xs
xsm
sm
md
lg

จำนำข้าวจ่อเจ๊ง1ล้านล้าน แฉตอนขายโกงทะลุแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ทีดีอาร์ไอ" ผงะ! เจ๊งจำนำข้าวเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้าน ชี้กว่า 1 แสนล้าน หรือ 1 ใน 6 เป็นการโกงจากการขายข้าวในสต๊อกด้วยวิธีต่างๆ เผยหากข้าวที่เหลืออยู่ระบายไม่หมดใน 10 ปี จ่อเจ๊งเพิ่มเป็น 9.6 แสนล้านบาท แนะรัฐเฉือนเนื้อบริจาคข้าวคุณภาพไม่ได้มาตรฐานให้โครงการอาหารโลก ผู้ส่งออกย้ำอีก จำนำทำตลาดข้าวพัง ธ.ก.ส.เข็ด ไม่เอาจำนำ ประกันรายได้ ห่วงหนี้สาธารณะพุ่ง นักวิชาการเสนอเพิ่มอำนาจ ป.ป.ช. ฟันโกงได้เลย

นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงตัวเลขความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ในงานสัมมนา "สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคเกษตร...บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว" ที่ได้จัดร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) วานนี้ (5 พ.ย.) ว่า จากการประเมินความเสียหายทางการคลัง ณ เดือนต.คง2557 จากโครงการรับจำนำข้าว 5 รอบที่ผ่านมา พบว่า มูลค่าการขาดทุนได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการรวมข้าวในสต๊อก 85% ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานเข้ามาคำนวณ โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยประเมินไว้เมื่อเดือนเม.ย.2557 ที่มีมูลค่าความเสียหาย 5.4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ประเมินว่ามูลค่าความเสียหายจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากการระบายข้าวในสต๊อกทำได้ล่าช้า โดยปริมาณข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 17.4 ล้านตัน หากระบายออกได้ช้าและระบายได้หมดภายใน 10 ปี มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 แสนล้านบาท

"ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นส่วนของการทุจริตถึง 1.09 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 6 ของความเสียหายทั้งหมด โดยเป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นจากการระบายข้าวด้วยวิธีการต่างๆ แยกเป็นการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 7.8 ล้านตัน ข้าวหายและการสับเปลี่ยนข้าว 5.9 ล้านตัน การเลือกขายข้าวในราคาต่ำให้กับพรรคพวก 3.7 ล้านตัน และทำข้าวถุงโดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) อีก 2.4 ล้านตัน"นายนิพนธ์กล่าว

นายนิพนธ์กล่าวว่า การป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นอีก ควรจัดทำบัญชีรวมโครงการประชานิยมทุกโครงการเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ เพื่อให้รัฐบาลและรัฐสภารับทราบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทั้งรายรับ รายจ่าย ผลกำไร ขาดทุน ตลอดจนความสำเร็จของโครงการ โดยการเปิดเผยข้อมูลโครงการประชานิยม จะต้องแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพิ่มมาตรการที่กำหนดให้รัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่เกิดจากการดำเนินนโยบายประชานิยม และจะต้องจำกัดบทบาทรัฐในการแทรกแซงตลาด โดยต้องตรา พ.ร.บ.จำกัดขอบเขตการแทรกแซงตลาดและการประกอบธุรกิจที่แข่งกับเอกชน เพื่อมิให้นโยบายของรัฐบาลทำลายการแข่งขันในตลาด

ส่วนการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าว รัฐบาลจะต้องทำแผนการชำระหนี้ โดยกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ และจัดทำแผนการชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ให้ชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

สำหรับแนวทางการระบายข้าวในสต็อก จะต้องเร่งจัดการกับข้าวเสื่อมสภาพ โดยบริจาคข้าวให้โครงการอาหารโลก (WFP) สัดส่วน 30-50% เพื่อลดสต็อกข้าวไม่ให้เป็นภาระและไม่ให้ข้าวเสื่อมสภาพไปโดยไร้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรเริ่มจัดวางระเบียบใหม่ว่าด้วยการแทรกแซงที่โปร่งใส กำหนดให้หน่วยงานรัฐจัดทำบัญชีรวมโครงการเสนอ คสช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทุกไตรมาส รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนปัญหาข้าวเพื่อหาผู้ทำผิด

***ผู้ส่งออกย้ำจำนำแพงทำตลาดข้าวพัง

นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแทรกแซงกลไกตลาดเพื่อดันราคาให้สูงขึ้น เพราะการที่ราคาข้าวสูงมากไป จะทำให้ตลาดไม่ตอบรับ ดูได้จากราคาจำนำที่ตันละ 15,000 บาท เทียบเป็นราคาส่งออกที่ ตันละ 800 เหรียญสหรัฐ แต่ราคาขายได้จริงเฉลี่ยเพียงตันละ 600 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ทำให้ผู้ซื้อส่วนใหญ่หันไปซื้อข้าวจากคู่แข่งแทน ทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในที่สุด

***ธ.ก.ส.ไม่เอาทั้งจำนำและประกันรายได้

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ไม่อยากให้มีทั้งโครงการรับจำนำข้าวหรือโครงการประกันรายได้ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเสี่ยงต่อการสร้างหนี้สาธารณะ โดยต้องยอมรับว่านักการเมืองอาจใช้วิธีเพิ่มมูลค่ารับซื้อข้าวหรือเพิ่มรายได้ให้ชาวนา เพื่อผลทางการเมือง

***"อัมมาร"แนะเลิกแทรกแซงสินค้าเน่าเสีย

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ไม่ต้องการเห็นการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทุกชนิดที่ต้องมีการส่งออก เพราะจะเป็นการทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในเวทีโลก และไม่เห็นด้วนที่จะมีระบบการรับจำนำสินค้าที่เน่าง่ายมาเก็บไว้ เพื่อรอวันเน่าเสีย ไม่ว่าจะเป็นหอมแดง ข้าวโพดและข้าวสาร

***เสนอเพิ่มอำนาจป.ป.ช.ฟันโกง

นายเมธี ครองแก้ว นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า อยากเสนอให้เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช. จากเดิมที่กฎหมายกำหนดให้ ป.ป.ช. มีอำนาจในการเสนอและแนะนำการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งหาก ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแล้ว แต่รัฐบาลเพิกเฉยเช่นกรณีโครงการรับจำนำเช่นนี้ เมื่อเกิดความเสียหาย ป.ป.ช. สามารถเอาผิดและดำเนินคดีได้ทันที โดยไม่ต้องสืบสวนสอบสวนใหม่

***"พาณิชย์"ชี้ขึ้นทะเบียนชาวนาไม่ผิดปกติ

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการจัดทำบัญชีขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่จะใช้เป็นข้อมูลในการจ่ายชดเชยไร่ละ 1,000 บาทให้กับชาวนา ว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ ซึ่งตัวเลขที่มีชาวนามาขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิ์ในระยะนี้จำนวนมาก ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ เพราะเดิมทีชาวนาในกลุ่มนี้ อาจไม่ได้มาขึ้นทะเบียนไว้ เมื่อรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือจึงมาขึ้นทะเบียนในจำนวนมากขึ้น

"เรื่องตัวเลขการขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิ์ชดเชย ที่มีการเกรงกันว่าจะมีการขึ้นทะเบียนแบบผิดปกติ หรือมีการสวมสิทธิ์ คงไม่เกิดขึ้น โดยเรื่องนี้ขอให้ รมว.เกษตรฯ เป็นผู้ชี้แจงข้อมูล เพราะเป็นกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบ” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว

สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ฤดูกาล 2557/58 ที่กำลังทยอยออกมานั้น ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บางพื้นที่ที่ราคาตกลง เนื่องจากชาวนาต้องเกี่ยวสด เพราะฝนตก ทำให้ข้าวมีความชื้นสูง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น และในเร็วๆ นี้ ตนจะนัดหมายกับรมว.เกษตรฯ เพื่อลงพื้นที่ไปตรวจสอบผลผลิตข้าวเปลือกที่จะออกสู่ตลาด และติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อวางแผนในการผลิต และการทำตลาดข้าวให้กับชาวนาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น