“ทนายปู” หัวหมอร่อนหนังสือถ่วง สนช.ถกปมถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” อ้างเพิ่งกลับจากเมืองนอก ยังไม่ได้สำนวน ป.ป.ช.มาทำการบ้าน ด้าน “พีระศักดิ์” รับลูกทันควัน จ่อใช้มติวิป สนช.เลื่อน ระบุต้องให้ความเป็นธรรม ส่วน “หมอเจตน์” รับเลื่อนแน่ แต่ไม่ควรถึง 30 วันตามที่จำเลยร้องขอ ขีดเส้นเสนอบรรจุใหม่นับจาก 15 วันที่ได้รับหนังสือ โอดงานถอดถอนยุ่งยาก วอน ปชช.เข้าใจ ส่วนคดี “สมศักดิ์- นิคม” นัดถก 27 พ.ย.นี้ ทางด้านชาวนาฉะผู้ส่งออกไม่ทำตามข้อตกลง เซ็งรัฐโอ๋แต่พ่อค้า แฉ “พาณิชย์” ดิ้นอัพราคาข้าว-ดันส่งออก ตั้งเป้า 3 ล้านตัน
วานนี้ (10 พ.ย.) นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และที่ปรึกษากฎหมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมทนายความได้รับหนังสือด่วนจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่สำนักเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงวันที่ 7 พ.ย.57 เรื่องขอเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือตัวแทน เข้าประชุม สนช.ในวันที่ 12 พ.ย. เพื่อชี้แจงเหตุผลการขอให้ สนช.เลื่อนวาระการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวในวันดังกล่าวออกไป ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้มอบให้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความเป็นผู้ไปชี้แจงเหตุผลต่อที่ประชุม สนช.แทน โดยเหตุผลที่ขอเลื่อนเนื่องจากข้อบังคับการประชุมระบุว่า สนช.ต้องส่งเอกสารและสำนวนการถอดถอนให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ศึกษาสำนวนล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันประชุมนัดแรก หรือวันที่ 12 พ.ย. แต่ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้รับสำนวนถอดถอนจาก สนช.เลย ถ้าจะนับระยะเวลา 15 วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องได้สำนวนถอดถอนมาศึกษาก่อนวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา
“ทนายปู” ปัดประวิงเวลา
นายพิชิต กล่าวต่อว่า การที่ สนช.ยังไม่ส่งสำนวนถอดถอนให้ผู้ถูกกล่าวหา ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้รับผลกระทบ ขาดโอกาสตรวจสอบและศึกษาสำนวนล่วงหน้า ซึ่งสำนวนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีนี้มีเป็นพันๆหน้า แต่ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่เคยเห็นสำนวนของ ป.ป.ช.เลย จึงต้องมีระยะเวลาเพียงพอมาศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมข้อมูลไว้ใช้ในการแถลงเปิดคดี จะได้ทราบว่า จะต้องเตรียมขอเพิ่มเติมพยานบุคคลและพยานเอกสารในส่วนใดบ้าง ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องยื่นพยานในส่วนนี้ให้ที่ประชุม สนช.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วัน ก่อนการเปิดประชุมนัดแรกในวันที่ 12 พ.ย. ไม่ใช่ก่อนวันแถลงเปิดคดีตามที่ สนช.บางคนระบุ แต่เมื่อสนช.ไม่ดำเนินการตามข้อบังคับการประชุม ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียโอกาส และเสียสิทธิในการรับทราบข้อมูล
“ยืนยันว่า ไม่ใช่การประวิงเวลา เพราะสิ่งที่ขอไปก็ไม่ได้เกินไปกว่าเรื่องที่อยู่ในข้อบังคับการประชุม ไม่อยากให้ สนช.มาขอยกเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุม เพื่อไม่ต้องส่งสำนวน ป.ป.ช.ให้ผู้ถูกกล่าวหารับทราบก่อน 15 วัน หากไปทำเช่นนั้นถือว่า ไม่อำนวยความยุติธรรมให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และจะถูกมองว่า เร่งรีบรวบรัดพิจารณาคดี” นายพิชิต กล่าว
รอง ปธ.สนช.เด้งรับลูก
ด้าน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. กล่าวว่า ในวันที่ 11 พ.ย. เวลา 13.30 น. ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะพิจารณาคำร้องขอของทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า จะให้เลื่อนการพิจารณาในวันที่ 12 พ.ย.ออกไปเป็นเวลา 30 วันหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่าควรให้เลื่อนออกไปก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรม เนื่องจากมีข้อเท็จจริงเห็นชัดเจนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศ จึงยังไม่ได้รับสำนวน ป.ป.ช.จาก สนช.ไปศึกษา ดังนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้สู้คดีอย่างเต็มที่
“ข้อบังคับการประชุมสนช.ระบุว่า จะต้องส่งสำนวน ป.ป.ช.ให้ผู้ถูกกล่าวหาไปศึกษาไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันประชุมนัดแรก เท่าที่ดูแนวโน้มคงจะให้เลื่อนการประชุมวาระการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 12 พ.ย.ออกไปก่อน แต่จะให้เลื่อนกี่วัน คงต้องหารือกันอีกครั้ง” นายพีระศักดิ์ ระบุ
“หมอเจตน์” เหน็บ “ทนายปู” เจ้าเล่ห์
ขณะที่ น.พ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิก สนช.ในฐานะโฆษกวิป สนช.กล่าวว่า ทราบข่าวว่าทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่งหนังสือขอเลื่อนการพิจารณาสำนวนถอดถอนออกไปโดยอ้างว่า ยังไม่ได้รับเอกสาร ซึ่งในข้อบังคับเขียนว่าทางผู้ถูกร้องจะต้องได้รับเอกสารสำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่า 15 วัน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับหนังสือวันไหน โดยทราบว่า นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธาน สนช.ได้ลงนามในหนังสือที่ส่งถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.57 แต่ก็อาจมีการโต้แย้งว่าการนับระยะเวลา 15 วัน จะนับจากวันที่ส่งหนังสือออกไป หรือวันที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับหนังสือ ซึ่งทีมทนายความก็คงหาช่องทางต่อสู้เพื่อถ่วงเวลาออกไป สิ่งที่ สนช.ต้องพิจารณาคือข้อเท็จจริงประกอบกับข้อบังคับ โดยให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย
“โดยส่วนตัวเห็นว่า หากมีการเลื่อนการพิจารณาออกไป ในการประชุมวันที่ 12 พ.ย.นี้ ก็จะต้องมีการกำหนดวันพิจารณาสำนวนถอดถอนใหม่ด้วยว่าจะเป็นวันใด โดยควรนับจากวันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับหนังสือ 15 วัน ตามที่ข้อบังคับกำหนดไม่ควรเกินไปกว่านั้น ส่วนที่มีการขอให้เลื่อนไป 30 วันนั้น ก็คงต้องพิจารณาว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ด้วย ซึ่งหากที่ประชุมใหญ่เห็นด้วย ว่าให้เลื่อนการพิจารณาออกไปในการประชุมวันนั้นก็จะพิจารณาร่างกฎหมายแทน" น.พ.เจตน์กล่าว
บ่นถอดถอนไม่คืบ วอน ปชช.เข้าใจ
น.พ.เจตน์ กล่าวยอมรับด้วยว่า กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของ สนช.ประสบกับความยุ่งยาก อย่างในกรณีของ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ในวันที่ 27 พ.ย.นี้ก็เกิดความล่าช้า โดยจะเป็นการพิจารณากำหนดวันและขั้นตอนในกระบวนการถอดถอนในวันดังกล่าวด้วย ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีปัญหาเรื่องความกระชั้นชิดของเวลา ซึ่ง สนช.ทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว เพราะอยู่ตรงกลางระหว่าง ป.ป.ช.กับผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจการทำงานของ สนช.ด้วย
ชาวนาโวยอุ้มแต่พ่อค้า
อีกด้าน นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ส่งออกไม่ยอมรับซื้อข้าวสารหอมมะลิจากโรงสีในราคาที่ตกลงกันไว้ และส่งผลให้โรงสีไปกดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาอีกต่อว่า หากเป็นเช่นนั้นจริง จะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกหอมมะลิที่ชาวนาจะขายได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามาดูแล และทำให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อป้องกันผลกระทบกับชาวนา ทั้งนี้ ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิในปัจจุบันยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท โดยราคาอยู่ที่ตันละ 1.2-1.3 หมื่นบาท เพราะเป็นข้าวที่มีความชื้นสูง เนื่องจากฝนตก ซึ่งชาวนายอมรับได้ แต่ในระยะต่อไป ชาวนาคาดหวังว่า ราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นตามที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าเอาไว้
สำหรับกรณีที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ส่งออกมากกว่าโรงสีและชาวนานั้น นายประสิทธ์ กล่าวว่า รัฐควรจะบริหารจัดการและให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้าวทุกภาคส่วน จะช่วยเหลือส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นพิเศษไม่ได้ โดยเฉพาะการกำหนดนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับข้าว ที่ผ่านมา เห็นว่าจะมีแค่ผู้ส่งออกเท่านั้น ที่ได้รับความเอาใจใส่ดูแล แต่โรงสีกับชาวนารัฐไม่ค่อยให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่ารัฐได้ตั้งให้ผู้ส่งออกเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) แต่ไม่มีตัวแทนจากโรงสี และชาวนา เข้าไปเป็นกรรมการด้วย ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จริง ก็ยิ่งถือว่าเลือกปฏิบัติ
พณ.ดิ้นดันยอดส่งออกข้าว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนที่จะผลักดันราคาข้าวเปลือกภายในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจะเร่งรัดการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อระบายผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาด มีเป้าหมายผลักดันส่งออกให้ได้ประมาณ 3 ล้านตัน ทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง และปลายข้าว เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อว่าหากทำได้ตามแผน จะช่วยให้ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น
โดยตามเป้าหมายการผลักดันส่งออก 3 ล้านตัน แยกเป็นการส่งออกข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง และปลายข้าว ไปยังตลาดแอฟริกา และตะวันออกกลางเป้า 2 ล้านตัน ตลาดจีน จะเน้นข้าวหอมมะลิฤดูกาลใหม่ เพื่อช่วยดึงราคาภายในประเทศให้สูงขึ้น ตั้งเป้า 3 แสนตัน รวมถึงผลักดันไปยังตลาดฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่นิยมข้าวหอมมะลิอีก 2 แสนตัน ส่วนที่เหลือ จะเน้นตลาดอาเซียน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตั้งเป้า 7 แสนตัน มีทั้งข้าวหอมมะลิและข้าวขาว
ทั้งนี้ หากสามารถผลักดันส่งออกได้ตามเป้า บวกกับมาตรการดึงราคาข้าวที่กำลังดำเนินการอยู่ ทั้งการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าว 3% ในการเก็บสต๊อกข้าว 6 ล้านตัน การจัดตลาดนัดข้าวเปลือกของกระทรวงพาณิชย์ใน 56 จังหวัด จำนวน 240 ครั้ง และการให้สินเชื่อเพื่อเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง จะช่วยให้ราคาเป็นไปตามที่กำหนดไว้ โดยข้าวเปลือกเจ้า 5% จะอยู่ที่ตันละ 8,500 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 13,000 บาท