xs
xsm
sm
md
lg

"ธีระชัย"FB 3 รอบ : อัดปตท. ปัดโหนกระแส แต่ประกาศสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรนุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Thirachai Phuvanatnaranubala เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 โดยใช้หัวข้อว่า "ประชาชนลงทุนใน ปตท เท่าไหร่" โดยมีรายละเอียดดังนี้

พลเอกเปรม เป็นคนเริ่มต้นยุคโชติช่วงชัชวาล จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้น

แต่มีผู้วิจารณ์ว่าความโชติช่วงชัชวาลนี้ หดลงเหลือริบหรี่ ภายหลังการแปรรูป

มีคนแสดงข้อมูลในเพจนี้ ว่า ปตท ลงทุนระบบท่อ โดยใช้เงินของตัวเองหลายหมื่นล้าน ส่วนกระทรวงการคลังนั้น ลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีสำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์ เป็นเงินเพียง 3,000 ล้านบาท

เมื่อคิดวิธีนี้ เขาจึงอ้างว่า ในการแปรรูป กระทรวงการคลังได้หุ้นคิดเป็นมูลค่า 72,000 ล้านบาท

จึงสรุปแบบเหมาเอาว่า กระทรวงการคลังได้กำไรไป 24 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 11 ปี

ผู้อ่านอย่าเพิ่งเชื่อนะครับ เพราะผิดทั้งเพ

เงินลงทุนในการปิโตรเลียมฯ นั้น มาจากหยาดเหงื่อ แรงงาน และคราบน้ำตา ของคนไทยทั้งชาติ ที่ช่วยกันทำให้ประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือ

ความน่าเชื่อถือของประเทศนี้เอง ที่เอื้ออำนวยให้การปิโตรเลียมฯ สามารถหาแหล่งเงินมาหลายหมื่นล้านบาท เพื่อใช้สร้างระบบท่อ และทรัพย์สินต่างๆ

เหตุผลที่สถาบันการเงินให้ความไว้วางใจ ก็เพราะเขาคิดว่ารัฐบาลไทย จะให้การสนับสนุนองค์กรนี้ต่อไปเรื่อยๆ

ดังนั้น เงินที่การปิโตรเลียมแสวงหามา ด้วยอาศัยเครดิดความน่าเขื่อถือของประเทศ จึงเป็นเงินที่ประขาชนคนไทยทั้งหมด ทุ่มลงทุนไปในการสร้างกิจการของการปิโตรเลียมฯ

ประชาชนก็คงหวังว่าการปิโตรเลียมฯ จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น

altเงินลงทุนของชาติ ที่ลงทุนเข้าไปในการปิโตรเลียมฯ จึงไม่ใข่แค่ 3,000 ล้านบาทอย่างแน่นอนครับ

ทั้งนี้ ในโพสต์ดังกล่าวมีผู้มาแสสดงความคิดเห็นว่า นายธีระชัย โหนกระแส แต่นายธีระชัย ได้เข้ามาตอบว่า "ไม่ใช่โหนกระแสหรอกครับ เป็นการประกาศสงครามเลย"

ต่อมาในวันเดียวกัน นายธีระชัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค Thirachai Phuvanatnaranubala อีกครั้ง ระบุถึงความสัมพันธ์ของธุรกิจพลังงานว่า Pearl Oil และ Mubadala และ Aabar และ Abu Dhabi เชื่อมโยงกันหมด

มีคนส่งข้อมูลที่น่าสนใจมาให้ผมครับ ซึ่งแสดงว่า ถึงแม้จะมีคนอ้างว่าปิโตรเลียมในไทยเป็นกระเปาะเล็ก แต่ก็ปรากฏว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศตะวันออกกลางมาทำการสำรวจอย่างคึกคัก

บริษัท Pearl Oil

ในวันที่ 28 มกราคม 2549 มีข่าวทาง Bloomberg ว่าบริษัท Aabar ซื้อบริษัท Pearl ไป มีการโอนหุ้นกันช่วงปลายเดือนเมษายน 2549

ดังนั้น Pearl Oil จึงตกเป็นของ Aabar มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอ ครม วันที่ 25 ตุลาคม 2549 เพื่อแจกสัมปทานรอบที่ 19

บริษัท Aabar
บริษัทนี้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 95.52 คือบริษัท International Petroleum Investment Co. (IPIC)
ส่วนเจ้าของ IPIC อีกทอดหนึ่งนั้น คือรัฐบาล Abu Dhabi ซึ่งเป็นเจ้าของเมือง Dubai นั่นเอง

ดังนั้น ทั้ง Aabar และ Pearl จึงเป็นของรัฐบาล Abu Dhabi

บริษัท Mubadala
บริษัทนี้ ผู้ถือหุ้นทั้งหมดคือรัฐบาล Abu Dhabi
ที่อยู่ของบริษัท Mubadala Thailand อยู่ที่ชั้น 29 - 31 อาคารชินวัตร 3

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 Aabar แถลงข่าวว่า ได้โอนหุ้นทั้งหมดใน Pearl ไปให้ Mubadala
และที่อยู่ของบริษัท Pearl ก็อยู่ที่ชั้น 29 - 31 อาคารชินวัตร 3 เช่นกัน

ดังนั้น Pearl Oil และ Mubadala และ อาคารชินวัตร 3 จึงเชื่อมโยงกัน

และเป็นการแสดงถึงศักยภาพของปิโตรเลียมในไทย เพราะ Pearl Oil เป็นรายหนึ่งที่ได้รับสัปทาน หมายเลข G11/48 หรือเรียกว่า แหล่ง นงเยา

ล่าสุด นายธีระชัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุหัวข้อ "เปิดเผยแก่ประชาชนเรื่อง พลังงาน และ ปตท ตอนที่สาม"

ต้องขออภัยผู้อ่านที่ผมใช้คำว่า หรือไม่ ซ้ำหลายที่ เพื่อป้องกันการฟ้องคดีครับ

ประเด็น: สัมปทานปิโตรเลียม มีผลได้ผลเสียแก่กลุ่ม ปตท อย่างมาก หรือไม่

มีข้อสงสัยว่า ผู้เสนออนุมัติให้สัมปทานแก่บริษัทตะวันออกกลางในรอบที่ 19 เป็นใคร

ทั้งนี้ สัมปทานรอบที่ 19 ออกประกาศเชิญชวนวันที่ 20 สิงหาคม 2548 ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณกระบวนการพิจารณาผู้ยื่นความจำนงยังไม่ถึงให้สัมปทาน เกิดรัฐประหารในปี 2549 เสียก่อน

ภายหลังตั้งรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ ประมาณหนึ่งเดือน มีการสางต่อเรื่องนี้

บริษัทที่ยื่นขอสัมปทาน มีบริษัทหนึ่ง (สมมุติชื่อบริษัท P O) ซึ่งเป็นของรัฐบาลประเทศตะวันออกกลางประเทศหนึ่ง หรือไม่
ผู้นำระดับสูงของประเทศตะวันออกกลางดังกล่าว มีความสัมพันธ์ไกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง หรือไม่

สิ่งที่ควรเปิดเผยแก่ประชาชน:

(ก) วันที่ 28 มกราคม 2549 มีแถลงข่าวใน Bloomberg ว่าบริษัทพลังงานของประเทศตะวันออกกลางประเทศหนึ่ง ได้ซื้อบริษัท (สมมุติชื่อบริษัท P O) โอนหุ้นภายในวันที่ 28 เมษายน 2549

ผู้ที่เสนอเรื่องสัมปทานรอบที่ 19 ทราบการซื้อดังกล่าว หรือไม่

ข่าวดังกล่าวเกิดประมาณ 9 เดือน ก่อนหน้าวันที่ 25 ตุลาคม 2549 ซึ่งมีการเสนอ ครม เพื่อให้สัมปทานแก่บริษัทดังกล่าว ใช่หรือไม่

(ข) กลุ่มบริษัทนี้ (สมมุติชื่อบริษัท P O) และบริษัทอื่นๆ ที่ประเทศตะวันออกกลางนี้เป็นเจ้าของ มีที่ทำการหลักในกรุงเทพ ตั้งอยู่ในอาคารที่เกี่ยวข้องกับอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยคนหนึ่ง ถึงแม้สัญญาสัมปทานระบุสถานที่อื่น หรือไม่

ผู้ที่เสนอเรื่องสัมปทานรอบที่ 19 ทราบความเกี่ยวโยงของบริษัทเหล่านี้ หรือไม่

ประเด็น: ขบวนการพิจารณาสัมปทานรอบที่ 20 มีผลได้ผลเสียแก่กลุ่ม ปตท อย่างมาก หรือไม่

มีข้อสงสัยว่า ในการให้สัมปทานรอบที่ 20 ได้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลใด หรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจาก พรบ ปิโตรเลียมปี 2514 กำหนดให้ผู้รับสัมปทานแต่ละราย จะถือแปลงสำรวจได้ไม่เกิน 50,000 ตารางกิโลเมตร ต่อมาในปี 2532 แก้ไขลดลงเป็น 20,000 ตารางกิโลเมตร

แต่ในเดือนตุลาคม 2550 มีการแก้ไข ยกเลิกเพดาน

มีข้อสงสัยว่า มีบริษัทหนึ่ง (สมมุติชื่อบริษัท P O) ถือพื้นที่เกิน 20,000 ตารางกิโลเมตรอยู่ ก่อนจะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว หรือไม่

มีข้อสงสัยว่า ภายหลังสัมปทานรอบที่ 20 บริษัทดังกล่าว (สมมุติชื่อบริษัท P O) ถือพื้นที่เพิ่มขึ้นในปี 2551 เกินกว่า 60,000 ตารางกิโลเมตร หรือไม่

สิ่งที่ควรเปิดเผยแก่ประชาชน:

(ก) ก่อนการแก้ไขกฎหมาย มีบริษัทใดที่ถือพื้นที่สัมปทานทางตรงและทางอ้อม เกินกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร หรือไม่
(ข) หากมี ข้าราชการที่เกี่ยวข้องละเลยหรือไม่ การบังคับใช้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์หรือไม่

(ค) ระหว่างปี 2549 ถึงปี 2556 มีบริษัทใดถือพื้นที่สัมปทานทางตรงและทางอ้อม เกินกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร หรือไม่

ประเด็น: การเปิดให้ข้าราชการที่กำกับธุรกิจพลังงาน เข้าเป็นกรรมการใน ปตท ทำให้ ปตท ได้ประโยชน์ หรือไม่

ผมมีข้อสังเกตว่า ในปี 2551 มีการแก้ไข พรบ คุณสมบัติกรรมการรัฐวิสาหกิจ มาตรา 5 เพื่อกำหนดว่า กรรมการของรัฐวิสาหกิจต้องไม่มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่โดยการมอบหมายของรัฐวิสาหกิจนั้น

สิ่งที่ควรเปิดเผยแก่ประชาชน:

(ก) ผู้ใดเป็นคนเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
(ข) บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ทั้งข้าราชการและคณะรัฐมนตรี ก่อนหน้า หรือภายหลัง ได้ประโยชน์จากกลุ่ม ปตท หรือไม่

อนึ่ง ผมสังเกตว่าอาจจะมีกลุ่มบุคคลที่มิได้เข้ามาแสดงความเห็นในเพจนี้โดยสุจริต แต่น่าจะทำด้วยเจตนาเพื่อเปิดช่องให้ ปตท ฟ้องคดีผมหรือไม่ โดยวิธีการใช้ถ้อยคำที่ทำให้ ปตท เสียหาย

จึงขอความกรุณา อย่าใช้ถ้อยคำเช่นนั้นนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น