการพลังงานโฆษณาชวนเชื่อประชาชนซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้ไม่มีการขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณ
ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้คดีความต่างๆ หยุดชะงักและไม่มีความคืบหน้าให้เห็น คดีทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวยังหยุดนิ่งอยู่กับที่
ขณะที่คดีถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” รวมถึง คดีถอดถอน“ยิ่งลักษณ์” ก็ชัดเจนแล้วว่ากำลังมีความพยายามที่จะยื้อยุดฉุดกระชาก และมีความเอื้ออาทรจาก สนช.จนมีมติให้เลื่อนการพิจารณาออกไป ส่วนคดีทุจริตในเหตุการณ์เดียวกันคือโครงการรับจำนำข้าว กระบวนการต่างๆ ก็หยุดนิ่งอยู่ที่อัยการสูงสุด และไม่มีท่าทีว่าจะมีความคืบหน้าให้เห็น
ซ้ำร้ายมีข่าวเล็ดลอดออกมาในการเดินทางเยือนจีนของ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ว่า มีการยื่นข้อเสนอให้ระบอบทักษิณ-ตระกูลชินวัตรเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 สมัย เพราะถ้าไม่เว้นวรรคประเทศก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะกลับมาและการชุมนุมก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ถูกนักโทษชายหนีคดีตอบปฏิเสธ เพราะกลัวจะหายไปจากสารบบการเมืองแบบถาวร ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่า จะสามารถชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง
ความจริงอันเจ็บปวดก็คือ ทุกฝ่ายจับมือกันลงตัวโดยเล่นละครตบตาประชาชนทุกคนทุกสี ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายจับมือกันหาทางออกมานานแล้ว และแต่ละคนก็เล่นตามบทไป
ฟังเรื่องราวซับซ้อนซ่อนเงื่อนแล้วอาจต้องอุทานซ้ำสองว่า ....เหยดดดด พวกเดียวกัน นิ...."