xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ลงพื้นที่ สอบทุจริตงบฯซ่อมสะพานมอญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป.ป.ช.ลงพื้นที่สอบซ่อมสะพานมอญ ยุค"ชัยวัฒน์"สปช.เป็นผู้ว่าฯกาญจนบุรี เรียกส.อบจ.คนดังสังขละบุรีและพรรคพวกให้ปากคำ ยันไล่สอบพยานทุกปากแม้ย้ายไปแล้ว เชื่อใช้เวลาไม่นานรู้ผล ชาวกาญจน์วอนช่วยตอบข้อสงสัย งานคืบ 60.94% แต่ทำไมผู้รับเหมาไม่เบิกค่างวดงาน

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (30 ต.ค.) นายจักรกฤษ ตันเลิศ เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พร้อมเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. มาที่ห้องประชุมป.ป.ช.สำนักงานจังหวัดกาญจนบุรี ในอาคารสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดกาญจนบุรี โดยได้เชิญ นายธวัช ไตรรุ่งตระกูล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(ส.อบจ.)กาญจนบุรี เขต อ.สังขละบุรี นายวรุตน์ ชาวกรุงเก่า และนายประพฤติ มลิผล หรือ"เล็ก บ้านใต้" ชาวจังหวัดกาญจนบุรี สมาชิกเฟซบุ๊คสะพานมอญ โมเดล เข้าให้ปากคำ และขอข้อมูลเพิ่มเติม กรณีจังหวัดกาญจนบุรี ว่าจ้างหจก.ป.รุ่งเรืองวัสดุภัณฑ์ด้วยวิธีพิเศษ ในการซ่อมสะพานอุตตมานุสรณ์ หรือสะพานไม้(สะพานมอญ) วงเงิน 16,347,000 บาท โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

นายจักรกฤษ กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการซ่อมสะพาน เลขาธิการป.ป.ช.จึงมอบหมายให้มาสอบปากคำของผู้ที่ร้องเรียน รวมทั้งหาพยานที่เกี่ยวข้อง และรวบรวมเอกสารนำไปเสนอต่อกรรมการป.ป.ช. สำหรับประเด็นร้องเรียนคงไม่สามารถให้ข้อมูลได้เพราะ เกรงว่าจะเสียรูปคดี โดยยังมีพยานอีก 2-3 ปาก ที่จะต้องสอบสวนเพิ่มเติม แต่ขณะนี้ไม่อยู่ในพื้นที่ บางคนย้ายไปรับราชการต่างจังหวัด ซึ่งจะตามไปสอบปากคำให้ครบ เชื่อว่าคงจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งเรื่องนี้ถือว่าป.ป.ช.ทำงานได้อย่างรวดเร็ว เพราะเพิ่งได้รับการร้องเรียนเมื่อปลายเดือนกันยายน ส่วนวันที่ 31 ตุลาคม จะเดินทางลงพื้นที่ไปตรวจสอบสะพานอุตตมานุสรณ์ อ.สังขละบุรี

ด้านนายธวัช กล่าวว่า พนักงานป.ป.ช.ขอให้ตนมาให้ปากคำขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ยื่นให้แก่ป.ป.ช.ไปหมดแล้ว และวันนี้มีประเด็นอื่นที่ขอให้ทางป.ป.ช.ตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่งไม่ขอลงรายละเอียด สำหรับสัญญาว่าจ้าง ขอให้ตรวจสอบการว่าจ้างด้วยวงเงินสูงถึงกว่า 16 ล้านบาท ขั้นตอนการตรวจการจ้าง การประเมินผลงาน ซึ่งพบว่าไม่มีคณะกรรมการกลางกำกับดูแล รวมทั้งขอให้ตรวจสอบสัญญาประนีประนอมโดยจังหวัดนำเงินที่ได้รับบริจาคไปจ่ายให้บริษัท 10 ล้านบาทว่าทำได้หรือไม่ และคาดว่า .ป.ช.จะลงพื้นที่ตรวจสอบวัสดุที่บริษัทเอกชนใช้ซ่อมสะพานด้วย

"พวกเราทุกคนขอยืนยันว่า เราทำเพื่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ทั้งยังหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่บริจาคเงินสมทบทุนซ่อมสะพานจะได้รับประโยชน์สูงสุดเช่นกัน"

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายธวัชยื่นหนังสือร้องเรียนต่อป.ป.ช. ขอให้ตรวจสอบการว่าจ้างซ่อมบูรณะสะพานอุตตมานุสรณ์ ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้ว่าจ้าง โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชย 10 ล้านบาท ให้แก่ หจก.ป.รุ่งเรืองวัสดภัณฑ์ ผู้รับเหมา ทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จ และคืบหน้าไปไม่ถึง 20% แต่กลับมีการตรวจรับรองงานว่าคืบหน้าไปกว่า 60% ซึ่งขัดต่อสภาพข้อเท็จจริงหน้างาน นั้น

ข่าวแจ้งว่า ก่อนที่คณะป.ป.ช.มาตรวจสอบ ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กสะพานมอญ โมเดล โพสต์ข้อความการตั้งคำถามถึงการบูรณะสะพานมอญ ซึ่งคาดว่าป.ป.ช.จะให้ความสนใจเสาะหาข้อเท็จจริง คือ 1.การคัดสรรบริษัทผู้รับเหมาถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการหรือไม่ 2.ผู้รับเหมาดำเนินการตามสัญญาจ้างหรือไม่ 3.มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาหรือไม่

4.ปริมาณงานที่ระบุว่า ผู้รับเหมาทำไปได้ 60.94% เป็นเนื้องานที่แท้จริงหรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการตรวจการจ้างยังไม่เคยเซ็นรับงานแม้แต่งวดเดียว และหลังจากกองพลทหารราบที่ 9 กกล.สุรสีห์ ร่วมกับชาวบ้านซ่อมแซมเอง ปรากฏว่า ต้องรื้องานของผู้รับเหมาทิ้งเกือบ 100%

5.การที่ทางบริษัทไม่สามารถบูรณะสะพานให้สำเร็จตามสัญญา ถือเป็นการผิดสัญญาจ้างหรือไม่ 6.การจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้รับเหมา 10 ล้านบาท เป็นการรวบรัดสรุปหรือไม่ เนื่องจากผู้รับเหมาไม่มีเอกสารใดๆ มาแสดงต่อคณะกรรมการ มีเพียงกล่าวด้วยวาจาว่า ได้ลงทุนไปแล้ว 13 ล้านบาท

7.การทำสัญญาจ้างระหว่างรัฐกับเอกชน สามารถที่จะประนีประนอมยอมความ และทำสัญญาไกล่เกลี่ยได้หรือไม่ 8.แม้เป็นเงินบริจาค แต่การนำไปจ่ายชดเชยให้แก่ผู้รับเหมาถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของการบริจาค และทำได้หรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสงสัยจากผู้รับเหมาด้วยกันว่า เมื่องานคืบหน้าไปถึง 60.94% ทำไมผู้รับเหมาไม่เคยเบิกค่างวดงานแม้แต่บาทเดียว เพราะเงินบริจาคอยู่ครบทั้ง 11.5 ล้านบาท ตามหลักฐานที่ทางจังหวัดแสดง

ขณะเดียวกัน เงินชดเชยที่ทางจังหวัดจะจ่ายให้ผู้รับเหมา 10 ล้านบาท เดิมมีกรรมการ 4 คน ล่าสุด มีการเสนอเปลี่ยนแปลงรายชื่อคณะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายเป็น 5 คน กำหนดให้ลงนาม 3 ใน 5 คน โดยมีประธานกรรมการเป็นผู้ลงนามหลักอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น