xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายพลังงานไทยเปรียบเทียบนอร์เวย์ ก๊าซ LNG ทางเลือกใหม่ที่ไทยใช้เพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน ) นำโดย ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานบอร์ด บริษัท ปตท. พร้อมด้วย  ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.  ได้นำสื่อมวลชนศึกษาดูงานการกำกับกิจการพลังงานเชิงเปรียบเทียบ ที่สหพันธรัฐเยอรมนี, ราชอาณาจักรนอร์เวย์ และราชอาณาจักรสวีเดน   เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการจัดการเรื่องพลังงาน
                ซึ่งคณะเดินทางได้รับฟังบรรยายการสรุปของกระทรวงปิโตรเลียมและพลังงานของประเทศนอร์เวย์  โดยมี  Mr.Andreas Eriksen  อธิบดีพลังงานและทรัพยากรน้ำ พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้องได้อธิบายถึงภาพรวมของการใช้พลังงานที่ยั่งยืน การจัดการโครงสร้างพลังงาน, นโยบายการใช้พลังงาน, การใช้ก๊าซเพื่อการขนส่งสาธารณและเรือในรูปของก๊าซ  LNG  ซึ่งพอสรุปได้ว่าประเทศนอร์เวย์และไทยมีความเหมือนและต่างที่สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ ในอดีตนั้นนอร์เวย์เป็นประเทศยากจนในยุโรป ในขณะที่ไทยก็ไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยในเอเชีย
             ในการพัฒนาด้านพลังงานนั้น ทั้งสองประเทศพบปิโตรเลียมในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือ นอร์เวย์พบแหล่งปิโตรเลียมในทะเลเหนือปี 2512  ต่อจากนั้นอีก 4 ปีประเทศไทยก็พบแหล่งปิโตรเลียมในปี 2516 โดยนอร์เวย์จัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติชื่อ Statoil ในปี 2515 ส่วนประเทศไทยก็ได้ก่อตั้ง ปตท.ขึ้นในปี 2521 ซึ่งในขณะนั้นนอร์เวย์มีประชากรเพียง 3.9 ล้านคน มีรายได้ต่อคนต่อปี 4,415 เหรียญสหรัฐ และไทยมีประชากรจำนวน 45.5 ล้านคน มีรายได้ต่อคนต่อปี 528 เหรียญสหรัฐ
            นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็ก แต่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมสูง และได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนอันดับ 2 ในทวีปยุโรป และอันดับ 9 ของโลก
            เดิมนอร์เวย์เป็นประเทศยากจน  อย่างไรก็ดี ปลายปี 2512 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ  ทะเลนอร์เวย์  และทะเลแรเรนส์  ทำให้นอร์เวย์เป็นประเทศรวยภายในพริบตา ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2000 นอร์เวย์เป็นประเทศส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่รัฐบาลนอร์เวย์ไม่อุ้มราคาน้ำมันในประเทศเหมือนประเทศมหาเศรษฐีน้ำมันทั้งหลาย รัฐบาลได้นำกำไรจากค่าน้ำมันมาจัดสรรเป็นสวัสดิการ ทำโครงสร้างพื้นฐาน  การสาธารณสุขฟรี  การศึกษาฟรี ฯลฯ
             ปัจจุบัน นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก เติมน้ำมัน 1 แกลลอน (3.7 ลิตร) คิดเป็นเงินไทย 300 บาท หรือลิตรละประมาณ 81 บาท เป็นต้น
 
                 ขณะที่ในประเทศไทยเองมีกระแสการเรียกร้องของประชาชนให้มีการปฏิรูปของไทยในขณะนี้ จึงน่าจะนำบทเรียนด้านพลังงานเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุง นโยบายด้านพลังงานของประเทศนอร์เวย์มีความน่าสนใจ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการนำแนวคิดมาปรับใช้กับนโยบายด้านพลังงานของไทย
 
 
            ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าบทเรียนจากนโยบายด้านพลังงานของนอร์เวย์ คือการที่รัฐบาลเลือกที่จะให้ประชาชนใช้เชื้อเพลิงในราคาแพง ถึงแม้จะพบแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากผู้ใช้เชื้อเพลิงและผลประโยชน์ปิโตรเลียมจากทรัพยากรของประเทศมาจัดตั้งกองทุน และสะสม จนปัจจุบันนอร์เวย์มีเงินกองทุนจำนวนมหาศาลสำหรับอนาคตของคนรุ่นต่อๆ ไป จนกระทั่งกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลก ในขณะที่ไทยเลือกวิธีนำผลตอบแทนจากปิโตรเลียมมาชดเชยราคาเชื้อเพลิงให้คนรุ่นปัจจุบันได้ใช้ในราคาถูกๆ
            ดังนั้น ผลจากนโยบายให้ประชาชนที่ใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศต้องจ่ายแพงนั้น ส่งผลทางบวกที่ชัดเจนใน 2 มิติ คือ ทำให้การใช้พลังงานในประเทศเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้นอร์เวย์มีเงินกองทุนมหาศาล จนเกิดความมั่นใจได้ว่า แม้ทรัพยากรปิโตรเลียมของประเทศจะมีน้อยลง แต่นอร์เวย์ก็มีกองทุนที่มีศักยภาพในการจัดหาพลังงานมาใช้อย่างไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
            ในทางกลับกัน นโยบายประชานิยมของไทยที่ชดเชยราคาพลังงานให้ต่ำกว่ากลไกตลาดนั้นส่งผลเสียมากมาย ไม่ว่าปัญหาการใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงผลพวงที่ทำให้ทรัพยากรปิโตรเลียมของชาติลดน้อยลงรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ประชาชนคนไทยก็ยังคงยากจนอยู่ดังเช่นปัจจุบัน อีกทั้งยังไม่มีความกระจ่างชัดในการหาแหล่งพลังงานใหม่สำหรับลูกหลานไทยในอนาคต
 
 
                ก๊าซ LNG พลังงานทางเลือกที่ไทยจะใช้เพิ่มขึ้น
            นอกจากนี้ คณะสื่อมวลชนและผู้บริหารของ ปตท. ได้เดินทางต่อไปที่เมืองออสโล และกรุงเบอร์เกน  เพื่อดูงานพลังงาน LNG ทางเลือกใหม่ของพลังงานไทย  LNG  เป็นก๊าซธรรมชาติ (เหลว)  (Liquefied Natural Gas ) เป็นก๊าซมีเทนหลังการแปรสถานะเป็นของเหลวแล้ว มีกระบวนการเริ่มจากแยกสิ่งปลอมปนและองค์ประกอบต่างๆ  จากนั้นจึงทำการลดอุณหภูมิลงมาที่ -160 องศาเซลเซียส เพื่อแปรสภาพจากก๊าซเป็นของเหลวที่มีความดันบรรยากาศ ทำให้มีปริมาตรลดลงประมาณ 600 เท่าของสถานะก๊าซ ซึ่งสะดวกต่อการขนส่งทางเรือ หลังจากนั้นก๊าซที่อยู่ในสถานะของเหลวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้กลับสู่สถานะของเหลวจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการเพื่อให้กลับสู่สถานะก๊าซเช่นเดิม ก่อนส่งไปยังระบบท่องก๊าซต่อไป  ดังนั้น LNG  จะเป็นก๊าซธรรมชาติเหลวที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่เป็นพิษ ไม่มี            ฤทธิ์กัดกร่อน และเป็นก๊าซที่มีคุณภาพสะอาด
                สำหรับ ปตท.ได้มีการนำเข้าก๊าซ LNG เข้ามาในประเทศตั้งแต่ปี 2554 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยมีในปี 56 นำเข้าจำนวน 18 เที่ยวเรือ  คิดเป็น 1.41 ล้านตัน ปี 57 จำนวน  15  เที่ยวเรือ คิดเป็น1.16  ล้านตัน ซึ่งการนำเข้า LNG เข้ามานี้สามารถใช้ในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือกระบวนการสันดาปเครื่องยนต์ต่ำ  เช่น การขนส่งทางเรือ เป็นต้น
           อย่างไรก็ตาม การนำเข้าก๊าซ LNG  ปตท.ต้องมีการลงทุนด้านการดำเนินการที่แตกต่างกัน เช่น การสำรวจและขุดเจาะแหล่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อจะนำก๊าซมาสู่ผู้ใช้ โดยส่วนใหญ่การค้นพบก๊าซธรรมชาติจะเกิดขึ้นพร้อมกับการสำรวจน้ำมัน  การแปรสภาพ LNG เป็นสถานะของเหลวเพื่อให้สามารถขนส่งทางเรือได้ ซึ่งจะถูกขนส่งโดยเรือที่ออกแบบพิเศษ  ส่วนการเก็บ LNG  จะเป็นการเก็บแบบพิเศษและแปรสภาพ LNG จากสถานะของเหลวเป็นก๊าซ พร้อมที่จะส่งไปยังจุดหมายปลายทางผ่านระบบท่อก๊าซธรรมชาติ
                 ทั้งนี้ ระบบการขนส่ง LNG ส่วนใหญ่จะมีระยะทางระหว่างแหล่งผลิตกับตลาดอยู่ห่างไกลเกินกว่า 2,000 กิโลเมตร การขนส่งทางระบบท่อทำได้ยาก และใช้เงินลงทุนสูง ในประเทศที่มีก๊าซธรรมชาติอย่างสมบูรณ์  เช่น ในตะวันออกกลาง  อิหร่าน  และออสเตรเลีย ซึ่งอยู่ห่างจากประเทศไทยนั้น การขนส่งก๊าซธรรมชาติโดยทางเรือจึงเป็นวิธีที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ โดยจะแปรสถานะก๊าซธรรมชาติให้กลายเป็นของเหลว แล้วขนส่งทางเรือที่ออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งภายในบุด้วยฉนวนอย่างดี และตัวเรือหุ้มสองชั้นเพื่อให้เกิดความแข็งแรงและปลอดภัยในการขนส่ง
               อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวสัดส่วนการจัดหาก๊าซ LNG  ของประเทศไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับประมาณร้อยละ  59 ของการจัดหาก๊าซฯ ทั้งหมด  ซึ่งไทยอยู่ในระดับที่ 75%  ขณะที่มีการนำเข้าก๊าซจากพม่า 21% และนำเข้าในรูปของ LNG ที่ 4% ซึ่งอนาคตการนำเข้าในรูปของ LNG จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามความสามารถจัดหาก๊าซฯ จากในประเทศไทย และการนำเข้าก๊าซจากพม่าที่ลดลง ซึ่งคาดว่าในปี 2573 จะมีสัดส่วนจัดหาก๊าซฯ จากในประเทศไทย พม่า และ LNG อยู่ที่  35%, 6% และ 59% ตามลำดับ
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น