xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กลเกมประชามติรธน. ทางดิ้นลากยาวอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -แม้ยังอีกไกลแต่น่าสนใจไม่น้อย สำหรับข้อถกเถียงว่า สรุปแล้ว 36 อรหันต์ทองคำ ผู้มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับตาบอดสี จะทำประชามติกติกาประเทศ เวอร์ชั่นน้องพี่ชมพูหรือไม่ มีทั้งฝ่ายเชียร์และฝ่ายต้าน

กระทั่งคนในรัฐบาล หรือทีมกฎหมายข้างกาย“ลุงตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เองก็ยังมีความเห็นกระเด็นกันไปคนละทิศละทาง หาจุดลงไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นในรายเนติบริกร “วิษณุ การช่าง”นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย คนออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแท้ๆ ยังถือธงเลยว่า การทำประชามติไม่ใช่คำตอบสุดท้ายว่า รัฐธรรมนูญจะยืนยาวตราบนิรันดร์ ดูตัวอย่างรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ ปี 2550 ขนาดเอามาเป็นยันต์กันผี สุดท้ายฝ่ายการเมืองเข้ามายังจ้องฉีกกันอยู่ทุกวี่วัน จนสุดท้ายต้องลงเอยด้วยภาพทหารขับรถถังมาฉีกทิ้งไป ขณะเดียวกัน บางฉบับไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน แต่อมตะมากกว่าสิบปี

ขณะที่บางฝ่าย โดยเฉพาะเนติกรผู้น้อง“บวรศักดิ์ เทคนิค”ซึ่งไปนั่งแหกตาช่วยศิษย์พี่ยกร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับ รวมถึงฉบับชั่วคราวนี้ยังเห็นแตกต่างอีกฝั่ง เพราะเชื่อว่าการทำประชามติ จะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กชั้นดีให้กับกติกาประเทศในอนาคต โดยอ้างความชอบธรรมจากประชาชน ใครคิดอยากจะปู้ยี่ปู้ยำก็ยากแสนเข็ญ ให้ดูรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำเป็นตัวอย่าง สุดท้ายไม่ได้แก้สักมาตรา แถมพวกเดอะแก๊ง ที่ลงขันกันชำแหละยังต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นคดีความไม่รู้จบสิ้น ถ้าทำเอาไว้ก็น่าจะเหนียวหนึบไม่เบา

แต่สุดท้ายจะต้องทำประชามติหรือไม่ทำประชามติ น่าจะมีสัญญาณชัดตอนท้ายๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับตาบอดสีใกล้เสร็จ ว่า สถานการณ์ในประเทศเป็นอย่างไร ตลอดจนสถานการณ์ของรัฐบาลพันธุ์ผสมระหว่างสีลายพรางกับพวกเทคโนแครต ว่า ย่ำแย่ เสมอตัว หรือกำลังได้กำไร ประชาชนนิยมจนต้องเอาต่อยอด มาตั้งพรรคทหารที่ข่าวผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็น “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำลังถกเงียบกับ "ยี้ห้อยร้อยสี่สิบ" เนวิน ชิดชอบ คิดตั้งพรรคมาทาบรัศมีทักษิณ

ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวคงไม่เขียนทางออกไว้ให้ตัวเองในกรณีว่า รัฐธรรมนูญฉบับตาบอดสีนี้จะต้องทำประชามติหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่การตัดสินใจของผู้มีอำนาจ เป็นการวางแนวทางกันมาแล้วตั้งแต่ต้น ไม่ทำก็ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าทำก็แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ มีรูหายใจให้ติดชิ่งกันได้ตลอด

ซึ่งก็น่าสังเกตคำพูดคำจาของเหล่านักกฎหมายข้างกาย“บิ๊กตู่”หลายคน ในต่างกรรมต่างวาระได้เหมือนกัน โดยเฉพาะการระบุว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่จำเป็นต้องทำประชามติเสมอไป แต่สามารถสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ในรูปแบบอื่น สอดคล้องตามคิวที่ 36 อรหันต์ทองคำ ส่งการ์ดเทียบเชิญบรรดาคู่ขัดแย้งเข้ามาแสดงความคิดเห็น ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล พรรครักประเทศไทย พรรคมาตุภูมิ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่ม กปปส. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

เจตนาส่งสัญญาณกันชัด รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดอ้าทุกความคิดเห็น ไม่ได้มีธงตั้งเด่อย่างที่ใครหวาดระแวง เรียกคะแนนจากประชาชนเรื่องใจกว้างได้เป็นโข ตามจังหวะยุทธศาสตร์ ปูทางให้เรียบ ลดอุณหภูมิแนวต้านไม่ให้เที่ยวไประรานกันอยู่ข้างนอก หากเชิญแล้วไม่มาถือว่าตกขบวน เพราะอุตส่าห์เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมเขียนกติกาประเทศแต่ยังทำตัวขวางโลก ไม่เป็นผลดีกับตัวเอง ตามคิวที่รีบตอบรับกันระงม

ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า แม้จะได้รับเกียรติให้มานั่งฝอยไอเดียต่างๆ แต่บางอย่างคงยากจะเกิดขึ้นจริง เพราะเอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญฉบับตาบอดสีนี้มันคงดิ้นออกนอกกรอบมาตรา 35 ไปได้ไม่เยอะเท่าไหร่ ยิ่งโดยเฉพาะจุดยืนและแนวความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยที่แทบจะเดินเป็นเส้นขนานกับมาตราดังกล่าวแล้ว คงเรียกมาประทับตราให้อยู่ในวงสังฆกรรมกันเฉยๆ เหมือนที่ “อ้ายปึ้ง”นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ออกมากระทุ้งแรงๆ ว่า เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น 
 
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผลพลอยได้รอบนี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมได้กำไรเพราะอย่างน้อยลากเหยื่อเข้ามาประทับตราความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับตาบอดสีไปแล้วขั้นหนึ่ง ถึงบั้นปลายตอนโค้งสุดท้าย หากตัดสินใจไม่ทำประชามติ ก็ยังอ้างได้ว่าผ่านความเห็นชอบและการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว เป็นอันจบข่าว

ให้ติดตามช็อตต่อไปนี้ให้ดีๆ นอกจากการมีส่วนร่วมของพรรคการเมืองและนักการเมืองแล้ว คิวต่อไปคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องลงไปฟังความคิดเห็นของประชาชนต่างๆ แล้วรวบรวมเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะสร้างยันต์กันผี คุ้มครองรัฐธรรมนูญตาบอดสีฉบับนี้โดยไม่ต้องออกแรงเสียเวลาทำประชามติเป็นเดือนสองเดือน แถมทำแล้วยังต้องมาลุ้นอีกว่าจะผ่าน หรือไม่ผ่าน

ส่วนอีกทาง กรณีใครๆ เรียกร้องให้ทำประชามติ หากรัฐบาลเลือกทางนี้จะต้องลำบากลำบนเสียเวลาไปหลายเดือน แต่เป็นผลดีกับรัฐบาลเหมือนกัน ถ้าสถานการณ์ขณะนั้นอยู่ในสภาวะย่ำแย่ไม่สู้ดี ปัญหาหลายอย่างยังไม่ได้รับการแก้ไข อีนุงตุงนังไปหมด ในทำนอง 1 ปี ทำท่าจะเสียของ ต้องการทดเวลาบาดเจ็บ อาจมีออกลูกตุกติกตั้งใจทำประชามติ เพื่อให้ตัวเองอยู่ต่อ

ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรรมนูญฉบับชั่วคราวเขียนเป็นทางออกเอาไว้ หากรัฐธรรมนูญฉบับถาวรถึงแก่กรรม ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทุกสิ่งทุกอย่างต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ เพราะ สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องสิ้นสภาพทันที หรือถ้าไม่ผ่านประชามติ ก็เท่ากับแท้ง ตามสภาพจะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องให้กำเนิด สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา ต้องเสียเวลาสรรหา แต่งตั้ง ประชุมเลือกประธาน และรองประธานสปช. แล้วแต่งตั้ง 36 อรหันต์ทองคำ เรียกว่า ต้องเสียเวลาอีกปีกว่าๆไปเลย

ขณะที่รัฐบาลต้องอยู่ต่อเพื่อร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ เป็นเดดล็อกที่เขียนเอาไว้อย่างนั้น เสมือนร่างรัฐธรรมนูญแล้วล้มเหลว 10 ครั้ง รัฐบาลก็ต้องอยู่ 10 ปี มีชีวิตเป็นอมตะ ประชามติจึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัวของรัฐบาล หนำซ้ำยังเป็นยาอายุวัฒนะ ต่อยอดทางอำนาจให้ตัวเองอีกได้ด้วย ทำหรือไม่ทำ จัดว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ทั้งนี้จึงต้องยกยอดความหัวหมอให้กับทีมงานร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่คิดเผื่อเอาไว้
 
จึงอย่าไปใส่ใจเรื่องประชามติให้มาก เพราะเขาวางกันไว้หมดแล้ว !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น