xs
xsm
sm
md
lg

“วิชา” ชี้ประชานิยม “กับดักความไม่เท่าเทียม” ตอก “ปู” หาเรื่องเถียง ยันใช้ช่องทางตาม กม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิชา” ชี้ปัญหาทุจริตในสังคมไทยเกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ รัฐทำประชานิยมทำประชาชนรู้สึกได้ส่วนแบ่ง เกิดกับดักของความไม่เท่าเทียม ตอก “ยิ่งลักษณ์” โวยวายไปเรื่อย ทั้งที่ ป.ป.ช.ใช้ช่องทางถูกต้อง ให้เครดิต “ทีดีอาร์ไอ” ขุดคุ้ยจำนำข้าวจนชี้มูลความผิดได้ “วิชัย” มั่นใจพยานหลักฐานแน่น เชื่อ อสส.รับลูกก่อนส่งฟ้องศาล ไม่ต้องตั้งคณะทำงานร่วมฯ ย้ำอีกหนไม่ได้เร่งปิดเกม

วันนี้ (21 ก.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ได้บรรยายในหัวข้อ “ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย : บทบาทของนักกฎหมายและนักเศรษฐศาสตร์” ในการอบรมหลักสูตรนิติศาสตร์ระยะสั้นแก่เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตอนหนึ่งว่า หากมองในทางเศรษฐศาสตร์เหตุผลที่การทุจริตคอร์รัปชันยังอยู่ในสังคมไทยมาจากความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดมา ยิ่งกว่านั้นผู้มีพลังทางเศรษฐกิจสูงกว่า แม้กระทำผิดต่อการทุจริตก็ไม่จำเป็นต้องรับโทษ เพราะสามารถจ่ายเงินสินบนใต้โต๊ะก็รอดพ้นจากคดี รวมทั้งคดีความที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจมักไร้ประสิทธิภาพเต็มไปด้วยความล่าช้า

“ในสภาพเช่นนี้รัฐบาลจึงได้จัดทำนโยบายประชานิยมที่มีการแจกของและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่ประชาชนอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองได้ส่วนแบ่งต่างๆ จากรัฐบาล โดยไม่สนใจโครงการเหล่านั้นจะทุจริตคอร์รัปชันจนเกิด “กับดักของความไม่เท่าเทียมกัน” หากปล่อยทิ้งไว้จะเกิดความทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น จนยากที่จะแก้ไขกลายเป็นกับดักทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่ไร้ความยุติธรรรม” นายวิชาระบุ

นายวิชากล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ การให้ความเป็นธรรม แต่คนบางกลุ่มคิดว่ากฎหมายไม่ให้ความเป็นธรรมต่อตนเอง จึงเกิดการตั้งคำถามและออกมาโวยวายว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากนั้นจะเกิดการโต้แย้งไปเรื่อย เช่น กรณีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาระบุว่าไม่รับความเป็นธรรมในกระบวนการไต่สวนและพิจารณา ทั้งที่กฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยในปัจจุบันเป็นกฎหมายในรูปแบบรัฏฐาธิปัตย์ คือ กฎหมายไม่มีการแบ่งแยกในระดับชนชั้น โดยใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันจึงจะเกิดการเสมอภาคในสังคม รวมทั้งกฎหมายที่บังคับใช้ต้องตอบสนองสังคม หากตอบโจทย์ไม่ได้จะเกิดการโต้แย้งของการใช้กฎหมายในสังคมทันที

นายวิชากล่าวอีกว่า สำหรับนโยบายสาธารณะเป็นเศรษฐศาสตร์การเมือง ถ้ารัฐบาลมุ่งประสงค์หารายได้โดยไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของประชาชนหรือสาธารณะนั่นคือความพินาศ หรือความตายของทุกรัฐบาลซึ่งถ้าไม่มีการริเริ่มของผู้ทรงคุณวุฒิทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้วิเคราะห์วิจัยเอาไว้ เช่น ผลการศึกษาเรื่องมาตรการแทรกแซงตลาดข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) ที่นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ แสวงหาคำตอบเอาไว้ ตนฟันธงว่า ป.ป.ช.จะไม่สามารถที่จะชี้มูลความผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เลย ดังนั้น มิติทางเศรษฐศาสตร์จึงมีความสำคัญมาก ขณะที่การทำงานของ ป.ป.ช.ต่อจากนี้จะใช้สหสาขาวิชาศาสตร์คือ การผนึกกำลังระหว่างนิติศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ และศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลมากยิ่งขึ้น

ทางด้านนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก ป.ป.ช.เรื่องกระบวนการไต่สวนในคดีรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้เตรียมการยกร่างคำชี้แจงและคำแถลงการณ์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะสามารถพิจารณาได้ในวันที่ 22 ก.ค. อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการทำงานของ ป.ป.ช.ไม่ได้เป็นการเร่งรัดปิดเกมแต่อย่างใด เพราะ ป.ป.ช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมาย

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าอัยการสูงสุด (อสส.) จะส่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายวิชัยกล่าวว่า ป.ป.ช.ได้ทำเสร็จสิ้นกระบวนการแล้วโดยได้มีพยานหลักฐานและเอกสารชัดเจนครบถ้วน และมีความแน่นหนามาก จึงคิดว่าไม่น่าจะต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง อสส.กับ ป.ป.ช. ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังเร่งทำเอกสารและรายงานส่งให้กับ อสส. ให้ทันภายใน 14 วันตามกรอบของกฎหมาย โดยไม่สามารถขยายเวลาไปมากกว่านี้ได้

เมื่อถามว่า ป.ป.ช.จะสามารถดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้หรือไม่ หลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการให้ความเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท นายวิชัยกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ครั้งล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงประเด็นนี้ แต่คิดว่าคงต้องมาพิจารณากันในรายละเอียดอีกครั้ง












กำลังโหลดความคิดเห็น