xs
xsm
sm
md
lg

สปช.โหวตดึงคนนอก! เบียดคนในนั่งกมธ.ยกร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จับตาที่ประชุม สปช.วันนี้ จะตัดสินให้ กมธ.ยกร่างรธน. ในส่วนของสปช. มาจากคนนอก 5 คน ตามมติวิปชั่วคราวเสนอหรือไม่ "อลงกรณ์" อ้างต้องดึงพรรคการเมืองเข้าร่วม เพื่อความสมานฉันท์ และการยอมรับรธน.ฉบับใหม่ ด้าน"ถาวร" แกนนำกปปส. แบะท่าเข้าร่วม "รสนา" ขอให้มีตัวแทนฝ่ายหญิงด้วย "คำนูณ" หนุนตั้งสปช.อกหักเป็นที่ปรึกษา-ผู้ช่วยฯ ขณะที่"สังศิต-สุริยะใส" เปิดตัว "สถาบันปฎิรูปประเทศไทย" ทำงานคู่ขนาน สปช.

จากกรณีวิป สปช.ชั่วคราว มีมติให้การคัดเลือกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของสปช. จำนวน 20 คนนั้น มาจากสปช.15 คน และอีก 5 คน มาจากคนนอกนั้น ทำให้เกิดความเห็นแยกเป็น 2 ฝ่ายในหมู่สมาชิกสปช. คือมีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. ในฐานะวิปชั่วคราว กล่าวว่า ในวันนี้ ( 27 ต.ค.) จะมีการประชุมสปช. โดยมีวาระสำคัญคือ จะมีการรายงานผลการประชุมของวิปชั่วคราว 2 เรื่อง คือ 1.การกำหนดวันประชุมสปช.ทุกวันจันทร์ และวันอังคาร และ 2. วิธีการสรรหาและเลือกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในความรับผิดชอบของสปช. เนื่องจากมติของวิปชั่วคราวให้ 15 คน มาจากสปช. และอีก 5 คนเป็นนอก โดยในส่วนของคนนอก มีการเปิดไว้กว้างๆคือ 1. มาจาก 3 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา 2. กลุ่มการเมืองเช่น กลุ่มกปปส. กลุ่ม นปช. 3. ตัวแทนวิชาชีพ ที่ไม่ได้เข้ามาและมีสัดส่วนน้อย เช่น กลุ่มชาวนา และกลุ่มอื่นๆ เป็นต้น

ส่วนที่มีสมาชิกสปช.บางส่วน แสดงความไม่เห็นด้วยที่จะแบ่งโควตาให้คนนอก โดยเฉพาะการดึงตัวแทนพรรคการเมืองเข้ามานั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติที่ข้อเสนอจะมีคนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย แต่จะให้ที่ประชุมใหญ่ลงมติ ซึ่งในวิปชั่วคราว ได้หารือว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแล้วคือ การยอมรับรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อจะมีการปฏิรูปการเมืองควรจะเริ่มต้นด้วยการปรองดอง สมานฉันท์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการแบ่งเขาแบ่งเรา ไม่ไว้วางใจ เพราะวิกฤตการณ์หลายปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเกิดจากพรรคการเมืองใหญ่และกลุ่มการเมือง แม้การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเสร็จสิ้นลง และถึงช่วงเวลาการเลือกตั้ง รัฐธรรมฯทั้งฉบับ หรือแม้แต่พิมพ์เขียวของประเทศ อาจจะเป็นเพียงกระดาษที่ไร้ค่า หากพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองปฏิเสธไม่ยอมรับด้วยเหตุผลว่า เป็นผลพวงของรัฐประหาร เป็นผลไม้พิษ ก็จะทำให้ความหวังในการปฏิรูปประเทศ หรือมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะมีผลต่อการยกระดับ ประเทศก็จะสูญเปล่าและจะเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งรอบใหม่

“ ดังนั้นส่วนหนึ่งเห็นว่า เราจะคำนึงถึงแต่การเขียนเนื้อหาสาระอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงความชอบธรรมและการยอมรับ ก็จะมีผลต่อการนำรัฐธรรมนูญนี้ไปปฏิบัติต่อไป ในเมื่อประเด็นปัญหาใหญ่ของประเทศมาจากความแตกแยกแบ่งฝ่าย เมื่อจะเริ่มยกร่างรัฐธรรมนูญกัน ก็ไม่ควรจะมาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ควรจะให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ถ้าเราจะพิจารณากันเองเขียนกันเองให้ดีที่สุดก็ทำได้ แต่ผลหลังจากนั้นถ้าไม่รอบคอบไม่เปิดกว้างยอมรับ ไม่เน้นการมีส่วนร่วมก็กังวลกันว่าจะเกิดปัญหาในวันข้างหน้า เว้นแต่พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองจะมีสัตยาบันชัดเจนที่จะให้การยอมรับและสนับสนุน ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ที่จะกะเกณฑ์ แต่เขาได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นว่ากติกาที่เขียนมาไม่ได้ไปเบี่ยงเบนจากหลักที่ถูกต้อง แต่ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ว่าจะเห็นด้วยต่อข้อเสนอของเราหรือไม่ ตอนนี้เป็นแค่มติของวิปเท่านั้น”นายอลงกรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคการเมืองก็คือนักการเมือง ซึ่งเป็นผู้เล่น จะให้มาร่วมเขียนกติกาด้วย ก็จะถูกมองเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนได้ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า มีการพูดถึงประเด็นนี้กันมาก แต่รัฐธรรมนูญปี 40 ที่ยอมรับกันว่าดีที่สุดก็เขียนมาจากนักการเมืองทั้งฉบับ มีส่วนร่วมโดยตรงตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเขียนร่างออกมา ฉะนั้น ที่บอกว่ามีส่วนได้ส่วนเสีย ก็ไม่เป็นจริงเสมอไป ที่สำคัญไม่ควรแบ่งแยกโดยเฉพาะคู่กรณีที่เป็นปมความขัดแย้งของวิกฤตการเมือง หากไม่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น วันสุดท้ายของการเขียนรัฐธรรมนูญก็คือรัฐธรรมนูญไม่มีความหมายเลย

เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ได้ออกมาปฏิเสธว่า จะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายอลงกรณ์ กล่าวว่า อาจจะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ตนอยากให้มองไกลไปข้างหน้า ต้องมองบ้านเมืองเป็นหลัก อย่ามองแต่การเมือง เพราการที่อ้างว่ามีคุณสมบัติ หรือข้อห้ามนั้น พรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก 3 ล้านคน และคนสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ฉะนั้นย่อมมีบุคคลที่มีคุณสมบัติเข้ามาเป็นได้ ในฐานะตัวแทนของพรรคจะมีความหมายมาก การเสนอเพียงความเห็นด้วยเอกสารก็ทำได้ แต่จะมีผลถึงการยอมรับแค่ไหนต่อรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น

“ทำไมวันนี้ไม่ก้าวข้าม ไม่มองถึงอนาคตของประเทศ ทำไมยังคิดเล็กคิดน้อย คิดแต่เหตุผลทางการเมือง ทำไมไม่ถามตัวเองว่า พ้นจากวันนี้ไปแล้ววันหน้าจะแก้ไขความแยกแตก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างไร ถ้ายังตอบคำถามนี้ไมได้ ก็มาช่วยกันตอบกับพวกเรา เพราะเรามีคำตอบแล้วว่า เราจะต้องสมานฉันท์ ปรองดอง และร่วมกันนำประเทศเดินไปข้างหน้า และทุกพรรคการเมืองทุกกลุ่มการเมืองมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่ถ้าขาดพวกท่าน เราก็ไม่แน่ใจว่า วันข้างหน้าวิกฤตการเมืองจะหวนกลับมาหรือไม่ เพราะเพียงแค่มาทำงานเพื่อบ้านเมืองก็ยังถูกปฏิเสธ ยังถูกเกี่ยงงอนด้วยเหตุผลที่เหมือนกลืนน้ำลายตัวเอง แล้ววันข้างหน้าบ้านเมืองจะฝากความหวังได้อย่างไร”

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า การดึงพรรคการเมืองมาร่วมเพื่อต้องการความหลากหลายมาสู่การหาข้อสรุปในการร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีเรื่องพลังงานที่มีความเห็นต่างอย่างมากในขณะนี้ จะได้ข้อสรุปอย่างไร ถ้าไม่เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในการปฏิรูปด้วย วันข้างหน้าก็จะยังคงโต้แย้งอย่างนี้ เช่นเดียวกับการเมือง ถ้ายังเกี่ยงงอนแบ่งฝ่ายอย่างนี้ก็ไม่ต่างกัน เมื่อพวกเขาได้ตระหนักงานมีส่วนก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง

“แม้แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เองก็เคยบอกว่า ประเทศมาถึงจุดนี้ท่านเองมีส่วนรับผิดชอบ แสดงว่าท่านก็ยอมรับ และเห็นถึงความผิดพลาด แต่เมื่อวันนี้มีการแก้ไขปัญหา มาวางอนาคตใหม่ให้ประเทศ ท่านก็ปฏิเสธ แต่เราไม่มีสิทธิไปบังคับใคร เพียงแต่เสดงเจตนาที่ดี และอยากชี้ให้เห็นว่าความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะคู่ขัดแย้งจะมีส่วนทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้น และรัฐธรรมนูญที่ยอมรับของทุกฝ่ายจะสร้างประชาธิปไตยใหม่ให้เราได้ ก็ต้องระวางประโยชน์ส่วนตัวหรือเรื่องการเมืองบ้าง หากจะส่งแต่เอกสารความเห็นก็ทำได้ แต่ผมเคยพูดกับพรรคว่า เราต้องเป็นต้นไม้ใหญ่ เพราะเคยเป็นทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน มีอดีตนายกรัฐมนตรีถึงสองท่าน และอดีตรัฐมนตรีเป็นร้อยคน ในยามบ้านเมืองวิกฤตและต้องการองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการเขียนอนาคตประเทศครั้งใหม่ พรรคไม่ควรปฏิเสธเพียงแค่ส่งเอกสารเข้ามา แต่ควรเป็นหลักของบ้านเมืองในการเขียนรัฐธรรมนูญและออกแบบการปฏิรูป วันนี้ขอโอกาสให้ประเทศบ้าง”

นายอลงกรณ์ กล่าวด้วยว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่รองประธานสปช. ก็สนับสนุนความเห็นนี้ เพราะเป็นเรื่องนี้เหมือนกับเรายื่นมือให้กับทุกฝ่าย ส่วนจะตอบรับหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน การเริ่มต้นปฏิรูปต้องเริ่มจากหัวใจของปัญหา คือ การต้องหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่การแบ่งฝ่าย หรือการเกี่ยงงอนกับอนาคตของประเทศด้วยการข้ออ้างเล็กๆน้อยๆแบบนี้ แล้วจะคิดทำงานใหญ่ได้อย่างไร

อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมสปช.ไม่เห็นด้วย หรือเห็นเป็นอย่างอื่น ก็ต้องเป็นไปตามมตินั้น แต่หากเห็นด้วยก็จะดำเนินการทาบทามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

**กปปส.ส่อส่งตัวแทนนั่ง กมธ.ยกร่าง

ด้านนายถาวร เสนเนียม แกนนำกลุ่ม กปปส. กล่าวว่า ทางกลุ่มจะมีการประชุมเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้ เพราะให้ความสนใจต่อการปฏิรูปประเทศมาตั้งแต่ต้น และส่งตัวแทนเข้าไปเป็นสปช. อยู่หลายคน คิดว่าแนวทางน่าจะตรงกันว่าจะส่งคนไปร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะเป็นใครนั้น จะมีการหารือในที่ประชุม ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนที่เคยยืนอยู่บนเวทีชุมนุมก็ได้
ส่วนกรณีตัวแทนพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมทุกระดับถือเป็นเรื่องดี อาจจะถูกมองว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เช่นร่างกฎเกณฑ์กติกาเมือต้นเอง แต่ตัวแทนที่เข้าไปร่วมจะต้องตัดความผูกพันระหว่างพรรคการเมืองกับตัวเองออกไป และถือว่าเป็นกติกากลางเพื่อชาติ ซึ่งอาจจะถูกมองในแง่ว่าเข้าไปเป็นผู้ร่างกติกาเพื่อตัวเองก็ได้ แต่ตนคิดว่าเรื่องนี้สามารถอธิบายได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเวลานี้สังคมมองว่าพรรคการเมือง เป็นผู้เล่นจะเข้าไปกำหนดกติกาให้ตนเอง นายถาวรย้อนถามว่า แล้วไม่คิดว่า คนที่เข้าไปเป็นผู้มีประสบการณ์บ้างหรือ เพราะที่เขียนรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกฉบับ สั่งห้ามไม่ให้นักการเมืองเข้าไป เมื่อนักการเมืองเข้าไปก็จะถูกปฏิเสธ หรือตั้งข้อสังเกต แต่เมื่อให้คนที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านนั้นเข้าไปยกร่างกติกา ก็ถูกอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาทุกครั้ง แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการบริหารแต่ละพรรค ซึ่งอาจจะใคร่ครวญไตร่ตรองรอบคอบเสียก่อน
“เราต้องละลายพฤติกรรมแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่ ต้องปล่อยวาง เลิกการถือฝักฝ่าย แต่จะต้องมีการรักษากฎหมาย และกติกาไว้ด้วย คือจะต้องมีความเที่ยงตรงและซื่อตรงในหลักการของบ้านเมืองในปัจจุบัน และการกระทำในอดีตด้วย และการยกร่างกติกาที่จะนำมาใช้ในอนาคตต้องทำเพื่อชาติบ้านเมืองด้วย ไม่ให้เกิดประโยชน์กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะกติกาด้านการเมืองหากบิดปลายปากกานิดเดียวก็จะเกิดประโยชน์กับบางฝ่ายได้ เช่นที่มาของส.ส. หรือ ส.ว. หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งต่างๆ จะเป็นประโยชน์ทางการเมืองกับบางพรรคได้ ต้องใคร่ครวญให้ดีมากๆ”

เมื่อถามว่า นายนิพิฎฐ์ ได้ออกมายืนยันว่า จะไม่ส่งตัวแทนพรรคไปร่วมเป็นกรรมาธิการร่างฯ ในฐานะที่เคยเป็นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน หากพรรคมีมติส่งคนเข้าไป จะทำให้หลักการพรรคสั่นคลอนหรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า ตนคิดว่าอยู่ที่การกระทำ ความคิดของแต่ละคนอาจจะต่างกัน การกระทำของแต่ละคนก็ต่างกัน แต่นายนิพิฎฐ์ อยู่ในฐานะกรรมาธิการบริหารพรรคที่ให้คำตอบไปแล้ว แต่ทุกอย่างต้องอยู่ที่การกระทำไม่ใช่ว่าคนนี้ชื่ออะไร หรือใส่เสื้อสีอะไร ตนเองไม่อยากทำนายว่าดี หรือไม่ดี แต่ทุกคนพรรคสามารถทำเรื่องดีหรือเสนอเรื่องดีๆ ให้กับสังคมได้

ต่อข้อถามว่า การส่งส่งเพียงพิมพ์เขียวที่พรรคทำไว้เพียงพอหรือไม่ นายถาวร กล่าวว่า ประเด็นคือถือเป็นการส่งจริงจัง และจริงใจหรือไม่ หรือเป็นการชี้ประเด็นเพื่อให้ได้มาที่ตนเองต้องการหรือไม่ หรือเพียงแค่เสนอไปแล้ว เพราะการอธิบายในที่ประชุมของผู้มีอำนาจ หรือการทำความเข้าใจกับสังคมต้องยกให้บทบาทของผู้ที่กำลังแสดงเป็นหลัก ถ้าไม่ให้ความสนใจข้อเสนอดีๆ ของแต่ละฝ่ายก็อาจจะตกไปด้วยความน่าเสียดาย ตนคิดว่าเข้าไปร่วมทำหน้าที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า

**ชี้ รธน.ให้ สปช.เสนอคนนอกได้

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิก สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึง กรณีโควตากมธ.ยกร่าง รธน. จากสปช. จะมีบุคคลภายนอกเข้ามาด้วยได้หรือไม่ ว่า 

จริงๆ แล้วต้องดูที่คุณสมบัติ ว่าเป็นอย่างไรก่อน หากคนนอกไม่มีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ก็เข้ามาไม่ได้  แต่หากคุณสมบัติไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็สามารถจะเข้ามาได้ แต่หลักการสำคัญของการถกเถียงคือ ต้องดูจำนวนกรรมาธิการฯ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า กมธ.ยกร่างทั้งหมดนั้น มาจาก 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ มาจากสปช. 20 คน และมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างละ 5 คน เท่ากับ 15 คน ไม่รวมประธาน

ดังนั้น หลักการคือ จำนวนเสียงที่มาจาก สปช.นั้น จะมีมากกว่าที่อื่น ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนด โดยหลังจากหมดหน้าที่กมธ.ยกร่างแล้ว จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ 2 ปี  ซึ่งตรงนี้สมาชิก กมธ.จากสปช. จะมาครบ 20 คนหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ จึงมีการจะเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกมธ. แต่ถ้าหากกมธ.จากแหล่งอื่นๆ ทั้ง ครม. สนช. และ คสช. นั้น เป็นบุคคลภายนอก แล้วยังมีจากสปช.อีก 5 คน จะเป็นสัดส่วนบุคคลภายนอก 20 คน สปช. 15 คน ซึ่งเสียงจากสปช. จะด้อยลง แล้วพอถึงเวลาลงความเห็น รัฐธรรมนูญอาจจะตกไปก็เป็นได้

ทั้งนี้ สปช.นั้น รับผิดชอบตั้งแต่วันแรกที่เริ่มประชุม ต้องพิจารณาภายใน 60 วัน แล้วส่งไปทาง กมธ.เพื่อทำการยกร่าง แล้วจะต้องส่งกลับมายัง สปช. พิจารณาและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ในกรอบเวลา 30 วัน ก่อนจะพิจารณาว่า เห็นชอบหรือไม่ เพราะฉะนั้นความยึดโยงของกมธ.กับสปช.นั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับสปช. ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง สิ่งสำคัญคือ กมธ.จากสปช. ก็ควรจะรับผิดชอบต่อสปช. ด้วย แม้ตัวกมธ.จะมีอิสระในการยกร่างก็ตาม ซึ่งตรงนี้คือ หลักการว่าทำไม กมธ.จากสปช. ควรจะเป็นบุคคลในสปช.ทั้งหมด

ส่วนกรณีที่มีการถกเถียงว่า กมธ.ยกร่างที่มาจากบุคคลภายนอกนั้น ขัดรัฐธรรมนูญ นายเสรี กล่าวว่า ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุไว้ในมาตรา 32 กำหนดไว้ว่า กมธ.ต้องเป็นผู้ซึ่ง สปช.เป็นผู้เสนอ จำนวน 20 คน โดยไม่มีการกำหนดไว้ว่า ต้องเป็นสมาชิกสปช. หรือไม่

**รสนาขอโควต้าผู้หญิงนั่งกมธ.ยกร่าง

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่มีสปช.คัดค้านโควต้าคนนอก 5 คน ในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสัดส่วนของสปช.ว่าส่วนตัวต้องการโควตาเป็นคนภายในสปช.อย่างเดียว เพราะหากให้สัดส่วนคนนอกสปช.เข้ามา ไม่รู้ว่าจะมีวิธีการคัดเลือกอย่างไรให้เหมาะสมกับการทำหน้าที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็อยู่กับที่ประชุมสปช.ว่าจะให้มีสัดส่วนอย่างไร การประชุมวันที่ 27 ต.ค.ก็จะได้แนวทางที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังคิดว่า น่าจะมีสัดส่วนของผู้หญิงในการไปนั่งเป็นกมธ.ยกร่างฯด้วยเพื่อความสมดุลในการออกกติกาให้มีความครอบคลุม แต่ก็ต้องดูแนวทางของที่ประชุมเพราะแต่ละสายก็มีคนสนใจเข้าเป็นกมธ.จำนวนมากอยู่แล้ว

**"บิ๊กกี่" ปัดนั่งฯ เชื่อเสนอคนนอกไม่ได้

พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิกสนช. ในฐานะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง การเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็น กมธ.ยกร่างฯ ว่า ในส่วนของสนช. ตนเห็นว่าไม่มีใครอยากเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างฯ เพราะเท่าที่ผ่านมาเปิดรับสมัครไปแล้ว 5 วัน มีคนมาสมัคร ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น หากถึงวันที่ต้องเสนอชื่อต่อ สปช. แล้วยังได้คนไม่เพียงพอ อาจจะต้องจับคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมลงไป แต่ส่วนตัวตนไม่ขอรับตำแหน่งดังกล่าวอย่างแน่นอน

ส่วนกระแสที่ สปช.จะมีการเสนอคนนอกเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างนั้น ตนคิดว่าไม่น่าจะทำได้ เพราะเท่าที่ทราบ รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ กมธ.ยกร่างมาจากสมาชิก สปช. 20 คน ดังนั้น คิดว่าทำไม่ได้ ซึ่งคนที่จะเสนอคนนอกได้ คือ ทางฝ่าย คสช.

**หนุนตั้ง สปช.อกหักเป็นที่ปรึกษา-ผู้ช่วยฯ

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวถึง กรณีที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งบุคคล จำนวน 5 ตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิกสภาปฏิรูปแต่ละคน ว่า ทางรัฐสภายังไม่ได้ชี้แจงถึงเรื่องนี้ คาดว่า ในวันที่ 27 ต.ค. จะมีการชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าวในที่ประชุม ซึ่งการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญประจําตัวสมาชิก สปช. จํานวน 1 อัตรา ผู้ชํานาญการประจําตัวสมาชิก สปช. จํานวน 1 อัตรา และผู้ช่วยดําเนินงานของสมาชิก สปช. จํานวน 3 อัตรานั้น เป็นวิธีการที่คล้ายกับระบบฐานเดิมในการให้สิทธิอำนวยความสะดวกแบบเดียวกับ ส.ส., ส.ว. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

          เมื่อถามว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการเปิดทางให้ก๊วน สปช. ที่อกหัก นายคำนูณ กล่าวว่า คงเป็นความพยายามช่องทางหนึ่งตามแนวทางของรัฐบาล และ สนช. ที่ต้องการให้คนที่ต้องการเข้าร่วมการปฏิรูปเข้ามามีบทบาทหน้าที่ร่วมกัน ส่วนจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณหรือไม่ เพราะมีการแต่งตั้งถึง 5 ตำแหน่งนั้น ส่วนตัวเห็นว่า อยู่ที่การทำงานของสมาชิก สปช. แต่ละคน อีกด้านหนึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยให้การทำงานของ สปช. มีความสะดวกมากขึ้น เพราะการทำงานของ สปช. ต้องลงพื้นที่พบปะประชาชนบ้าง ร่วมถึงต้องหาข้อมูลในด้านวิชาการและข้อกฎหมายในบางครั้ง
“สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาใหม่แต่เป็นสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว ครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ในจำนวน 1 ตำแหน่งให้มีการแต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ขอให้สังคมมองที่ผลงานการทำงานมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด” นายคำนูณ กล่าว

**จวกผลประโยชน์ตอบแทนสปช.-สนช. 

นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาฯ รองประธานที่ปรึกษาสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมผลประโยชน์ตอบแทนตำแหน่งต่างๆว่า ต้องดูว่าเป็นเงินประจำตำแหน่งหรือเงินเดือน ถ้าเป็นเงินเดือน ก็ถือว่าเป็นอัตราที่ปกติที่ใช้ฐานเดิมเหมือน ส.ส.และ ส.ว. ที่ใช้เครื่องบิน ใช้รถฟรี แต่กลับไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน สิ่งนี้คือความต่าง จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันตรวจสอบเรื่องดังกล่าวด้วย

“ในอดีตคนเป็นรมต. เป็นส.ส. มีเงิน 2 ส่วน คือเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง แต่รับเงินได้ทางเดียว แต่สนช.กลับรับเงินเดือน 2 ทาง และไม่ต้องลงพื้นที่พบปะประชาชนเหมือนส.ส. ในยุคที่มีการปฏิรูปทั้งสนช. และสปช. กินเงินทุกทาง อย่างคนที่เป็นอธิการบดีมาเป็นสนช. และสปช.รับเงินเดือนอธิการบดี แล้วก็มารับเงินเดือนสนช. และสปช.อีก ผมเรียกร้องว่าควรจะรับเงินทางเดียวอย่าไปรับหลายทาง” นายนิพิฎฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่าการแต่งตั้งบุคคล จำนวน 5 ตำแหน่ง เพื่อปฏิบัติงานให้แก่สมาชิก สปช. รวมถึงอีก 1 ตำแหน่งให้มีการแต่งตั้งจากบุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นสปช.นั้น นายนิพิฎฐ์ กล่าวว่า ถือเป็นการผลัดกันเกาหลัง การแต่งตั้งถึง 5 ตำแหน่ง ถือว่าเยอะไป เพราะไม่ใช่การทำหน้าที่เหมือนส.ส. รวมถึงการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงานของสมาชิกสปช. ต้องแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ต่ำกว่าอยู่แล้ว ถ้าจะบอกว่าแต่งตั้งมาแล้วให้บุคคลเหล่านี้มาให้ความรู้ ความคิดเห็น ตนเห็นว่าคงทำไม่ได้ เพราะความสามารถไม่ถึง แต่ถ้าจะแต่งตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกก็สามารถทำได้ ถ้าคิดว่ามีความสำคัญกับการทำงานด้านปฏิรูป

**เปิดตัว สปท.ทำงานคู่ขนาน สปช.

วานนี้ ( 26 ต.ค.) ที่อาคารอาทิตย์ อุไรรัตน์ มหาวิทยาลัยรังสิต นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ และ นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงานกลุ่มกรีน พร้อมด้วยสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางส่วน ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัว "สถาบันปฎิรูปประเทศไทย" หรือ สปท. ซึ่งมีนายสังศิต เป็นประธาน และนายสุริยะใส เป็นผู้อำนวยการ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อเป็นศูนย์ประสานการเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคประชาชนในสังคม มุ่งเน้นการปฏิรูปประเทศ และพัฒนาประเทศ รวมถึงประชาธิปไตยให้เป็นสังคมธรรมาธิปไตย และ สปท. จะเป็นสถาบันที่ให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง ที่ทำหน้าที่ระดมความเห็นของประชาชนจากทุกภาคส่วน คู่ขนานไปกับ สปช. แต่อาจมีความเห็นต่างได้ รวมถึงติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลด้วย

ทั้งนี้ สปท. ได้มีข้อเสนอถึง สปช. และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องกำหนดการปฏิรูปประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ และต้องการระดมความเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน โดยไม่ปิดกั้นกิจกรรมดังกล่าว และขอให้แยกแยะกิจกรรมดังกล่าว จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล รวมถึงต้องมีการวางแผนผลักดันการปฏิรูปในระยะยาว

สำหรับคณะกรรมการ สปท. ประกอบด้วย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ, นายบรรจง นะแส, นายศิริชัย ไม้งาม, นายพลเดช ปิ่นประทีป, น.ส.รสนา โตสิตระกูล, นายพิภพ ธงไชย, ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และนักวิชาการด้านต่างๆ อีกหลายคน ซึ่งนายสุริยะใส กล่าวว่า คณะกรรมการ สปท. บางคนที่ทำหน้าที่เป็น สปช. ด้วย เนื่องจาก สปท. มีการพูดคุยกันเพื่อเตรียมจัดตั้งสถาบันมาก่อนที่จะมีการคัดเลือกรายชื่อ สปช. ทำให้รายชื่อบางคนอาจซ้ำกัน แต่มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาในการทำงาน .
กำลังโหลดความคิดเห็น