ผ่าประเด็นร้อน
ไม่มีปัญหารับรู้ล่วงหน้ากันนานเป็นเดือนแล้วว่า พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องนั่งควบเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน ทุกอย่างเดินมาทางเส้นทางดังกล่าวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ที่สำคัญเหนืออื่นใดเป็นการสนับสนุนอย่างเป็นเอกภาพจากสังคมภายนอก มีแต่คนยกมือสนับสนุนทั้งนั้น พิสูจน์ได้จากผลสำรวจทุกสำนักออกมาตรงกันหมด ฝ่ายที่คัดค้านมีน้อยมากจนแทบมองไม่เห็น
สาเหตุเป็นเพราะความคาดหวังให้เข้ามาแก้ปัญหาของบ้านเมืองที่หมักหมมเรื้อรังมานาน จนตื่นตัวมีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปบ้านเมืองในทุกด้านกันอย่างขนานใหญ่ และในตอนที่เข้ามายึดอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยืนยันว่าจะต้องดำเนินการให้สำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้นนั่นคือราวหนึ่งปี
อย่างไรก็ดี ด้วยเงื่อนไขเวลาที่มีจำกัด เมื่อเทียบกันภาระที่ยิ่งใหญ่เป็นงานหิน มันก็จำเป็นอยู่เองที่ต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จในมือ ซึ่งชาวบ้านก็ไม่ขัดข้องยินดีให้โอกาส สนับสนุนเห็นดีเห็นงาม แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดกับเรื่องการปิดกั้นสิทธิ์หลายอย่างก็ตาม แต่ก็กัดฟันรอได้เพื่อแลกกับความสดใสในอีกไม่นาน
ขณะเดียวกัน ในมุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นผู้นำในคณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นจะสะสางปัญหาที่หมักหมมมานานภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดไม่ได้ ทุกอย่างจึงต้องรวมศูนย์อยู่ที่เขาคนเดียว ซึ่งก็พออธิบายเข้าใจกันได้ รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบให้เห็นกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่มีเสียงวิจารณ์ว่า “เสียของ” และกรณีของ คสช.จึงไม่อยากให้ซ้ำรอยเดิม
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันตามความเป็นจริง แม้ว่าขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะถือว่ามีอำนาจล้นฟ้า เพราะเพียงแค่ตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตำแหน่งเดียวก็ถือว่าเป็น “ซูเปอร์เพาเวอร์” อยู่แล้ว สามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ที่ใช้อำนาจได้ทั้ง บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ได้อย่างเบ็ดเสร็จ นี่ยังพ่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้าไปอีก มันจะขนาดไหน อีกทั้งไม่ต้องพูดถึงเรื่องการมีฐานอำนาจในกองทัพตามสาย “บูรพาพยัคฆ์” คนเล็กสุดอย่าง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ทายาทในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนถัดไป ก่อนที่ตัวเองจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน รวมถึงตำรวจที่เพิ่ง ส่งให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่หมาดๆ นี่ก็เป็นเส้นสายของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ ผ่านทางน้องชาย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
แต่สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือ แม้ว่าจะมีอำนาจมากมายแค่ไหน มันไม่สำคัญเท่ากับผลงานที่ออกมามันจะต้องคุ้มค่า และสมกับความคาดหวังของชาวบ้าน เพราะถ้าผลออกมาตรงกันข้าม มันก็อยู่ลำบาก ขณะเดียวกันนับจากนาทีนี้เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะต้องเจอกับแรงกดดันที่หนักอึ้งไม่แพ้กัน หนทางข้างหน้าต้องพิสูจน์ด้วยฝีมือ เพราะภารกิจที่รออยู่ข้างหน้าล้วนแล้วแต่งานหิน นอกเหนือจากการปฏิรูปที่เปิดหัวขึ้นมาเริ่มมีเสียง “ยี้” เล็กๆ ออกมาแล้ว ขณะที่การบริหารในฐานะผู้นำรัฐบาลมันก็ไม่มีเวลาฮันนีมูนแล้ว ปัญหาปากท้อง ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ หลักๆอย่าง ข้าว และยางพารา หรือแม้แต่ผลผลิตตามฤดูกาลราคายังตกต่ำ ยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น
ที่ผ่านมาหากพิจารณากันอย่างละเอียด คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ได้ออกนโยบายใหม่ ซึ่งทางหนึ่งอาจเข้าใจได้ว่าสถานการณ์ยัง “ไม่ปกติ” เพิ่งเข้ามาสะสาง ผลที่ออกมาจึงมองว่าเป็นลักษณะ “ลอกการบ้าน” หรือเข้ามาตรวจการบ้านรัฐบาลก่อน เป็นการคัดกรองโครงการที่ทำเอาไว้แล้วสะดุดหรือมีปัญหา แต่ต่อไปนี้เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องขับเคลื่อนนโยบายใหม่ของตัวเองบ้าง รวมทั้งการแก้ปัญหาให้เป็นผลสัมฤทธิ์
อีกทั้งก็ต้องเผชิญกับการตรวจสอบท้าทาย อย่างน้อยที่ต้องเจอก่อนนั่นคือ การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งกฎหมายบังคับเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าคงไม่มีปัญหา แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าแรงเสียดสี แรงกดดันมันเริ่มเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเฉพาะหน้าเป้าหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทีมกุนซือรอบตัวของเขาต้องการทำให้สำเร็จตามเป้าหมายอย่างน้อยก็ในเวลา 1 ปีนับจากนี้ เพราะถ้าทำสำเร็จสามารถคืนความสุขได้ตามสัญญา แน่นอนว่าการเดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลเที่ยวนี้ไม่ใช่เข้ามาแบบเฉพาะกิจ แต่วางแผนไว้อยู่ยาว เพราะล่าสุดเริ่มมีความเคลื่อนไหวลางๆ ออกมาให้เห็นบ้างแล้ว แม้จะยังไม่การันตี เป็นเพียงการอ้างอิงวิจารณ์จากบางสื่อ ที่บอกว่าเริ่มมีการวางโรดแมป “พรรคทหาร” ไว้รองรับอนาคตกันแล้ว
อีกไม่นานจะเห็นภาพชัดกว่านี้ จริงไม่จริงมันปิดกันไม่มิดหรอก!!