xs
xsm
sm
md
lg

ปาหี่สปช.ไร้ความหมาย-ประยุทธ์ อ้างพลังงานใกล้หมดลุยเปิดสัมปทาน !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

** เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐบาลที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ คือรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลง ทั้งบนบกและในทะเล โดยอ้างว่าหากไม่รีบดำเนินการสำรวจขุดเจาะเพิ่มเติม ก็จะทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานภายในระยะเวลาอีก 5-9 ปีข้างหน้า
จากข้อมูลตัวเลขที่ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ย้ำว่าในเวลานี้ประเทศไทยยังสามารถใช้ปิโตรเลียมได้อีกเพียง 7 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องเร่งสำรวจเพิ่มเติมโดยเร็ว พร้อมทั้งย้ำว่าการใช้ระบบให้สัมปทาน รัฐจะได้ประโยชน์สูงกว่า นั่นคือ จะได้ประโยชน์ถึงร้อยละ 72 จากผลกำไรของบริษัทได้รับสัมปทาน
ขณะเดียวกันก็อ้างว่า รัฐบาลยินดีนับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยเปิดโอกาสให้นำข้อมูลด้านพลังงานของแต่ละฝ่ายมาพิจารณากันในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยให้มีข้อสรุปภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งอ้างว่าเป็นวันที่ครบกำหนดที่รัฐบาลเปิดให้ยื่นขอสิทธิ์ในสำรวจและผลิตปิโตรเลียม
นอกจากนี้ในความหมายรวมๆ ก็คือ ที่ต้องเร่งเดินหน้าในช่วงนี้ยังมีเหตุผลในเรื่องบรรยากาศการลงทุน เพราะหากยังไม่รีบดำเนินการ อาจทำให้บรรดานักลงทุนหันเหไปลงทุนในประเทศอื่นได้ และอ้างว่า แม้เวลานี้ถึงเปิดให้มาขอสิทธิ์ แต่ก็ยังไม่มีบริษัทใดมาขออนุญาตจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานแต่อย่างใด
**นั่นเป็นคำแถลงของรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่แถลงในนามของรัฐบาล ในนามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แสดงท่าทีล่าสุดว่าต้อง "เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียม" อย่างแน่นอน
เพราะสิ่งที่รัฐบาลนำมาอ้างอิงสนับสนุนก็คือ การให้ระบบสัมปทานจะได้ประโยชน์ตอบแทนมากกว่า นั่นคือได้ผลตอบแทนถึงร้อยละ 72 ของผลกำไร แม้จะไม่ได้พูดถึงระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ในความหมายแล้วรัฐบาลไม่เลือกทางนี้แน่นอน
เมื่อมีการอธิบายรายละเอียดแบบสาธยายยกแม่น้ำทั้งห้ามาอ้างอิงแบบนี้ ทั้งเรื่องการวิกฤติขาดแคลนพลังงานในเวลาอันใกล้หากไม่รีบอนุญาตให้สัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเติม
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากการเปิดให้มีการถกเถียงกันเรื่องปฏิรูปโครงสร้างพลังงานที่เปิดให้มีการอภิปรายกันในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรี กำหนดเวลาไว้สองเดือน มันก็เป็นเพียงแค่ "ปาหี่" ลักษณะไม่ต่างจากการลดกระแสต่อต้านจากสังคมที่ต้องการให้ปฏิรูปพลังงานกันทั้งระบบ เนื่องจากเห็นว่าระบบเก่าคือ การให้สัมปทานทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์ มากกว่าระบบแบ่งปันผลผลิตที่เป็นธรรมกับเจ้าของทรัพยากร ซึ่งหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศอาเซียนเปลี่ยนมาใช้ระบบอย่างหลังกันหมดแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากตัวบุคคลใน สปช. ด้านการปฏิรูปพลังงานส่วนใหญ่ หรือแทบทั้งหมดล้วนมีทัศนคติไปทางเดียวกับรัฐ กระทรวงพลังงาน และบริษัทปตท. อาจจะมีฝ่ายค้านที่เห็นต่างเพียง รสนา โตสิตระกูล เท่านั้น เมื่อผลโหวตออกมาก็ย่อมรู้ล่วงหน้าแล้วว่าจะออกมาแบบไหน
อย่างไรก็ดี ก็ยังถือว่าประเด็นเรื่องพลังงานยังเป็นเรื่องอ่อนไหว มีผลเกี่ยวพันกับความศรัทธาของตัวผู้นำและรัฐบาล เพราะกลายเป็นว่ากำลังทำสวนทางกับความรู้สึกของชาวบ้าน
**ที่สำคัญนอกเหนือจากนี้การปฏิรูปพลังงานในความหมายใหม่คือ การปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี และเอ็นจีวี ภาคขนส่ง รวมทั้งเตรียมที่จะไฟเขียวที่จะปรับราคากันอีกรอบ หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งคราวนี้เตรียมที่จะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีกด้วย โดยอ้างกลไกการตลาดที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นคำถามเป็นธรรมกับใครกันแน่ !!
กำลังโหลดความคิดเห็น