xs
xsm
sm
md
lg

ความขัดแย้งจะกลับมาอีก

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

ถ้าย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ คงไม่มีใครคิดว่ายุครัฐข้าราชการจะกลับมามีอำนาจอีกครั้งในยุคนี้ อาจต้องย้อนไปไกลก่อนยุคพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์เลยไปถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์หรือยุคจอมพลถนอม กิตติขจรด้วยซ้ำ เพราะถ้าจะว่าไปแล้วยุคของพล.อ.เปรมที่เรียกว่าประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น ก็ยังไม่เป็นรัฐข้าราชการขนาดนี้แต่เป็นรัฐบาลที่ผสมระหว่างนักการเมืองกับเทคโนแครต

ตอนบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตั้งรัฐบาลหลังยึดอำนาจ ก็ยังไม่กล้าตั้งรัฐบาลขนาดนี้ รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ แม้จะมุ่งใช้เทคโนแครตเหมือนกัน แต่ก็ยังมีส่วนผสมของนักธุรกิจและนักวิชาการ แต่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นการประกาศศักดาของรัฐบาลทหารและข้าราชการเต็มๆ เพราะเต็มไปด้วยนายทหารและข้าราชการที่เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี

แต่เราต้องยอมรับว่าบ้านเมืองย้อนกลับไปไกลขนาดนี้ได้ ก็เพราะเรามีรัฐบาลจากระบอบเผด็จการโดยพรรคนายทุนที่มีวิสามัญนามว่า “ระบอบทักษิณ” นั่นเอง

ระบอบทักษิณเป็นการเถลิงเข้าสู่อำนาจรัฐของกลุ่มทุนโดยใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจ แล้วใช้เสียงข้างมากแสวงหาผลประโยชน์เข้าวงศ์วานว่านเครือ และใช้งบประมาณของรัฐหว่านลงไปเพื่อเอาใจคนรากหญ้าซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ แล้วใช้คนรากหญ้ากลับมาเป็นฐานเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง โดยทำให้พวกเขาเข้าใจว่า การปกป้องผลประโยชน์ของทักษิณคือการปกป้องประชาธิปไตย

กระทั่งหลอกให้มวลชนไปตายเอาชีวิตของมวลชนที่ศรัทธามาแลกเพื่อหวังทวงอำนาจและผลประโยชน์ของตัวเองที่ถูกรัฐยึดไปกลับคืนมา

แล้วก็สร้างภาพให้ฝ่ายที่ต่อต้านทักษิณกลายเป็นฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เขาต่อต้านระบอบเผด็จการโดยพรรคนายทุนไม่ใช่ต่อต้านประชาธิปไตย

เมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลตัวแทนของระบอบทักษิณ กระทั่งบ้านเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ไร้ทางออก ก็ถูกทหารเข้ามายึดอำนาจจนกระทั่งสถาปนารัฐบาลทหารในที่สุด ว่ากันว่ารัฐบาลทหารที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในอำนาจ 1 ปี

ผมเชื่อว่าในช่วงแรกคนส่วนใหญ่ที่ออกมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ล้วนแต่พากันเชื่อว่า ทหารออกมายึดอำนาจเพื่อจัดการกับระบอบทักษิณ แล้วจัดการปฏิรูปประเทศ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นมา เราก็พบความจริงว่า เขาอ้างว่าที่ต้องออกมายึดอำนาจเพราะเกิดปัญหาจากมวลมหาประชาชนที่ออกมาขับไล่รัฐบาล

“ประชาชนแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ ขาดความสามัคคีและมีทัศนคติไม่เป็นมิตรต่อกัน บางครั้งเกิดความรุนแรง ใช้กําลังและอาวุธสงครามเข้าทําร้ายประหัตประหารกัน สวัสดิภาพและการดํารงชีวิตของประชาชนไม่เป็นปกติสุข การพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองการปกครองชะงักงัน กระทบต่อการใช้อํานาจในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร และในทางตุลาการ การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ผล นับเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้รัฐจะแก้ไขปัญหาด้วยกลไกและมาตรการทางกฎหมาย เช่น นํากฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในภาวะต่างๆ มาบังคับใช้ ยุบสภาผู้แทนราษฎรและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป และฝ่ายที่ไม่ได้เป็นคู่กรณี เช่น องค์กรธุรกิจภาคเอกชน องค์กรตามรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง กองทัพ และวุฒิสภา ได้พยายามประสานให้มีการเจรจาปรองดองกัน แต่ก็ไม่เป็นผลสําเร็จ”

นั่นเป็นเหตุผลที่จารจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรที่เป็นต้นเหตุของการยึดอำนาจไม่ใช่เพราะรัฐบาลประพฤติมิชอบ เพราะทุจริตโครงการจำนำข้าวหลายแสนล้าน เราจึงไม่เห็นเลยว่า ทหารที่เข้ามายึดอำนาจจะจัดการอะไรกับระบอบทักษิณ หรือจัดการกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถมนอกจากจะห้ามวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คสช.แล้ว ก็ยังห้ามวิจารณ์รัฐบาลเก่าด้วย โดยอ้างว่าต้องการให้เกิดความปรองดอง

ใครอย่าเผลอพูดว่า รัฐบาลหรือ คสช.ควรจะเปิดโปงระบอบทักษิณเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจพิษร้ายของเผด็จการโดยพรรคนายทุน เพราะนั่นไม่ใช่แนวทางของ คสช. เขามองว่าการกล่าวหาและโจมตีกันเป็นการสร้างความขัดแย้งไม่ได้คำนึงว่าอย่างไหนผิดหรือถูก หรือเอาเข้าจริงๆ แล้วเขากลับมองว่า ประชาชนทั้งสองฝ่ายที่มีความคิดอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกันจนกลายเป็นการแบ่งสีนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาของประเทศทั้งคู่

เขาจึงใช้วิธีปิดปากทั้งสองฝ่าย แล้วสั่งให้ทีวีที่มีกลุ่มการเมืองหนุนหลังระงับการออกอากาศไปร่วม 100 วัน และอนุญาตให้ออกอากาศในเวลาต่อมาโดยการให้เปลี่ยนชื่อใหม่ ด้วยเงื่อนไขต่างๆ มากมายรวมไปถึงการห้ามวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง

โดยหาเข้าใจไหมว่า เมื่อ คสช.ไม่มีนโยบายให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการเมือง ไม่ได้ชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของระบอบทักษิณ ก็ไม่มีวันที่จะสลายความรู้สึกแบ่งสีทางการเมืองของประชาชนลงไปได้ ถึงเวลาเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคของระบอบทักษิณก็จะกลับมาอีกอย่างแน่นอน

ในเมื่อระบอบทักษิณยังอยู่ประชาชนฝ่ายตรงข้ามกับระบอบทักษิณก็ยังคงมีความรู้สึกต่อต้านระบอบทักษิณอยู่ หากระบอบทักษิณกลับมาอีก ประชาชนกลุ่มนี้ก็ต้องออกมาต่อต้านอีก ความขัดแย้งรอบใหม่ก็จะกลับมาอีก

ดูเหมือนว่าคณะรัฐประหารนอกจากไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองในเชิงระบบแล้ว ก็หวังเพียงเข้ามาเพื่อเบรกสถานการณ์ทางการเมืองในห้วงระยะหนึ่ง เพื่อจัดสรรกลุ่มอำนาจการเมืองกลุ่มใหม่ของตัวเองขึ้นเท่านั้นเอง เราจึงเห็นเครือข่ายกลุ่มอำนาจที่เกาะติดกับพรรคของเนวินพร้อมกับทุนการเมืองกลุ่มเดิมที่หนุนหลังพรรคการเมืองของเนวินเข้ามามีบทบาทในช่วงนี้

พูดกันตรงไปตรงมาวันนี้ใครเขาก็พูดกันว่า การเมืองวันนี้เป็นการเปลี่ยนเครือข่ายอำนาจจากกลุ่มทุนชินวัตรมาเป็นกลุ่มทุนคิง เพาเวอร์เท่านั้นเอง

สิ่งที่กลุ่มอำนาจทางการเมืองใหม่คาดหวังในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็คือ การมีอำนาจรัฐทหารหนุนหลังเพื่อต่อสู้กับพรรคของระบอบทักษิณเป็นการแย่งชิงอำนาจทางการเมืองของกลุ่มทุนภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลง

แต่เราจะเห็นว่าทักษิณไม่ได้หวั่นไหวกับความพยายามสร้างกลุ่มอำนาจการเมืองขึ้นมาใหม่ของกลุ่มที่กุมอำนาจรัฐตอนนี้เลย เพราะทักษิณมั่นใจว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าสิ่งที่ระบอบทักษิณหยิบยื่นให้นั้น ยังเอาชนะใจประชาชนในการเลือกตั้งได้ ยิ่งคณะรัฐประหารไม่มีเป้าหมายที่จะโจมตีระบอบทักษิณด้วยแล้ว ทักษิณก็เพียงแต่สั่งให้ลูกน้องรอคอยเวลาที่จะเข้ามามีอำนาจเท่านั้นเอง

1 ปีจากนี้ในยุคของรัฐบาลประยุทธ์จึงเป็นเพียงการพักรบชั่วคราว เมื่อระบอบทักษิณกลับมาหลังจากมีการเลือกตั้ง ความขัดแย้งของประชาชนก็จะปะทุขึ้นมาอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น