เผย “ประยุทธ์” ห่วงเคลื่อนไหวเชิงการเมือง เดินหน้าสร้างความเข้าใจ ใช้กฎหมายกรณีจำเป็น วอนทุกฝ่ายรักษาบรรยากาศ หยุดแสดงความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน “ไก่อู” เผยฝากดู “สภากระจก” ประสานร่วมกันได้หรือไม่ หวั่นประชาชนสับสน ป้องนายกฯ รับเสียงวิจารณ์จากสื่อ แต่เจ้าตัวพ้อสื่อไม่เข้าใจ บ่นใช้คำ “คุย โว ฟุ้ง ปัด ตีปิ๊บ ฮึ่ม” แสดงความหมายเชิงลบ วอนใช้คำสร้างสรรค์ให้กำลังใจบ้าง
วันนี้ (4 พ.ย.) พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช. ว่า ทาง คสช. ได้รายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงผลการบริหารราชการในงานด้านความมั่นคงในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การมุ่งเน้นป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล่ำ ความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย รวมถึงสถานการณ์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
อีกทั้งยังมีข้อคิดเห็นสำคัญของ คสช. ที่เสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบจำนวน 10 เรื่อง ได้แก่ 1. เรื่องการเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อเป็นรากฐานด้านเศรษฐกิจในอนาคตที่มีความทันสมัย 2. เรื่องการจัดระเบียบวินรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยเฉพาะเรื่องการไปจดทะเบียนให้ถูกต้องและให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา 3. เรื่องร่าง พ.ร.บ. ยาฉบับใหม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบยาทั้งประเทศ โดยมีในหลายประเด็นที่ควรแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง 4. เรื่องระบบการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 5. เรื่องการพัฒนาทางด้านการศึกษา และการเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียน
6. เรื่องการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ที่มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการลงทุน บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นบริการสาธารณะ รวมทั้งกำกับดูแลด้านความปลอดภัย อีกทั้งมีความจำเป็นต่อการบริหารจัดการระบบรางในอนาคต 7. เรื่องการจัดระเบียบเรือประมง และแรงงานประมงที่ต้องมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจังจะเป็นการลดปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์ การหลบหนีเข้าเมือง และการทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติ สามารถตรวจสอบการดำเนินงานของธุรกิจการประมงได้ถูกต้องรวดเร็ว 8. เรื่องกำหนดมาตรการการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด และโครงการบ้านมั่นคงชนบทเพื่อผู้ยากจนและด้อยโอกาสในชนบท เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมสวัสดิการให้มีผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 9. เรื่องการดำเนินงานปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป โดยได้มีการบูรณาการข้อมูลกันระหว่างศูนย์ปรองดองฯ ภาค 1 - 4 กับศูนย์ดำรงธรรม ในข้อมูลความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูป และเรื่องร้องเรียนที่สำคัญๆ เช่น ปัญหาความไม่เป็นธรรมจากเรื่องของหนี้นอกระบบ
10. เรื่องการเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติมีประเด็นที่ประชาชนสนใจและถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ได้แก่ การปฏิรูปด้านการเมือง เช่น รูปแบบรัฐสภา พรรคการเมือง และ ส.ส. ส่วนการปฏิรูปด้านการศึกษา ได้แก่ โครงสร้างและการบริหารจัดการของกระทรวงศึกษา โอกาสการเข้าถึงการศึกษา ส่วนการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจก็เพื่อให้เกิดการเพิ่มศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ซึ่งความคิดเห็นนี้ที่ได้รวบรวมมาดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนมีความต้องการ จึงน่าจะเป็นประโยชน์ที่แต่ละกระทรวงจะนำไปพิจารณาเพื่อเป็นข้อมูล หรือการหาแนวทางปฏิบัติเพื่อตอบสนองให้กับประชาชนต่อไป
“สำหรับข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ต่อสถานการณ์ในช่วงนี้ ได้แก่ การเคลื่อนไหวในลักษณะเข้าข่ายเชิงการเมืองซึ่งอาจยังไม่เหมาะสม และต้องติดตามต่อเนื่อง โดยพยายามใช้การสร้างความเข้าใจ และการขอความร่วมมือ เพื่อเป็นการรักษาบรรยากาศที่ดี ไม่ให้มีผลกระทบต่อการปฏิรูป และการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงเวลาพิเศษนี้ สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในกรณีจำเป็น เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบและเป็นไปด้วยความระมัดระวังเป็นไปอย่างเท่าเทียม ยึดหลักใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ส่วนการแสดงความคิดเห็นในเชิงชี้นำต่อประเด็นต่างๆ ขององค์กรบางองค์กร ซึ่งอาจมีข้อมูลไม่ครบ หรือมีการตั้งสมมุติฐานโดยใช้ทัศนคติในเชิงลบ นำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของสังคม หรืออาจเป็นการทำลายชื่อเสียงประเทศชาติได้ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ดำรงความต่อเนื่องในการสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้อง ในช่วงนี้อยากขอความร่วมมือทุกกลุ่มทุกฝ่าย หลีกเลี่ยงการพูด หรือการแสดงออกในลักษณะที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน หรือกดดันการทำหน้าที่ขององค์กรต่างๆ เพื่อช่วยกันรักษาบรรยากาศที่ดีของการปฏิรูป และการเดินหน้าประเทศไปสู่เป้าหมาย” พ.อ.วินธัย กล่าว
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุม ครม. ว่า ในที่ประชุมหลังจากคสช.รายงานความเคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ของสถานการณ์ความเคลื่อนไหวบ้านเมืองขณะนี้แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคสช. กองอำนวยการรักษาความมั่นคง ภายในราชอณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ที่ได้เสียสละตั้งใจทำงานตามหน้าที่เพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ความสงบสุขโดยเร็ว ส่วนกรณีที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มคู่ขัดแย้งซึ่งมีแนวความคิดทางการเมืองเพิ่มขึ้นในระยะ 1 - 2 เดือนที่ผ่านมา ขอให้ทุกฝ่ายได้ติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด และพยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มที่พยายามเคลื่อนไหวเหล่านี้เพื่อที่จะให้เห็นถึงความจำเป็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองของเราเป็นอย่างไร และถ้ามีการเคลื่อนไหวจนบ้านเมืองเกิดความสับสนทางสังคม บ้านเมืองจะกลับไปสู่สภาพเดิม และการเดินหน้าปฏิรูปการทำกิจกรรมต่างๆ ที่วางเอาไว้จะเป็นไปด้วยความลำบาก
“นายกฯบอกว่าหากไม่สามารถทำความเข้าใจกับผู้ที่เคลื่อนไหวได้ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องบังคับใช้กฏหมายก็ต้องทำ โดยให้เริ่มจากกฏหมายปกติที่จากมาตรการขั้นเบาไปหาหนักก่อนใช้กฏอัยการศึก หรือแม้กระทั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ให้อำนาจพิเศษไว้ ซึ่งถ้าจำเป็นต้องทำก็ต้องทำเพื่อให้บ้านเมืองสงบ”พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดจึงมีการหารือถึงการใช้อำนาจตามมาตรา44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเรื่องนี้ แต่ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้น เช่น การแสดงความคิดเห็นที่สามารถทำได้ แต่มีข้อกติกาที่เราเคยตกลงกันไว้แต่แรกว่าเมื่ออีกกลุ่มพูดอีกกลุ่มต้องพูดเหมือนกัน พอพูดแบบนี้เริ่มจากเล็กๆ ถ้าเราไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดจะขยายกลายเป็นความขัดแย้ง บ้านเมืองจะกลับไปแบบเดิม แล้วใครจะหาญกล้ามาแบบนี้อีก จะยากยิ่งไปกว่าเดิม ดังนั้น ต้องใช้วิธีแบบวิถีคนไทยโดยการทำความเข้าใจ แต่ถ้าอธิบายความแล้วยังไม่เข้าใจก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย เริ่มจากกฎหมายเบาไปหาหนัก ซึ่งท่านก็ปรารภว่าแม้กระทั่งมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวซึ่งให้อำนาจพิเศษไว้ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษากรอบกติกาของบ้านเมืองให้เดินต่อไปได้ก็ต้องใช้ โดยให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องประเมินและเสนอมา
เมื่อถามว่า ที่มีการพูดถึงมาตรา 44 เป็นเพราะขณะนี้ฝ่ายการเมืองเริ่มเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ใช่ เพราะเกิดความเคลื่อนไหวแบบนี้ ดังนั้น ต้องบอกว่าอย่าเลยมันวุ่นวายเปล่าๆ คำว่าอย่าเลยคือ 1.เริ่มจากการอธิบายความให้เข้าใจแบบภาษาคนไทยต่างคนต่างช่วยพยุงบ้านเมืองกันไป และ2.คุยแล้วไม่รู้เรื่อง มีมนุษย์สุดโต่งก็ต้องบังคับใช้กฎหมายจากเบาไปหาหนัก เมื่อถามย้ำว่า บังเอิญพอดีกับช่วงที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาถอดถอนบุคคลต่างๆ หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องติดตามเกี่ยวกับเรื่องถอดถอน แต่ไม่ได้กำหนดว่าเรื่องอะไร เพียงแต่บอกว่าทุกคนต้องใช้วิจารณญาณ เรื่องทั้งหลายเป็นเรื่องของสนช.ที่อุดมไปด้วยผู้มีความรู้จะสามารถให้เหตุผลอธิบายความกับสังคมได้เป็นอย่างดี ต่อข้อถามว่า ขณะนี้คสช.มีอำนาจในการเรียกคนเข้ามารายงานตัวได้หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ได้ คงจะเรียกเร็วๆ นี้ ถ้ายังเคลื่อนไหวอยู่ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารที่ต้องลงไปสัมผัสกับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฏหมาย ทั้งเรื่องการจัดระเบียบให้ดำเนินการอย่างเข้มแข็ง แต่ขอให้พิจราณาตัวผู้บังคับหน่วยที่จะลงไปว่าต้องมีวุฒิภาวะ มีความเป็นผู้ใหญ่ มีลักษณะสุภาพเรียบร้อยเพื่อทำให้สังคมสุขสบายใจได้ว่าเราไม่ต้องการบังคับใช้กฏหมายเพียงอย่างเดียว แต่เรื่องความเข้าใจคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าได้ นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำให้ใช้กฏหมายตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ช่วยดำเนินการจัดระเบียบสังคมและจับกุมปราบปรามผู้ที่ลักลอบกระทำผิดกฏหมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาวุธสงคราม มีการประสานของกองกำลังในพื้นที่ตามชายแดนของทหารเพื่อจะตรวจจับอาวุธสงคราม โดยเรื่องราวทั้งหลายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดกฏหมายนั้นให้ยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมของคสช.กับรัฐบาลว่า จะใช้วันที่ 22 พ.ค. 57 เป็นเส้นกำหนดว่าเรื่องใดก็แล้วแต่ที่เป็นความขัดแย้งก่อนหน้านี้ให้ดำเนินการตามกฏหมาย ไม่มีความพยายามที่จะลดจนทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีการวิ่งเต้นเส้นสาย
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ในเรื่องการปฏิบัติงานของชุดแพทย์ ทั้งของทหาร ตำรวจหรือหน่วยงานพลเรือนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากสื่อ โดยฉพาะอย่างยิ่งสื่อสิ่งพิมพ์ว่าสิ่งใดมีผลกระทบ ต่อความมั่นคง การสร้างความเข้าใจของประชาชน ให้พยายามชี้แจงทำความเข้าใจทุกส่วน ทั้งกับประชาชนด้วยว่าโดยข้อเท็จจริงนั้นเป็นอย่างไร รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์บางฉบับที่พยายามเสนอข่าวไม่ตรงกับข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งเรื่องนี้นายกฯได้ปรารภในที่ประชุมว่าเรื่องบางเรื่องเป็นข้อมูลเดิมที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ รวมถึงตัวนายกฯเอง ได้เคยชี้แจงทำความเข้าใจและอธิบายความไปแล้วว่าข้อมูลที่สื่อเสนอนั้นไม่ตรงกับข้อมูลข้อเท็จจริง มีเหตุผล มีหลักฐาน มีเอกสารมีการปฏิบัติจริง แต่ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์บางส่วนยังเสนอข้อมูลเดิม โดยที่ไม่สนใจเรื่องที่เจ้าหน้าที่พยายามชี้แจง
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯยังปรารภในที่ประชุมถึงการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยขอให้ทุกฝ่ายติดตามการปฏิรูปของสื่อเหมือนกันขณะเดียวกันยังได้ขอวิงวอนไปยังสื่อทุกท่าน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้ว อยากให้ช่วยทำให้องค์กรของตัวเองมีความเข้มแข็งและได้รับความน่าเชื่อถือจากทุกฝ่าย ทั้งนี้ คำบางคำเป็นคำในเชิงลบ ไม่แน่ใจว่ามีการคิดประดิษฐ์คำทั้งหลายเหล่านี้อย่างไร เช่น นายกฯหรือรองนายกฯที่พยายามชี้แจงหรืออธิบายความในงานที่ได้ทำตามข้อสัญญาที่มีไว้กับประชาชนแต่ก็ไปใช้คำลักษณะทำนองว่า โว ฟุ้ง ปัด ตีปี๊บ ซึ่งคำเหล่านี้เป็นไปในทางลบ ไม่สร้างสรรค์ ทำให้สังคมมองว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเพื่อประชาชนขี้โม้ แล้วเช่นนี้จะสร้างสรรค์กำลังใจให้ผู้ปฏิบัติงานได้อย่างไร และในการปฏิรูปประเทศสื่อควรเสนอแนวคิดเข้าไปในวงปฏิรูปเพื่อให้องค์กรของตัวเองให้ได้รับความน่าเชื่อถือ
พล.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯยังกำชับว่าต่อไปอะไรก็ตามที่เป็นการก่อสร้างขนาดใหญ่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่มีความพร้อมอย่าเพิ่งดำเนินการ เพราะมีเรื่องราวที่สลับซับซ้อนเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการดูแลความปลอดภัยหรืออย่างอื่นก็ดี จึงขอให้พยายามขยายกลุ่มธุรกิจที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ให้สามารถเติบโตและมีความแข็งแรงได้ นอกจากนั้น ในเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้นายกฯยังปรารภอีกว่างานการเมืองยังอ่อน แต่คำว่างานการเมืองของท่านไม่ได้หมายถึงงานการเมืองในปัจจุบัน แต่หมายถึงการทำความเข้าใจในเรื่องของภารกิจหน้าที่ที่ส่วนราชการ พยายามจะ สร้างมิติใหม่ให้กับประชาชนให้เกิดความเข้าใจและสบายใจว่าเราสามารถที่จะดูแลความสะดวกและความปลอดภัยได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจ ไม่ใช่เน้นการปฏิบัติงาน พัฒนา หรือดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ นายกฯยังขอความเห็นใจให้กับเจ้าหน้าที่ทหารในการลงไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องเสี่ยงภัยในการลงปฏิบัติงาน จึงฝากไปยังส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาเรื่องขวัญกำลังใจด้วย
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนเรื่องอาวุธปืนนายกฯไม่มีนโยบายจะให้จัดหาหรือจัดซื้ออาวุธปืนใหม่ไปให้กับหน่วยงานภาคเอกชนหรือหน่วยงานพลเรือนที่ไม่ใช่ทหาร สำหรับอาวุธใหม่หากจะมีการจัดหาจัดซื้อจะต้องเป็นหน่วยงานความมั่นคงที่เป็นทหารเท่านั้น ถ้าหน่วยงานอื่นมีความจำเป็นต้องใช้ให้ติดต่อประสานงานและจะนำยุทโธปกรณ์ที่กองทัพเคยใช้ทำการหมุนเวียนไปให้ใช้ และหน่วยที่นำอาวุธไปใช้ต้องมีมาตราการดูความปอดภัย โดยต้องมีคลังเก็บอาวุธไม่ใช่ไปไหนนำเอาติดตัวไป
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ได้รายงานต่อที่ประชุมระหว่างคสช.กับครม.ถึงผลการผลักดันกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล "ทำทันที" โดยกฎหมายที่สำคัญที่จะประกาศใช้ในไม่ช้าหรือกฎหมายที่ทำทันคือ ร่างพ.ร.บ.การทวงหนี้, ร่างพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกการอนุญาตของราชการ, ร่างพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง, ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง, ร่างพ.ร.บ.ดำเนินคดีแบบกลุ่ม, ร่างพ.ร.บ.ค้างาช้าง ร่างพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า, ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิ์ภาพสัตว์, ร่างพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น ส่วนร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่การพิจารณาของครม. ในเร็วๆ นี้ อาทิ ร่างพ.ร.บ.ภาษีมรดก ซึ่งคู่กับการแก้ไขประมวลรัษฎากรการรับให้, ร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการนครแม่สอด, ร่างพร..บ.หลักประกันทางธุรกิจ, ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยทางเจริญพันธุ์, ร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวทางรัฐบาลมั่นใจว่าจะเร่งออกมาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุม นายวิษณุเสนอให้ครม.และคสช. แต่งตั้งคณะทำงานติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเกิดความล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองชุลมุนวุ่นวาย การสอดแทรก ความขัดแย้ง หรือการสร้างบรรยากาศที่ไม่ปรองดองด้วยการเสนอข้อเสนอที่สุดโต่ง เกิดการต่อต้านชุมนุมในช่วงยกร่างภายใน 120 วัน ที่ต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 19 เม.ย.58 ดังนั้น คณะทำงานดังกล่าวจะเข้ามาช่วยประเมินสถานการณ์และเสนอแนะแนวทางรับมือหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ นายวิษณุยังรายงานว่าการเดินหน้าการปฏิรูป ทั้ง 11 ด้าน ด้านพลังงานจะได้ข้อสรุปก่อน เช่น ประเด็น น้ำมัน ก๊าซ สัมปทาน เพราะประเด็นดังกล่าวสังคมให้ความสนใจและมีการพูดคุยถกเถียงอย่างมากในสปช. ตามด้วยเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นอันดับสอง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างด้านการศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่ต้องมีความชัดเจน จะแยกออกมาจากกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่ และที่สำคัญในสปช.มีผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจำนวนมาก และการปฏิรูประบบราชการ โดยเฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เนื่องจากรัฐบาลกำลังผลักดันนโยบายดิจิตอลอีโคโนมี รวมถึงกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาอาจจะมีการแยกระหว่างการท่องเที่ยวกับกีฬาออกจากกัน จากนั้นจะเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ศาลรัฐธรรมนูญ อัยการ ศาล เป็นต้น
สำหรับกรอบแนวคิดเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1.รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดไว้ 11 ด้าน 2.ข้อเสนอของ สปช. 3.การรับฟังความเห็นประชาชน และ4.กรรมาธิการยกร่างระดมความคิดเห็น และเบื้องต้นได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการดึงบุคคลที่พลาดจากการคัดเลือกสมาชิก สปช. ที่มีอยู่ 7,370 คน ให้มาร่วมทำงานปฏิรูปของรัฐบาล แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ผู้ช่วยหรือผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการที่เข้ามาช่วยงาน สมาชิก สปช.ทั้ง 250 คน โดยสมาชิกสามารถเลือกได้คนละ 1 คนเท่านั้น กลุ่มที่ 2 จะร่วมเป็นกรรมาธิการในคณะต่างๆ 18 คณะของสปช. กลุ่มที่ 3 แต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการที่ปรึกษาด้านละ 100 คน จำนวน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมืองการปกครอง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม โดยจะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์ ใช้สถานที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกลุ่มที่ 4 ที่เหลืออีก 6 พันกว่าคนหลังจากคัดเลือกไปในกลุ่มต่างๆแล้ว ให้ไปช่วยงานกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รมน.) และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่กำลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัดทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้