xs
xsm
sm
md
lg

สปช.หักหน้า“บวรศักดิ์”ค้านคนนอกนั่งกมธ.ยกร่างฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุม สปช.แหกประเพณี ดัน “เทียนฉาย” นั่งบัลลังก์ประธานที่ประชุม ไม่รอโปรดเกล้าฯ ก่อนโหวต 175 ต่อ 39 เสียงคว่ำมติวิปชั่วคราว ขวางคนนอกร่วมร่าง รธน. รวบ 20 ที่นั่งให้ สปช.ทั้งหมด อ้างหากแบ่งโควต้าให้จะกลายเป็นเสียงข้างน้อย “อลงกรณ์” ไม่ท้อเตรียมต่อสายชวนพรรคการเมืองร่วมเสนอไอเดีย “บวรศักดิ์” รูดซิปปากไม่วิจารณ์มติที่ประชุม ด้าน “ประยุทธ์” ยันองค์กรปฏิรูปของรัฐบาลมีแค่ สปช. สั่ง “เนติบริกร” หาช่องเบรก "สภากระจก" ฮึ่มคิดต่างได้ แต่อย่าสร้างความแตกแยก ส่วน “นิพิฏฐ์” ย้ำ ปชป.ไม่ร่วมสังฆกรรมแน่ เชื่อมีธงร่าง รธน.อยู่แล้ว

วานนี้ (27ต.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมี นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุดใน สปช.ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว ก่อนเริ่มเข้าสู่วาระ นายพารณได้เสนอให้ที่ประชุมงดเว้นข้อบังคับการประชุมที่ 22 เลือกประธานเฉพาะคราวมาทำหน้าที่แทนตน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว 230 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากนั้น นายอมร วานิชวิวัฒน์ สปช. ด้านการเมือง ได้เสนอให้ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช. มาทำหน้าที่ประธาน โดยมีสมาชิกบางส่วนยกมือสนับสนุน

ขวาง “เทียนฉาย” ขึ้นบัลลังค์หวั่นครหา

อย่างไรก็ดี นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ลุกขึ้นท้วงว่า ยังไม่ควรให้นายเทียนฉายทำหน้าที่ เพราะเป็นบุคคลที่ สปช.ได้มีมติเลือกให้ทำหน้าที่ประธาน แต่ยังไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เกรงว่าจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจ หรือความเห็นที่จะกลายเป็นเรื่องของการไม่บังควร หรือไม่เหมาะสม กระทบต่อความเห็นความรู้สึกได้โดยง่าย และจะมีผลถึงการทำหน้าที่ในโอกาสต่อไป

ด้านนายอมร ลุกขึ้นชี้แจงว่า ที่ตนเสนอชื่อนายเทียนฉาย ไม่ได้หมายความว่าไม่รู้ประเพณีปฏิบัติ แต่ที่ประชุมได้งดเว้นข้อบังคับการประชุม และการทำหน้าที่นี้ทุกคนทราบดีว่ายังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่ที่ตนเรียนไปตามมติที่ประชุมให้การรับรอง แต่ถ้าที่ประชุมจะมีความเห็นอย่างอื่นตนก็ไม่ขัดข้อง ขณะที่นายพารณ กล่าวว่า ตนขอถอนตัว เพราะเป็นผู้สูงวัย ความว่องไวลดน้อยลง ขอให้เสนอคนที่มีคุณภาพวัยวุฒิน้อยกว่าตนมาทำหน้าที่แทน

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกบางส่วนได้ลุกขึ้นสนับสนุนนายอมรโดยให้เหตุผลว่า มีหลายส่วนที่ทำหน้าที่ก่อนที่จะมีการโปรดเกล้าฯ ทั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหลายส่วนในราชการที่ทำหน้าที่ชั่วคราวไประหว่างรอการโปรดเกล้าฯ ที่สุดนายพารณก็ประกาศ ยืนยันให้นายเทียนฉาย ทำหน้าที่ประธานตามที่ประชุมรับรอง และได้สั่งให้ นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เชิญ นายเทียนฉาย ขึ้นบัลลังก์ ทำหน้าที่ประธาน โดยมีสมาชิกลุกขึ้นแสดงความเคารพกันอย่างพร้อมเพรียง

วิป สปช.ชงคนนอกร่วมเขียน รธน.

จากนั้น นายเทียนฉายได้ดำเนินการประชุม โดยระบุว่า เหตุที่ต้องมีการนัดประชุมในครั้งนี้ เพราะมีวาระเร่งด่วนที่จะต้องทำตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ เรื่องคณะกรรมการประสานงาน (วิป) ชั่วคราวได้รับมอบหมายจากสภา สปช. ให้พิจาณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้มา ซึ่งกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน โดยจะมอบหมายให้ตัวแทนวิป สปช.ชั่วคราวรายงานผลต่อที่ประชุม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ตัวแทน วิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า ที่ประชุมวิปได้มีข้อสรุปว่า การสรรหา กมธ.ยกร่างฯจะต้องยึดหลัก 1.ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2 .บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องสมัครใจ และ 3.มีสัดส่วนมาจาก สปช. 15 คน และภายนอก 5 คน โดยในส่วนของ สปช.จะใช้แนวทางสรรหา คือ สรรหาจาก สปช. 11 ด้าน และจากภาค 5 คน โดยภาคละ 1 คน รวมเป็น 15 คน แต่ไม่ตัดสิทธิ์สมาชิกที่จะไปสมัครในกลุ่มอื่น หากมีจำนวนเกิน 15 ก็ให้ที่ประชุม สปช.ลงมติเลือกให้เหลือ 15 คน ส่วนคนนอกมอบหมายให้วิป สปช.สรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อไป

สมาชิก สปช.เรียงแถวคัดค้าน

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สมาชิก สปช.การอภิปรายแสดงความเห็น โดย นายเสรี กล่าวแสดงความไม่เห็นเรื่องการกำหนดสัดส่วนกรรมาธิการ 15 บวกคนนอก 5 คนว่า กมธ.ยกร่างฯควรจะให้มาจาก สปช.ทั้ง 20 คนเพื่อสะท้อนแนวคิดข้อเสนอแนะต่างๆ ส่วนตัวไม่มีส่วนได้เสีย เพราะเป็น กมธ.ยกร่างฯไม่ได้ เนื่องจากออกจากสมาชิกพรรคการเมืองไม่ครบตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวบัญญัติไว้ แต่จะเป็น สปช.ที่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จภายในกำหนด เช่นการรับฟังและเสนอความคิดเห็น แม้ กมธ.ยกร่างฯจะมีอิสระในการเขียน แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับ สปช.ว่าเสนออะไรมา ไม่เช่นนั้นรัฐธรรมนูญจะไม่กำหนดให้ต้องฟังก่อนเริ่มเขียน และต้องส่งกลับให้ สปช.พิจารณาอีกครั้งและยังต้องมีการให้ความเห็นชอบ ถือเป็นกระบวนการสำคัญ

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. อภิปรายแสดงความไม่เห็นด้วยเช่นกันโดยระบุว่า สปช.มีหน้าที่ๆจะต้องพิจารณาหาประเด็นที่เราจะต้องปฏิรูปในหลายๆด้าน สปช.จะต้องเสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการปฏิรูปด้วย เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเราจำเป็นอย่างมาก ที่จะต้องมีสมาชิก สปช.เข้าไปทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯจำนวน 20 คนตามบทของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะหากเราตัดเหลือ 15 คนก็จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยทันที ซึ่งอาจจะทำให้ สปช.ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกทยอยแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายเทียนฉาย สั่งพักการประชุม เมื่อเวลา 12.00 น. เพื่อให้สมาชิกรับประทานอาหารเที่ยง

“บวรศักดิ์” แจงต้องการเปิดกว้าง

ต่อมาเวลา 13.50 น. ได้เปิดประชุมอีกครั้ง โดยได้เปิดโอกาสให้วิป สปช.ชั่วคราวชี้แจง ซึ่ง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่ รองประธาน สปช. คนที่ 1 ในฐานะรองประธานวิป สปช.ชี้แจงว่า ที่ประชุมวิป สปช.เห็นว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศกว่า 10 ปี และมีปัญหาในเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญมาหลายยุคหลายสมัย และความขัดแย้งนี้จะสิ้นสุดหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปในครั้งนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ จะต้องไม่เป็นเพียงเอกสารที่ถูกตราว่าเป็นกติกาของผู้ชนะ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นจะต้องมีการเปิดโอกาสให้คู่ขัดแย้งเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย แต่ต้องไม่ใช่เสียงข้างมาก จึงกำหนดไว้ที่ 5 คนจาก 20 คน

“ตอนนี้ก็มีหลายพรรคการเมืองเข้าร่วม แต่พรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่ม กปปส. กลุ่ม นปช. ยังไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งสภาแห่งนี้ต้องการความปรองดอง สมานฉันท์ ที่จะเปิดโอกาสให้คนนอกเข้าร่วมได้ แต่ถ้าพวกเขาไม่ยอมเข้ามาเอง ในอนาคตหากจะต่อต้านว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ประชาชนก็จะได้พิจารณากันต่อไปได้” นายบวรศักดิ์ กล่าว

ด้าน นายอลงกรณ์ กล่าวเสริมว่า กลุ่มการเมืองที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง อาจจะตอบรับ หรือปฏิเสธในการเข้าร่วม วิป สปช.ก็ต้องนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้ทางสภาแห่งนี้พิจารณา ซึ่งตัวแทนของพรรคการเมืองถือว่าสำคัญมากในการเข้าร่วมปฏิรูปในครั้งนี้ จึงพยายามที่จะเสนอทางเลือก เพราะไม่ต้องการให้ถูกตราหน้าว่า เป็นผลพวงของผลไม้พิษรัฐประหาร สปช.จึงจะต้องเริ่มด้วยความใส่ใจซึ่งกันและกัน และถือเป็นสันติวิธี ที่สำคัญวันนี้บ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ การมีส่วนร่วม และหันหน้าเข้าหากัน จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นหากเราไม่ให้โอกาสเขา ในขณะที่เราสามารถให้ได้ เป็นข้อคิดที่น่าสนใจ

สรุปไม่เอาคนนอกนั่งกมธ.ยกร่างฯ

จากนั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้ตั้งคำถามถึงวิป สปช.ว่า หากที่ประชุม สปช.เห็นด้วยกับการเปิดให้คนนอกเข้าร่วมเป็น กมธ.ยกร่างฯ แต่คู่ขัดแย้งเหล่านั้นแสดงความจำนงไม่ต้องการเข้าร่วมกระบวนการ จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะในวันนี้เราต้องยอรับว่า คู่ขัดแย้งเหล่านั้นไม่ยอมรับการรัฐประหาร จึงไม่ต้องการเข้าร่วมงานในส่วนนี้ คำถามต่อจากนี้คือ หากมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ยอมรับคำเชิญ แต่อีกกลุ่มขัดแย้งหนึ่งไม่ยอมมา ทาง วิป สปช.จะมีขั้นตอนอย่างไรต่อไป

ทางด้าน นายเทียนฉาย ยังไม่เปิดโอกาสให้ทางวิป สปช.ได้ตอบคำถามของ นายคำนูณ แต่ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายในประเด็นเดิมต่อไปก่อน เพราะเกรงว่าจะทำให้การประชุมมีการอภิปรายแตกประเด็นออกไปอีก และหากการอภิปรายเรื่องสัดส่วนคนใน กับคนนอกจบแล้ว ก็จะย้อนกลับมาที่คำถามของนายคำนูณอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อมีสมาชิก สปช.อภิปรายไปได้เพียง 2 คน ทาง นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิก สปช.ได้เสนอให้ที่ประชุมปิดการอภิปรายเพื่อลงมติ นายเทียนฉาย ประธานในที่ประชุม จึงได้ให้สมาชิกลงมติ ปรากฏว่า มีสมาชิกเห็นด้วยกับนายเอนก 198 ต่อ 20 สรุปว่า ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะปิดอภิปราย

ท้ายที่สุดที่ประชุม สปช.ได้ลงมติไม่รับข้อเสนอของวิป สนช.ชั่วคราว ที่เสนอให้ กมธ.ยกร่างฯมีสมาชิก สปช. จำนวน 15 คน และคนนอก 5 คน แบ่งเป็นเสียงเห็นด้วย 39 ไม่เห็นด้วย 175 งดออกเสียง 5 เสียง สรุปเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม เห็นว่า กมธ.ยกร่างฯจะมาจากสมาชิก สปช. ทั้ง 20 คน

โยนวิปหาวิธีสรรหา 20 กมธ.ยกร่างฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมลงมติให้สัดส่วน กมธ.ยกร่างฯมาจากสมาชิก สปช.ที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือถึงกระบวนการคัดสรรสมาชิก สปช.เข้าทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง มีทั้งเสนอให้มาจากตัวแทน 11 ด้าน ด้านละ 1 คน ส่วน สปช.ด้านจังหวัดทั้ง 4 ภาค ให้เสนอมาภาคละ 1 คน ส่วนที่เหลือ 5 คนเปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอชื่อต่อที่ประชุมลงมติเลือก หรือเปิดโอกาสให้สมาชิกที่สนใจเข้าทำหน้าที่เสนอตัวให้ที่ประชุมลงมติเลือกทั้ง 20 คน ด้าน นายบวรศักดิ์ ชี้แจงว่า ตามมาตรา 33 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่า ไม่สามารถแบ่งโควต้าตามที่เสนอได้ ดังนั้นจึงต้องสมาชิก สปช.ที่ต้องการทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯเสนอตัวแล้วให้ที่ประชุม สปช.ได้ลงมติเลือก

ในที่สุดที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า ให้วิป สปช.ชั่วคราวเป็นผู้รับผิดชอบในการเสนอแนวทางคัดสรรสมาชิก สปช.เข้าทำหน้าที่ กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 20 คน ในวันที่ 28 ต.ค. เวลา 09.30 น. ก่อนนำมาเสนอที่ประชุมต่อไป นอกจากนี้ยังนัดประชุม สปช.วันที่ 28 ต.ค. เวลา 13.00 น. ก่อนที่นายเทียนฉายจะสั่งปิดประชุมในเวลา 16.15 น. รวมเวลาการอภิปรายสัดส่วน และกระบวนการสรรหา กมธ.ยกร่างฯกว่า 4 ชั่วโมงครึ่ง

“อลงกรณ์” ยังหวังให้พรรคการเมืองร่วม

ภายหลังการประชุม นายอลงกรณ์ ในฐานะเลขาฯ วิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า ต้องยอมรับตามมติที่ประชุม แต่ยังคิดว่าต้องพยายามเปิดพื้นที่ให้ พรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เข้ามามีบทบาทในการปฏิรูป หรือทำพิมพ์เขียวประเทศ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยหลังจากนี้จะมีเวลา 60 วัน นับแต่มีการประชุม สปช. ครั้งแรก ต้องทำข้อเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพื่อประโยชน์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เปิดเวทีเชิญทุกภาคส่วนมาร่วมแสดงความคิดเห็นประกอบการพิจารณา ก่อนส่งให้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณา ส่วนจะได้รับความร่วมมือหรือไม่ ส่วนตัวไม่สามารถบังคับใครได้ แต่ยังยืนยันว่าจะนำพรรคการเมืองที่มีความขัดแย้ง อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และกลุ่มขัดแย้งทางการเมือง เช่น กปปส. นปช. เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ โดยเชื่อว่า เวทีนี้จะเป็นของทุกคนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นของคนไทย เนื่องจากอยากเห็นความร่วมมือของทุกภาคส่วน และจะสามารถยุติปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การประสานกลุ่มต่างๆ จะมี สปช.ประสานไปอย่างเป็นทางการ ส่วนตัวจะประสานพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆอย่างไม่เป็นทางการ

ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวรศักดิ์ ในฐานะรองประธานวิป สปช.ชั่วคราว ได้ออกจากห้องประชุม เพื่อมาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7 และพระสยามเทวาธิราช สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำรัฐสภา เพื่อความเป็นสิริมงคลในการปฏิบัติหน้าที่ โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ที่ประชุม สปช.มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของวิป สปช.ชั่วคราวในเรื่องสัดส่วนกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน ที่วิป สปช.เสนอสูตร คนใน 15 คน คนนอก 5 คน

“ประยุทธ์” ไม่ปลื้ม “สภาคู่ขนาน”

วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตั้งสถาบันปฎิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี นางสังศิต พิระยะรังสรรค์ และนายสุริยะใส กตะศิลา เป็นแกนนำ โดยระบุว่าจะทำงานคู่ขนานกับ สปช.ว่า รัฐบาลจะเกี่ยวข้องกับ สปช.เพียงสภาเดียวเท่านั้น ซึ่งความจริงมีช่องทางในการส่งเรื่องมายัง สปช. หลายช่องทาง เช่น ผ่านทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ศูนย์ดำรงธรรม และสำนักงานเลขาธิการ สปช.เป็นช่องทางโดยตรงที่สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าจุดประสงค์ที่ตั้ง สปท.เพราะต้องการเป็นสภากระจก สะท้อนการทำงานของ สปช. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องดูว่าจะตั้งได้หรือไม่ กับการตั้งสภากระจก ต้องถามนักกฎหมาย ตนไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายไปหารือในเรื่องนี้ ตนไม่ขัดข้องในการที่จะฟังความเห็นของคนทั้งประเทศ แต่อยากให้ฟัง และหาทางออก หาข้อสรุปให้ได้ ถ้าฟังแล้วไปกันไม่ได้ ไม่รู้จะฟังกันตรงไหน เพราะทุกคนคือ ประชาชนด้วยกันทั้งหมด ถ้าขัดแย้งกันตั้งแต่ต้น จะไปไม่ได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะหาข้อสรุปได้ ตรงนี้ถือว่าสำคัญ

"ผมอยากย้ำอีกครั้งว่า การปฏิรูปไมใช่ว่าจะทำได้ในปีเดียว ใน 11 เรื่อง ที่จะปฏิรูปต้องมีเรื่องระยะสั้นที่จะต้องทำให้ได้ภายใน 1 ปี ส่วนที่เหลือรัฐบาลต่อจากนี้ ต้องรับช่วงต่อไป เพราะนี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น แต่นี่ก็เริ่มมีความขัดแย้งกันอีกแล้ว ความจริงผมไม่อยากยุ่งเกี่ยว แต่ถือว่า เมื่อเข้ามารับผิดชอบแล้ว ต้องขอร้องทุกคนไปหาช่องทางที่จะทำอย่างไรให้เกิดการปฏิรูปให้ได้ และถ้าไม่ทำวันนี้ วันหน้าจะทำไม่ได้แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

ปชป.เมินร่วมสังฆกรรม

อีกด้าน นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ว่า ขอให้นายอลงกรณ์ก้าวไปก่อน พวกตนขอเดินไปช้าๆจะดีกว่า เรายังยืนยันเช่นเดิมว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่ส่งคนไปร่วมแน่นอน เพราะการส่งคนไปร่วม จะแตกต่างกันตรงไหนกับการมาขอความเห็นเป็นเอกสาร กรรมาธิการสามารถดูในเอกสารหรือนำไปร่างก็ทำได้ ไม่ควร ยึดติดที่ตัวหรือความเห็นของบุคคลเป็นหลัก

“สาเหตุหนึ่งที่พรรคไม่ให้ความสนใจกับการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพราะเชื่อว่า การทำงานจะไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะการปฏิรูปมันมีธงอยู่แล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเราเข้าไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างฯแล้วจะทำอะไรได้ หากกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่บอกว่าจะเอาความเห็นอย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์ สู้เราอยู่วงนอก แล้วกรรมาธิการอยากได้ความเห็นเรื่องอะไร ก็ขอมาได้ แต่ไม่จำเป็นต้องให้ตัวบุคคลเข้าไป ทุกวันนี้สังคมไทยถกเถียงกันบนพื้นฐานความคิดเห็น ไม่ใช่ความรู้ ทำให้เกิดความขัดแย้ง และหากคนที่ส่งเข้าไปไม่ใช่ตัวจริงพรรคเราไม่ทำอยู่แล้ว ไม่เหมือนพรรคอื่นที่อาจจะเอาคนอื่นมาเป็นหัวหน้าพรรคหรืออุปโลกน์ขึ้นมา ไม่ใช่หัวหน้าตัวจริง ผมเชื่อว่าพรรคชี้แจงกับสังคมในเรื่องนี้ได้” นายนิพิฎฐ์ กล่าว

กปปส.แบะท่าร่วมเวที กอ.รมน.

ขณะที่ นายถาวร เสนเนียม แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงกรณีที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน เรื่องการปฏิรูปในช่วงเดือน พ.ย.57 จนถึงเดือน มี.ค.58 ว่า ตนเห็นด้วย สำหรับรูปแบบนั้นตนคิดว่าควรจะให้เป็นธรรมชาติ และไม่ควรจะไปสกัดกั้นความเห็นต่างๆ จึงจะทำให้เวทีการเสนอความเห็นเดินหน้าไปได้

ทั้งนี้ กปปส.พร้อมจะให้ความร่วมมือกับทางเวทีของทาง กอ.รมน. อย่างเต็มที่ เพราะเรื่องการปฏิรูป เป็นเรื่องของทาง กปปส.อยู่แล้ว โดยในปัจจุบันนั้น มีหลายหน่วยงาน ได้พยายามนำเสนอแนวทางการปฏิรูปของตนขึ้นมา ดังนั้น ตนคิดว่าในวันข้างหน้า ทาง สปช.คงจะได้มีการตั้งเวทีเพื่อรวบรวมแนวคิดของการปฏิรูปจากแต่ละองค์กรเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะได้หาข้อสรุปในการปฏิรูปให้ชัดเจน เพราะ สปช.ควรจะต้องเปิดกว้างรับฟังแนวความคิดอย่างหลากหลายและกว้างขวาง และนำความเห็นที่ดีๆมาเป็นแนวเพื่อเพื่อให้เกิดการปฏิรูปอย่างสูงสุด เนื่องจากในแต่ละองค์กรที่มานำเสนอ ก็จะมีความรู้ มีความชำนาญ มีประสบการณ์ในเรื่องที่ตนรับผิดชอบ แตกต่างกันออกไป

“ต้องเข้าใจว่า สปช. 250 คน ไม่ใช่อรหันต์ ไม่ใช่จะรอบรู้ไปทุกเรื่อง ดังนั้นจึงควรที่จะเปิดกว้าง คนเหล่านั้นเป็นได้แค่ตัวแทนที่อุปโลกน์ขึ้นมา ก็คาดหวังว่าน่าจะมีความรู้ครอบคลุมทุกด้าน แต่เมื่อถามความจริงกันให้ชัด ก็คือท่านไม่มีความรู้ในทุกด้าน เพราะฉะนั้นท่านก็ต้องเปิดกว้างด้วยวิธีการไหนก็แล้วแต่ เพื่อจะนำไปสู่แนวทางการปฏิรูปที่ได้รับมอบหมาย” นายถาวร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น