xs
xsm
sm
md
lg

ระวังจะ ’เละกว่าบัง’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โสภณ องค์การณ์
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์

ถ้าไม่หลอกตัวเองจนเกินไป ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ปัจจุบันสำหรับท่านผู้นำอยู่ในขั้น “ไปต่อยาก” จริงๆ แม้การเมืองจะมีแรงกระเพื่อมบางครั้ง ยังไม่น่าหนักใจ ตราบใดที่อำนาจกฎอัยการศึกยังใช้เป็นมาตรการป้องปรามได้

ถ้าหนักข้อกว่านั้น ยังมีกลไกกฎหมายนำไปสู่คดีขึ้นศาลทหาร ด้วยเหตุนี้แหละจึงแทบไม่เห็นลู่ทางว่ารัฐบาลจะได้จังหวะยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะจะนำไปสู่การปะทุของเหตุต่างๆ ทั้งการเมือง โยงปัญหาจากเศรษฐกิจ

นั่นจะขยายตัวเป็นปัญหาสังคมรุนแรง เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบ!

ปัญหาหนักใจจนเข้าขั้นวิกฤตอยู่ในภาคเศรษฐกิจ ซึ่งจมอยู่ในสภาวะซบเซาซึมลึก ประชาชนรายได้น้อยจนถึงปานกลางขาดอำนาจการซื้อเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ซึ่งเป็นรายการใหญ่ของคนทั่วไป

กว่าจะปลดเปลื้องภาระหนี้สินของ 2 รายการนี้ได้ ต้องทำให้ผู้ซื้อขาดเงินในการใช้จ่ายสำหรับส่วนอื่นๆ เว้นแต่กลุ่มผู้มีรายได้มากพอ หรือมนุษย์เงินเดือนเพื่อสันทนาการคงระดับคุณภาพชีวิต มีกินมีใช้สบายๆ ไม่เดือดร้อน

ปัญหาสำคัญคือ “ความเชื่อมั่น” ประชาชนผู้มีรายได้น้อยย่อมไม่มีโอกาสได้ประหยัดมากกว่าที่เป็นอยู่ ยิ่งต้องการหารายได้เพิ่มจากงานพิเศษ ซึ่งหาไม่ได้ง่ายในสภาวะเศรษฐกิจซบเซา ผู้มีรายได้ปานกลางก็ระวังการใช้จ่าย

นั่นเป็นเพราะว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่นิ่ง ไม่มีสัญญาณชัดว่าความสงบเรียบร้อยขณะนี้เป็นของจริงและยั่งยืน เพราะกลุ่มก่อหวอดเดิมๆ ถูกสงสัยว่ายังอยู่ในสภาพ “แกล้งตาย” กบดานนิ่ง รอสัญญาณจาก “นายใหญ่” เท่านั้น

ท่านผู้นำได้ห่างบ้านไปหลายวันช่วงการประชุมเอเปกและสุดยอดผู้นำอาเซียน มีโอกาสได้กระทบไหล่กับผู้นำมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ ได้รับรู้แนวคิดต่างๆ น่าจะช่วยให้รับรู้ว่าประชาคมโลกมองสังคมไทยอย่างไร

เราถูกมองว่าเป็นรัฐไร้ประชาธิปไตย กลายเป็นตัวประหลาดหรือไม่? การที่ท่านผู้นำได้รับรู้ สัมผัสปฏิกิริยาความรู้สึกจากผู้นำชาติอื่นๆ น่าจะเป็นตัวช่วยให้คิดว่าตัวท่านเองควรทำอย่างไรในการทำงานเพื่อบ้านเมืองเต็มที่

หรือยังมีแนวคิด การปฏิบัติตามธรรมเนียมแบบไทยๆ ว่าเรื่องพี่ๆ น้องๆ พวกพ้องเป็นความสำคัญต้องเกรงอกเกรงใจ ไว้หน้า ความมั่นคงของชาติเป็นรอง เพราะแนวคิดเช่นนี้กำลังนำพาบ้านเมืองเข้าสู่วิกฤตอย่างใหญ่หลวง

ความเกรงใจรุ่นพี่ เพื่อนพ้อง ทำให้ไม่นำพาต่อการใช้อำนาจ อิทธิพลในทางที่ผิดโดยกลุ่มผลประโยชน์ซึ่งกำลังเร่งมือกอบโกยหนัก เพิ่มความมั่งคั่ง เห็นทรัพย์สินแผ่นดินเป็นอาหารโอชะเพื่อเปิบหนัก หรือเร่ขายให้ต่างชาติ

อยู่ในอำนาจนานกว่า 6 เดือน เห็นได้ชัดว่าเศรษฐกิจของบ้านเมืองกลับซบเซาลงอย่างน่ากังวลว่าจะนำไปสู่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ต้องใช้มาตรการกระตุ้น เช่นอัดฉีดเงิน ลดดอกเบี้ย ส่งเสริมการใช้จ่ายกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ

ถ้าเป็นคนไข้ เศรษฐกิจของไทยเกือบต้องถูกให้เข้าห้องไอซียูแล้ว ช่วงนี้ต้องโด๊ปยาขนานใหญ่ก่อนชีพจนจะอ่อนเปลี้ยไปมากกว่านี้ ว่ากันตรงๆ ตราบใดที่ยังไม่เห็นวี่แววว่าอะไรๆ ในบ้านเมืองจะดีขึ้น คนยังไม่กล้าใช้เงินก้อนใหญ่

ไม่กล้าซื้อบ้าน ซื้อรถ ทนอยู่กับสภาพเดิม เก็บเงินไว้ก่อน ไม่เพิ่มหนี้!

เห็นได้ชัดว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่ในสภาพ “มือไม่ถึง” แม้ปัญหาปัจจุบันไม่ต่างจากที่เคยเกิดขึ้นมาหลายยุค แต่องค์ประกอบ สภาพแวดล้อม ทรัพยากรต่างๆ แตกต่างกัน รวมทั้งความตั้งใจ จิตสำนึกทำงานเพื่อชาติ

ปัญหาแบบนี้ แม้ “มือถึง” แต่วางตำแหน่งผิดฝาผิดตัว ติดขัดนั่นนี่โน่น ย่อมทำให้เรื่องง่ายๆ พอแก้ไขได้ กลายเป็นเรื่องยาก มีเสียงร่ำลือว่ารองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจทำงานไม่สะดวก ติดๆ ขัดๆ เพราะไม่มีอำนาจขับเคลื่อนเต็มที่

ยังไม่เห็นเสนาบดี มือเศรษฐกิจ แสดงวิสัยทัศน์ในการจัดการปัญหา มีแต่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่ละวันผ่านไปขอเพียงอย่าให้มีเรื่องฉาวโฉ่เกิดขึ้นก็บุญโขแล้ว ยิ่งผู้นำรัฐบาลอยู่ในสภาพอึดอัด ติดขัดเรื่องพี่ๆ น้องๆ

อาการ “ถอดใจ” อยากโบกมืออำลา น่าจะปรากฏชัดในระยะ 2 เดือนจากนี้ไป แต่จะนำไปสู่การเปลี่ยนตัวผู้กุมอำนาจบ้านเมืองหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับของวิกฤต ฟางเส้นสุดท้ายคือการเหิมเกริมของกลุ่มที่ยังขี่คอผู้นำอยู่

ตัวถ่วงสำคัญของท่านผู้นำก็คือ ไม่ยอมใช้อำนาจเพื่อจัดการแก้ไขวิกฤตของชาติ ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธา ความเชื่อมั่น ดังเช่นพิธีกรรมในสถาบันนิติบัญญัติ การปฏิรูป การไต่สวนเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นต้นตอ

ถ้าหวังใช้พิธีกรรมในสถาบันต่างๆ ก็คงมีแต่ความล้มเหลว ตัวเองมีองค์กรเปี่ยมด้วยอำนาจ แต่ไม่ใช้อำนาจ หวังยืมมือสมาชิก สนช. สปช. ให้จัดการงานต่างๆ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญ จะมีแต่ความล้มเหลวและ “เกี้ยเซี๊ยะ”

ความกล้าหาญพึงกระทำก่อนตัวเองจะอยู่ไม่ได้คือ ปรับคณะรัฐมนตรี เอาตัวปัญหา ตัวถ่วง ตัวขี่คอออกไปให้หมด เลือกคนมีความสามารถ สังคมเชื่อถือมาทำงาน เห็นแก่ผลประโยชน์ของบ้านเมืองมากกว่ารุ่นพี่ รุ่นน้อง

ใช้ความศรัทธาเชื่อมั่นของประชาชนเป็นฐานอำนาจ เลิกเห็นแก่พวกพ้อง ตามใจตัวเองด้วยการเลือกคนดีมาช่วยทำงาน จึงจะอยู่รอด ถ้ายังอิหลักอิเหลื่อ ขาดความกล้าหาญ บอกได้แต่ว่าหนทางข้างหน้ามีแต่วิกฤต

ระวัง! จาก คมช. ยุค “บังเละ” จะนำไปสู่ คสช. ยุค “เละกว่าบัง”


กำลังโหลดความคิดเห็น