xs
xsm
sm
md
lg

กระตุก “สปช.” ต้องรุกคืบ ไม่ใช่เวลามาคุย “ฟุ้งซ่าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานการเมือง


ได้ 250 อรหันต์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กันมาร่วมสัปดาห์กว่า จากนี้ถือว่าการปฏิรูปประเทศเข้าสู่โหมดนับหนึ่งเต็มตัว หลังจากเสียเวลาไปกับการทำคลอดอยู่นานสองนาน

กางปฏิทินดู สปช. ชุดนี้ เหลือเวลาทำงานอีกไม่เท่าไหร่ เพราะนาฬิกาหมุนไป 1 ใน 3 ของโรดแมปคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กันแล้ว คงไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอะไรกันมาก ขืนมัวแต่ขายฝันขายไอเดียกันอยู่ มีหวังจะไม่เป็นอันทำอะไรกันเลย ดีไม่ดี สิ่งที่เป็นรูปธรรมจะมีแค่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเท่านั้น ส่วนการปฏิรูปได้แค่โมเดล

สปช. ชุดนี้แบกความหวังของประชาชนไว้เยอะ เพราะเป็นหัวใจของสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่จะแก้ไขปัญหาสารพัดเรื่องที่หมักหมมอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน หากพลั้งพลาดก็เหมือนการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ สปช. กันขรมเมืองว่า หน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ หนักๆ ไปทางยี้ แถมมีรายการแฉว่าล็อกสเปก ดังนั้น ผลงานเท่านั้นจะเป็นตัวเดียวที่จะลบข้อครหาทั้งหมดลงได้

หลังจากรายงานตัวกันมาตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม ได้เห็นโฉมหน้าและแนวคิดของ สปช. แต่ละด้านบางคนกันไปแล้ว ส่วนใหญ่ต่างโชว์วิสัยทัศน์กันสวยหรู ที่หากทำได้ประเทศอาจเจริญก้าวหน้าไปดาวอังคารได้อย่างที่ “บิ๊กตู่” เคยประชดประชันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับก่อนๆ เอาไว้

ใครได้ยินได้ฟังแทบจะคล้อยตาม อยากจะให้ประเทศไปถึงวันนั้นใจแทบขาด เพราะมันเป็นสังคมในอุดมคติที่น่าอยู่ ชนิดหลายประเทศทั่วโลกอิจฉาอยากจะมาศึกษาดูงาน แต่ไอเดียฟุ้งซ่านเหล่านี้จะออกไปแตะขอบฟ้าได้หรือไม่ ว่ากันตามสภาพความเป็นจริงเต็ม 10 ทำได้สัก 5 ถือว่า เก่งแล้ว

อย่างการปฏิรูปด้านการเมือง อาจพอเป็นไปได้ เพราะเป็นที่ทราบกันว่า รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สปช. และว่าที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่เป็นนายทหาร อดีตข้าราชการ นักวิชาการ ซึ่งจำนวนไม่น้อยแอนตี้นักการเมืองแบบขยะแขยง ดังนั้น การจะสร้างกลไกมาเพื่อกลั่นกรองอย่างเข้มแข็ง เช่น เปลี่ยนที่มา ส.ส. เสียใหม่ การไม่ให้สังกัดพรรคเพื่อลดอำนาจนายทุน การกำหนดคุณสมบัติเอาไว้อย่างเข้มข้นเพื่อคัดสรรคนมีมลทินออกไป จึงน่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคนี้

โดยเฉพาะในมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่เขียนล็อกเอาไว้ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปเขียนให้ครอบคลุมหลายเรื่องตามที่กำหนดไว้ เช่น ควบคุมนโยบายประชานิยม การกีดกันนักการเมืองที่ต้องคดีทุจริตไม่ให้กลับเข้ามาเด็ดขาด ดังนั้น ต่อให้ปฏิรูปไม่สำเร็จ แต่มันก็มาโผล่อยู่ในเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับถาวรแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่เรื่องอื่นๆ โอกาสจะสำเร็จเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 1 ปี อาจยากยิ่งกว่าการไปดาวอังคาร หรือบางเรื่องอาจจะทำได้แค่แตะๆ หรือตลกร้ายกว่านั้นอาจจะไม่ได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเลยก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องพลังงานที่หลายอย่างยังเห็นไม่ตรงกัน

ขณะที่เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหัวใจเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การปฏิรูปครั้งนี้ที่เพิ่งมาพูดถึง แต่เรื่องการกระจายอำนาจถูกพูดกันทุกครั้งที่จะมีการปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่จนแล้วจนรอดการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงก็ยังนิ่งไม่ขยับเขยื้อน นั่นเป็นเพราะกระทรวงมหาดไทยที่เต็มไปด้วยข้าราชการที่ยังยึดติดกับอำนาจเก่าๆ ไม่อยากคายอำนาจ

กลุ่มที่ยังยึดติดกับอำนาจส่วนกลางจนไม่อยากผ่องถ่ายไปที่ท้องถิ่นนั้นมีจำนวนมากเสียด้วย และตรงนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การกระจายอำนาจล้มเหลวไม่เป็นท่ามาหลายปี หนนี้โชคดีหน่อยที่ไม่มีพรรคการเมืองมาเป็นตัวถ่วงขวางอีกทาง ทำให้การต่อสู้เหลือแค่พวกข้าราชการกับกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปการกระจายอำนาจ

แต่ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะหากพลิกไปดูรายชื่อ สปช. ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น เกือบจะทั้งหมดล้วนเป็นคนในกระทรวงมหาดไทย หรืออดีตคนในกระทรวงมหาดไทยทั้งนั้น เรื่องนี้มันจึงยาก ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะว่ากันจริงๆ มีใครจะยอมสูญเสียอำนาจตัวเอง ยกเว้นคนที่เสียสละจริงๆ หรือเติบโตมาจากการเป็นผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อน

ทำให้การปฏิรูปด้านการปกครองด้านท้องถิ่นจะยากมากๆ เพราะแทนที่จะเขยิบเขยื้อนเดินไปข้างหน้า แต่ต้องมางัดง้างเรื่องเหตุผลกันอีกพักใหญ่ ดีไม่ดีอาจได้เห็นรายการงัดข้อแฉกันออกอากาศ ซึ่งมีหลายคนออกมายอมรับแล้วว่า การปฏิรูปในด้านนี้อาจมีบางเรื่องที่ไม่เสร็จ

อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ตัวกระทรวงมหาดไทยในยุคนี้ที่มี “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นเสนาบดี ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจเหมือนกัน จะหนุนหลังฝั่งไหน เพราะหากตัดสินใจยืนข้างฝ่ายที่ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง อาจต้องเจอแรงกระเพื่อมใต้น้ำภายในกระทรวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องติดตามอย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนการปฏิรูปด้านการศึกษา การปฏิรูปด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่แก้กันง่ายๆ ภายในวันหรือสองวัน เพราะปัญหาเกี่ยวพันกันหลายภาคส่วน อย่างเรื่องการศึกษาเองต้องแก้ตั้งแต่เด็ก เยาวชน หลักสูตร ครูอาจารย์ ต้องจัดระเบียบกันใหม่เยอะ แถมยังมีปัญหาเรื่องคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงมาเป็นอุปสรรคอีก เวลาต้องมีมากกว่านี้ ซึ่งหลายคนสารภาพออกมาเหมือนกันแล้วว่า ในยุคสปช.อาจทำได้แค่วางรากฐาน สร้างกลไกเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปมาสานต่อ จะเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดนั้นคงยาก

การปฏิรูปในห้วงระยะเวลาเพียงเท่านี้ของ สปช. จึงต้องเน้นหนักเรื่องสำคัญๆ เป็นพิเศษ หากทำได้แค่เพียงรากฐาน ก็ต้องวางรากฐานที่เหนียวแน่นหนึบ มีสภาพบังคับให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องทำ และต้องมีกลไกป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามารื้อชำแหละจนเละตุ้มเปะไปหมด

อย่าลืมว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะปฏิรูปได้ดีเท่ายุคนี้อีกแล้ว หากมัวแต่ขายไอเดียเพ้อฝันกันอยู่อย่างเดียว โอกาสจะปฏิรูปไม่สำเร็จหรือเสียของก็มีอยู่สูงลิ่ว หรือมัวแต่เถียงกันไปมา ทั้งที่เห็นอยู่แล้วว่า ปัญหาตรงหน้าเป็นอย่างไร แล้วควรจะแก้ไขอย่างไร แต่ต้องมาติดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแบบนี้ก็ไม่เข้าท่า เข้ามาแล้วต้องรู้จักเสียสละกันบ้าง

ไหนๆ ก็อุตส่าห์จิ้มนิ้วเลือกกันมาแล้ว แถมใน สปช. ยังไม่มีก้างขวางคออย่างพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก อย่างน้อยมันต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า 10 ปีที่ผ่านมา

ถ้าทำได้เท่าเดิม ให้ดู “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นตัวอย่าง

สุดท้ายทุกวันนี้มีสภาพแบบไหน!!
กำลังโหลดความคิดเห็น