xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญใหม่ต้องตอบโจทย์

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เมื่อมีการประกาศรายชื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดสุดท้าย จาก ครม.และ คสช.ก็เป็นอันว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันครบองค์ประกอบทั้ง 36 คน ซึ่งเท่ากับแม่น้ำ 5 สาย ตามคำเปรียบเทียบของนายวิษณุ เครืองาม ก็เป็นอันครบถ้วนสมบูรณ์ มีคนเข้าทำงานครบทุกตำแหน่ง ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557

ต่อไปนี้ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็จะเริ่มต้นทำงานกัน โดยมีการทำงานที่มีกรอบเวลาจำกัดมากๆ คือ หลังจากนี้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะนำข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญมาภายใน 60 วัน นับแต่เปิดประชุมสภา สปช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 31 และจากนั้น ภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจาก สปช.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 34

นั่นคือรวมๆ แล้วจากนี้อีกราวๆ 6 เดือนรัฐธรรมนูญร่างแรกจากคณะกรรมาธิการฯ จะต้องเสร็จพร้อมเสนอกลับไปให้ สปช.พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่มากไม่น้อย แต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรีบทำงาน นั่นคือ สภา สปช.จึงต้องเริ่มประชุมกันในวันนี้ (6 พ.ย. 57) กันเพื่อเริ่มพูดคุยเรื่องกรอบการทำงานกันเลยทีเดียว

ในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจาก สปช.แล้ว ก็ยังจะต้องมีการรับฟังความเห็นจากทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงกรอบที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ด้วย ในมาตรา 35 ซึ่งเป็น 10 กรอบหลัก +1 ข้อทบทวน

สรุปคร่าวๆ คือ รัฐธรรมนูญที่ร่างกันมานั้นต้องกำหนดให้ราชอาณาจักรหนึ่งเดียวอันจะแบ่งแยกมิได้ มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมของไทย มีกลไกป้องกันการทุจริตและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ป้องกันผู้เคยกระทําการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือทําให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมกลับเข้ามาในวงการเมืองคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่หรือดําเนินกิจกรรมได้โดยอิสระไม่ถูกครอบงําโดยใคร มีกลไกรักษาหลักนิติธรรม คุณธรรม และมีธรรมาภิบาลในทุกภาคส่วนและทุกระดับ ปรับโครงสร้างและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน และป้องกันการสร้างประชานิยมจนเกิดความเสียหายต่อประเทศในระยะยาว มีกลไกการควบคุมการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้มากที่สุดอย่างมีประสิทธิภาพตรวจสอบได้ รวมถึงวางระบบป้องกันมิให้มีการทําลายหลักการสําคัญที่รัฐธรรมนูญจะได้วางไว้ และมีกลไกผลักดันให้มีการปฏิรูปเรื่องสําคัญต่างๆ ให้สมบูรณ์ต่อไป กับสุดท้าย คือการทบทวนความจำเป็นขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญต่างๆ

หลายคนอาจจะคิดว่า รัฐธรรมนูญก็แค่กระดาษ แค่กฎหมาย จะมีผลในการเปลี่ยนแปลงอะไรทางการเมืองได้ แต่แท้จริงแล้ว รัฐธรรมนูญนี้คือ “กติกาหลัก” ทางการเมืองที่จะกำหนดว่า การดำเนินการทางการเมืองนั้นๆ มีอะไรที่ทำได้และทำไม่ได้

แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นแค่กระดาษ แต่กระดาษนี้ก็เป็นตัวกำหนดกติกา ดังนั้นหากจะทำอะไรในทางการเมืองและอ้างความชอบธรรมแล้ว ก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ จึงมีผลตรงนี้เอง ที่ทำให้ฝ่ายใดที่อยากจะชนะ จึงต้องหาร่างเป็นฝ่ายร่าง หรือแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ “สร้าง” เกมของตนขึ้นมาใหม่เอง ดังที่เราได้เห็นจากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนท้ายสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั่นเอง ดังนั้นจะบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่สำคัญ ก็คงจะไม่ถูกเสียทีเดียว แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ใช่ยาวิเศษที่จะมาแก้ปัญหาทางการเมืองได้ทั้งหมดก็ตาม

หากอยากจะให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ยกร่างกันใหม่นี้ สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองและความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในทางการเมืองไทยที่กินเวลามายาวนานเกือบ 10 ปีนี้ได้จริง ทุกฝ่าย รวมทั้งคณะที่จะร่างรัฐธรรมนูญ ควรต้องยอมรับก่อนว่า ต้นตอของปัญหาทั้งหมดในทางการเมืองของไทย มาจาก “ทักษิณและพวก” ทั้งนั้น

ทักษิณอาจถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ “ครองอำนาจ” ยาวนานที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ได้ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน โดยที่แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตลอดเวลานั้น แต่การเมืองในช่วงนั้นก็วนเวียนอยู่รอบ “ทักษิณ” ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงหรือการรัฐประหารเพื่อขับ “ทักษิณ” ให้พ้นตำแหน่ง การกลับมาใหม่และตั้งพรรคตั้งนายกฯ ตัวแทนขึ้นมาถึงสองคน การก่อสงครามกลางเมืองเพื่อแย่งอำนาจกลับคืนมา การชิงอำนาจรัฐและหวังจะกลับบ้านมือเปล่าอย่างไร้มลทินจนทำให้เกิดการต่อต้านทั่วประเทศ มาจนถึงการยึดอำนาจการปกครองรอบล่าสุด ก็เพื่อยุติความขัดแย้งที่กำลังจะสุกงอมเป็นสงครามการเมืองและการต่อสู้กันเองของประชาชนพลเมืองที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

เมื่อกลับมาพิจารณากรอบในการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 10 เรื่องข้างต้น เราก็จะเห็นร่องรอยความเสียหายที่ทักษิณ และสิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” ทิ้งไว้เป็นปัญหาให้ต้องปฏิรูปกันมากมาย ทั้งเรื่องความไม่เป็นอิสระของราชการและนักการเมืองที่เกิดจากการแทรกแซงเข้าไปทุกภาคส่วน การดำเนินนโยบายแบบประชานิยมที่ทำให้คนติดความช่วยเหลือ เงินทอง หรือการอัดฉีดจากภาครัฐเหมือนยาเสพติด โดยไม่สนใจความเสียหายต่อระบบและเศรษฐกิจโดยรวมที่ยากต่อการฟื้นฟูในอนาคต

หรือแม้แต่การป้องกันหลักการของรัฐธรรมนูญไม่ให้ถูกทำลาย ก็มาจากบทเรียนที่เราได้เห็นว่า ถ้าฝ่ายทักษิณได้รับชัยชนะผ่านการเลือกตั้ง แม้กำหนดรัฐธรรมนูญไว้เป็นอุปสรรคอย่างไร พวกก็หาช่องหาทางที่จะปลดล็อกให้จงได้

ถ้าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่หมายถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ได้หมายถึงเฉพาะคณะกรรมาธิการเท่านั้น จะไม่ยอมรับ “โจทย์” ข้อนี้ตรงๆ ว่าจะป้องกันทักษิณและพวก รวมถึง “คนอย่างทักษิณ” เข้ามามีบทบาทในวงการเมือง ในการใช้อำนาจรัฐ และการบริหารปกครองประเทศ และคิดหาวิถีทางป้องกันในรัฐธรรมนูญที่จะร่างขึ้นมาใหม่นี้ ในที่สุด เราก็จะแก้ปัญหาใดๆ ไม่ได้เลย และรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะเป็นเพียงกติกาที่รอให้ฝ่ายทักษิณและผู้นิยมทักษิณกลับมาเข้าสู่พื้นที่แห่งอำนาจ เพื่อรอล้มล้างผลของการปฏิรูปนี้เท่านั้นเอง.
กำลังโหลดความคิดเห็น