xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ตายด้วยม็อบพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: สุนันท์ ศรีจันทรา

เสียงคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จากภาคประชาชนกลุ่มปฏิรูปพลังงาน คงมีค่าเพียงเสียงนกเสียงกาเท่านั้น เพราะแม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังแทบไม่ฟัง

การเปิดสัมปทานสำรวจแหล่งปิโตรเลียม ไม่ใช่วาระเร่งด่วน แต่มีเวลาที่จะพิจารณากันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่ประเทศต้องได้รับอย่างคุ้มค่า ไม่ถูกบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเอาเปรียบเหมือนอดีต

สิ่งที่ไม่เข้าใจคือ ทำไมพล.อ.ประยุทธ์จึงต้องรีบร้อนเปิดสัมปทาน ทำไมจึงฟังแต่ข้าราชการประจำ ทำไมจึงเชื่อผู้บริหาร ปตท. ทำไมจึงให้น้ำหนักกับ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

และทำไมจึงชอบตีหน้ายักษ์ใส่ภาคประชาชนกลุ่มปฏิรูปพลังงาน ซึ่งทำงานโดยไม่ได้รับเงินเดือน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ทุ่มเททั้งกายและใจเพื่อปกป้องทรัพยากรของชาติ

พล.อ.ประยุทธ์จะให้ความสำคัญของดร.ณรงค์ชัยมากกว่าภาคประชาชนได้อย่างไร ในเมื่อการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่น่าจะเกิดจากความรู้ความสามารถด้านพลังงาน หรือความเป็นนักบริหารที่เก่งกาจ และมีจุดยืนปกป้องผลประโยชน์ของประเทศมาอย่างยาวนาน

แต่อดีตของดร.ณรงค์ชัย ไม่ได้มีผลงานประทับใจอะไรมากมาย สิ่งที่ประชาชนจำกันได้ดีคือ การล่มสลายของระบบสถาบันการเงินปี 2540 ซึ่งดร.ณรงค์ชัยเป็นประธานกรรมการบริหาร บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จีเอฟ จำกัด มีนายชินเวศ สารสาส เป็นกรรมการผู้จัดการ และเป็น 1 ใน 56 ไฟแนนซ์ที่ถูกสั่งปิดตาย

ไม่มีใครรู้ว่า ดร.ณรงค์ชัยเข้ามาเป็นรัฐมนตรีทางสายไหน ใครส่งเข้ามา เพราะไม่น่าถูกคัดเลือกเข้าด้วยคุณสมบัติความรู้ความสามารถ

ดร.ณรงค์ชัยเข้ามาแจ้งเกิดได้ด้วยเส้นสายไหนไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์จะฝากผีฝากไข้ ฝากชะตากรรมกับอดีตผู้บริหารไฟแนนซ์ที่ล้มเหลวหรือ จะเชื่อคนที่เอาตัวรอดมาได้ทุกสมัย ใครขึ้นมาเป็นใหญ่ ดร.ณรงค์ชัยก็ได้ร่วมขบวนรับใช้โดยตลอดอย่างนั้นหรือ

สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่ใช่วาระคอขาดบาดตาย แต่ทำไมพล.อ.ประยุทธ์ต้องเอาคอขึ้นเขียง เพราะการเปิดสัมปทานอาจจุดชนวนการเคลื่อนไหวต่อต้านจากภาคประชาชนครั้งใหญ่ได้

ม็อบต่อต้านการอนุมัติสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมพร้อมจุดติดตลอดเวลา และถ้าจุดติดเมื่อใด จะเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ไม่มีเหตุจำเป็นใดที่พล.อ.ประยุทธ์ต้องเสี่ยงกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 และมีวาระจำเป็นเร่งด่วนอื่นๆ อีกมากมาย แต่เป็นที่สงสัยว่า ทำไมพล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ร้อนรนเข้าไปแก้ปัญหา ทั้งที่สามารถเรียกเสียงสรรเสริญและแรงศรัทธาได้มหาศาล

ทำไมจึงไม่เร่งรัดกระบวนการดำเนินคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้ประเทศย่อยยับไปประมาณ 7 แสนล้านบาท ทั้งที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูลความผิดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว

สลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคา จากที่กำหนดไว้ฉบับละ 80 บาท แต่จำหน่ายเกินราคาและผิดกฎหมายที่ฉบับละ 110-120 บาท เหตุใดจึงแก้ไม่ได้ ทั้งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ

ทำไมจึงไม่สั่งการให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สายทหารที่ตั้งมากับมือ ร่วมกับ สนช.ฝ่ายพลเรือน เดินหน้าพิจารณาถอดถอนอดีตประธานวุฒิสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็นขี้ข้าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เพราะเหตุใดจึงไม่มีการขับเคลื่อนการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งที่หลังจากยึดอำนาจใหม่ๆ ผ่าตัดใหญ่ตำรวจมีกระแสดังกระหึ่ม หรือหลอกให้ประชาชนดีใจเท่านั้น

ทำไมจนบัดนี้ จึงปล่อยให้พ.ต.ท.ทักษิณลอยนวล เดินทางเยาะเย้ยประชาชนแถบประเทศเพื่อนบ้าน โดยไม่ดำเนินขั้นตอนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือแม้กระทั่งการถอดยศ

ทำไมจึงแต่งตั้งนักการเมืองที่เคยทำตัวเป็นทาสรับใช้พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นคนที่สังคมไม่ยอมรับเข้ามาร่วมงานกับรัฐบาล หรือหลุดเข้ามาเป็น สนช.และ สปช.

ทำไมจึงปล่อยให้ข้าราชการที่เคยทำตัวเป็นขี้ข้าพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่คำนึงถึงเกียรติ ศักดิ์ศรีและหน้าที่ของตัวเอง ได้ก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโต แทนที่จะกดหัวไว้ให้สาสมกับความผิดที่ก่อไว้กับประชาชน

ทำไมจึงไม่รู้ร้อนรู้หนาวเท่าไหร่นัก กับนักการเมืองและข้าราชการที่สมคบคิดกันทุจริต จนประเทศเกือบต้องล่มสลาย

และทำไมจึงเกรงใจคนชั่วนัก ไม่ค่อยประณาม ไม่ค่อยจะพูดถึง แต่กลับเปิดศึกหน้าดำคร่ำเครียด เอาเป็นเอาตายกับประชาชนฝ่ายคุณธรรม

พล.อ.ประยุทธ์เป็นหนึ่งเดียวจากคนไทยจำนวน 65 ล้านคนที่มีโอกาสเลือกได้ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ เลือกที่จะเป็นผู้นำซึ่งคนไทยอยากให้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนสิ้นลมหายใจคาเก้าอี้ เลือกทำสิ่งดีๆ เพื่อประชาชนได้ทันที

แต่น่าสงสัยกันไหมล่ะ ทำไมพล.อ.ประยุทธ์จึงไม่เลือกทำในสิ่งที่ต้องทำ ทำไมไม่เร่งทำสิ่งดีให้เป็นที่ประจักษ์ ทำไมไม่ลงมือขุดรากถอนโคนปัญหาหมักหมมในทันที ทั้งที่มีอำนาจอยู่เต็มมือ

และทำไมจึงต้องทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำไมต้องเร่งอนุมัติสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งเป็นการรนหาที่และขุดหลุดฝังตัวเอง

จะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเพื่อ “เรียกแขก” ทำไม คอยระวังคลื่นใต้น้ำที่เริ่มกระเพื่อมแรงไม่ดีกว่าหรือ บ้าหรือไม่ฉลาดกันแน่ จึงเชิญชวนม็อบประชาชนผู้รักชาติและหวงแหนทรัพยากรให้ลุกฮือขึ้นมาขับไล่เสียอย่างนั้น

ม็อบปฏิรูปพลังงานจุดติดเมื่อไหร่ มั่นใจหรือว่า “จะเอาอยู่” อนุมัติสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 พล.อ.ประยุทธ์กำลังฆ่าตัวตายชัดๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น