xs
xsm
sm
md
lg

สปช.แหกประเพณี ดัน “เทียนฉาย” นั่งบัลลังก์ทั้งที่ยังไม่โปรดเกล้าฯ ตอกวิปอย่าครอบงำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สปช.ประชุมนัดที่ 2 แหกประเพณี ดัน “เทียนฉาย” นั่งบัลลังก์ทำหน้าที่ประธาน ไม่รอโปรดเกล้าฯ อ้างเหตุไม่ปกติต้องเร่งรัดตามกรอบ ขณะที่ “เสรี” ชี้ไม่บังควร อ่อนไหวความรู้สึก ส่วนการถกสัดส่วน กมธ.ยกร่างฯ วิปฯชงแบ่งเค้กคนนอก 5 คนใน 15 พร้อมเบรกสมาชิกฯ ไม่ควรล้มหรือคว้ำมติวิป อ้างสื่อจะนำไปพาดหัวทำบรรยากาศสภาขัดแย้ง เจอ “เสรี” สอนมวย อย่าคิดครอบงำคนอื่น สปช.ทำงานต้องอิสระ ถ้าถูกควบคุมจะปฏิรูปได้อย่างไร พร้อมขวางนำคนนอกร่วม หวั่น สปช.ผลักดันแนวทางปฏิรูปไม่ได้ ส่งผลรัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาเข้าทางกลุ่มผลประโยชน์การเมือง

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (27 ต.ค.) ได้มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ทำหน้าที่ประธานชั่วคราว ก่อนเริ่มเข้าสู่วาระ นายพารณได้เสนอให้ที่ประชุมงดเว้นข้อบังคับการประชุมที่ 22 เลือกประธานเฉพาะคราวมาทำหน้าที่แทนตน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอดังกล่าว 230 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง จากนั้นนายอมร วานิชวิวัฒน์ สปช.ด้านการเมือง ได้เสนอให้นายเทียนฉาย กีรนันทน์ ว่าที่ประธาน สปช.มาทำหน้าที่ประธาน โดยมีสมาชิกบางส่วนยกมือสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม นายเสรี สุวรรณภานนท์ สปช.ด้านกฎหมาย ลุกขึ้นท้วงว่ายังไม่ควรเสนอชื่อนายเทียนฉาย เพราะเป็นบุคคลที่ สปช.ได้มีมติเลือกให้ทำหน้าที่ประธาน ซึ่งจะต้องมีพิธีการเข้ารับสนองพระบรมราชโองการฯ หากยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หากมาทำหน้าที่ในขณะนี้จะเกรงว่าจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจหรือความเห็นที่จะกลายเป็นเรื่องของการไม่บังควรหรือการไม่เหมาะสม ตนไม่ได้รังเกียจหรือไม่เห็นด้วย แต่เราควรต้องระมัดระวังเพราะถือว่าเป็นเรื่องบอบบาง กระทบต่อความเห็นความรู้สึกได้โดยง่าย และจะมีผลถึงการทำหน้าที่ในโอกาสต่อไป หากจะให้เสนอชื่อตนก็จะเสนอให้นายพารณ ทำหน้าที่ต่อไปในขณะนี้ก่อน

ด้านนายอมรลุกขึ้นชี้แจงว่า ที่ตนเสนอชื่อนายเทียนฉาย ไม่ได้หมายความมาไม่รู้ประเพณีปฏิบัติ แต่ที่ประชุมได้งดเว้นข้อบังคับการประชุม และการทำหน้าที่นี้ ทุกคนทราบดีว่ายังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่ที่ตนเรียนไปตามมติที่ประชุมให้การรับรอง แต่ถ้าทีประชุมจะมีความเห็นอย่างอื่นตนก็ไม่ขัดข้อง

ขณะที่นายพารณกล่าวว่า ตนขอถอนตัว เพราะเป็นผู้สูงวัยความว่องไวลดน้อยลง ขอให้เสนอคนที่มีคุณภาพวัยวุฒิน้อยกว่าตนมาเป็น

อย่างไรก็ตาม มีสมาชิกบางส่วนได้ลุกขึ้นสนับสนุนนายอมร อาทิ นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสยุมพร ลิ่มไทย โดยนายณรงค์ พุทธิชีวิน กล่าวว่า หากจะคิดว่าต้องรอให้โปรดเกล้าฯ ก่อนแล้วค่อยทำหน้าที่นั่นเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อที่ประชุมยกเว้นข้อบังคับแล้ว และขณะนี้เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ มีหลายส่วนที่ทำหน้าที่ก่อนที่จะมีการโปรดเกล้าฯ ทั้งหัวหน้า คสช.ก็โปรดเกล้าฯ ทีหลัง หลายส่วนในราชการที่ควรต้องรอโปรดเกล้าน ก็ทำหน้าที่ชั่วคราวไปก่อน เพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นด้วยเหตุและผลแล้วเหมาะสมที่นายเทียนฉายจะมาทำหน้าที่ตามที่ประชุมรับรอง

ที่สุดนายพารณก็ประกาศยืนยันให้นายเทียนฉายทำหน้าที่ประธานตามที่ประชุมรับรอง จากนั้นได้สั่งให้นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เชิญนายเทียนฉายขึ้นบัลลังก์ทำหน้าที่ โดยมีสมาชิกลุกขึ้นแสดงความเคารพกันอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นนายเทียนฉายได้ดำเนินการประชุม โดยระบุว่า เหตุที่ต้องมีการนัดประชุมในวันนี้ เพราะมีวาระเร่งด่วนที่จะต้องทำตามกรอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ คือ เรื่องวิปชั่วคราวได้รับมอบหมายจากสภา สปช.ให้พิจาณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน โดยจะมอบหมายให้ตัวแทนวิป สปช.ชั่วคราวชี้รายงานผลต่อที่ประชุม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ตัวแทนวิป สปช.ชั่วคราว กล่าวว่า ที่ประชุมวิปได้มีข้อสรุปว่า การสรรหาคณะกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องยึดหลัก 1. ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2. บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องสมัครใจและ 3. มีสัดส่วนมาจาก สปช.15 คน และภายนอก 5 คน โดยในส่วนของ สปช.จะใช้แนวทางสรรหา คือ สรรหาจาก สปช. 11 ด้าน และจากภาค 5 คน โดยภาคละ 1 คน รวมเป็น 15 คน แต่ไม่ตัดสิทธิ์สมาชิกที่จะไปสมัครในกลุ่มอื่น หากมีจำนวนเกิน 15 ก็ให้ที่ประชุม สปช.ลงมติเลือกให้เหลือ 15 คน ส่วนคนนอกมอบหมายให้วิป สปช.สรรหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมวิป สปช.ยังเห็นชอบให้มีการประชุมทุกวันจันทร์และวันอังคาร

นายอำพล จินดาวัฒนะ สปช. และวิป สปช.กล่าวเสริมว่า การประชุมในวิป สปช. บรรยากาศ ไม่มีการนำกรอบการทำงานแบบสภาการเมืองมาใช้ โดยได้ปรึกษาหารือเรื่องการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จตามภาระกิจในเรื่องเร่งด่วน และได้คุยว่าต้องลดกรอบ วิธีและวัฒนธรรมเรื่องสภาการเมืองลงเช่น ไม่ต้องบอกว่า “ท่านประธานที่เคารพ” หรือ รายงานตัวว่ามาจากสายไหนเพื่อเป็นการประหยัดเวลาให้มากที่สุด และให้บันทึกการประชุมโดยเน้นที่สาระสำคัญเท่านั้น ไม่ต้องมีรายละเอียด เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่

ส่วนเรื่องสัดส่วนกรรมาธิการยกร่าง 20 คนที่มีการแสดงความเห็นว่าควรจะให้มาจาก สปช.ทั้งหมด หรือแบ่งส่วนให้คนนอก 5 คน ก็เป็นเรื่องที่แสดงความเห็นกันไป ที่มีการถกเถียงกันไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำ แพ้หรือชนะ เพราะบรรยากาศที่ออกไปสู้สังคมเริ่มมีคำว่า “จ่อดึงคนนอก “ หรือ “ดึงคนนอก” และไปไกลกว่านั้นคือ “ล้มมติกรรมาธิการ” หรือ “คว่ำ” หรือ “หัก” บรรยากาศแบบนี้จะทำให้บรรยากาศการทำงานเข้าไปสู่ความขัดแย้งเหมือนสภาการเมือง

“การที่นำเข้าสู่สภาใหญ่เพื่อให้มีการเลือกแนวทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่เอาชนะคะคานกัน ถ้าที่ประชุมเลือกทางที่วิปเสนอไว้มันก็ไปได้ แต่ถ้าไม่เห็นด้วยและมีการเสนอญัตติที่เลือกเป็นอย่างอื่นก็เป็นวิถีที่ควรจะเป็น เราไม่ควรมีประเด็นหัก แพ้ คว่ำ เราไปกำกับสังคมไม่ได้ แต่ในบรรยากาศในนี้ถ้าเราเข้าใจตรงกัน เรื่องเหล่านี้จะไม่ทำให้บานปลายไป จะได้มีเวลามาพิจารณาในสาระต่อไป คว่ำหรือหัก จะทำให้บรรยากาศเข้าไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง วิปเสนอเป็นทางเลือก ซึ่งทางเลือกมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ไม่ใช่แพ้หรือชนะ แต่เราต้องเลือกทางที่ดี แต่ไม่อยากให้มีประเด็น แพ้ หัก หรือคว่ำ ถ้าเราเข้าใจตรงกันก็ไม่ให้บานปลาย”

จากนั้นสมาชิกได้มีการอภิปรายแสดงความเห็น โดยนายเสรีกล่าวว่า การให้สมาชิกเรียกประธานที่เคารพถือเป็นประเพณีอันดีงามควรจะต้องใช้ ไม่ใช่จำกัดเวลาจนตัดทิ้งไปหมด วัฒนธรรมดีงาม เป็นสิ่งที่ควรจะรักษา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ปฏิรูป ต้องเข้าใจให้ชัด สิ่งที่พูดในสภาเชื่อว่าทุกคนพูดด้วยสาระมีเหตุผล แต่การใช้เวลามากต้องอยู่ที่เนื้อหา ไม่ใช่ประชาชนเห็นพูดกัน 7 ชั่วโมงแล้วบอกว่าน่าผิดหวัง ตนคิดว่าน่าจะเป็นการเข้าใจผิดในการทำงานในสภา เพราะสภาเป็นเรื่องที่จะต้องพูดกัน หากสื่อมวลชนจะไปเขียนข้อความอย่างไรต้องปล่อยเพราะเป็นธรรมชาติของเขา

นายเสรีกล่าวว่า ตนเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในสภาแห่งนี้ตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่มาเล่นการเมือง แต่สิ่งที่ตนพูดในที่ประชุมเพราะมีความรับผิดชอบต่อการทำงานร่วมกันและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการที่สมาชิกที่อาจจะไม่พูดแต่อาจไปคิด เพราะการตัดสินใจในสภาฯ ขึ้นอยู่กับเสียงในการลงคะแนน ที่อ้างประชาชนคิดอย่างนั้นอย่างนี้ตนก็ไปฟังมาว่าสมาชิกประชุมวันแรกใช้เวลาเยอะ แต่ก็ตั้งใจทำงานซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่การเริ่มต้นทำงานอย่าตำหนิเริ่มติติง อย่าคิดครอบงำคนอื่น มิเช่นนั้นจะขาดอิสระ สมาชิกต้องมีอิสระทำงานและทำด้วยเหตุผล เรามีข้อมูลข้างนอกเยอะที่ต้องพิจารณาและวิเคราะห์ ตนไม่อยากเห็นสภานี้ทำงานแล้วไปหาผลสรุปข้างนอกไปตัดสินปัญหาในนี้ จะกลายเป็นทำงานแบบลอกการบ้าน ไม่ใช่การทำงานแบบที่ให้มาทำหน้าที่แทนประชาชนแล้ววิเคราะห์เสนอแนะ

นายเสรีกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการกำหนดสัดส่วนกรรมาธิการ 15 บวก 5 คน นั้น ตนไม่เห็นด้วย เราควรจะให้มาจาก สปช.ทั้ง 20 คน เพื่อสะท้อนแนวคิดข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้กรรมาธิการยกร่างฯนำไปพิจารณา ต้องพูดกันด้วยเหตุผลว่าการกำหนดคนที่จะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 บัญญัติให้คนนอกจากสองส่วน คือ จาก สนช.5 คสช. 5 และ ครม.5 คน ระบุชัดว่าไม่ได้มาจากสมาชิก ส่วนกรรมาธิการยกร่างฯในส่วนของ สปช.จำนวน 20 คน ไม่ได้กำหนดชัดว่าต้องมาจากส่วนไหน เพราะไม่อยากให้เกิดเดตล็อค เจตนาจริงๆ อยากให้สมาชิกทั้งหมด แต่ที่ต้องเขียนเปิดเอาไว้เพราะคนที่จะมาเป็นจะมีคุณสมบัติต้องห้ามอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้สมาชิกไม่ครบจำนวนได้ สำหรับตนไม่มีส่วนได้เสียเพราะเป็นกรรมาธิการยกร่างฯไม่ได้เพราะออกจากสมาชิกพรรคการเมืองมา 2 ปี 8 เดือน แต่ตนเป็น สปช.ที่จะมีส่วนสำคัญในการทำให้การยกร่างรัฐธรรมนูญสำเร็จภายในกำหนด เช่นการรับฟังและเสนอความคิดเห็น แม้กรรมาธิการยกร่างฯจะมีอิสระในการเขียน แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับ สปช.ว่าเสนออะไรมา ไม่อย่างนั้นรัฐธรรมนูญจะไม่กำหนดให้ต้องฟังก่อนเริ่มเขียน และต้องส่งกลับให้ สปช.พิจารณาอีกครั้งและยังต้องมีการให้ความเห็นชอบ ถือเป็นกระบวนการสำคัญ

“ถ้าจำกัดให้ สปช.เพียง 15 คน อีก 5 ไปตั้งคนนอก เท่ากับคนนอกจะมีทั้งหมด 20 คน สภาจะเหลือ 15 คนเท่านั้น จะพิจารณาไปทำไมเพราะเสียงมันอยู่นอกสภาหมดแล้ว ไม่ว่าจะพูดอย่างไรโอกาสที่จะไม่เป็นตามความเห็นของสภาจะเกิดขึ้นได้สูงมาก หลังจากนั้นกรรมาธิการฯจะร่างอย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อคืนกลับมาให้เราพิจารณาเห็นชอบก็จะเกิดปัญหา เพราะคนที่ร่างไม่ได้เชื่อมโยง ไม่ต้องรับผิดชอบกับสภา ถ้าไม่ตรงกับแนวคิดของสภา เราจะลงมติอย่างไรเพราะมันคนละทางกัน อย่าคิดว่า สปช. เมื่อทำหน้าที่แล้วอยากจะอยู่ต่อโดยเห็นชอบไปเสีย ผมคิดว่าทุกคนมีความรับผิดชอบ ถ้าร่างมาแล้วเห็นไม่ตรงกัน มันไม่ใช่การปฏิรูปจริงๆ มันไม่เข้าที่เข้าทาง ไม่แก้ปัญหาของประเทศ แต่กลับไปรองรับแนวคิดทางการเมืองของคนบางกลุ่มที่จะหาผลประโยชน์อยู่ อาจจะสร้างปัญหาเรื่องการใช้สิทธิ์ขายเสียงไม่ได้ ผมไม่รับ แม้จะตายตกไปตามกันทั้งสภาและกรรมาธิการฯ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องยอมรับ แต่ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับเสียงของสมาชิกในสภา เพราะหลายคนมีความรู้ความสามารถมาก แม้จะกำหนดให้มาคณะละ 1 คน และไม่ตัดสิทธิ์ที่จะให้สมัครได้ก็ตาม แต่ก็สรุปว่าต้องไม่เกิน 15 คน จะเป็นปัญหา เรื่องนี้ไม่ใช่คนในหรือคนนอก หรือสมาชิกจะเก่งกว่าคนอื่น หรือมีคุณสมบัติไม่พอ ไม่ใช่เป็นเทวดา แต่ผมพูดด้วยเหตุผล ซึ่งก็สุดแต่ที่ประชุมจะตัดสิน"

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.กล่าวอภิปรายว่าตนไม่เห็นด้วยที่จะจำกัดจำนวนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เหลือ 15 เนื่องจาก สปช.มีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาหาประเด็นที่เราจะต้องปฏิรูปในหลายๆ ด้าน สปช.จะต้องเสนอให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการปฏิรูปด้วย เพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นเราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีสมาชิก สปช.เข้าไปทำหน้าที่กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน ตามบทของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพราะถ้าเราตัดเหลือ 15 คนก็จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยทันที ซึ่งอาจจะทำให้ สปช.ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์

นายไพบูลย์กล่าวว่า สมาชิก สปช.จำนวน 250 คนที่ผ่านการคัดเลือกที่ทรงคุณวุฒิและความสามารถ ซึ่งหากบุคคลเหล่านี้จะเข้าไปเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะไม่มีข้อครหาทั้ง 20 คน แต่หากเราจำกัดจำนวนเหลือ 15 คน และอีก 5 คนให้สรรหามาจากบุคคลภายนอกนั้น ตนเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้กับ สปช.อย่างหนัก ที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งและเงื่อนไข เวลาสั้นๆ ของเรา ที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้เสร็จตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากนับจากวันนี้ไปไม่น่าจะเกิน 7 วันเท่านั้น ตนเชื่อว่าคำครหาว่า เอื้อประโยชน์กับพวกพ้องจะเกิดขึ้นมาอย่างแน่นอน

“บุคคลที่มาจากภายนอกยังมีข้อจำกัดเรื่องรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า บุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งหากเราจะนำบุคคลที่ขัดแย้งก็น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองทั้งหมด แต่หากจะสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกผมก็เชื่อว่าในสภาฯ แห่งนี้ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิมากมายอยู่แล้ว” นายไพบูลย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกทยอยแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง นายเทียนฉายสั่งพักการประชุมเมื่อเวลา 12.00 น. เพื่อให้สมาชิกรับประทานอาหารเที่ยง




















กำลังโหลดความคิดเห็น