xs
xsm
sm
md
lg

โรงสีโวยส่งออกกดราคาข้าว ฉีกหน้ารมว.พาณิชย์ โอ๊คพ่นป้องปูโดนรุม!คดีโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐมนตรีพาณิชย์เหลว ดันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิไม่สำเร็จหลังผู้ส่งออกฉีกข้อตกลง กดราคาซื้อข้าวจากโรงสี ทำให้โรงสีซื้อข้าวจากชาวนาได้แค่ตันละ 1.3 หมื่นบาท จากเป้า 1.5-1.6 หมื่นบาท โรงสีโวยผู้ส่งออกฟันส่วนต่างตันละเกือบ 200 เหรียญ ส่วนนิด้าโพลชี้จำนำข้าวเสียหายมากกว่า 7 แสนล้าน “พานทองแท้” โผล่ถามความเป็นธรรม ป้อง “ปู” คดีจำนำข้าว ไล่ “รัฐบาล-กปปส.” ไปกดดัน ป.ป.ช.ให้สางคดี ปรส.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการโรงสีได้ร้องเรียนมายังกระทรวงพาณิชย์ว่าผู้ส่งออกข้าวได้กดราคารับซื้อข้าวหอมมะลิจากโรงสี ซึ่งเป็นราคาส่งมอบกลางเดือนธ.ค.2557 ในราคาตันละ 2.4 หมื่นบาท หรือกิโลกรัม (กก.) ละ 24 บาท ทำให้โรงสีต้องไปรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากชาวนาในราคาตันละ 1.3 หมื่นบาท หรือกก.ละ 13 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามแนวทางที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือผู้ส่งออกและโรงสี ให้รับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากชาวนาไม่ต่ำกว่าตันละ 1.5 หมื่นบาท หรือกก.ละ 15 บาท

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการตกลงร่วมกันในการผลักดันราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังสมาชิกสมาคมฯ ให้เสนอซื้อข้าวสารหอมมะลิจากโรงสีในราคาตันละ 2.9 หมื่นบาท หรือกก.ละ 29 บาท เพื่อให้โรงสีไปซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลใหม่ปี 2557/58 จากชาวนาในราคาไม่ต่ำกว่าตันละ 1.5 หมื่นบาท หรือกก.ละ 15 บาท แต่เมื่อผู้ส่งออกไม่ทำตามข้อตกลง และมากดราคาซื้อข้าวจากโรงสี ทำให้โรงสีไม่สามารถซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่กำหนดได้

“การที่ผู้ส่งออกมากดราคาซื้อข้าวจากโรงสี ทำให้โรงสีไม่มีทางเลือก จึงต้องไปกดราคาซื้อข้าวจากชาวนาอีกต่อหนึ่ง ทำให้ราคาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท เพราะหากโรงสีซื้อในราคาที่กำหนดก็ต้องประสบกับภาวะขาดทุน จึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์กำหนดราคาแนะนำในการรับซื้อข้าวให้ชัดทั้งข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวสารหอมมะลิ เพราะถ้าไม่กำหนดราคาขั้นต่ำเอาไว้ หากผู้ส่งออกไม่ทำตาม โรงสีก็ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาที่กำหนดไม่ได้”

นอกจากนี้ แม้จะมีการรับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิที่ยุ้งฉาง เพื่อให้ชาวนาเก็บข้าวเปลือกสต๊อกเอาไว้ก่อน แต่ในขณะนี้ เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และชาวนามีการเก็บเกี่ยวข้าวแบบใช้รถไถ ทำให้มีผลผลิตออกมาพร้อมกันเป็นจำนวนมาก และข้าวยังมีความชื้นสูง และเก็บไว้ในยุ้งฉางไม่ได้ เพราะอาจเกิดความเสียหายได้ จึงต้องเร่งขาย ราคาก็ยิ่งตกต่ำ

***โรงสีโวยส่งออกได้ราคาดีแต่กดซื้อ

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงสี กล่าวว่า ราคาที่ผู้ส่งออกรับซื้อข้าวสารหอมมะลิอยู่ที่ 2.4 หมื่นบาท/ตันนั้น ทอนออกมาเป็นราคาเอฟโอบีอยู่ที่ 724 เหรียญสหรัฐ/ตัน แต่ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิในตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 915 เหรียญสหรัฐ/ตัน ผู้ส่งออกได้กำไรจากส่วนต่างตรงนี้เกือบ 200 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งจริงๆ แล้ว น่าจะมาช่วยรับซื้อข้าวในราคาตามที่กำหนดได้ ไม่ใช่อ้างเหตุผลเรื่องตลาดผู้ซื้อชะลอการซื้อข้าว แล้วมากดราคารับซื้อภายในประเทศ

สำหรับรายละเอียดของหนังสือเรื่องข้อเสนอโครงการดูแลราคาข้าวหอมมะลิใหม่ ฤดูกาลนาปี 2557/58 ที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยจัดทำให้และแจ้งไปยังสมาชิกนั้น กำหนดให้สมาชิกสมาคมฯ ที่เคยเข้าร่วมโครงการข้าวหอมมะลิใหม่ภาคอีสานและภาคเหนือ เสนอซื้อข้าวหอมมะลิใหม่ฤดูนาปี 2557/58 เพื่อการส่งออกจากโรงสีในราคา 29 บาท/กก. ส่งถึงหน้าโกดังผู้ส่งออก และต้องได้รับการยืนยันจากโรงสีในการรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิจากชาวนาไม่ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท/ตัน ในข้าวความชื้น 15%

***ได้อีกเด้งรัฐเอาข้าวในสต๊อกชดเชย

อย่างไรก็ตาม หากราคาข้าวสารหอมมะลิต่ำกว่า 29 บาท/กก. จะขอให้รัฐจ่ายชดเชยตามจริงจากสต๊อกที่มีอยู่ ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2557 ของแต่ละราย โดยคำนวณจากราคาข้าวสารกรมการค้าภายในเฉลี่ยทุกวันศุกร์ของเดือนพ.ย.-ธ.ค. และส่วนต่างราคาดังกล่าวจะจ่ายชดเชยเป็นข้าวในอัตราต่อไปนี้ คือ ข้าวสารขาว 5% ปี 2556/57 ราคา 11 บาท/กก. ข้าวสารขาว 5% ปีก่อนหน้า 2556/57 ราคา 10.50 บาท/กก. ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 2 ปี 2556/57 ราคา 27 บาท/กก. โดยระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 พ.ย.-30 ธ.ค.2557 ซึ่งหลักในการปฏิบัติดังกล่าวผู้ส่งออกและโรงสีต่างต้องสมัครใจเข้าสู่โครงการเพื่อจับคู่ส่งมอบสินค้าซึ่งกันและกัน

***ตั้งกรรมการสอบเอาผิดโกงข้าวถุง

นางจินตนา ชัยยวรรณาการ ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ดอคส.) กล่าวถึงผลการตรวจสอบการทุจริตโครงการการผลิตข้าวสารบรรจุถุงเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในยุครัฐบาลที่ผ่านมาว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการผลิตข้าวสารบรรจุถุงเพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่มีนายสมชาติ สร้อยทอง อดีตอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นประธานได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น และนำเสนอผลดังกล่าวต่อพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ไปแล้วนั้น ล่าสุด ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบวินัย โดยมีตัวแทนจากบอร์ดอคส. กรมบัญชีกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อสอบวินัยเจ้าหน้าที่อคส.ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวแล้ว
“ผลสอบของคณะกรรมการชุดที่นายสมชาติชี้มูลมาว่ามีผู้เกี่ยวข้องหลายราย ทั้งภาคเอกชนที่เข้ามาปรับปรุงและผลิตข้าวถุง 6 ราย และเจ้าหน้าที่ อคส. ตั้งแต่ระดับสูงลงไปถึงระดับล่างอีกประมาณ 10 ราย ซึ่งคณะกรรมการสอบวินัย จะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่คณะกรรมการชุดนายสมชาติชี้มูลมา ถ้าพบว่า คนอคส.ผิดจริง นอกจากจะมีความผิดทางอาญา ทางแพ่งแล้ว ยังจะมีความผิดทางวินัย โดยการยักยอกทรัพย์สินของหลวงถือเป็นความผิดวินัยร้ายแรง มีโทษให้ออกสถานเดียว เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง”

***รับสาวถึงการเมืองที่บงการได้ยาก

นางจินตนากล่าวว่า กรณีผู้บริหาร อคส. 1 ราย ที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการผลิตข้าวถุง และถูกสั่งพักงานไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ และไม่ต้องการให้ผู้บริหารรายนี้ครอบงำเจ้าหน้าที่ อคส. ราย อื่นๆ หรือบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการได้นั้น ต้องเชิญมาให้ปากคำเช่นกัน เพื่อให้ความเป็นธรรม เพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินว่าผู้บริหารรายดังกล่าวมีความผิดจริงหรือไม่ แต่ยอมรับว่า การดำเนินการกับคนผิด คงจะดำเนินการได้กับเฉพาะเจ้าหน้าที่อคส. และภาคเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเท่านั้น ส่วนฝ่ายการเมืองที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย คงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานมัดตัวที่จะเอาผิดได้

ทั้งนี้ ได้สั่งการคณะกรรมการตรวจสอบวินัยไปแล้วว่าให้ดำเนินการตรวจสอบอย่างเร็วที่สุด คาดว่า ภายใน 1 เดือนน่าจะทราบผล
สำหรับการตรวจสอบดังกล่าว เกิดขึ้นจากที่นายยรรยง พวงราช อดีตรมช.พาณิชย์์ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะ กรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการจัดทำข้าวสารบรรจุถุงของอคส. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อวันที่ 27-28 พ.ย.2556 ที่ระบุว่ามีการล็อคสเปกต์ให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ปรับปรุงและบรรจุข้าวถุง อีกทั้งยังมีข้าวบางส่วนหายไปจากสต๊อกรัฐบาล โดยมีนายสมชาติ สร้อยทอง อธิบดีกรมการค้าภายในในขณะนั้น เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ ร่วมด้วยอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ สำนักงานอัยการสูงสุด ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ชุดนายสมชาติกำลังตรวจสอบอยู่นั้น นายชนุตร์ปกรณ์ วงศ์สีนิล ผู้อำนวยการอคส.ขณะนั้น ระบุว่า อคส.ได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งผลการตรวจสอบ พบว่า ข้าวสารจำนวนหนึ่งที่พรรคฝ่ายค้านระบุว่า หายไปจากคลังสินค้ากลางที่รัฐฝากเก็บข้าวสารไว้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะข้าวสารจำนวนดังกล่าว ได้เบิกจ่ายออกจากคลังแบบเกินจำนวนที่อนุมัติ เพื่อนำไปทำเป็นสต๊อกสำรอง (บัฟเฟอร์สต๊อก) เก็บไว้ขายให้ประชาชน และข้าวดังกล่าวอยู่ในความดูแลของผู้ปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยบางส่วนได้ปรับปรุงคุณภาพและบรรจุถุงแล้ว แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ซึ่งอคส.จะติดตามเอาคืนจากผู้ปรับปรุงคุณภาพ

***คอฟโกบินพบไทยหารือคุณภาพข้าว
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เร็วๆ นี้ คอฟโก้ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน จะมาไทย เพื่อมาพบกับกรมการค้าต่างประเทศ และสมาคมฯ ซึ่งในการหารือจะมีการจัดทำมาตรฐานข้าวในการส่งมอบร่วมกัน ซึ่งจะใช้เป็นมาตรฐานกลางที่ไทยจะส่งมอบข้าวให้กับคอฟโก เพราะก่อนหน้านี้เกิดปัญหาการเรื่องคุณภาพข้าวที่ส่งมอบ แต่ได้มีการเจรจาไกล่เกลี่ยจนเป็นที่เข้าใจเรียบร้อยแล้ว
“สัญญาคอฟโก้ที่ไทยทำไว้ 1 ล้านตัน และส่งมอบไปแล้ว 3 แสนตัน เกิดปัญหาในเรื่องคุณภาพข้าวที่เข้าใจไม่ตรงกัน จึงต้องทำมาตรฐานกลางร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การส่งมอบข้าวเป็นไปตามความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย"นายชูเกียรติกล่าว

***”โอ๊ค” เฟซฯ ป้อง “ปู” ไล่ ป.ป.ช.บี้คดี ปรส.

วานนี้ (9 พ.ย.) นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เห็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์รวมถึง กปปส.ดาหน้ากันออกมากดดันทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติ และ องค์กรในกระบวนการยุติธรรมให้เอาผิดอาปู (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) เรื่องจำนำข้าวแล้วตนว่า “ พวกพาหะเหล่านี้ถ้ารักประเทศชาติจริงทำไม ไม่ออกมากดดันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้หยิบคดีองค์การ เพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่กำลังจะหมดอายุความมาสั่งฟ้องจำนำข้าวบอกขาดทุน 6 แสนล้านจริง ๆ เงินไม่ได้ขาดทุนไปไหนก็ไปอยู่ในมือชาวนาเกวียนละหมื่นห้าไงครับ หลวงขาดทุนเท่าไหร่ชาวนาก็กำไรเท่านั้น ขณะที่คดี ปรส.ขาดทุน 8 แสนกว่าล้านเงิน ไปอยู่ในมือต่างชาติกับนักการเมืองทั้งหมดชาวบ้านไม่ได้อะไรแม้แต่บาทเดียวทำไมไม่โวยให้ตรวจสอบกัน”

นายพานทองแท้ระบุด้วยว่า บ้านเมืองจะสงบได้ต้องคืนความยุติธรรมให้ทุกฝ่ายเท่านั้น

**โพลชี้จำนำข้าวเสียหายกว่า 7 แสนล.

ศูนย์สํารวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สํารวจความคิดเห็นประชาชนเรื่องการหาผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายจากโครงการรับจํานําข้าวจากประชาชนทั่วประเทศ 1,251 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 40.05 เชื่อว่า โครงการมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 7 แสนล้านบาท รองลงมาร้อยละ 35.25 เชื่อว่า มีมูลค่าความเสียหาย 5-7 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ร้อยละ 61.15 ระบุว่า ควรหาผู้รับผิดชอบทั้งทางการเมือง เช่น การดําเนินการถอดถอนจากตําแหน่งทางการเมือง และทางอาญา เช่น การดําเนินการส่งฟ้องศาลบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิด รองลงมาร้อยละ 23.58 ระบุว่า ควรหาผู้รับชอบทางการเมืองเท่านั้น

ส่วนความเชื่อมั่นในหน่วยงานต่างๆ ในการดําเนินการฟ้องร้องผู้กระทำผิดจากโครงการรับจำนำข้าว ส่วนใหญ่ร้อยละ 54.20 เชื่อมั่นในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รองลงมาร้อยละ 20.62 เชื่อมั่นในสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ในขณะที่ร้อยละ 7.99 เชื่อมั่นในทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเท่ากัน

วันเดียวกัน มาสเตอร์โพลล์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรับจำนำข้าว กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน 601 ชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 7 - 8 พ.ย.57
ผลสำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชน ถึงการติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความคืบหน้าในการจัดการปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรับจำนำข้าว พบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 31.6 ระบุ ติดตามอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ร้อยละ 62.8 ระบุติดตามบ้าง และร้อยละ 5.6 ระบุไม่ได้ติดตามเลย

เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจในความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ร้อยละ 59.3 ระบุพอใจมาก-มากที่สุด ร้อยละ 28.2 ระบุค่อนข้างมาก ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 8.5 ที่ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 4.0 ระบุน้อย-ไม่พอใจเลย

ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามความคิดเห็นกรณีที่มีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว นั้น พบว่าร้อยละ 54.1 ระบุ เห็นด้วยกับการออกมาเคลื่อนไหวถอดถอนดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 45.9 ระบุไม่เห็นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ผลการสำรวจยังพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 52.3 รู้สึกวิตกกังวลว่า การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลายขึ้นมาอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและ คสช.ในการเดินหน้าจัดการกับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรับจำนำข้าวอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมนั้น พบว่า แกนนำชุมชนที่ถูกศึกษามากกว่า 2 ใน 3 คือ ร้อยละ 70.7 ระบุเชื่อมั่น ในขณะที่ร้อยละ 26.7 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 2.6 ระบุไม่เชื่อมั่น.
กำลังโหลดความคิดเห็น