xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” แฉแหลก “ปิยสวัสดิ์” ร่วมมือแม้วเอื้อ “เพิร์ลออย” ฮุบพลังงานไทย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธีระชัย” แฉแหลก “ปิยสวัสดิ์” สมัยเป็น รมว.พลังงานในรัฐบาลขิงแก่ เดินหน้าล็อบบี้ สนช.ให้แก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อยกเลิกเพดานพื้นที่สำรวจ ตั้งข้อสังเกตเพื่อช่วยบริษัท “เพิร์ลออย” สายสัมพันธ์ใกล้ชิด “ทักษิณ” ให้พ้นผิดหรือไม่ เนื่องจากถือพื้นที่เกิน 20,000 ตารางกิโลเมตร เกินจากกฎหมายกำหนดไว้ ซ้ำยังเป็นผู้เสนออนุมัติสัมปทานรอบที่ 19-20 เองกับมือ พร้อมกับประเคนพื้นที่ให้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งที่รู้ว่าเกี่ยวโยงกับนักโทษหนีคดี เชื่อสัมปทานรอบ 21 อดีตนายกฯ ก็ยังคงยื่นมือข้ามประเทศเข้ามาจัดการผลประโยชน์ โดยมีผู้เกี่ยวข้องคนเดิมวนเวียนอยู่ในอำนาจ

วันนี้ (10 พ.ย.) นายธีระชัย ภูวนาถนรนุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Thirachai Phuvanatnaranubala" เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน ดังนี้

“มีคนขอให้ผมขยายความว่า ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ที่เกิดขึ้นในปี 2550 เป็นการดำเนินการเพื่อช่วยให้บริษัทหนึ่ง (สมมติขื่อ P O) พ้นผิด ผลจะเป็นอย่างไร

ผลก็จะเป็นความอาญานะซิครับ

ทั้งรัฐมนตรีพลังงาน และข้าราชการกระทรวงพลังงานที่ชงเรื่องเสนอ จะมีความผิดอาญา

มีเพื่อนผมที่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วงภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารปี 2549 เล่าให้ฟังว่า

ในปี 2550 มีบุคคลกลุ่มหนึ่งในแวดวงพลังงาน ได้ขอนัดสมาชิก สนช.หลายคนเพื่อเลี้ยงอาหาร พูดคุย ล็อบบี้ให้ช่วยสนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมดังกล่าว

พวกเขาชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่อพยายามแสดงความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายนี้ อ้างว่าเพื่อประโยขน์ของประเทศ

กลุ่มเพื่อนของผมเขาเห็นว่าคนที่มาล็อบบี้ดังกล่าวมีคนระดับรัฐมนตรีที่น่าเชื่อถือ และคงจะมีความรู้ลึกจริงๆ เพราะบุคคลนี้เคยทำงานราชการด้านพลังงานมานาน และเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษทีเดียว

กลุ่มเพื่อนของผมจึงให้การสนับสนุนแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยอาศัยเชื่อมั่นในตัวบุคคลเป็นสำคัญ เพราะเขาไม่ได้เจาะลึกเบื้องหลังการเสนอกฎหมายดังกล่าว

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้แจ้งข้อมูลให้เขาทราบว่ามีคนนำตาราง ที่สรุปพื้นที่สำรวจของบริษัทหนึ่ง (สมมติชื่อ P O) ระหว่างปี 2550 จนถึงปี 2556 มาให้ผมดู

ข้อมูลดังกล่าวแสดงว่าบริษัทดังกล่าวน่าจะถือพื้นที่ในปี 2549 อยู่ 11,509 ตารางกิโลเมตร หรือไม่

ต่อมาในปี 2550 ก่อนหน้าสัปทานรอบที่ 20 เพิ่มเป็น 37,227 ตารางกิโลเมตร หรือไม่

ถ้าข้อมูลถูกต้อง ก็จะแสดงว่าบริษัทนี้ ถือพื้นที่เกินกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นเพดานที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ก่อนหน้าที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย

และพื้นที่ดังกล่าว คำนวณตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท (สมมติชื่อ P O) ในแปลงสำรวจแต่ละแปลงด้วย มิใช่เอาพื้นที่ทั้งหมดของแต่ละแปลง ที่รวมของผู้ถือหุ้นอื่นๆ

ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง ก็เท่ากับว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ก็เพื่อให้บริษัทนี้ (สมมติชื่อ P O) พ้นผิดนั่นเอง หรือไม่

ข้อมูลในปี 2550 ปีเดียวกันนี้ ภายหลังสัมปทานรอบ 20 ปรากฏว่า มีการให้สัมปทานแก่บริษัท (สมมุติชื่อ P O) เพิ่มขึ้นแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

พื้นที่สำรวจบานตะไท ขึ้นไปเป็น 61,365 ตารางกิโลเมตร หรือไม่

(ข้อมูลที่ผมจะเรียกข้าราชการกระทรวงพลังงานมาเป็นพยาน ก็คือ จะขอให้ยืนยันว่าคำนวณจากแปลงสำรวจ B5/27, B11/38, G2/50, G1/48, G2/48, G3/48, G6/48, G10/48, G11/48, L21/50 หรือไม่)

และปี 2551 ยังเบ่งขึ้นไปอีก เป็น 67,663 ตารางกิโลเมตร หรือไม่ (ส่วนที่เพิ่มจาก L52/50 และ L53/50 หรือไม่)

เมื่อได้ฟังข้อมูลนี้ เพื่อนผมตกใจมาก คาดไม่ถึงว่าเขาตกเป็นเครื่องมือช่วยผ่านกฎหมายนี้

เรื่องนี้หากเป็นจริง ก็จะเข้าขั้นปล้นชาติกลางวันแสกๆ เลวร้ายกว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

โปรดคอยติดตามตอนต่อไปนะครับ

ผมขอเพิ่มเติม เนื่องจากมีคนตั้งประเด็นว่า การที่ผู้สำรวจรายหนึ่ง ถือพื้นที่มากๆ เสียหายตรงไหน

ตั้งแต่ปี 2514 พ.ร.บ.ปิโตรเลียมกำหนดเพดานต่อรายเอาไว้ 50,000 ตาราง กม. ต่อมาลดลงเหลือ 20,000 ก็เพื่อมิให้รายใดรายหนึ่งมีอำนาจต่อรองมากเกินไป

และที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน ก็เพื่อป้องกันมิให้มีการมอบสัมปทานอย่างโอเวอร์ ให้แก่รายหนึ่ง เพื่อเอาไปขายต่อ กำไรจนพุงปลิ้น

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีบริษัท (สมมติชื่อ P O) ที่ข้าราชการ และรัฐมนตรี ประเคนพื้นที่บานทะโร่ ไปเกินกว่า 67,000 หรือไม่

เปิดโอกาสให้เขาเอาไปเซ็งลี้ต่อแบบง่ายๆ จนล่าสุด พื้นที่ลดลงเหลือเพียงระดับ 20,000 หรือไม่

ถ้าข้อมูลนี้เป็นจริง เป็นการตอกย้ำว่า การมอบสัมปทานซึ่งทำกันแบบมืดๆ เปิดช่องให้เอื้ออำนวยประโยชน์แก่บางคนได้หรือไม่

ผิดกับระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ที่ต้องประมูลแบบสว่างๆ จะเอื้อประโยชน์ไม่ได้

นอกจากนี้ ถ้าใครเชื่อสนิทใจว่าในช่วงเวลารัฐบาลชั่วคราวภายหลังปฏิวัติ ซึ่่ง ครม. เป็นอดีตข้าราชการ ย่อมจะไม่มีทุจริตนั้น

ขอให้ตื่นได้แล้ว

และที่น่าแปลกใจอย่างไม่น่าเชื่อ ก็คืออดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง ถึงแม้ถูกโค่นลง ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศก็ยังสามารถยื่นมือยาวเข้ามาจัดการผลประโยชน์ได้

ภายหลังปฏิวัติปี 2549 กรณีบริษัท (สมมติชื่อ P O) แสดงถึงอิทธิพลนี้

ภายหลังปฏิวัติปี 2557 ผมก็ทราบว่ามีการยื่นมือยาวข้ามประเทศมาด้วยเช่นกัน”

ต่อมา นายธีระชัยได้โพสต์ภาพข้อความใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โดยมีเอกสาร

“1. พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ซึ่งกำหนดพื้นที่สูงสุดต่อราย 50,000 ตาราง กม.
2. พ.ร.บ.หลังแก้ไขปี 2532 พื้นที่สูงสุดลดลงเหลือ 20,000 ตาราง กม.
3. พ.ร.บ.ที่แก้ไขในวันที่ 7 ตุลาคม 2550 ยกเลิกเพดานไปเลย!!

ท่านผู้อ่านสนใจหรือไม่ครับ ว่าใครเป็นคนเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว”



จากนั้น นายธีระชัยโพสต์ภาพนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด ปตท. พร้อมระบุว่า “ผมจะไม่บอกนะครับว่าใครเป็นรัฐมนตรีพลังงานในช่วงเวลาที่มีการแก้ไขกฎหมาย ยกเลิกเพดาน 20,000 ตาราง กม. ในวันที่ 7 ตุลาคม 2550

ท่านผู้อ่านต้องค้นคว้าเอาเองจากภาพนี้นะครับ ซึ่งผมได้มาจาก Wikipedia แต่ไม่ทราบว่าวันที่ที่แสดงอยู่นั้น ถูกต้องหรือไม่”

ล่าสุด นายธีระชัย ได้โพสต์ภาพหนังสือกระทรวงพลังงาน ที่ พน 0304/3390 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2549 โดย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสมัยนั้น เป็นผู้เสนอ ครม.ให้อนุมัติสัมปทานรอบที่ 19 แก่ 3 บริษัท โดยหนึ่งในนั้นคือ บริษัท เพิร์ลออย (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่ามีความเกี่ยวโยงกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร





นายธีระชัยยังโพสต์อีกว่า “เนื่องจากข่าว Bloomberg มีการประกาศไปทั่วโลก นับเป็นเวลาประมาณ 9 เดือน ก่อนวันที่ 25 ตุลาคม 2549 ที่มีการเสนออนุมัติสัมปทานรอบที่ 19

ผู้ที่เสนออนุมัติสัมปทานรอบที่ 19 จึงย่อมต้องทราบดีว่าบางบริษัทที่เสนออนุมัตินั้น เป็นของรัฐบาลที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง ชักนำเข้ามาทำธุรกิจพลังงานในไทย หรือไม่

และที่สำคัญก็คือ ผู้เสนออนุมัติสัมปทาน ทั้งรอบที่ 19 และรอบที่ 20 ด้วยนั้น เป็นบุคคลคนเดียวกัน หรือไม่

จึงส่อเค้าว่า อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง สามารถเดินเกม เอื้อมมือเข้ามาจัดผลประโยชน์พลังงานในไทย ทั้งรอบที่ 19 และ 20 ได้จริงหรือไม่

จึงมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์พิเศษ แก่บริษัทที่อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง ชักนำเข้ามาทำธุรกิจพลังงานในไทย หรือไม่

*** และที่สำคัญมากกว่านั้น ก็คือ ขณะนี้มีการประกาศจะเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แล้ว

โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาทั้งรอบที่ 19 และ 20 ขณะนี้ก็วนเวียนอยู่ในแวดวงอำนาจ แม้ภายหลังการปฏิวัติรัฐประหารปี 2557

*** จึงส่อเค้าว่า อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง กำลังเดินเกมที่จะจัดผลประโยชน์พลังงาน เป็นรอบที่ 3 ซ้ำอีกหรือไม่” นายธีระชัยระบุ

โดยก่อนหน้านี้มีข่าวความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทสำรวจปิโตรเลียมของประเทศตะวันออกกลางกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่ที่ นายโมฮัมหมัด อัลฟายเอ็ด เจ้าของห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ก่อตั้งแฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี (ประเทศไทย) เพื่อรับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน ก๊าซ ร่วมกับ ปตท.สผ.เมื่อปี 2541 ต่อมาในปี 2547 บริษัท เพิร์ล เอ็นเนอร์ยี่ ซื้อกิจการแฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี และเปลี่ยนชื่อเป็นเพิร์ลออย (ประเทศไทย) จากนั้นในปี 2551 บริษัทลงทุนของรัฐบาลอาบูดาบี ชื่อ มูบาดาลา เข้ามาซื้อกิจการของบริษัท เพิร์ลเอ็นเนอร์ยี่ ซึ่งในปีเดียวกันนั้น พล.อ.เตีย บัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้ให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะลงทุนในธุรกิจพลังงาน และพบอีกว่าบริษัท เพิร์ลออย (ประเทศไทย) ได้ย้ายสำนักงานจากไทยพาณิชย์ปาร์ค พลาซา ไปอยู่อาคารชินวัตร 3

บริษัท มูบาดาลา มีผู้บริหารระดับสูงชื่อ ชีค โมฮัมหมัด บินซาเยด อัล นาร์ยาน และเป็นพี่ชายของ ชีค มานซูร์ บิน ซาเยด อัลนาห์ยาน ที่เข้าซื้อกิจการสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี จาก พ.ต.ท.ทักษิณ ในราคาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ซื้อกิจการมาในราคาเพียง 5 พันล้านบาทเท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีต่อกลุ่มธุรกิจพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น