xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดไม่ได้ ถอนไม่สะเด็ด คสช.มีน้ำยาเหลืออยู่มั้ย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคม ไวยรัชพานิช
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เล่นเกมใต้ดิน วัดพลังอำนาจกันแรง แล้วผลยกแรกที่ออกมาก็ส่อเค้าว่าขุมอำนาจเก่ายังเหนือกว่าตามปรากฏการณ์ที่ว่า "ค้อนปลอม" นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา มีสิทธิ์หลุดบ่วงถอดถอน เพราะไร้ความผิดตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่ถูกยกเลิกหมดสภาพบังคับใช้ไปแล้ว และนั่นคงเป็นบรรทัดฐานที่ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีโอกาสรอดพ้นเช่นกัน

เกมการล็อบบี้ สนช.สายทหาร ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็น “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนรัก “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรมว.กระทรวงกลาโหม ที่เตะตัดขาดึงเรื่องนี้ให้สนช.ใช้เวลาพิจารณาให้รอบคอบถี่ถ้วน จนได้ผลออกมาชนิดที่ไม่น่าเชื่อว่า สนช.จะจารึกผลงานชิ้นแรกแบบขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่เหลาลงไปกลายเป็นบ๊องกัญชาเสียอย่างนั้น

ตามตารางการนัดหมาย ในวันที่ 6 พ.ย. 2557 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. มีการประชุมพิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กล่าวหานายนิคม และ นายสมศักดิ์ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 กรณีแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจของ สนช. ที่จะพิจารณาถอดถอนตามข้อบังคับการประชุม สนช. หรือไม่

ภายหลังการอภิปรายของสมาชิกที่ประชุม สนช. ลงมติด้วยคะแนน 87:75 งดออกเสียง 15 รับคำร้องจาก ป.ป.ช.พิจารณาสำนวนถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ และเปิดโอกาสให้คู่ความ คือ นายนิคม นายสมศักดิ์ และ ป.ป.ช. เข้ามาชี้แจงและต่อสู้คดีในการประชุม สนช.

ทั้งนี้ ตามสำนวนที่ ป.ป.ช. ส่งเรื่องการถอดถอนมาให้ สนช. พิจารณาถอดถอนนายสมศักดิ์กับนายนิคมในครั้งนี้ เป็นการอ้างฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้วเพียงหลักกฎหมายเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้อ้างฐานความผิดตามกฎหมายอื่นใด

ดังนั้น ประเด็นที่นายสมศักดิ์ กับ นายนิคม จะใช้ต่อสู้มีเพียงประเด็นเดียว คือ รัฐธรรมนูญฯ 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ซึ่งตามหลักทั่วไปของกฎหมาย คือ เมื่อไม่มีกฎหมายก็ไม่มีความผิด เพราะไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดมาเอาผิดได้ ถึงแม้ว่าการประชุมเพื่อลงมติถอนถอนที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ จะมีสมาชิก สนช. ออกเสียง 3 ใน 5 หรือ 132 เสียง จาก 220 เสียง ลงมติให้ให้มีการถอดถอนก็ไม่ได้มีผลแต่อย่างใด เนื่องจากรัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่บัญญัติฐานความผิดที่จะเอาผิดนั้นได้ถูกยกเลิกไปแล้ว

คำถามต่อไปก็คือ แล้วการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะซ้ำรอยเดิมไหม เพราะตอนนี้ก็ล็อบบี้กันตีนขวิด ทั้งการต่อสู้ในแง่ข้อกฎหมาย ทั้งการตระเตรียมจะขนม็อบมาแสดงพลังข่มขู่อีกต่างหาก

เรื่องนี้ถึงแม้หลายฝ่ายเชื่อว่ากรณีสำนวนคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว น่าจะรัดกุมมากกว่า โดย ป.ป.ช. ระบุฐานความผิดสองฐาน คือ ความผิดตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญฯ 2550 และความผิดตามมาตรา 11 ของพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แต่ก็ใช่ว่าจะทุบกระดอง หักขา “ปู” ได้ง่ายๆ

สำหรับฐานความผิดตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผลคงออกมาไม่ต่างไปจากกรณีถอดถอนนายสมศักดิ์ กับ นายนิคม เหลือเพียงแต่ฐานความผิดตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในแง่มุมของข้อกฎหมายก็มีประเด็นให้ถกเถียงกันว่าจะนำมาเอาผิดได้หรือไม่

นักกฎหมายฝ่ายหนึ่งตีความว่า รัฐธรรมนูญฯ 2550 ที่กำหนดเรื่องการถอดถอนไว้ในมาตรา 270 - 274 ถูกยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่ใช้อยู่ไม่มีมาตราไหนให้อำนาจสนช.ถอดถอน การนำพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช. 2542 และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 2534 มาอ้างประกอบก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดไม่สามารถทำได้ ก็ไม่อาจนำกฎหมายลูกมาอ้างแทนได้

แต่อีกฝ่ายก็ตีความว่า ตามพ.ร.บ.บริหารแผ่นดินฯ ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ยังไงเสีย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ดิ้นไม่หลุดจากข้อหาละเลยไม่ยับยั้งความเสียหายจากโครงการทุจริตจำนำข้าว เหลือเพียงการพิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ "เกี่ยวข้อง" กับการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่

ในประเด็นที่ต้องพิจารณาในฐานความผิดตามพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินที่ นั้น จะพบว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กนข.) ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยตำแหน่งนั้น ตลอดเวลาที่ดำเนินโครงการรับจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม กนข. เลยแม้แต่ครั้งเดียว มีแต่มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือรองนายกฯ คนอื่นๆ ไปทำหน้าที่แทน แม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็ยังเคยไปนั่งเป็นประธานที่ประชุม กนข.

ดังนั้น เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เคยไปนั่งเป็นประธานประชุม กนข. ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ให้ความเห็นชอบในการดำเนินโครงการจำนำข้าว แล้วจะเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินฯ ได้หรือไม่ หากตีความอย่างแคบก็คงเป็นไปได้ว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ถ้าตีความอย่างกว้างก็ไม่รอด

ประเด็นนี้ นายสมชาย แสวงการ สนช. ก็ยอมรับว่าการจะถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการปกป้องตัวเองตั้งแต่ต้น ด้วยการไม่เข้าประชุม กนข. แม้ว่าจะเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้โดยตำแหน่ง โดยมอบหมายให้คนอื่นรับผิดชอบแทน จึงต้องพิจารณาว่าจะสามารถเอาผิดกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่

ตามกำหนดนัดประชุมของสนช. ในเรื่องนี้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ได้บรรจุวาระการประชุม สนช. นัดพิเศษ ในวันพุธที่ 12 พ.ย. 2557 เพื่อพิจารณาสำนวนถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น ณ เวลานี้ จะถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่ ยังต้องลุ้นกันตัวโก่ง และไม่ว่าจะออกหัวหรือออกก้อยรับรองว่าสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงทุกฝ่าย เช่นเดียวกันกับสำนวนคดีอาญาเอาผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ในคดีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2557 มีการพิจารณาร่วมกันในคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช.กับผู้แทนอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งถึงเวลานี้ คงรู้แล้วว่า ผลการประชุมจะออกมาเป็นเช่นใด ทาง อสส. มีคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ฟ้อง และสุดท้ายป.ป.ช.จะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีเองหรือไม่

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าวที่มีตัวเลขขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาทนั้น มันมากมายมหาศาลเกินกว่าที่จะเตะถ่วง เพิกเฉย หรือแถกันต่อไปไม่จบสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อบ้านเมืองอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เบ็ดเสร็จขนาดนี้แล้ว

หากทำอะไรไม่ได้สักอย่าง คนผิดคนชั่วก็ยังลอยนวล ประชาชนในสังคมที่เฝ้าติดตามผลงานของคสช. ก็อาจจะอยากถามขึ้นมาว่า “... มีน้ำยาเหลืออยู่มั้ย”


สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น