xs
xsm
sm
md
lg

กระตุก“สปช.”ต้องรุกคืบ ไม่ใช่เวลามาคุย“ฟุ้งซ่าน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ได้ 250 อรหันต์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กันมาร่วมสัปดาห์กว่า จากนี้ถือว่าการปฏิรูปประเทศเข้าสู่โหมดนับหนึ่งเต็มตัว หลังจากเสียเวลาไปกับการทำคลอดอยู่นานสองนาน
กางปฏิทินดูสปช.ชุดนี้เหลือเวลาทำงานอีกไม่เท่าไหร่ เพราะนาฬิกาหมุนไป 1 ใน 3 ของโรดแมป คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กันแล้ว คงไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลงอะไรกันมาก ขืนมัวแต่ขายฝัน ขายไอเดียกันอยู่ มีหวังจะไม่เป็นอันทำอะไรกันเลย ดีไม่ดี สิ่งที่เป็นรูปธรรมจะมีแค่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเท่านั้น ส่วนการปฏิรูปได้แค่โมเดล
สปช.ชุดนี้แบกความหวังของประชาชนไว้เยอะ เพราะเป็นหัวใจของสำคัญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ที่จะแก้ไขปัญหาสารพัดเรื่องที่หมักหมมอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน หากพลั้งพลาด ก็เหมือนการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลว นั่นเอง
ก่อนหน้านี้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ สปช. กันขรมเมืองว่า หน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ หนักๆไปทางยี้ แถมมีรายการแฉว่า ล็อกสเปก ดังนั้น ผลงานเท่านั้นจะเป็นตัวเดียวที่จะลบข้อครหาทั้งหมดลงได้
หลังจากรายงานตัวกันมาตั้งแต่ วันที่ 8 ตุลาคม ได้เห็นโฉมหน้าและแนวคิดของ สปช. แต่ละด้านบางคนกันไปแล้ว ส่วนใหญ่ต่างโชว์วิสัยทัศน์กันสวยหรู ที่หากทำได้ประเทศอาจเจริญก้าวหน้าไปดาวอังคารได้อย่างที่ “บิ๊กตู่”เคยประชดประชันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับก่อนๆ เอาไว้
**ใครได้ยินได้ฟังแทบจะคล้อยตาม อยากจะให้ประเทศไปถึงวันนั้นใจแทบขาด เพราะมันเป็นสังคมในอุดมคติที่น่าอยู่ ชนิดหลายประเทศทั่วโลกอิจฉา อยากจะมาศึกษาดูงาน แต่ไอเดียฟุ้งซ่านเหล่านี้จะออกไปแตะขอบฟ้าได้หรือไม่ ว่ากันตามสภาพความเป็นจริงเต็ม 10 ทำได้สัก 5 ถือว่า เก่งแล้ว
อย่างการปฏิรูปด้านการเมือง อาจพอเป็นไปได้ เพราะเป็นที่ทราบกันว่า รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สปช. และ ว่าที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่เป็นนายทหาร อดีตข้าราชการ นักวิชาการ ซึ่งจำนวนไม่น้อยแอนตี้นักการเมืองแบบขยะแขยง ดังนั้น การจะสร้างกลไกมาเพื่อกลั่นกรองอย่างเข้มแข็ง เช่น เปลี่ยนที่มาส.ส.เสียใหม่ การไม่ให้สังกัดพรรคเพื่อลดอำนาจนายทุน การกำหนดคุณสมบัติเอาไว้อย่างเข้มข้น เพื่อคัดสรรคนมีมลทินออกไป จึงน่าจะเกิดขึ้นได้ในยุคนี้
โดยเฉพาะใน มาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่เขียนล็อกเอาไว้ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปเขียนให้ครอบคลุมหลายเรื่องตามที่กำหนดไว้ เช่น ควบคุมนโยบายประชานิยม การกีดกันนักการเมืองที่ต้องคดีทุจริตไม่ให้กลับเข้ามาเด็ดขาด ดังนั้น ต่อให้ปฏิรูปไม่สำเร็จ แต่มันก็มาโผล่อยู่ในเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับถาวรแน่นอน ร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่เรื่องอื่นๆ โอกาสจะสำเร็จเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาที่เหลือไม่ถึง 1 ปี อาจยากยิ่งกว่าการไปดาวอังคาร หรือบางเรื่องอาจจะทำได้แค่แตะๆ หรือตลกร้ายกว่านั้น อาจจะไม่ได้อะไรเป็นเนื้อเป็นหนังเลยก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องพลังงานที่หลายอย่างยังเห็นไม่ตรงกัน
ขณะที่เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหัวใจเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ ไม่ใช่การปฏิรูปครั้งนี้ที่เพิ่งมาพูดถึง แต่เรื่องการกระจายอำนาจ ถูกพูดกันทุกครั้งที่จะมีการปรับปรุงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่จนแล้วจนรอด การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริงก็ยังนิ่ง ไม่ขยับเขยื้อน นั่นเป็นเพราะกระทรวงมหาดไทย ที่เต็มไปด้วยข้าราชการที่ยังยึดติดกับอำนาจเก่าๆ ไม่อยากคายอำนาจ
กลุ่มที่ยังยึดติดกับอำนาจส่วนกลางจนไม่อยากผ่องถ่ายไปที่ท้องถิ่นนั้นมีจำนวนมากเสียด้วย และตรงนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การกระจายอำนาจ ล้มเหลวไม่เป็นท่ามาหลายปี หนนี้โชคดีหน่อยที่ไม่มีพรรคการเมืองมาเป็นตัวถ่วงขวางอีกทาง ทำให้การต่อสู้เหลือแค่พวกข้าราชการกับกลุ่มที่ต้องการปฏิรูปการกระจายอำนาจ
**แต่ก็น่าเป็นห่วงไม่น้อย เพราะหากพลิกไปดูรายชื่อสปช. ด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น เกือบจะทั้งหมดล้วนเป็นคนในกระทรวงมหาดไทย หรือ อดีตคนในกระทรวงมหาดไทยทั้งนั้น เรื่องนี้มันจึงยาก ไม่ใช่ง่ายๆ เพราะว่ากันจริงๆ มีใครจะยอมสูญเสียอำนาจตัวเอง ยกเว้นคนที่เสียสละจริงๆ หรือเติบโตมาจากการเป็นผู้บริหารท้องถิ่นมาก่อน
ทำให้การปฏิรูปด้านการปกครองด้านท้องถิ่น จะยากมากๆ เพราะแทนที่จะเขยิบเขยื้อนเดินไปข้างหน้า แต่ต้องมางัดง้างเรื่องเหตุผลกันอีกพักใหญ่ ดีไม่ดีอาจได้เห็นรายการงัดข้อแฉกันออกอากาศ ซึ่งมีหลายคนออกมายอมรับแล้วว่า การปฏิรูปในด้านนี้อาจมีบางเรื่องที่ไม่เสร็จ
อีกปัจจัยที่สำคัญคือ ตัวกระทรวงมหาดไทย ในยุคนี้ที่มี “บิ๊กป๊อก”พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นเสนาบดี ซึ่งมีอำนาจตัดสินใจเหมือนกัน จะหนุนหลังฝั่งไหน เพราะหากตัดสินใจยืนข้างฝ่ายที่ผลักดันให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง อาจต้องเจอแรงกระเพื่อมใต้น้ำภายในกระทรวงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องติดตามอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนการปฏิรูปด้านการศึกษา การปฏิรูปด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่แก้กันง่ายๆ ภายในวัน หรือสองวัน เพราะปัญหาเกี่ยวพันกันหลายภาคส่วน อย่างเรื่องการศึกษาเอง ต้องแก้ตั้งแต่เด็ก เยาวชน หลักสูตร ครูอาจารย์ ต้องจัดระเบียบกันใหม่เยอะ แถมยังมีปัญหาเรื่องคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงมาเป็นอุปสรรคอีก เวลาต้องมีมากกว่านี้ ซึ่งหลายคนสารภาพออกมาเหมือนกันแล้วว่า ในยุค สปช. อาจทำได้แค่วาง รากฐาน สร้างกลไกเพื่อให้รัฐบาลชุดต่อไปมาสานต่อ จะเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดนั้น คงยาก
**การปฏิรูปในห้วงระยะเวลาเพียงเท่านี้ของสปช. จึงต้องเน้นหนักเรื่องสำคัญๆ เป็นพิเศษ หากทำได้แค่เพียงรากฐาน ก็ต้องวางรากฐานที่เหนียวแน่นหนึบ มีสภาพบังคับให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องทำ และต้องมีกลไกป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เข้ามารื้อชำแหละจนเละตุ้มเปะไปหมด
อย่าลืมว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะปฏิรูปได้ดีเท่ายุคนี้อีกแล้ว หากมัวต่อขายไอเดีย เพ้อฝันกันอยู่อย่างเดียว โอกาสจะปฏิรูปไม่สำเร็จหรือเสียของ ก็มีอยู่สูงลิ่ว หรือมัวแต่เถียงกันไปมา ทั้งที่เห็นอยู่แล้วว่าปัญหาตรงหน้าเป็นอย่างไร แล้วควรจะแก้ไขอย่างไร แต่ต้องมาติดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแบบนี้ก็ไม่เข้าท่า เข้ามาแล้วต้องรู้จักเสียสละกันบ้าง
ไหนๆ ก็อุตส่าห์จิ้มนิ้วเลือกกันมาแล้ว แถมใน สปช. ยังไม่มีก้างขวางคออย่างพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากนัก อย่างน้อยมันต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า 10 ปีที่ผ่านมา
ถ้าทำได้เท่าเดิม ให้ดู “บิ๊กบัง”พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นตัวอย่าง
** สุดท้ายทุกวันนี้มีสภาพแบบไหน !!
กำลังโหลดความคิดเห็น