1. กล่าวนำ
ผู้เขียนขอแก้ไขหมายเลขกำกับบทความดังนี้ หมายเลข (9) เดิมเป็นเรื่องอื่นๆ เปลี่ยนเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และความมั่นคงของนานาประเทศ และขอเพิ่มบทความอีก 2 ประเภทคือ หมายเลข (10) เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับ คสช. และรัฐบาล (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา), หมายเลข (11) เป็นเรื่องแนวความคิดและทฤษฎีของนักคิดนักทฤษฎีต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และหมายเลข (12) จะเป็นเรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมา
เนื่องจากได้มีผู้อ่านบางท่านต้องการให้ผู้เขียนได้กล่าวถึงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับ คสช. และรัฐบาลซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังให้ความสนใจ ดังนั้นผู้เขียนจึงกำหนดให้บทความแผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย หมายเลข (10) เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ คสช., รัฐบาล และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการและการปกครองประเทศซึ่งอาจย้อนหลังไปถึงรัฐบาลในอดีตด้วย
สำหรับในบทความนี้ (10.1) จะขอเริ่มต้นจากความเป็นมาของการควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ, ที่มาขององค์กรต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งได้แก่ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ), สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ), รัฐบาล (คณะรัฐมนตรี), สปช. (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายจะกล่าวถึงกลุ่มบุคคลที่อยู่ในองค์กรที่กล่าวมาโดยสังเขป
2. ความเป็นมาของการควบคุมอำนาจการปกครอง
หลังจากที่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง และมีการใช้ความรุนแรงระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ มาเป็นเวลานาน จนในที่สุด คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ซึ่งมีกองทัพบกเป็นแกนนำ (โดยมีกองทัพภาคที่ 1 เป็นกำลังหลัก) ได้ร่วมกับกองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ เข้าควบคุมอำนาจการบริหารและการปกครองประเทศจากอดีตรัฐบาลรักษาการนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งได้ระบุข้อความตอนหนึ่งว่า
“ตามสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเขตปริมณฑลและพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในหลายพื้นที่เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้น
เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วประชาชนในชาติเกิดความรักความสามัคคีเช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่ายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมพุทธศักราช 2557.............” การเข้าควบคุมอำนาจการปกครองดังกล่าวได้เป็นโดยความเรียบร้อย และไม่ได้มีการต่อต้านที่ใช้อาวุธเพื่อเข้าขัดขวางหรือต่อสู้ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งคงจะเป็นเพราะกลุ่มแกนนำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ได้ถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันที่ประกาศยึดอำนาจแล้ว และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีขอนแก่นโมเดลหลายคนก็ได้ถูกจับกุมตัวพร้อมทั้งอาวุธจำนวนมากโดยมีรายงานข่าวกรณีขอนแก่นโมเดล จากASTVผู้จัดการรายวัน (29 พ.ค. 2557) และรวมทั้งภาพที่ 1 และภาพที่ 2 ดังนี้
“เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (29 พ.ค.) ที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 8 ค่ายสีหราชเดโชชัย จ.ขอนแก่น พล.ต.ธวัช สุกปลั่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2 แถลงผลความคืบหน้าในการจับกุมขบวนการก่อความไม่สงบ “ขอนแก่นโมเดล” เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ต้องผู้หา 21 คน ว่าล่าสุดได้ขยายผลจับกุมเพิ่มได้อีก 6 คนที่จ.สุรินทร์ พร้อมหลักฐานสำคัญที่เป็นแผนการเตรียมก่อเหตุจลาจล การจัดหาอาวุธสงครามใช้ก่อเหตุในเขตอ.เมือง จ.ขอนแก่น พร้อมปืนสั้นอีก 1 กระบอก รวมผู้ต้องหากลุ่มนี้ 27 คน ทั้งหมดเป็นคนในจ.นครราชสีมา ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ และสุรินทร์
พล.ต.ธวัช กล่าวว่า ขบวนการของกลุ่มขอนแก่นโมเดล มี “ผู้บงการใหญ่อยู่ต่างประเทศ” มีแกนนำระดับจังหวัด 7 คน คอยจัดหามวลชนจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครพิทักษ์ประชาธิปไตยแห่งชาติ (อพปช.) และกองทัพปราบกบฏ จากนั้นจะคัดเลือกฝึกฝนการรบ ใช้อาวุธปืนและระเบิด โดยมีแกนนำ 2 คนจัดหาอาวุธ จากนั้นจะแบ่งกลุ่มปฏิบัติการเป็น 3 กลุ่ม คือ กองทัพปราบกบฏ กลุ่มเดินสายฝึกอาวุธ และกลุ่มหัวใจสิงห์โดยนักการเมืองระดับประเทศให้การสนับสนุนเงิน
สำหรับขอนแก่นโมเดลมี 5 ขั้น คือ ระดมมวลชนมากที่สุด เจรจาปลดอาวุธเจ้าหน้าที่ เจรจาฝ่ายทหาร ทำลายสถาบันการเงินและนำมาแจกจ่ายให้ประชาชนแบบโรบินฮูด ประกาศนโยบายทั่วปฐพีหนี้เป็นศูนย์ แต่ถูกกองทัพภาคที่ 2 จับกุมได้ก่อน ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งขยายผลเพื่อติดตามผู้บงการการก่อความสงบ มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป”
ภาพที่ 1 การจับกุมอาวุธคดีขอนแก่นโมเดล*
ภาพที่ 2 แสดงโครงสร้างขอนแก่นโมเดล*
*ที่มาของภาพ : http://board.postjung.com/800865.html
3.ความเป็นมาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557
3.1 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
หลังจาก คสช.ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยใช้กำลังทหารที่มาจากกองทัพบก (ส่วนใหญ่มาจากกองทัพภาคที่ 1) ต่อมาในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 จึงได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยในมาตรา 6 ได้ระบุถึงสภานิติบัญญัติว่า
“มาตรา 6 ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 220 คนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด และมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ”
หลังจากนั้นในวันที่ 31 กรกฎาคม 2577ได้มีประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ พร้อมๆ กับได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และต่อมาในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงมติเลือกประธานและรองประธาน ผลปรากฏว่า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ได้เป็นประธาน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้เป็นรองประธานคนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต ได้เป็นรองประธานคนที่ 2
ภาพที่ 3 ภาพของประธานและรองประธานสภานิติบัญญัติ*
จากซ้ายไปขวา : นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายพรเพชร วิชิตชลชัย และนายพีระศักดิ์ พอจิต
*ภาพจาก ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 9 สิงหาคม 2557
3.2 นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
ต่อจากนั้นในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 19 ซึ่งมีข้อความสำคัญดังนี้
“มาตรา 19 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐมนตรีอื่นอีกจำนวนไม่เกินสามสิบห้าคนตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินดำเนินการให้มีการปฏิรูปในด้านต่างๆ และส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ
.....................................................................................................................................
การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ....................................................................................................................................”
สำหรับการเลือกนายกรัฐมนตรี มีการดำเนินการโดยสรุปดังนี้
นายตวง อันทะไชย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เป็นผู้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และผู้บัญชาการทหารบก ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ต่อมานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภาฯ ได้ประกาศผลการลงคะแนนออกเสียงมีผู้เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี 191 เสียง โดยมีสมาชิกงดออกเสียง 3 เสียง คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย และนายพีระศักดิ์ พอจิต และมีสมาชิกลาป่วย 3 คน คือคุณกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์, คุณพรทิพย์ จาละ และพล.อ.สุรวัช บุตรวงษ์ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทยด้วยคะแนนเสียง 191 เสียง (สรุปจากวิกิพีเดียไทย)
ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม2557 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 30 สิงหาคม 2557 (ดูภาพที่ 4 นายกรัฐมนตรี คนที่ 29)
ภาพที่ 4 นายกรัฐมนตรีคนที่ 29
*ภาพจาก http://news.tlcthai.com/news/355106.html
3.3 สภาปฏิรูปแห่งชาติ
รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวได้ระบุเรื่องการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติไว้ใน มาตรา 27ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ระบุไว้ในมาตรา 31 ซึ่งมีข้อความที่สำคัญ ดังนี้
“มาตรา 27 ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่างๆ ......................................................................................................................................
ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยมีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมมีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ..........................................................................” และ
“มาตรา 31 สภาปฏิรูปแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ศึกษาวิเคราะห์และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่างๆตามมาตรา 27 เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติคณะรัฐมนตรีคณะรักษาความสงบแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(2) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
(3) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น”
และต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยในมาตรา 8 ได้ระบุไว้ว่า
“มาตรา 8 ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งรับผิดชอบงานเลขานุการและงานธุรการรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสรรหาและของคณะกรรมการสรรหา...........................................”
ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต.จึงได้ออกประกาศรับสมัครบุคคลที่ต้องการเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปฯตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม-2 กันยายน2557 และกกต.ได้รวบรวมรายชื่อผู้สมัครในแต่ละด้านเสนอให้คณะกรรมการสรรหาด้านต่างๆทำการคัดเลือกรายชื่อด้านละ 50 คน รวมกับรายชื่อผู้ที่ผ่านการสรรหาจากจังหวัดต่างๆจังหวัดละ 5 คน เสนอให้ คสช.เลือกเป็นจำนวนทั้งสิ้น250 คน และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2557 และต่อมาในวันที่ 21 ต.ค. 2557 สภาปฏิรูปฯได้มีการประชุมและเลือกศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(ดูในรูปภาพที่ 5)
ภาพที่ 5 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์*
*ภาพจาก http://www.naewna.com/politic/127029
3.4 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็เป็นตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 32 ซึ่งได้ระบุไว้ว่า
“มาตรา 32 ให้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวนสามสิบหกคน ซึ่งประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้ (1) ประธานกรรมาธิการตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอ (2) ผู้ซึ่งสภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอจำนวนยี่สิบคน (3) ผู้ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติเสนอฝ่ายละห้าคน
อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ คสช., สนช., คณะรัฐมนตรี, และสภาปฏิรูป กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่ทราบตัวบุคคลที่จะมาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ผู้เขียน : วันที่ 27 ตุลาคม 2557)
4. สรุปที่มาของอำนาจ Where Powers Come From
4.1 สรุปลำดับการควบคุมอำนาจการปกครองของ คสช.
(1) การเข้าควบคุมตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง (รวมทั้งนักการเมืองและผู้นำกลุ่มมวลชนฝ่ายต่างๆ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายหลังการเจรจาระหว่างรัฐบาล กปปส. นปช. พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อหาทางออกประเทศที่สโมสรทหารบกประสบความล้มเหลวเพราะไม่สามารถตกลงกันได้
(2) การประกาศเข้าควบคุม (ยึด) อำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 57 เวลา 16.30 น. โดยได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศซึ่งระบุว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป
(3) การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อจัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมาทำหน้าที่ทางด้านนิติบัญญัติ คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ด้านการบริหารและปกครองประเทศ คือ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี และด้านการปฏิรูปประเทศและการร่างรัฐธรรมนูญ คือสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว2557 และกรอบเวลาที่ คสช. ได้กำหนดไว้ 4.2 สรุปที่มาของ สนช., ครม., สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ถ้านำความเป็นมาในการควบคุมอำนาจการปกครองในข้อ 2 มาผสมรวมกับความเป็นมาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ในข้อ 3 เราก็จะสามารถเขียนโครงสร้างที่มาของอำนาจต่างๆ และที่มาของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ตามที่แสดงในภาพที่ 6
ภาพที่ 6 สรุปที่มาของอำนาจต่างๆ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
I - IVคือ ลำดับการแต่งตั้งบุคคลและสมาชิกขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557
5. ข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มาของบุคลากรในองค์กรตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557
5.1 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
จากภาพที่ 6 และจากการตรวจสอบรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ จะพบว่า เมื่อ สนช.ได้รับการคัดเลือกจาก คสช.จึงเป็นเรื่องปกติที่ สนช.ก็จะต้องเลือกบุคคลที่มาจาก คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.นั่นหมายความว่า คสช.ต้องการให้สภานิติบัญญัติฯ ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ด้วยความราบรื่นและรวดเร็วโดยไม่มีผลประโยชน์ของกลุ่มใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า (1) ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship) ซึ่งได้แก่ ความสัมพันธ์ที่เคยร่วมศึกษาในสถาบันเดียวกันมา (สถาบันนิยม) หรือเคยร่วมงานในองค์กรเดียวกันมา (องค์กรนิยม) หรือเป็นเครือญาติกัน (เครือญาตินิยม) หรืออยู่ในหมู่บ้านเดียวกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ภูมิภาคนิยม) เป็นต้น, (2) การให้รางวัลตอบแทนทางการเมือง (Political Rewards) แก่บุคคลต่างๆ เช่นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนในการควบคุมอำนาจการปกครอง เป็นต้น และ (3) ความรู้ความสามารถรวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาเฉพาะบุคคล (Personal Experiences) น่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุดในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติส่วนใหญ่
5.2 คณะรัฐมนตรี
สำหรับกรณีคณะรัฐมนตรีนั้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีเวลาอยู่อย่างจำกัดในการบริหารประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ และด้านความขัดแย้งทางการเมือง (ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี มักกล่าวบ่อยๆ) ดังนั้นจึงคาดว่า (1) ความรู้ความสามารถรวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาเฉพาะบุคคล (Personal Experiences), (2) ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการระหว่างบุคคล(Interpersonal Relationship) และ (3) ความซื่อสัตย์หรือความน่าเชื่อถือของบุคคล (You are the one we can trust.) น่าจะเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดในการพิจารณาบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรี
5.3 สมาชิสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ในกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติก็เหมือนกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีที่มีเวลาในการปฏิบัติงานที่จำกัด แต่เพื่อให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับจึงต้องให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีบทบาทเป็นเวทีเปิดที่รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และได้เปิดโอกาสให้กลุ่มมวลชนและกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปฯ เพื่อแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการพิจารณาและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งหมายความว่า เมื่อทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทุกคนก็จะต้องยอมรับกติกาต่างๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ด้วย จะมาบิดพลิ้วหรือโต้แย้งในภายหลังไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ คสช.จึงจำเป็นต้องสรรหาบุคคลที่มีความรู้และมีประสบการณ์ในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านการปกครอง และด้านกฎหมายจากกลุ่มต่างๆ มาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปฯ และจากการตรวจสอบรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปฯ อย่างคร่าวๆ ก็อาจสรุปได้ว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญมากที่สุดในการพิจารณาคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปฯ คือ (1) การให้รางวัลตอบแทนทางการเมือง (Political Rewards) แก่บุคคลที่เข้าร่วมกิจกรรมการปฏิรูป (ของ คสช.) ซึ่งได้แก่บุคคลที่ไม่ได้ต่อต้านการเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองของ คสช.และบุคคลจากกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่แสดงเจตนาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปและร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นต้น (2) ความรู้ความสามารถรวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมาเฉพาะบุคคล (Personal Experiences) และ (3) ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการระหว่างบุคคล (Interpersonal Relationship)
6. บทสรุป
การสรรหาบุคคลเข้ามาปฏิบัติงานในคณะรัฐมนตรีและในองค์กรต่างๆ โดยพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 5 อาจกระทำได้ในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติและมีความจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้เสร็จสิ้นในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ ผู้เขียนก็ขอเสนอให้ใช้วิธีการคัดกรอง(สรรหาและคัดเลือก) บุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ โดยการจัดตั้งสำนักทะเบียนประวัติและจริยธรรมของผู้ปฏิบัติงานให้รัฐขึ้นเพื่อให้ทำหน้าที่ตามระบบการคัดกรองบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในองค์กรภาครัฐดังที่แสดงในภาพที่ 7 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2): เรื่อง การปฏิรูปทางการเมือง ตอน การสรรหาและคัดเลือกบุคคลมาปฏิบัติหน้าที่ให้รัฐ (ค้นหาโดย www.google.com แล้วพิมพ์ชื่อบทความ)
ภาพที่ 7 การคัดกรองบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ*
*สร้างโดย วีระศักดิ์ นาทะสิริ
ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า ระบบและรูปแบบการคัดกรองบุคคลตามที่นำเสนอในภาพที่ 7 จะทำให้ได้บุคคลที่มีทั้งความรู้และมีคุณธรรมตรงตามความต้องการของภาครัฐ ซึ่งย่อมจะมีคุณภาพมากกว่าที่จะให้ใครคนใดหรือคณะใดคณะหนึ่งทำหน้าที่คัดเลือก ตัวอย่างเช่น ถ้าย้อนหลังไป 2 ปีก่อนที่ คสช.จะยึดอำนาจ เราจะไม่เคยพบเลยว่า มีสมาชิกสภาปฏิรูปฯ คนใด (ที่ผ่านการสรรหา) ได้ศึกษาหรือพูดหรือเขียนข้อความใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปไว้เลย แต่ตอนนี้ทุกคนต่างพูดเรื่องการปฏิรูปกันอย่างคล่องแคล่วประหนึ่งว่าได้ค้นคว้ากันมานานแรมปี ก็รู้สึกน่าเป็นห่วงจริงๆ เพราะคนไทยส่วนใหญ่คงไม่ต้องการผิดหวังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
ท้ายบทความ : เรื่อง ขอฝากข้อความไปถึง คสช. ครม. สนช. สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ผู้เขียนขอฝากคำกล่าวของ Niccolo Machiavelli ผู้เขียนหนังสือ The Prince (ซึ่งเปรียบเสมือนคู่มือของผู้ปกครองหรือผู้นำ - เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน) มายังท่านทั้งหลายที่มีหน้าที่ ดังนี้
“It is not titles that honor men, but men that honor titles.”
*ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือส่งข้อมูลให้ผู้เขียน กรุณาส่งที่ udomdee@gmail.com