“ทีดีอาร์ไอ” เสนอปฏิรูปการจัดทำงบประมาณการคลัง ชี้ประชานิยมที่มากเกินไปสร้างความเสี่ยงทางการคลัง และหนี้สาธารณะอาจเกินขีดอันตราย แนะต้องมีวินัยเพื่อเพิ่มงบพัฒนาประเทศ
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในการเสวนา “ทีดีอาร์ไอ ชวนคิด ชวนคุย ข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย” เรื่อง “การสร้างวินัยทางการเงิน การคลัง” โดยระบุว่า การใช้เงินนอกงบประมาณแบบไม่มีข้อจำกัดในการทำนโยบายประชานิยมเป็นการเบียดงบประมาณเพื่อการพัฒนาประเทศ และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ สร้างความเสี่ยงทางการคลัง และหนี้สาธารณะอาจเกินขีดอันตราย รวมทั้งกระทบต่อการกระจายรายได้
ดังนั้น ควรจะมีการปฏิรูปการจัดทำงบประมาณการคลังให้มีความโปร่งใส ปรับโครงสร้างการคลังรองรับอนาคต และต้องให้ภาคประชาชนมีอำนาจตรวจสอบการใช้งบได้
นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการสร้างวินัยทางการเงินการคลัง คือ ต้องมีองค์กรระบบการตรวจสอบที่ดี เข้มแข็ง และเป็นกลาง รวมทั้งต้องมีกติกาในการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เหมือนกับโครงการรับจำนำข้าวที่ต้องมีการทำบัญชีตามมาตรฐานให้ชัดเจน ต้องมีที่มาของเงินที่ใช้ในโครงการก่อนดำเนินโครงการ เพื่อใช้เงินภาษีอากรของประชาชนคุ้มค่า ไม่ใช่ไม่มีข้อมูลเหมือนที่เกิดปัญหาในปัจจุบัน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้เชี่ยวชาญสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลควรใช้นโยบายประชานิยมให้น้อยที่สุด และควรตัดการใช้จ่าย หรือประเภทกินไปใช้ไป เพราะตั้งแต่ปี 2552-2555 มีการใช้งบประมาณที่เน้นการบริโภคมากกว่างบลงทุนเป็นจำนวนมาก ทำให้นโยบายพัฒนาประเทศลดลง และสิ่งที่น่าห่วง คือ การจัดทำงบประมาณปี 2558 อาจล่าช้า จะยิ่งกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ เพราะขณะนี้ภาคการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว