xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นับหนึ่ง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ดูอยู่ว่าจะดูแลคนเหล่านี้ได้อย่างไร ซึ่งปัญหาบ้านเรามีมากมาย ต้องมีการเสียสละกันบ้าง พอเริ่มทำก็เริ่มเรียกร้องกัน ผมว่าคงไม่ได้ อยากให้ทุกคนเข้าใจว่างานมันเยอะขึ้น เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะดูแล เราเป็นข้าราชการของแผ่นดิน ต้องช่วยกันดูแล เรื่องผลประโยชน์ เรื่องค่าตอบแทนเดี๋ยวดูให้ ใจเย็น ๆ”

หลายวันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พูดถึงข้อเสนอของสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เรื่อง การปรับโครงสร้างค่าตอบแทนการปกครองส่วนท้องถิ่นแบบสั้น ๆแต่ได้ใจความ

พูดง่าย ๆก็คือ รอให้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ด้านการปกครองท้องถิ่น เขาตกผลึกก่อน ในระยะเวลาการทำงานของรัฐบาล และคสช.ตลอด1ปีนี้ไปก่อน แต่จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อไรไม่ทราบ

อย่าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานสรรหาสปช. ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น ก็พูดก่อนคัดสรร สปช.ว่าเหมะสมไม่มีการล๊อคสเป็ค ปฏิรูปได้แน่

ฉบับนี้เลยถือโอกาส นำรายชื่อให้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการปกครองท้องถิ่น มานำเสนอ โดยเริ่มจาก 15 สปช. ที่สรรหาจากกระทรวงมหาดไทย ปรกอบไปด้วย

       นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายจรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายไพโรจน์ พรหมสาสน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศาสตราจารย์สาขารัฐประศาสนศาสตร์ พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 31 นักธุรกิจบริษัท กรุงเทพ พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด นายวัลลภ พริ้งพงษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายอุดม ทุมโฆสิต อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายเชื้อ ฮั่นจินดา ประธานสมาพันธ์ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยุมพร ลิ่มไทย อดีตผู้ว่าฯระยอง/เพชรบุรี/สตูล นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์ เลขานุการนายกสมาคม อบต. แห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)บ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี นางสีลาภรณ์ บัวสาย กรรมการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี

ขณะเดียวกัน สปช.ที่ คณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดสรรหาส่งมาให้ คสช.เห็นชอบ ยังมีอดีตคนมหาดไทยในสังกัดหลายกรม กอง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯหรืออธิบดี เช่น นายประชา เตรัตน์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายบริหาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นายดิเรก ถึงฝั่ง อดีตผู้ว่าฯเพชรบูรณ์/รองผู้ว่านนทบุรี นางกอบแก้ว จันทร์ดี อดีตรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายโกเมศ แดงทองดี อดีตผู้ว่าฯราชบุรีและฉะเชิงเทรา นายไกรราศ แก้วดี อดีตรองผู้ว่าฯสกลนคร นายจำลอง โพธิ์สุข อดีตผู้ว่าฯชัยนาท นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าฯอุตรดิตถ์

นายเฉลิมพล ประทีปะวณิช อดีตผู้ว่าฯลำปาง นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ อดีตผู้ว่าฯกาญจนบุรี นายกาศพล แก้วประพาฬ รองผู้ว่าฯกาญจนบุรี นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล อดีตรองผู้ว่าฯปราจีนบุรี นายถาวร เฉิดพันธุ์ อดีตรองผู้ว่าฯกำแพงเพชร นายธวัช สุวุฒิกุล อดีตผู้ว่าฯชัยภูมิ นายนิพนธ์ คำพา อดีตรองผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน หรือนายบุญถิ่น มั่นเกษวิทย์ อดีตรองผู้ว่าฯอุทัยธานี และนายปรีชา บุตรศรี อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัดและ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน

แถมยังมีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ เช่น นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาลัยราชภัฏเชียงใหม่ รวมไปถึง นักการเมืองท้องถิ่นเอง เช่น นายชัยพร ทองประเสริฐ อดีตนายก อบจ.อำนาจเจริญ นายชิตชัย จิวะตุวินันท์ นายกเทศมนตรีตำบลบางสะพานน้อย ประจวบคีรีขันธ์ นายดุสิต ลีลาภัทรพันธุ์ อดีตนักการเมืองท้องถิ่น ยะลา นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ นายนำชัย กฤษณาสกุล อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสตูล นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนานักการเมืองท้องถิ่น ที่ปรึกษา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี นักการเมืองท้องถิ่น

บุคคลเหล่านี้ ได้รับการสรรหามาแล้วว่า จะเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อการปฏิรูปด้านการปกครองท้องถิ่น เมื่อมีสปช.เรื่องนี้จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น สารพัดโมเดล ข่าวลือข่าวปล่อย อย่าง การยุบอปท.จะเป็นจริงหรือไม่ การปรับโครงสร้าง โบนัสคนอปท.จะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ความเลื่อมล้ำในงบประมาณอปท. เงินอุดหนุนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนพิการยังจะควรอยู่กับ อปท.หรือไม่ จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดได้หรือไม่ ฯลฯ เป็นคำตอบที่บุคคลเหล่านี้จะต้องให้คำตอบ

อย่างวันก่อน สถาบันพระปกเกล้า จัดให้มีเวทีการสัมมนา ครั้งที่ 5 เรื่อง การปฏิรูปประเทศไทย ร่วมคิด ร่วมปฏิรูป การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไทย ภายใต้โครงการสัมมนา สู่ทศวรรษที่เก้า : ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตยไทย

รศ. ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า การปฏิรูปอปท. ไม่จำเป็นจะต้องยกเลิกระบบราชการส่วนภูมิภาค แต่ต้องปรับบทบาทหน้าที่ของตน ไม่ทับซ้อนกับอปท. เนื่องจากรัฐส่วนกลางและรัฐส่วนภูมิภาค ควรทำภารกิจของรัฐเท่านั้น นอกจากนั้นท้องถิ่นรับผิดชอบ ส่วนกรณีความขัดแย้งว่าจะต้องยุบอบจ. หรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็นต้องยุบ แต่จะต้องมีการตั้งองค์กรที่จะประสานกระหว่างอบจ. และอปท. ใหม่อย่างชัดเจน  

ศ. สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เสนอว่า ปัญหาของอปท. คือความขัดแย้งของอปท. และหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะมิติของการจัดสรรงบประมาณ ดังนั้นการปฏิรูปอปท. จะต้องปรับปรุงระบบคลังของอปท. คือ

1.) จำแนกภารกิจของอปท. จากรัฐบาลและหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคอย่างชัดเจน จากนั้นจึงมีการกำหนดงบประมาณขั้นต่ำให้เหมาะสมกับภารหน้าที่ 2.) ลดการทับซ้อนของฐานรายได้ของอปท. แต่ละประเภท เพื่อลดแย่งฐานรายได้ระหว่างอปท. 3.) รัฐบาลอาจมอบหมาย หรือร่วมกับอปท. ในการให้บริการ 4.) กำหนดความเป็นเจ้าของรายได้ภาษีระหว่างรัฐบาลกับอปท. และระหว่างอปท. ด้วยกันเอง เพื่อป้องกันมิให้มีการแย่งฐานรายได้ เช่น รวมรายได้ภาษีที่ฐานะระดับจังหวัด 5.) เร่งรัดออกภาษีใหม่ให้กับอปท. เช่น ภาษีที่ดินและบำรุงสิ่งปลูกสร้าง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีที่อยู่อาศัย เป็นต้น และ 6.) กำหนดประเภทเงินอุดหนุนของรัฐบาลให้มีเป้าหมายชัดเจน ไม่ใช่การพิจารณางบประมาณต่อหัว 

รศ. ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เสนอว่า อุปสรรคของการกระจายอำนาจ คือของจำกัดของกระบวนการกระจายอำนาจและข้อจำกัดของอปท. โดยเฉพาะกรอบความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ที่เข้าใจผิดว่าหน้าที่ของอปท. คือการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล อีกทั้งยังต้องต่อสู่กับระบบราชการ ดังนั้นการปฏิรูปอปท. จะเริ่มการทำความเข้าใจกับนิยามการกระจายอำนาจ ที่อปท. จะต้องเป็นผู้ริเริ่มกระบวนการทำงานตั้งแต่การคิดและปฏิบัติ ไม่ใช่รับคำสั่งหรือนโยบายจากรัฐบาลอย่างเดียว นอกจากนั้นจะต้องออกแบบภารกิจที่จะถ่ายโอนให้ชัดเจน พิจารณาจากภารกิจก่อน แล้วจึงออกแบบโครงสร้างที่สอดคล้องกับการทำงาน 

"สปช. ด้านปกครองท้องถิ่น 15 ท่าน จะต้องหารือกับสปช. ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 15 ท่าน ไม่อย่างนั้นปฏิรูปจะไม่สำเร็จ เพราะเมื่อกำหนดหน้าที่แล้วอาจจะต้องยุบหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ซ้ำซ้อน รวมถึงการจัดสรรอำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสม" รศ. ศุภสวัสดิ์ ระบุ 

นายประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เสนอว่า ประเด็นสำคัญการปฏิรูปอปท. คือการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ซึ่งต้องก้าวข้ามข้อถกเถียงเรื่องที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งหรือสรรหา แต่ควรพิจารณาว่าระบบเลือกตั้งอย่างไรจะดีที่สุด เพราะประชาชนจะสามารถมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้มากที่สุด หากเห็นว่าระบบเลือกตั้งมีปัญหา เช่น การทุจริต ควรหากลไกในการเลือกตั้งใหม่  ไม่ใช่แค่ระบบที่บริสุทธิ์ยุติธรรม 

"เสนอเลือกสท. และอบต. เขตเดียวคนเดียว ข้อดีคือใครรับผิดชอบพื้นที่ไหนกำหนดชัดเจน ในเมื่อนายกฯ อบจ. ยังเลือกเขตเดียวคนเดียวได้ ไม่อย่างนั้นจะเหมือนับส.ส. ในอดีตที่มีปัญหาเรื่องเขตรับผิดชอบ นอกจากนั้นจะต้องนึกถึงอสมมาตร คือการเลือกตั้งที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่ " นายประจักษ์ กล่าว 

นายทนงศักดิ์ ทวีทอง สปช. จ. สุราษฎร์ธานี เสนอว่า การผลักดันให้อปท. มีศักยภาพมากขึ้นคงกระทำไม่สำเร็จ เพราะหากระบบราชการส่วนภูมิภาคไม่แบ่งภาระหน้าที่ให้กับอปท. ซึ่งในปีที่ผ่านมาอปท. มีงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท แต่หากจะผลักดันให้มีงบประมาณถึง 350 ล้านบาท จะต้องมีการระบุภารหน้าที่ให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะตอบสังคมไม่ได้ ต่อกรณีที่งบประมาณเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของสปช. สังคมจะต้องช่วยกันกดดันไม่ใช้สปช. ทำงานเหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร ที่ศูนย์เสียเวลาไปกับการถกเถียงมิติการจัดสรรอำนาจหรือตำแหน่งหน้าที่เหมือนกับความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในวานนี้ 

นายธีรศักดิ์ พานิชวิทย์  สปช. จ.เพชรบุรี ระบุว่า อปท. จะต้องเตรียมความพร้อมในการปฏิรูปตนเอง เริ่มจากการกำหนดภาระหน้าที่ของอปท. ให้ชัดเจน ดำเนินงานอย่างโปร่งใส ขจัดข้อครหาเรื่องการทุจริต และลดความแตกแยกในอปท. ด้วยกันเอง นอกจากนั้นจะต้องยกระดับความสามารถการปกครองท้องถิ่นในการปฏิรูปครั้งนี้ โดยรัฐบาลกับอปท. จะต้องเชื่อมโยงกันโดยตรง อปท. จะต้องไม่อยู่ใต้กำกับของกระทรวงมหาไทย แต่ควรไปสังกัดภายใต้สภาองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งชาติ

ทั้งหมดเป็นเพียงหลายข้อเสนอ ที่จะต้องนำไปถกกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ด้านการปกครองท้องถิ่น และบุคคลในข้างต้นก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น