xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สุขเถิดมวลประชา ถอด“ปู”รอดชัวร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนขึ้นเป็นลำดับกรณีการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี งานนี้ นายใหญ่แห่งดูไบและพลพรรคเพื่อไทย เตรียมเปิดไวน์ฉลองกันล่วงหน้าได้ เพราะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ไม่ทำให้ผิดหวังแน่และไม่ลืมสัญญาคำว่า ปรองดอง สมานฉันท์ นั้นยิ่งใหญ่และจำเป็นกว่าเรื่องไหนๆ

ล่าสุด การเลื่อนหรือลากเรื่องถอดถอนทั้ง 3 สำนวนของบุคคลทั้งสามออกไป บ่งบอกเอาไว้อย่างนั้น

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น กรณีนายนิคม และนายสมศักดิ์ ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. โดยมิชอบ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเด็นจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์และทำลายเครดิตของ คสช.ลงไปพร้อมๆ กัน

และ ณ เวลานี้ เรื่องกำลังเดินสู่ไคลแม็กซ์ที่ห้ามพลาดเด็ดขาด!!

เอาแค่การบรรจุวาระถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาของสนช. ก็ซ้ำ รอยไม่ต่างไปจากคราวนายสมศักดิ์และนายนิคม แค่นี้ก็น่าติดตามอย่างยิ่งแล้ว

เพราะเกมยื้อไม่ได้มาจากฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทยและบริวารองครักษ์พิทักษ์น.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในใจกลางของ สนช. ที่ คสช. คัดเลือกและแต่งตั้งมากับมือนั่นแหละ การทำหน้าที่ของ สนช. ก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นตัวแทนของ คสช. และยากที่จะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน

คราวก่อนที่ป.ป.ช.ส่งสำนวนคดีนายสมศักดิ์ และนายนิคม มายัง สนช. แทนที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย จะประธานสนช. จะรีบจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณามีมติโดยเร็วตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 64 กลับไพล่ไปคิดว่ากรณีของนายนิคมและนายสมศักดิ์ จะมีปัญหาฐานความผิดเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่ยกเลิกไปแล้วอาจมีปัญหาข้อกฎหมายอาจไม่สามารถถอดถอนได้จึงประชุมลับขยายกรอบเวลาที่ต้องบรรจุวาระภายใน 30 วันตามข้อบังคับออกไป กระทั่งมาประชุมอีกรอบและลงมติว่าจะรับดำเนินการก่อนบรรจุวาระในการประชุมวันที่ 27 พ.ย. 2557

ไม่ใช่แค่ประธาน สนช. จะเล่นบทยื้อเพียงลำพัง เพราะก่อนหน้านั้น “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนรัก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กลาโหม ออกแรงเขย่าขวัญให้สนช.ต้องลากเรื่องเพื่อ “พิจารณาอย่างรอบคอบ” ให้เห็นเป็นตัวอย่างนำร่องก่อนแล้ว และคงไม่ผิดนักถ้าจะอ่านสัญญาณว่า เมื่อ “บิ๊กกี่” คนใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” ออกแนวนี้แล้วเป็นผลทำให้ขบวนสนช.ต้องพลอยเคลื่อนตามรอยทางที่เพื่อนรักบิ๊กป้อมวางเอาไว้ ห้ามแตกแถว

พอมาถึงกรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ พลพรรคเพื่อไทยและทนายความก็ได้เจริญรอยตามโดยเล่นเกมยื้อทางเทคนิคข้อกฎหมาย ขอให้มีช่องมีโอกาสเป็นต้องยื้อทันที ซึ่งทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำหนังสือขอเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไป 30 วัน โดยอ้างว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดของสำนวนที่ป.ป.ช. เพิ่งส่งมาถึงมือน.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2557 จะรีบเอาเข้าที่ประชุมสนช.พิจารณาโดยด่วนที่กำหนดไว้วันที่ 12 พ.ย. 2557 ไม่ได้ เพราะตามข้อบังคับการประชุมสนช. ระบุว่าต้องส่งสำนวนให้แล้ว 15 วัน จึงจะเริ่มพิจารณาได้

พอเจอไม้นี้เข้า นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) จึงแถลงผลการประชุมวิปสนช. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ว่า ที่ประชุมมีมติให้เลื่อนวาระการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 พ.ย. 2557 ออกไปก่อนตามคำขอของทนายน.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะหากนับ 15 วันหลังจากที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับเรื่องจะตรงกับวันที่ 22 พ.ย. 2557 แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดต้องเลื่อนการพิจารณาไปในวันที่ 27 พ.ย. 2557 ซึ่งในวันดังกล่าว ก็มีวาระต้องพิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์ กับนายนิคม ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมและเพื่อให้ถูกต้องตามข้อบังคับ วิปสนช. จึงมีมติเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 28 พ.ย. 2557 ซึ่งถือเป็นการพิจารณานัดแรกเพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดี

ทำไมถึงต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปเป็นเพราะความล่าช้าของสนช.เองหรือไม่
 
เมื่อย้อนดูกระบวนการถอดถอนจาก ป.ป.ช. มาถึงมือของประธาน สนช. คือ วันที่ 14 ต.ค.  2557 แต่กว่าประธาน สนช.จะแจกจ่ายเอกสารให้สมาชิก สนช.และผู้ถูกกล่าวหา ก็ปาเข้าไปถึงวันที่ 27 ต.ค. 2557 และนัดประชุมพิจารณานัดแรกในวันที่ 12 พ.ย. 2557 ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

เรื่องของเงื่อนเวลาที่ทนายความน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยกขึ้นมาอ้างเป็นเหตุผลในการเลื่อนเวลาส่งเอกสาร 15 วันตามข้อบังคับจะไม่มีปัญหาเลย ถ้าประธานสนช.จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช.คือ เมื่อได้รับสำนวนมาก็บรรจุตามกรอบเวลาที่กำหนดในข้อบังคับคือ 30 วัน หากนับตั้งต้นวันที่ 14 ต.ค. 2557 ก็จะบรรจุไม่เกินวันที่ 13 พ.ย. 2557 แต่กลับทอดเวลาออกไปถึง 13 วัน ก่อนที่จะแจกจ่ายเอกสารให้สมาชิก สนช. และผู้ถูกกล่าวหาจนเกิดการโต้แย้งอยู่ในขณะนี้

เป็นพฤติกรรมตอกย้ำให้สังคมคลางแคลงใจเรื่อยมาตั้งแต่กรณีของนายสมศักดิ์-นายนิคม ที่มีการประชุมลับและยื้อการพิจารณาออกไปครั้งหนึ่งแล้ว มากรณีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็อีหรอบเดิมซ้ำสองเข้าไปอีก เป็นไปได้หรือไม่ว่า สนช. ได้รับสัญญาณสมานฉันท์ ปรองดองจาก คสช. จึงทำให้รูปการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ นี่เป็นคำถามที่ต้องแสวงหาคำตอบ

ยังไม่ใช่แค่การบรรจุวาระการประชุมพิจารณาที่ยื้อแล้วยื้ออีก ยังต้องรอดูกระบวนการต่อสู้แก้ข้อกล่าวหาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ และฝ่าย ป.ป.ช. ที่จะต้องมาให้ข้อมูล แก้ต่าง ต่อ สนช. และเมื่อมีการแถลงปิดคดี คงจะมีการประชุม สนช. เพื่อพิจารณาและลงคะแนนถอด-ไม่ถอด ช่วงนั้นจะเห็นชัดเจนอีกครั้งว่าจะมีใครลุกขึ้นมาทำหน้าที่ล็อบบี้และทำตัวเป็นองครักษ์พิทักษ์อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างออกหน้าออกตาหรือไม่ โดยคาดว่ากระบวนการทั้งหมดน่าจะจบสิ้นลงประมาณปลายเดือนม.ค. ปี 2558 ก็จะรู้ได้ว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถูก สนช. 3 ใน 5 โหวตถอดถอนหรือไม่ หรือจะปล่อยเธอลอยนวล
             
   โปรดอย่ากระพริบตา โปรดจับจ้องเกมปรองดองที่กำลังดำเนินไปอย่างอึกทึกครึกโครม  


กำลังโหลดความคิดเห็น