ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ป.ป.ช.ดีเดย์ตรวจสอบเงินบริจาคซ่อมสะพานมอญ วันนี้ หลังร้องเรียนหลายรอบแต่เรื่องยังเงียบ ด้านชาวกาญจน์ฝากเสาะหาข้อเท็จจริง 8 ข้อ พร้อมช่วยตอบข้อสงสัยงานคืบ 60.94% แต่ทำไมผู้รับเหมาไม่เคยเบิกค่างวดงาน
วันนี้ (30 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายธวัช ไตรรุ่งตระกูล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กาญจนบุรี เขต อ.สังขละบุรี ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบการว่าจ้างซ่อมบูรณะสะพานอุตตมานุสรณ์ ขณะที่ นายชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะผู้ว่าจ้าง โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชย 10 ล้านบาท ให้แก่ หจก.ป.รุ่งเรืองวัสดภัณฑ์ ผู้รับเหมา ทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จ และคืบหน้าไปไม่ถึง 20% แต่กลับมีการตรวจรับรองงานว่าคืบหน้าไปกว่า 60% ซึ่งขัดต่อสภาพข้อเท็จจริงหน้างาน โดยมี นายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช.เป็นตัวแทนออกมารับเรื่องนั้น
ล่าสุด เฟซบุ๊กสะพานมอญ โมเดล แจ้งว่า วันนี้ (30 ต.ค.) เวลา 10.00 น. คณะเจ้าหน้าที่จาก ป.ป.ช.จะมาตรวจสอบเรื่องร้องเรียนที่สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดกาญจนบุรี จึงขอเชิญชาวกาญจน์และสื่อมวลชนร่วมสังเกตุการณ์ และหากใครมีข้อมูล หรือหลักฐานการทุจริตเพิ่มเติมสามารถนำส่งให้ ป.ป.ช.จังหวัด หรือสะพานมอญ โมเดล
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เฟซบุ๊กสะพานมอญ โมเดล โพสต์ข้อความการตั้งคำถามถึงการบูรณะสะพานมอญ ซึ่งฝ่ายผู้รับจ้างยังไม่ตอบข้อสงสัยต่อสาธารณชน แต่คาดว่า ป.ป.ช.จะให้ความสนใจเสาะหาข้อเท็จจริง คือ 1.การคัดสรรบริษัทผู้รับเหมาถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของทางราชการหรือไม่ 2.ผู้รับเหมาดำเนินการตามสัญญาจ้างหรือไม่ 3.มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้รับเหมาหรือไม่
4.ปริมาณงานที่ระบุว่า ผู้รับเหมาทำไปได้ 60.94% เป็นเนื้องานที่แท้จริงหรือไม่ เนื่องจากคณะกรรมการตรวจการจ้างยังไม่เคยเซ็นรับงานแม้แต่งวดเดียว และหลังจากกองพลทหารราบที่ 9 กกล.สุรสีห์ ร่วมกับชาวบ้านซ่อมแซมเอง ปรากฏว่า ต้องรื้องานของผู้รับเหมาทิ้งเกือบ 100%
5.การที่ทางบริษัทไม่สามารถบูรณะสะพานให้สำเร็จตามสัญญา ถือเป็นการผิดสัญญาจ้างหรือไม่ 6.การจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้รับเหมา 10 ล้านบาท เป็นการรวบรัดสรุปหรือไม่ เนื่องจากผู้รับเหมาไม่มีเอกสารใดๆ มาแสดงต่อคณะกรรมการ มีเพียงกล่าวด้วยวาจาว่า ได้ลงทุนไปแล้ว 13 ล้านบาท
7.การทำสัญญาจ้างระหว่างรัฐกับเอกชน สามารถที่จะประนีประนอมยอมความ และทำสัญญาไกล่เกลี่ยได้หรือไม่ 8.แม้เป็นเงินบริจาค แต่การนำไปจ่ายชดเชยให้แก่ผู้รับเหมาถือว่าผิดวัตถุประสงค์ของการบริจาค และทำได้หรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสงสัยจากผู้รับเหมาด้วยกันว่า เมื่องานคืบหน้าไปถึง 60.94% ทำไมผู้รับเหมาไม่เคยเบิกค่างวดงานแม้แต่บาทเดียว เพราะเงินบริจาคอยู่ครบทั้ง 11.5 ล้านบาท ตามหลักฐานที่ทางจังหวัดแสดง
ขณะเดียวกัน เงินชดเชยที่ทางจังหวัดจะจ่ายให้ผู้รับเหมา 10 ล้านบาท เดิมมีกรรมการ 4 คน ล่าสุด มีการเสนอเปลี่ยนแปลงรายชื่อคณะกรรมการผู้มีอำนาจลงนามเบิกจ่ายเป็น 5 คน กำหนดให้ลงนาม 3 ใน 5 คน โดยมีประธานกรรมการเป็นผู้ลงนามหลักอีกด้วย