xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรมรัฐธรรมนูญไทย ในมือนักรับจ้างเขียนกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์แบบมีคนประทับตราให้ สำหรับเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากสองพี่น้องแห่งบูรพาพยัคฆ์ออกมาคอนเฟิร์มตรงกันว่า “เนติบริกรผู้น้อง”นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คนที่ 1 เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะถ่างขามาควบอีกตำแหน่ง โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่”ที่ยอมรับว่ามีชื่อนี้อยู่ในหัวใจเหมือนกัน
จริงๆ ไม่ได้มีเรื่องอะไรให้ตื่นเต้น เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านชาวช่องเขารู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้วว่า ตำแหน่งใหญ่โตในแม่น้ำ 5 สายที่ “เนติบริกรผู้พี่” นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย เปรียบเปรยเอาไว้จะมีรายการล็อกหัวล็อกตัวกันไว้แล้วตั้งแต่ปีมะโว้
เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่า ก๊วนเนติบริกรเป็นมือกฎหมายหลักในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่เข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว ดังนั้น เมื่อใช้บริการมาตั้งแต่ต้น ก็ต้องใช้ให้ตลอดรอดฝั่ง
**เพราะสั่งได้ตามที่ใจปรารถนา เหมือนช่างตัดผมที่อยากได้ทรงอะไร ขอให้บอก
ทุกอย่างยิ่งกว่าล็อกสเปก มีการวางแผนแบ่งงานกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ นายวิษณุ นั่งรองนายกรัฐมนตรี ช่วยรัฐบาลดูแลเรื่องกฎหมายต่างๆ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ปรมาจารย์ด้านกฎหมาย ที่ผ่านเก้าอี้สำคัญมาหลายหน ขอปฏิเสธตำแหน่งแห่งหน แต่ขอหลบอยู่ช่วยงานหลังฉากในฐานะทีมกฎหมาย คสช. ขณะที่นายบวรศักดิ์ ขอคุมงานใหญ่เขียนกติกาประเทศไทยด้วยตัวเอง
ขณะที่แม่น้ำสายอื่นๆ แม้จะไม่ใช่ก๊วนเนติบริกร แต่ก็เป็นประเภทพวกไว้วางใจได้ อย่างประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ก็ลากนายพรเพชร วิชิตชลชัย ในฐานะเซียนกฎหมายที่ “บิ๊กตู่”ชื่นชอบ มาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ส่วนประธาน สปช. แม้ไม่ซี้ย่ำปึ้กกับฝ่ายอำนาจ แต่ใกล้ชิด นายบวรศักดิ์ จากพะยี่ห้อ “จุฬาฯคอนเนกชั่น”และ 1 ในทีมงานสถาบันพระปกเกล้า
**ดังนั้นกระบวนการขั้นตอนต่างๆ นานา ที่ทำกันมาก็เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ที่ต้องจับตากันจากนี้ น่าจะเป็นแม่น้ำสายสุดท้าย อย่างคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่แต่ละฝ่ายที่มีโควตาเสนอชื่อได้กำลังเกิดรายการวิ่งฝุ่นตลบ มีแต่คนอยากได้ อยากเป็น แต่บังเอิญเก้าอี้มีจำกัดแค่ 36 ตัว เลยทำให้ต้องล็อบบี้กันสุดฤทธิ์
กระนั้นแม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะเขียนเอาไว้ชัดว่า คสช. เสนอได้ 5 คน บวกตัวประธานอีก 1 คน คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน สนช. 5 คน และ สปช.เยอะสุด 20 คน ทว่าก็เป็นที่ทราบกันดีว่า ตัวเลขดังกล่าวมันไม่ตายตัว เพราะบางรายชื่อ เป็นรายการคุณขอมา หรือเด็กเส้นนั่นเอง โดยเฉพาะก๊วนเนติบริกร ที่ข่าวลือหนาหูว่า จองเก้าอี้กันไว้เกือบค่อนคณะ โดยในโควตา คสช. ครม. “บิ๊กตู่”เปิดฟลอร์ให้พรีเซนต์กันเต็มที่
แถมมิวายยังมีเสียงซุบซิบ นายบวรศักดิ์ ไปดิ้นขอยืมโควตาจาก สปช. อีก 5 คน เพราะคนที่จะเอามาช่วยงานล้นเกินโควตาที่มีอยู่ จนสร้างความไม่พอใจให้สมาชิกสปช. คนอื่นๆ ตามที่มีข่าวออกมาว่า ในโควตา 20 คนของสปช. จะเป็นคนใน 15 คน และเอาคนนอกอีก 5 คน ซึ่งคนนอกเหล่านี้นี่เอง ว่ากันว่า มีสาเหตุมาจากรายการคุณขอมา
**จะว่ากันไป แม้นายบวรศักดิ์ จะมีชื่อเสียงโด่งดังเพราะเป็นนักกฎหมายมหาชนลำดับต้นๆ ของเมืองไทย มากบารมีเป็นก๊วนเนติบริกรที่ “บิ๊กตู่”ไว้วางใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเออออห่อหมกด้วย เพราะใน สปช.เองมีหลายคนไม่ชอบขี้หน้าอย่างแรงที่พยายามทำตัวเป็นผู้คุมสปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
เชื้อของความไม่พอใจเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่วันโหวตเลือกประธาน และรองประธานสปช. ที่จู่ๆ นายประชา เตรัตน์ อดีตอธิบดีกรมการปกครองเด็ก “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอตัวเข้าชิงตำแหน่งรองประธานสปช. คนที่ 2 จากนางทัศนา บุญทอง จนแย่งคะแนนมาได้ถึง 88 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเสียงจาก สปช.จังหวัด พวกสายมหาดไทยเก่า และคนที่ไม่พอใจที่ นายบวรศักดิ์ ล็อกเก้าอี้ประธาน 1 ตำแหน่ง และรองประธาน สปช. 2 ตำแหน่ง เอาไว้คนเดียว
ความไม่เป็นเอกภาพในสปช.นี้เอง จากเดิมที่ นายบวรศักดิ์ หวังจะยึดหัวหาดไว้ทั้งหมด เลยทำให้ต้องลดหลั่นกันไป เหลือไม่กี่ตำแหน่ง ซึ่งก็กระทบชิ่งมาถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่ใครๆ คาดเดาว่า จะเป็นฉบับที่หินที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทยว่า “เนติบริกรผู้น้อง”รายนี้จะคิดเองเออเองแบบไม่ฟังใครตามอุปสรรคนิสัยที่หลายคนยังระแวง ซึ่งต้องจับตาดูให้ดี
เพราะหากย้อนอดีตดูก็น่าระแวงอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะก๊วนเนติบริกรร่างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ สุดท้ายถูกฉีกไม่เหลือชิ้นดี คนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีหน้าที่อย่างเดียวคือ ทำตามออเดอร์ ที่ผู้มีอำนาจมอบหมายให้ทำ เรียกว่า จะเอาแบบไหน อย่างไร ดีไซน์กันได้หมด
**แม้สังคมภายนอกจะมองว่าก๊วนกฎหมายพวกนี้ภาพลักษณ์ดี มีฝีมือระดับชั้นเซียน แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่กังขาในอุดมการณ์ เพราะทั้งนายวิษณุ และนายบวรศักดิ์ ต่างเคยทำงานร่วมกับรัฐบาล น.ช.ทักษิณ ชินวัตร มาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่นายบวรศักดิ์ เป็นเลขาธิการครม. ทำอะไรบิดๆ เบี้ยวๆ ตามข้อกฎหมายไปไม่น้อย แต่พอผลัดเปลี่ยนอำนาจ มีการรัฐประหาร กลุ่มเนติบริกร ก็มักจะถูกเรียกใช้บริการให้อีกฝ่ายเสมอ ชนิดว่า ไม่ว่าจะถูกฝั่งไหนเรียกใช้บริการ จะทำให้แบบหมดจด เนียนตา ทำนองได้ครับพี่ ดีครับท่าน ตามนั้นครับผม
ขณะที่หลักของ “เนติบริกรผู้น้อง”ก็ดูขัดๆ กันชอบกล ตัวเองเป็นเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งต้องบ่มเพาะหลักประชาธิปไตย แต่ภาพระยะหลังในช่วงที่ผ่านมา ก็แนบชิดกับฝ่ายเผด็จการอยู่เสมอ แต่จะฟันธงว่าอยู่ข้างไหนข้างหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะตัวนายบวรศักดิ์ เองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเหล่านักการเมืองฝ่ายระบอบทักษิณหลายคน จนทำให้ถูกมองว่า เป็นพวกเหยียบเรือสองแคมหรือไม่
จัดว่าเป็นพวกเอาแน่เอานอนไม่ได้ จะไว้ใจก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่เว้นแม้กระทั่งบรรดาบุคคลที่ นายบวรศักดิ์ ไปลากตัวมาช่วยอย่าง นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่เข้ามานั่งเป็นสมาชิก สปช. และแว่วว่าอาจได้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหนนี้ด้วย หลังเคยร่างมาแล้วครั้งหนึ่ง ในปี 2550
นายวุฒิสาร ภาพค่อนข้างคลุมเครือ เพราะเคยมีแผลเมื่อครั้งเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์รายงานปรองดองที่ นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ดึงไปอ้างความชอบธรรม ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่“บิ๊กบัง”เป็นหัวขบวน
**ฉะนั้นอย่าไปหวังอะไรมากกับพวกรับจ้างเขียนกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น