xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เรื่องลับๆ ของ “บิ๊กป้อม” ผู้นำลัทธิ “ปรองดอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เวลานี้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำลังเป็น “ศูนย์กลางจักรวาล” ที่มีบทบาทสูงและสำคัญยิ่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

และนับวันยิ่งทวีความเป็น “ดาวฤกษ์” ในตัวเองให้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ไม่ว่าจะขยับตัวไปทางไหน มีเรื่องอะไรเกิดขึ้น ก็มักจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อถนนทุกสายมุ่งหน้าสู่ พล.อ.ประวิตร จงอย่าแปลกใจว่า ทำไมถึงเกิดกระแสข่าวเรื่องที่ พล.อ.ประวิตรจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไป ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่มโนกันไปแบบไม่มีเหตุผล

และดูเหมือนว่า พล.อ.ประวิตรจะอารมณ์ดีเมื่อถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้เสียด้วยซ้ำไป

“ก็ให้มองกันต่อไป จะมองอะไรก็มองกันไป เชิญเถอะครับ ผมเข้ามาช่วยประเทศตามที่นายกรัฐมนตรี ขอร้อง ผมก็ต้องเข้ามาช่วยทำ แต่วันนี้ทุกคนที่เข้ามาทำงานตั้งใจทำงาน อยากให้ประเทศชาติสงบ รวมทั้งสื่อมวลชนจะต้องช่วยกัน ถ้าไม่ช่วยกันก็ลำบาก”พล.อ.ประวิตรตอบคำถามหลังเป็นประธานในพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ 3 เหล่าทัพพร้อมกับหัวเราะ

นี่เป็นคำตอบที่มีนัยสำคัญทางการเมืองยิ่ง ทั้งนัยในเรื่องการเป็นนายกรัฐมนตรีคนถัดไปที่ พล.อ.ประวิตรไม่ปฏิเสธ ซึ่งสอดคล้องกับกระแสข่าวเรื่องการตั้ง “พรรคบูรพา”ที่เล็ดลอดออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งนัยเรื่องการทำให้ประเทศสงบ เพราะไม่ใช่แค่ในวันนั้นที่พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์กล่าวถึงคำว่า ปรองดอง หากแต่ในแทบจะทุกเวทีที่ พล.อ.ประวิตรไป คำว่าปรองดองจะถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอๆ

กระทั่งทำให้มีการประหวัดนึกไปเชื่อมโยงกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

กรณีการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มา ส.ว. โดยมิชอบ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเด็นจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว

กรณีการเดินทางไปประเทศจีนในห้วงจังหวะเวลาเดียวกับที่นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรและนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เหล่านี้คือ ประเด็นที่ล้วนแล้วแต่ถูกเชื่อมโยงไปกับพรรคบูรพาและเก้าอี้ว่าที่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตรทั้งสิ้น

โดยเฉพาะประเด็นการถอนถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเลื่อนการพิจารณาจากเดิมวันที่ 12 พฤศจิกายน 2557 เป็นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ด้วยเหตุผลอันสวยหรูว่า “เพื่อความเป็นธรรม” รวมถึงการถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” ซึ่งเสียงของ สนช.ที่ “รับ” กับ “ไม่รับ” ออกมาก้ำกึ่งกัน กระทั่งเซียนการเมืองฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า หลุดทั้งสองคดี

ที่สำคัญคือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับคดีถอดถอนยิ่งลักษณ์และนิคม-สมศักดิ์ จะไม่มีปัญหาอะไรเลยถ้ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 จะมีบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับอำนาจของ สนช.เอาไว้ชัดเจน

คนร่างรัฐธรรมนูญซึ่งต้องถือว่าเป็นมือชั้นเซียน ระดับเทพเรียกพี่ ไม่รู้หรือว่า สนช.มีภารกิจในเรื่องนี้รออยู่เบื้องหน้า

และเป็นไปไม่ได้ถ้าจะตอบว่า ไม่รู้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ผมไม่ทราบว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้พิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดหรือไม่ แต่ผมได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีปัญหาในประเด็นนี้เพราะหากต้องการจะสร้างความชัดเจน ต้องไปเขียนเป็นบทเฉพาะกาลว่า เรื่องที่เป็นอาจของวุฒิสภาในกระบวนการตามรัฐธรรมนูญเดิมให้ทำอย่างไร ซึ่งสามารถระบุชัดได้ว่า สนช.สามารถทำได้ หรือทำไม่ได้ หรืออาจจะเขียนว่า รอจนกว่าจะมีวุฒิสภาในอนาคตมาทำ แต่การไม่ระบไว้ จึงทำให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งได้...”

ถามว่า ทำไมรัฐธรรมนูญถึงไม่เขียนไว้

คำตอบมีเพียงประการเดียวคือ “ปรองดอง” ใช่หรือไม่

และคำว่าปรองดองนี้เองจึงถูกนำไปเชื่อมโยงเส้นทางเข้าสู่อำนาจของ พล.อ.ประวิตร หลัง คสช.คืนอำนาจและเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามโรดแมปที่วางเอาไว้

แน่นอน พรรคการเมืองที่จะตั้งขึ้นจะไม่มีวันเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เลย ถ้าไม่มีการ “ดูด” นักการเมืองเก่าๆ เข้ามาร่วม ซึ่งนั่นเป็นสูตรสำเร็จทางการเมืองที่ปรากฏให้เห็นมาในทุกยุคทุกสมัย

ทั้งนี้ เมื่อทอดสายตาดูทั้งแผ่นดินก็จะเห็นว่า พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะไหลมารวมกันหรือจับมือประสานเป็นพันธมิตรทางการเมืองร่วมกันผ่านคอนเนกชันทางการเมืองอันแนบแน่น

เนวิน ชิดชอบ อนุทิน ชาญวีรกูล บรรหาร ศิลปอาชา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ฯลฯ

นี่คือตัวละครที่เห็นชัดแจ้งว่าพร้อมจะร่วมมือกับกลุ่มอำนาจใหม่

ขณะเดียวกัน นอกจากพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่จากขั้วของพรรคเพื่อไทยและขั้วของพรรคประชาธิปัตย์ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ทำอย่างไรถึงจะดูดให้มาร่วมงานกันได้

ทำอย่างไรถึงจะประสานมือในการเป็นพันธมิตรทางการเมืองร่วมกันได้

เพราะถ้าทั้งสองพรรคยังดำรงอยู่เช่นเดิม โอกาสที่พรรคการเมืองใหม่ๆ จะเบียดแทรกเข้ามาก็เป็นไปได้ยากยิ่ง

นี่เป็นสมการการเมืองที่ต้องแก้ให้ตกถ้าต้องการเป็นใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้

ฟากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นที่รับรู้กันว่าโอกาสที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณจะกลับไปร่วมสังฆกรรมนั้นเป็นไปได้ยาก และแม้จะกลับไป โอกาสที่พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ริบหรี่ เพราะเที่ยวนี้ไม่มีกองกำลังพิเศษสีเขียวเป็นธุระจัดการให้ ดังนั้น หลวงลุงกำนันจึงต้องหาทางเลือกและหาทางออกให้กับเพื่อนพ้องน้องพี่ของตัวเอง

การที่หลวงลุงกำนันเดินสายปกป้องรัฐบาลทหารอย่างสุดความสามารถในทุกรูปแบบเท่าที่จะทำได้ในขณะนี้ คือเส้นทางการเมืองสายใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น...ใช่หรือไม่

หลวงลุงกำนันช่างล้ำลึกนัก

ส่วนฟากพรรคเพื่อไทยนั้น ตราบใดที่นักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรยังกุมบังเหียน เปอร์เซ็นต์ที่พวกเขาจะชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งจึงมีสูงยิ่ง ดังนั้น ถ้า พล.อ.ประวิตรจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง จึงมิอาจไม่เจรจากับนายใหญ่

แม้ พล.อ.ประวิตรจะปฏิเสธเสียงแข็งในการเดินทางไปเยือนจีนว่า ไม่ได้พบกับนักโทษชายหนีคดีทักษิณ และไม่มีหลักฐานอันใดมายืนยัน แต่ข่าวหลายกระแสจากหลายสำนักก็ยืนยันตรงกันว่า มี “ว.5”

ไม่เช่นนั้น “กวน มู่” อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยคงไม่ไปให้การต้อนรับสองพี่น้องตระกูลชินวัตรชนิดไม่กลัวความบาดหมางที่จะเกิดขึ้นกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่มีอำนาจรัฐฏาธิปัตย์อยู่ในมือ

มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า มีการยื่นข้อเสนอให้ระบอบทักษิณ-ตระกูลชินวัตรเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 2 สมัย เพราะถ้าไม่เว้นวรรคประเทศก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ ความขัดแย้งก็จะกลับมาและการชุมนุมก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง แต่ถูกนักโทษชายหนีคดีตอบปฏิเสธ เพราะกลัวจะหายไปจากสาระบบการเมืองแบบถาวร ขณะเดียวกันก็มั่นใจว่า จะสามารถชนะการเลือกตั้งและกลับมาเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้ไม่มีการขุดรากถอนโคนระบอบทักษิณ

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ทำให้คดีความต่างๆ หยุดชะงักและไม่มีความคืบหน้าให้เห็น คดีทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าวยังหยุดนิ่งอยู่กับที่และไม่มีบทสรุป

คดีถอดถอน “นิคม-สมศักดิ์” คดีถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” ก็ชัดเจนแล้วว่ากำลังมีความพยายามที่จะยื้อยุดชุดกระชาก และมีความเอื้ออาทรจาก สนช. อย่างเต็มที่

ทุกอย่างอยู่ระหว่างการเจรจาต่อรอง ใช่หรือไม่

ทุกอย่างอยู่ระหว่างการหาบทสรุปให้เป็นที่น่าพอใจร่วมกัน ใช่หรือไม่

เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ต้องการหักด้ามพร้าด้วยเข่า เนื่องจากยังมี “แต้มต่อ” ซึ่งกันและกัน

ระบอบทักษิณมีแต้มต่อในเรื่องฐานมวลชนที่จะนำชัยชนะมาสู่การเลือกตั้ง

ขณะที่กลุ่มอำนาจใหม่มีกล่องดวงใจของระบอบทักษิณในคดียิ่งลักษณ์เป็นตัวประกัน

เกมการเมืองของไทยกำลังเดินไปในท่วงทำนองของการเจรจาต่อรองและการปรองดองในลักษณะที่ฝรั่งใช้คำว่า WIN-WIN ทั้งสองฝ่าย

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมาในหัวข้อ “ระวังตกกับดักคนดี” ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่ต้องบอกว่า น่าสนใจและเป็นปริศนาที่ชวนให้ขบคิดเป็นอย่างยิ่ง

“ในอดีตเราขัดแย้งกัน 2 เรื่อง คือเรื่องประชาธิปไตย จนเป็นที่มาของวาทะไพร่-อำมาตย์ และเรื่องความยุติธรรม จนเป็นที่มาของวาทะความยุติธรรม 2 มาตรฐาน ยุคนี้ เพื่อแก้ปัญหาจึงมีความเห็นว่า เราต้องเลือกคนดีให้มีโอกาสเข้าไปบริหารประเทศ แต่ดูๆเหมือนเราจะตกกับดักคนดีเข้าให้แล้ว เพราะจริงๆแล้วคนดีคือคนอย่างไร มันไม่มีมาตรวัดหรือตาชั่งวัดว่าความดีมันควรจะหนักเท่าไหร่,กว้างยาวเท่าไหร่ คนดีในสายตาของคนกลุ่มหนึ่ง อาจเป็นคนชั่วในสายตาของคนอีกกลุ่มก็ได้

“ความจริงภาวะกระหายคนดีมิใช่เพิ่งเกิด มันเกิดและเป็นมานานแล้ว แต่ดูเหมือนเรายังกระหายคนดีอยู่ตลอดเวลา วันพระหน้าเห็นทีจะต้องหิ้วปิ่นโตไปถามท่านมหาที่วัดข้างบ้านซะหน่อย ท่านเพิ่งได้เปรียญ 9 ประโยคมาหมาดๆ เผื่อท่านสนใจการเมือง ปีหน้าจะได้ขอให้ท่านสึกหาลาเพศมาสมัครผู้แทน บ้านเราจะได้ไม่ต้องกระหายคนดีกันอีกต่อไป”

ไม่รู้ว่ารองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หมายถึงใคร แต่เป็นถ้อยคำที่ว่า “ระวังตกกับดักคนดี” ดูเหมือนจะกระตุกต่อมคิดทางการเมืองของคนในสังคมได้เป็นอย่างดีทีเดียว

วันนี้....คนไทยและสังคมไทยมีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้นกันหรือยัง


กำลังโหลดความคิดเห็น