xs
xsm
sm
md
lg

โบ้ย สปช.สรุปความเห็นพลังงานแค่ปาหี่ชอบธรรมสัมปทานรอบใหม่ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

อาจเป็นเพราะกำลังมีความเคลื่อนไหวคัดค้านการที่รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานอนุญาตให้เปิดสัมปทานสำรวจปิโตเลียมรอบที่ 21 จำนวน 29 แปลงทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งมีระยะเวลารวมเบ็ดเสร็จไม่ต่ำกว่า 35 ปี นับจากนี้ และนับวันกระแสต้าน กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ของประชาชนมีมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ว่าหากรัฐบาลไม่ยอมชะลอเรื่องนี้เอาไว้ก่อน จะมีการออกมาชุมนุมประท้วงในเร็วๆ นี้

จะด้วยเหตุนี้ หรือต้องการรับฟังข้อมูลที่หลากหลายกว่าเดิมเพื่อความรอบคอบ หรือเพื่อต้องการลดกระแสต้านที่อาจบานปลาย ทำให้ล่าสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องสั่งให้นำเรื่องดังกล่าวเข้าไปถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงานภายในเวลา 2 เดือน แล้วนำความเห็นที่ได้มาเสนอรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำว่าเมื่อได้ข้อสรุปจากสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้ว ก็จะนำมาพิจารณา แต่ไม่ได้ยืนยันว่าจะทำตาม

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากท่าทีดังกล่าวทำให้สรุปในเบื้องต้นได้หรือไม่ว่ารัฐบาลต้องการ “ลดกระแสต้าน” จากสังคมในเรื่องนี้หรือไม่ !!

อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างด้านพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องการเปิดสัมปทานรอบใหม่ ก็ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยได้ประกาศเชิญชวนให้บริษัทด้านพลังงานข้ามชาติให้เข้ามาเปิดแปลงสำรวจกันแล้ว แม้จะอ้างว่าเป็นขั้นตอนเบื้องต้น แต่ก็ถือว่าได้เริ่มเดินเครื่องกันแล้ว

ขณะที่ฝ่ายภาคประชาชนที่เป็น “เครือข่ายปฏิรูปพลังงาน” ก็เดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่โดยเสนอให้เปลี่ยนแปลงวิธีการใหม่เป็น “แบ่งปันผลผลิต” ตามวิธีปฏิบัติแบบสากล ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนก็ใช้วิธีแบบนี้กันนานแล้ว ซึ่งมั่นใจว่าวิธีการแบบนี้รัฐและประชาชนในฐานะเป็นเจ้าของทรัพยากรจะได้ประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่า วิธีการให้สัมปทาน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้รัฐบาลชะลอการให้สัมปทานออกไปก่อน อย่างน้อยก็ให้รับฟังความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปออกมาก่อน และเชื่อว่าใช้เวลาไม่นานนัก การรวบรัดเร่งรีบถือว่ามี “พิรุธ” หรือไม่

ก่อนหน้านี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี รวมไปถึงผู้บริหารของกระทรวงดังกล่าว ทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต่างออกมายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องเดินหน้าเปิดสัมปทาน เพราะรัฐได้ประโยชน์มากกว่าวิธีแบ่งปันผลผลิต และอ้างว่าบ้านเรามีพลังงานไม่มาก หากใช้วิธีการอื่นจะไม่เป็นที่ดึงดูดการลงทุน พร้อมทั้งย้ำว่าแม้ระหว่างที่มีการเสนอความเห็นกันในสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน ทางฝ่ายรัฐก็จะไม่รอ ยังเดินหน้าเปิดรับบริษัทเอกชนเข้ามาขอรับสัมปทานต่อไป อ้างว่ายังไม่มีข้อตกลงใดๆ แต่ต้องรีบทำเพราะหากไม่ทำจะเกิดวิกฤติด้านพลังงานตามมาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าพิจารณาตามมา ก็คือ ในเมื่อรัฐบาลมีท่าทีอย่างชัดเจนแล้วว่า จะปฏิรูปพลังงานในแนวทางของรัฐบาลอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของการปรับขึ้นราคาพลังงาน ที่เห็นนำร่องก็คือการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และแอลพีจีภาคขนส่งทุกเดือน อ้างว่า สะท้อนต้นทุนตามราคาตลาดที่แท้จริง ขณะเดียวกัน ก็เดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ดังนั้น การส่งเรื่องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติหาข้อสรุปในเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะว่าสมควรใช้วิธีการให้สัมปทานต่อไปหรือไม่ จะเป็นการลดกระแสต้าน หรือเป็นแค่ “ปาหี่” ตบตาหรือไม่

เพราะเมื่อสำรวจรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปเกือบทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ล้วนมาจากกระทรวงพลังงาน เกี่ยวข้องเคยมีผลประโยชน์กับบริษัทน้ำมัน ซึ่งต่อเนื่องมาตั้งแต่คณะกรรมการสรรหา สปช. ด้านพลังงานก็ล้วนมีที่มาเดียวกัน มีทัศนคติและความคิดไปในทางเดียวกัน อาจจะมีเพียง รสนา โตสิตระกูล ที่แปลกแยกออกมา เท่านั้น เพียงแค่นี้ก็พอหลับตาได้ล่วงหน้าแล้วว่า ผลจะออกมาอย่างไร ขณะเดียวกันเมื่อผลออกมาก็ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้อีกว่าเป็นมติเสียงส่สนใหญ่ของ สปช.ที่นำเสนอต่อรัฐบาลให้เดินหน้าออกสัมปทานได้ต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะรู้ว่าผลในภายหน้าจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยการมีเสียงของอีกฟากหนึ่งอย่าง รสนา โตสิตระกูล ที่ยืนยันว่าจะนำเสนอข้อมูลออกมาให้สังคมได้เห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะสร้างกระแสตื่นตัวกันอย่างขนานใหญ่ก็เป็นได้ คงหวังในปาฏิหาริย์แบบนี้เท่านั้น !!
กำลังโหลดความคิดเห็น