xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (6) : เรื่อง มีอะไรบ้างที่ควรทำ What should be done.

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

ปัญหาที่หก : มีผู้อ่านหลายท่านตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมผู้เขียนไม่แสดงความคิดหรือมีข้อเสนอแนะเสนอ คสช.เช่นเดียวกับผู้เขียนท่านอื่นๆ บ้าง

1. กล่าวนำ : ข้อความฝากถึง ท่านผู้กล้าทั้งหลายที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง

ขอเรียนท่านผู้อ่านทุกท่านว่า มีผู้เขียน มีนักวิชาการ และมีผู้รู้มากมายที่เขียนแนะนำหรือให้ข้อเสนอแนะแก่ คสช.เป็นจำนวนมากทุกวันอยู่แล้ว ถ้าหยิบหนังสือพิมพ์หรือสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับใดขึ้นมาอ่าน หรือแม้แต่สื่อออนไลน์ ก็จะพบข้อความแสดงความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำแก่ คสช.ไม่มากก็น้อย ซึ่งความจริงแล้ว บุคลากรใน คสช.ก็มีความสามารถมากอยู่แล้ว และยังมีทีมที่ปรึกษาที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งและมีประสบการณ์สูง จึงอาจมีความคิดเห็นที่หลากหลายมากมายอยู่แล้ว

แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียน้ำใจของท่านผู้อ่าน ผู้เขียนจึงขอนำเสนอความคิดเห็นในเรื่องมีอะไรบ้างที่ควรทำ โดยหวังว่าคงจะไม่ได้ซ้ำกับความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆของหลายท่านที่ได้นำเสนอไปแล้ว เพื่อให้ทุกท่านที่อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองได้นำไปพิจารณาและดำเนินการตามความเหมาะสมต่อไป

2. ความคิดเห็นของผู้เขียน : มีอะไรบ้างที่ควรทำ What should be done.

ก. ประการแรก ควรย้ายหน่วยราชการที่สำคัญและที่มีข้าราชการมาทำงานจำนวนมากออกจากบริเวณถนนราชดำเนินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดปัญหาการจราจรที่แออัดในบริเวณถนนราชดำเนินและรวมทั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการประท้วงทางการเมืองหรือการประท้วงอื่นๆ ในอนาคตอีกด้วย หน่วยงานราชการที่ควรย้ายออกไปจากบริเวณนี้ในอันดับต้นๆ มีดังนี้

(1) ควรย้ายทำเนียบรัฐบาล และสำนักนายกรัฐมนตรี ออกไปจากตึกไทยคู่ฟ้าและบริเวณโดยรอบ และควรอนุรักษ์ทำเนียบไทยคู่ฟ้าเพื่อใช้เฉพาะในงานพิธีที่สำคัญเท่านั้น เนื่องจากตึกไทยคู่ฟ้าเป็นอาคารที่ถูกสร้างมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นอาคารที่มีความสวยงาม และตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองหลวง จึงไม่ควรนำมาใช้งานอย่างหักโหมเป็นสถานที่ทำงานของรัฐบาลอีกต่อไป แต่ควรอนุรักษ์ไว้ให้คนไทยรุ่นหลังได้เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าจะให้คุณค่าทางจิตใจแก่คนไทยและประเทศชาติของเราในระยะยาวมากกว่า กรุณาดูความสวยงามได้จากรูปภาพที่ 1-3

ตึกไทยคู่ฟ้า เดิมชื่อ “บ้านนรสิงห์” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ(ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นอาคารสูงสองชั้น สถาปัตยกรรมเป็นแบบฟื้นฟูกอทิกแบบเวเนเชียน (Neo Venetain Gothic) ที่มีศิลปะของไบเซนไทน์ผสม จึงทำให้อาคารนี้มีความสง่างามสมควรอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติของชาติต่อไป (สรุปจาก Wikipedia)

(2) ควรย้ายกองบัญชาการกองทัพบก ไปยังสนามม้านางเลิ้ง (ในปัจจุบัน) และควรพัฒนาที่ตั้ง บก.ทบ.เดิมให้เป็นสถานศึกษาระดับสูงกว่าปริญญาตรีของกองทัพบก และเหล่าทัพอื่นๆ ส่วนสนามม้านางเลิ้งควรย้ายออกไปอยู่ชานเมืองหรืออยู่ในจังหวัดที่ติดกับกรุงเทพฯ (เช่น นนทบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี หรือปทุมธานี เป็นต้น) จะเหมาะสมกว่าที่ตั้งในปัจจุบัน

อาคารกองบัญชาการกองทัพบกในภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้สร้างขึ้นตามแบบในรูปภาพที่ 5 และ 6 เพื่อให้เป็นโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นมัธยม และได้ทรงเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2452 ต่อมาได้รับการปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์

ในบริเวณที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพบก ตามรูปภาพที่ 4 และรูปภาพที่ 7 อาคารด้านหน้าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของกองทัพบก ส่วนอาคารด้านหลังจะเป็นที่ทำงานของข้าราชการ กองทัพบก อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาดูจะพบว่า ที่ตั้งของ บก.ทบ.ไม่เพียงจะมีอาคารขององค์การสหประชาชาติสูงข่มอยู่ แต่ยังมีพื้นที่คับแคบ แม้แต่ที่จอดรถของข้าราชการก็ยังมีไม่เพียงพอ นอกจากนี้ถนนโดยรอบยังมีการจราจรแออัดเป็นประจำทุกวัน และที่สำคัญ ถนนราชดำเนินที่อยู่ด้านหน้าของ บก.ทบ. เป็นเส้นทางยอดนินมของการชุมนุมทางการเมืองและเดินขบวนหรือประท้วงในรูปแบบต่างๆ อยู่เป็นประจำ บก.ทบ.จึงควรย้ายออกไปใช้พื้นที่ที่เป็นสนามม้านางเลิ้งในปัจจุบันจะเหมาะสมกว่า (ดูแผนที่ในรูปภาพที่ 7) เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง มีถนนโดยรอบบริเวณที่ตั้ง และเข้าออกได้โดยสะดวก แต่ที่สำคัญควรนำอาคารอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ บก.ทบ.มาพัฒนาเป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีสำหรับข้าราชการและเอกชน เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ขององค์รัชกาลที่ 5

รูปที่ 7 แผนที่ตั้งสนามม้านางเลิ้ง ทำเนียบรัฐบาล และกองบัญชาการกองทัพบก

ในเรื่องการย้ายสนามม้าออกไปนอกเขตเมือง ผู้เขียนขอถามท่านทั้งหลายว่า สนามม้าเป็นสถานที่เล่นการพนันที่มีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่และใช้เนื้อที่มากกว่าการพนันประเภทอื่นๆ แล้วมาตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงให้เยาวชนไทยได้เห็นจนชินตาทุกวัน ท่านไม่รู้สึกแปลกบ้างเลยหรือ เท่าที่เห็นมามีหลายประเทศได้เอาสถานที่เล่นการพนันไปไว้ในพื้นที่ที่จัดไว้เป็นการเฉพาะและอยู่ห่างไกลจากชุมชน เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะให้สถานที่เล่นการพนันไปอยู่ที่ Las Vegas และที่ Atlantic City ส่วนเมียนมาร์ก็เอาสถานที่เล่นการพนันไปไว้ที่เกาะสองใกล้ชายแดนไทยเพื่อล่อนักพนันคนไทย และกัมพูชาก็เอาบ่อนต่างๆ มาไว้ใกล้ชายแดนไทยติดกับจังหวัดตราดเช่นเดียวกับเมียนมาร์ มีไทยประเทศเดียวจริงๆ ที่เอา “สถานที่เล่นการพนัน” มาไว้กลางเมืองหลวงของประเทศ

ผู้เขียนไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ทำไมคนไทยจึงยอมให้สถานที่เล่นการพนันที่ใหญ่ที่สุดของประเทศตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศได้โดยไม่รู้สึกอะไรเลย ภาพที่เห็นทุกวันจะค่อยๆ ซึมลึกเข้าไปในจิตใจของเยาวชนจนเห็นสนามม้าและการพนันเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถเล่นได้ ซึ่งถ้าใครใจอ่อนไม่เข้มแข็งก็อาจติดการพนันได้ และในที่สุดก็อาจมีหนี้สินจากการเล่นการพนันเพราะไม่มีใครโชคดีมีชัยกับการพนันได้ทุกวัน และหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการพนันจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมาเพราะอาจต้องไปขโมย หรือไปปล้น หรือไปก่ออาชญากรรมต่างๆ เพื่อหาเงินมาใช้หนี้นั่นเอง

ในอดีตอาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่ในขณะนี้เมื่อท่านมีอำนาจที่ค่อนข้างเด็ดขาด เราจึงขอร้องให้ท่านพิจารณาดำเนินการย้าย บก.ทบ. ไปยังสนามม้านางเลิ้ง ในขณะเดียวกันก็ควรย้าย “สนามม้านางเลิ้ง” ออกไปจากใจกลางเมืองหลวงจะเหมาะสมที่สุด (ดูรูปภาพที่ 8 และ 9 ประกอบ)

(3) ควรย้ายสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกจากวังปารุสกวัน และควรอนุรักษ์วังปารุสกวันและบริเวณโดยรอบเพื่อพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย

อาคารต่างๆ ในวังปารุสกวันหรือเรียกสั้นว่า วังปารุสก์ (เป็นชื่อที่นิยมเรียกกันทั่วไป) มีความสวยงามและมีเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จึงควรอนุรักษ์และจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ที่ควรได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญในด้านโบราณสถานและประวัติศาสตร์โดยเฉพาะจะเหมาะสมกว่าที่จะมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดูแล เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและด้านพิพิธภัณฑ์จำนวนมาก

ในเว็บไซต์ของกรมศิลปากร (www.finearts.go.th) ระบุว่ากรมศิลปากร มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ บำรุงรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม สร้างสรรค์ เผยแพร่ จัดการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ ดังนั้น จึงควรย้าย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ พิพิธภัณฑ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล ออกไปจากวังปารุสก์ และมอบให้สำนักพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร รับผิดชอบดูแล และพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดของวังปารุสก์ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาติ เพราะวังปารุสก์เป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น

วังปารุสกวัน หรือเรียกชื่อย่อว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่ในเขตดุสิต กรุงเทพฯ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของจอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหาร จากประเทศรัสเซีย เมื่อ พ.ศ. 2449 (สรุปจาก Wikipedia - วีระศักดิ์ นาทะสิริ)

ในหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์1 ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“..........เวลานั้นพ่อได้ดำรงยศนายพันเอก ตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก(คือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ในปัจจุบัน) และนอกจากการทำราชการประจำวันแล้ว ในตอนกลางคืนท่านยังได้ทรงทำงานอย่างหนักอีกด้วย คือทรงแต่งตำรับตำราทางการทหารมิได้ขาด .......ในสมัยนั้น พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช พระโอรสองค์ที่ 17 ของทูลหม่อมปู่ (รัชกาลที่ 5) ทรงเป็นนายพลเอก ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ และเมื่อพ่อกลับจากเรียนเมืองนอก ได้ตั้งต้นรับราชการโดยเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ นั้น ตั้งแต่เมษายน 2449 แต่พอถึงเดือนธันวาคม ในปีเดียวกันนั้น จึงได้เป็น ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก ดังได้กล่าวมาแล้ว........” (จาก เกิดวังปารุสก์, 2493, หน้าที่ 35)

จากข้อมูลดังที่กล่าวมาจึงอาจสรุปได้ว่า วังปารุสกวัน ก็คือ บ้านของอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ นั่นเอง ดังนั้น เราคนไทยทุกคนจึงควรปฏิบัติตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ อนุรักษ์วังปารุสกวัน โดยรักษาบรรยากาศของวังที่ประทับ (หรือบ้าน) ของอดีตพระอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ไว้ให้ได้หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อนุรักษ์ และพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ทางประวัติศาสตร์ของชาตินั่นเอง และไม่ควรให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเข้าไปใช้อาคารและพื้นที่โดยรอบเป็นที่ทำงานหรือสำนักงานอย่างเด็ดขาด ดูรูปภาพที่ 13 และ14 (แสดงสถาปัตยกรรมที่สวยงามของอาคาร)

สรุปความคิดเห็นของผู้เขียน

ถ้าคนไทยไม่อนุรักษ์ ไม่รักษาโบราณสถาน สิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของชาติ ให้มั่นคงสืบไปแล้ว คนไทยรุ่นหลังก็จะไม่ได้เรียนรู้ และจะไม่เข้าใจในความเป็นมาของชาติไทยและรวมทั้งบุคคลสำคัญของชาติอีกด้วย แล้วเราจะปลูกฝังให้เยาวชนคนไทยเข้าใจและมีอุดมการณ์รักชาติได้อย่างไร เมื่อต้นไม้ไม่มีรากยึดดินไว้ ก็อาจล้มได้ง่าย เช่นเดียวกันกับชาติไทยเปรียบได้กับต้นไม้ใหญ่ รากที่ยึดดินไว้เปรียบเสมือนคน ส่วนแผ่นดินที่ยึดต้นไม้และรากไว้ก็คือ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทย ที่จะหล่อหลอมเป็น อุดมการณ์ความรักชาติ2 นั่นเอง

การจัดแสดงดนตรีและร้องเพลงอาจช่วยลดความรู้สึกที่แตกต่างกันได้บ้าง แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปหรือกลับมาถึงบ้านก็อาจลืมได้ ในระยะยาวเราต้องสร้างหรือปลูกฝังให้คนไทยโดยเฉพาะเยาวชนได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยเพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน คือ ความรักชาติ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียสละ การช่วยเหลือกัน และจะเกิดความสามัคคีของคนในชาติในที่สุด

1สำหรับหนังสือเรื่อง เกิดวังปารุสก์ เป็นหนังสือที่คุณปู่ของผู้เขียนคือ พันตำรวจตรีหลวงนาทสิริวัฒ (สนั่น นาทะสิริ) ได้ซื้อหาไว้อ่าน (คาดว่าน่าจะเป็นฉบับที่พิมพ์เป็นครั้งแรก) และได้มอบหนังสือนี้ให้ผู้เขียนไว้อ่านตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนอยู่

2ขอตอบคำถามท่านอนุพงษ์ ในเรื่อง อุดมการณ์ ผู้เขียนได้เคยเขียนเรื่อง อุดมการณ์ทหาร ลงในวารสารเสนาศึกษาไว้นานแล้ว แต่ท่านอาจไม่ได้อ่าน ในโอกาสนี้จึงขอตอบคำถามของท่านอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าท่านจะมีคำถามอีกในครั้งต่อไป

ขอเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และการทหาร โดยส่งข้อความ หรือสอบถามมาที่ udomdee@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น