xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทยปัญหาของคนไทย (7) : เรื่องปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ตอน (7.3) ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ (Endless Conflict)-III

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบ : ต่อจากตอน (7.2)

ในบทความเรื่อง ปัญหาการก่อการร้ายในภาคใต้ของไทย ตอน (7.2) ในข้อ 5 ผู้เขียนได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ จชต.เชิงรุกที่สำคัญ 3 ประการคือ

5.1 การเพิ่มศักยภาพของประเทศเพื่อเพิ่มความรู้สึกภาคภูมิใจที่เป็นคนไทย

5.2 การแยกมิตร แยกศัตรู (Identifying the Main Opposition Groups)

5.3 สงครามที่กลุ่มก่อการร้ายไม่มีวันชนะ A war Terrorism cannot win.

สำหรับบทความตอน (7.3) นี้ ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิงรุก (Offensive Strategy) ที่สำคัญอีก 5 ประการคือ

5.4 จัดสร้างทำเนียบรัฐบาล (หรือศูนย์กลางการบริหารงานของรัฐ) ที่จังหวัดปัตตานี

ข้อเสนอแนะในเรื่องการจัดสร้างทำเนียบหรือศูนย์กลางการบริหารงานของรัฐ ผู้เขียนได้ดัดแปลงมาจากหนังสือ The Prince (chap.3) ซึ่งเขียนโดย NiccoloMachiavelli โดยมีความประสงค์ที่จะให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงไปอยู่และปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ (เช่นเดียวกับที่ได้ปฏิบัติ ณ ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ) ที่ทำเนียบรัฐบาล (แห่งที่ 2) ที่จังหวัดปัตตานี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 60 วัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ ครม.ไม่เพียงได้เรียนรู้และเข้าใจความเป็นมาของปัญหาต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ว่า รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งประชาชนในพื้นที่และมีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้อีกด้วย (ดูตัวอย่างกำหนดเวลาการปฏิบัติงานของ ครม.ในภาพที่ 1)

นอกจากปัตตานีแล้ว คณะรัฐมนตรีควรไปอยู่และปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดอื่นที่มีปัญหาในด้านต่างๆ ด้วย เช่น ในจังหวัดที่มีสินค้าหนีภาษีมาก หรือที่เป็นแหล่งซื้อขายยาเสพติด หรือที่มีปัญหาเกี่ยวกับแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตร เป็นต้น แต่ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะนี้ได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้เขียนก็ขอเสนอให้นำเรื่องรูปแบบการบริหารและการปกครองพื้นที่แบบกลุ่มจังหวัด (Provincial Cluster Organization) ในข้อ 5.5 มาปฏิบัติเป็นการทดแทนการดำเนินการตามข้อเสนอข้อ 5.4 (ที่ให้ ครม.ไปอยู่และปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดที่มีปัญหา)

       ภาพที่ 1 ตัวอย่างจังหวัดที่คณะรัฐมนตรีควรไปอยู่และปฏิบัติภารกิจเพื่อแก้ไขปัญหา

5.5 การพัฒนารูปแบบการบริหารและปกครองแบบกลุ่มจังหวัด (Provincial Cluster Organizationหรือ องค์กรบริหารและปกครองกลุ่มจังหวัด)

สำหรับข้อเสนอในเรื่องรูปแบบการบริหารและการปกครองพื้นที่แบบกลุ่มจังหวัด(Provincial Cluster Organization ซึ่งผู้เขียนได้พัฒนามาจากหนังสือ The Prince (chap.3) ซึ่งเขียนโดย NiccoloMachiavelli เช่นเดียวกับข้อเสนอ 5.4) เป็นรูปแบบการกระจายอำนาจตามลักษณะพื้นที่หรือภูมิศาสตร์โดยให้จังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงกันรวมกันเป็นกลุ่มจังหวัด (ซึ่งอาจจะเรียกว่า มณฑล ก็ได้) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการบริหาร ด้านเศรษฐกิจ และในด้านอื่นๆ ให้เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันการรวมกันเป็นกลุ่มจังหวัดยังจะเป็นการแบ่งเบาภาระในการบริหารประเทศของรัฐบาลกลางให้ลดลง โดยมุ่งหวังให้แต่ละจังหวัดนำเอาจุดแข็งที่มีอยู่ไปช่วยเสริมจุดอ่อนของจังหวัดอื่น และพร้อมๆ กันก็จะอาศัยจุดแข็งของจังหวัดอื่นมาช่วยเสริมจุดอ่อนที่มีอยู่ในจังหวัดของตนให้แข็งแรงมากขึ้น โดยกำหนดให้ผู้บริหารองค์กรกลุ่มจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลแห่งชาติ และให้มีสภาประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ ดังตัวอย่างในภาพที่ 2 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (3) เรื่อง การปฏิรูประบบราชการ


      ภาพที่ 2 รูปแบบการบริหารและการปกครองพื้นที่แบบกลุ่มจังหวัด (Provincial Cluster Organization)

อย่างไรก็ดี ถ้าจะพิจารณาถึงเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้แล้ว การใช้รูปแบบการบริหารและการปกครองพื้นที่แบบกลุ่มจังหวัดไม่เพียงจะประหยัดงบประมาณรายจ่ายเท่านั้น แต่ยังจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้สึกว่า ได้รับความสำคัญและได้รับโอกาสที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองตนเอง (ในพื้นที่ที่ตั้งรกรากหรือที่ตนอยู่อาศัย) มากขึ้น และแม้จะประหยัด แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่สำคัญคือ รัฐบาลหรือ ครม.อาจจะไม่ได้ใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่เท่ากับการที่ได้มาอยู่และปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดที่มีปัญหาด้วยตัวเอง

ในเรื่องนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้ารัฐบาลหรือ ครม.นำข้อเสนอแนะข้อ 5.4 และข้อ 5.5 ไปปฏิบัติพร้อมๆ กัน ก็จะทำให้มีความเข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และจะสามารถตกลงใจได้อย่างรวดเร็วในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อขจัดการใช้ความรุนแรงหรือก่อการร้ายให้หมดสิ้นไปก่อนที่จะสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่

5.6 ควรจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้าย (Counterterrorism Organization) หรือสำนักงานปฏิบัติการสงครามสมัยใหม่ขนาดเล็ก (New& Small Modern Warfare)

สำหรับข้อเสนอในเรื่องนี้ ได้มีหลายท่านที่ได้อ่านหนังสือของผู้เขียน “เรื่อง ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ : ความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ(Armed Conflict) การก่อการร้าย (Terrorism) และแนวทางแก้ไขปัญหา” แล้วมีความสงสัยและได้สอบถามกันมาว่า หน่วยงานต่อต้านการก่อการร้าย (หรือสำนักงานปฏิบัติการสงครามสมัยใหม่ขนาดเล็ก) จะมีรูปร่างหรือลักษณะเป็นอย่างไรและถ้าจัดตั้งขึ้นแล้วจะเอาไปไว้ที่ไหน หรือจะให้ไปสังกัดอยู่กับหน่วยงานใด

ในเรื่องที่เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายหรือสำนักงานปฏิบัติการสงครามสมัยใหม่ขนาดเล็กขึ้นมารับผิดชอบในการต่อต้านและขจัดการก่อการร้ายเป็นการเฉพาะนั้นมีเหตุผลที่สำคัญ 3 ประการคือ

5.6.1 การต่อต้านและขจัดภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศชาติเป็นงานที่มีลักษณะต่อเนื่องและไม่มีวันจบสิ้น

มีเหตุผลสำคัญหลายประการซึ่งได้ทำให้ภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศชาติไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งก็คือความต้องการของมนุษย์ที่ไม่สิ้นสุด (Endless Demand) และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (Scarcity) ไม่เพียงพอที่จะสนองตอบความต้องการของมนุษย์ได้ทุกคน นอกจากนี้มนุษย์ยังมีความแตกต่างในด้านความคิดความเชื่อทางด้านการเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมซึ่งเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ได้กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างกลุ่มคนในภูมิภาคต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงในปัจจุบัน เช่น ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันได้ก่อให้เกิดสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ความแตกต่างระหว่างเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ได้ก่อให้เกิดการสู้รบระหว่างชาวทมิฬกับรัฐบาลชาวสิงหลในศรีลังกา ความเชื่อทางศาสนาและเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกันได้ก่อให้เกิดการสู้รบระหว่างผู้ที่นับถือมุสลิมนิกายสุหนี่ (Sunni) กับชาวเคิร์ด (Kurdish) ในอิรัก และรวมทั้งการต่อสู้ระหว่างชาวอุยกูร์ (Uyghur) กับรัฐบาลจีนในมณฑลซินเจียง (Xinjiang) เป็นต้น 5.6.2 การพัฒนาคนให้มีความรู้เชี่ยวชาญในงานที่จะต้องปฏิบัติเป็นการเฉพาะ Make the Right Man, Do the Right Job (เป็นคำกล่าวของผู้เขียน)

การต่อต้านการก่อการร้ายหรือการตรวจสอบหรือหยุดยั้งการกระทำใดๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศหรือสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อสังคมและประเทศชาติ ล้วนเป็นงานที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นจะต้องสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติพิเศษจากกองทัพต่างๆ แล้วนำมาฝึกอบรมเพื่อให้มีความรู้ความชำนาญในงานที่จะได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติซึ่งก็คือ มอบหมายให้บุคคลที่ได้รับการเรียนและฝึกอบรมไปปฏิบัติงานตรงตามที่ได้ฝึกอบรมมานั่นเอง

กรณีนี้อาจเปรียบได้กับการพัฒนาฝึกอบรมบุคคลให้เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ ก็เพื่อให้ไปรักษาคนไข้โรคหัวใจ แต่ถ้าให้แพทย์เฉพาะทางหัวใจไปรักษาคนไข้ที่เป็นโรคกระดูกก็คงจะทำไม่ได้หรือถ้าทำก็อาจไม่ได้ผลดี ด้วยเหตุผลในเรื่องความรู้ความชำนาญเฉพาะ (มาจาก Frederick W. Taylor: ScientificManagement) ผู้เขียนจึงขอเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายหรือสำนักงานปฏิบัติการสงครามสมัยใหม่ขนาดเล็กขึ้นเพื่อให้มีหน้าที่และรับผิดชอบในด้านการป้องกันและขจัดภัยต่างๆ จากการก่อการร้ายและจากด้านอื่นๆ ซึ่งรวมทั้งจากการกระทำใดๆ ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มุ่งหมายทำร้ายหรือทำลายชีวิตหรือทรัพย์สินของประชาชนหรือของสังคมส่วนรวม หรือมุ่งหมายเพื่อสร้างความหวาดกลัวหรือทำลายความเป็นระเบียบของสังคมหรือมุ่งหมายที่จะแสวงหาผลประโยชน์ต่างๆ โดยกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือกระทำผิดตามกฎหมายใดๆ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือความเชื่อทางการเมือง ทางศาสนา หรือทางด้านอื่นใดของตนเองหรือของกลุ่มตน

5.6.3 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของกองทัพในยามปกติและสนับสนุนการปฏิบัติงานของกองทัพในยามไม่ปกติ

การจัดหน่วยต่อต้านการก่อการร้ายหรือสำนักงานปฏิบัติการสงครามสมัยใหม่ขนาดเล็กไม่เพียงเป็นการจัดองค์กรให้รับผิดชอบภารกิจตรงตามความรู้ความชำนาญในการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น (เป็นการใช้กำลังขนาดเล็กตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปและจะใช้พื้นที่สู้รบภายประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า ความขัดแย้งและการสู้รบในระดับจุลภาค) แต่ยังช่วยแบ่งเบาภารกิจของกองทัพต่างๆ ในเรื่องการต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มที่กระทำผิดกฎหมายต่างๆ อีกด้วย (เพราะกองทัพต่างๆ จะรับผิดชอบดูแลเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐและการสู้รบที่มีขอบเขตใหญ่กว่าซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า ความขัดแย้งและการสู้รบในระดับมหภาค คือ เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย) ดูรูปภาพที่ 3

    ภาพที่ 3โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายหรือสำนักงานปฏิบัติการสงครามสมัยใหม่ขนาดเล็ก กับกองทัพบกและกองทัพต่างๆ

จากภาพที่ 3 ควรให้สำนักงานปฏิบัติการสงครามสมัยใหม่ขนาดเล็ก (ผู้เขียนขอใช้ชื่อนี้) เป็นหน่วยงานพิเศษที่ขึ้นอยู่กับ ทบ. (เนื่องจาก ทบ.มีกำลังพลและอุปกรณ์ต่างๆอย่างพร้อมเพรียง และการสู้รบต่างๆ มักจะกระทำบนพื้นแผ่นดินเป็นหลัก) โดยกำหนดให้ รองผบ.ทบ.หรือ ผช.ผบ.ทบ.ท่านใดท่านหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ (ผบ.)ของสำนักงานนี้ และให้มีกำลังพลตามการจัดโครงสร้างของหน่วยงานนี้ และมีกำลังพลบางส่วนที่มาช่วยราชการในด้านที่มีความจำเป็น (จากทั้งทบ., ทร. ทอ.และหน่วยงานที่สำคัญอื่นๆ เช่น สตช., สำนักงานอัยการสูงสุด, ป.ป.ช., สตง., สขช., ธนาคารแห่งประเทศไทย, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น)

ผู้เขียนเชื่อว่า การจัดตั้งสำนักงานนี้ขึ้นมาจะทำให้การปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายหรือการขจัดการกระทำที่มุ่งทำลายความมั่นคงของชาติเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามาช่วยประสานงานและร่วมกันปฏิบัติภารกิจในด้านที่แต่ละหน่วยมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันและยุติการก่อเหตุรุนแรงที่ใช้อาวุธได้ในที่สุด

5.6 การโจมตีหลายๆ เป้าหมายพร้อมๆ กัน (Simultaneous Multiple Targets Strikes)

จากข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่า ไม่มีสันติภาพที่ถาวรในโลกนี้ No true peace in the World และถ้ายังไม่มีการตกลงยุติการต่อสู้และวางอาวุธของฝ่ายก่อการร้ายแล้ว ก็ต้องถือว่าสถานการณ์การต่อสู้หรือการสู้รบยังคงเหมือนเดิมคือ ยังไม่มีความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีปัญหา

สำหรับความเห็นของผู้เขียนแล้วไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีการสู้รบ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีการสู้รบ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีความสงบรัฐก็จะต้องจัดเตรียมหน่วยงานและฝึกซ้อมกำลังพลให้พร้อมเพรียงเพื่อให้ความคุ้มครองป้องกันประชาชนให้รอดพ้นจากภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการก่อการร้ายและการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่างๆ ด้วย และวิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือรัฐต้องเป็นฝ่ายรุก (โจมตี) กลุ่มก่อการร้ายและกลุ่มก่ออาชญากรรมร้ายแรงในทุกเป้าหมายพร้อมๆ กันอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายในรูปภาพที่ 4 ได้มีเวลาหยุดพักผ่อนเพราะต้องเตรียมตัวหนี หรือไม่ก็ต้องเตรียมตัวต่อสู้อยู่ตลอดเวลานั่นเอง (จาก Sun Tzu: The Art of War)

นอกจากนี้ รัฐควรแบ่งกลุ่มก่อการร้ายออกเป็นระดับต่างๆ เพื่อจะได้กำหนดมาตรการการโจมตีกลุ่มก่อการร้ายในแต่ละระดับได้อย่างเหมาะสม เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ต้องดำเนินมาตรการทางการทูตและกฎหมายเพื่อกดดันให้ส่งตัวกลุ่มผู้นำทุกคนกลับมาดำเนินคดีในไทย, ชุดต่อต้านการก่อการร้ายจะต้องเข้าโจมตีกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาและกองทัพจะต้องทำลายผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายจากต่างประเทศทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำให้ได้ เป็นต้น

        ภาพที่ 4 การเปรียบเทียบคุณลักษณะของกลุ่มก่อการร้ายกับทีมฟุตบอล

นอกจากที่กล่าวแล้วรัฐจะต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนทุกคน และโลกทั้งโลกได้เข้าใจและยอมรับว่า ฝ่ายรัฐมีความชอบธรรมตามกฎหมาย (legitimacy) ที่จะใช้มาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสมเพื่อขจัดกลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทยและสังคมโลกอีกด้วย

5.7 จัดตั้งกลุ่มหรือสมาคมเพื่อความร่วมมือในด้านต่างๆ กับประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่และในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ

การที่กลุ่มการก่อการร้ายหรือกลุ่มการเมืองใดๆ ที่ต่อต้านและสู้รบกับฝ่ายรัฐ โดยมีสาเหตุมาจากความเชื่อทางการเมืองหรือความเชื่อทางศาสนาที่ถูกบิดเบือน หรือมาจากการยึดมั่นในอัตลักษณ์นิยมที่ไม่ยอมรับวัฒนธรรมอื่นที่แตกต่าง หรือมาจากความหลงเชื่อประวัติศาสตร์ที่ถูกแต่งเติมเสริมแต่งให้ผิดไปจากความเป็นจริง หรือมาจากความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในอดีต เป็นต้น

ด้วยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวรัฐจึงไม่อาจใช้อาวุธเข้าต่อสู้เพื่อให้ได้ผลแพ้ชนะกับกลุ่มคนเหล่านี้ได้เพียงวิธีเดียวเท่านั้น แต่รัฐจำเป็นต้องศึกษาหาวิธีการต่อสู้ในด้านอื่นๆ อีกเพื่อเอาชนะจิตใจและความรู้สึก (To Win Heart and Mind) ของผู้ก่อการร้ายและแนวร่วมต่างๆ ให้ได้ โดยผู้เขียนขอเสนอให้มีการจัดตั้งชมรมหรือสมาคมเพื่อร่วมมือในด้านต่างๆ กับประชาชนในพื้นที่ตัวอย่างเช่น

(1) ด้านความคิดความเชื่อรัฐจะต้องจัดตั้งชมรมหรือสมาคมเผยแพร่ศาสนาแห่งชาติเพื่อเผยแพร่คำสอนที่ถูกต้องของศาสนาต่างๆ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบและเข้าใจคำสอนของศาสนาต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เพื่อไม่ให้หลงเชื่อคำสอนที่ถูกบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงที่มุ่งสร้างความแตกแยกระหว่างกลุ่มคนที่นับถือศาสนาต่างกันเพราะกลุ่มก่อการร้ายต้องการแบ่งแยกประชาชนในพื้นที่ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่นับถือศาสนาเดียวกับกลุ่มก่อการร้าย ก็จะได้รับการชักจูงให้เป็นแนวร่วม สำหรับกลุ่มที่นับถือศาสนาอื่นก็จะได้รับการข่มขู่ ถูกทำร้ายหรือถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมเพื่อผลักดันให้ออกไปจากพื้นที่

(2) ด้านเศรษฐกิจนอกเหนือจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว รัฐควรจัดตั้งสมาคมส่งเสริมธุรกิจการค้าในพื้นที่ โดยร่วมมือกับนักธุรกิจในพื้นที่เพื่อเสนอให้มีการจัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าในภูมิภาคอื่นของประเทศ และส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตที่มีขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มการจ้างแรงงานในพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการประกอบอาชีพได้หลากหลายมากขึ้นด้วย

(3) ด้านการกีฬานอกจากการดำเนินงานของกระทรวงกีฬาฯ แล้ว รัฐควรจัดตั้งสมาคมกีฬาต่างๆ ในพื้นที่เพื่อจัดการฝึกอบรมให้เยาวชนและประชาชนได้เรียนรู้วิธีการเล่นกีฬาชนิดต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้เข้าร่วมการคัดเลือกเป็นตัวแทนนักกีฬาในแต่ละประเภทของจังหวัดเพื่อเข้าแข่งขันทั้งในระดับประเทศและในระดับนานาชาติต่อไป

โดยสรุปแล้วผู้เขียนเชื่อว่า การเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ กับภาครัฐและองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ จะทำให้มีการพบปะสังสรรค์มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และมีการพัฒนาความสัมพันธ์กันจนก่อให้เกิดเป็นมิตรภาพระหว่างกลุ่มคนขึ้น ซึ่งจะทำให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่างกันของบุคคลอื่นจนสามารถอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในสังคมได้โดยไม่มีความขัดแย้งใดๆ ในที่สุด (ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้ผลตามที่มุ่งหวัง-ผู้เขียน)

5.8 ร่วมมือกับประเทศที่ประสบปัญหาการก่อการร้าย เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย ฟิลิปปินส์ และสเปน เพื่อร่วมกันจัดตั้งกลุ่มประเทศต่อต้านการก่อการร้าย

การร่วมมือกับประเทศที่ประสบปัญหาการก่อการร้ายในทุกๆด้านที่เกี่ยวข้องกับการก่อความรุนแรงโดยใช้อาวุธ จะทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์ที่สามารถนำมาพัฒนากลยุทธ์การต่อต้านการก่อการร้ายและการก่ออาชญากรรมร้ายแรงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตัวอย่างเช่น

(1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ จะทำให้เข้าใจถึงรูปแบบและวิธีการของการก่อการร้ายที่แต่ละกลุ่มนิยมใช้

(2) การฝึกร่วมกันหลายครั้งในการป้องกันการวางระเบิดของกลุ่มก่อการร้ายจะทำให้มาตรการป้องกันการวางระเบิดได้ผลดียิ่งขึ้น

(3) การร่วมมือกันตรวจสอบเส้นทางการเงินต่างๆ ของบุคคลต้องสงสัยจะทำให้ทราบที่มาของเงินและผู้สนับสนุนที่อยู่ในประเทศและในต่างประเทศ และถ้าพิสูจน์ทราบได้ก็สามารถร่วมมือกันอายัดบัญชีและทรัพย์สินต่างๆ ของกลุ่มบุคคลต้องสงสัยได้และ

(4) การร่วมมือกันจัดทำคู่มือการต่อต้านการก่อการร้ายจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติได้เห็นภาพและเข้าใจโครงสร้างและการปฏิบัติการของกลุ่มก่อการร้ายได้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น

ข้อเสนอ 5.8 นี้ผู้เขียนได้พัฒนามาจากหนังสือ The Art of War: chap. 1 เขียนโดย Sun Tzu ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

การคำนวณ (คิดทบทวนหรือเตรียมการ) หลายครั้งย่อมนำไปสู่ชัยชนะ การคำนวณ(คิดทบทวน) น้อยครั้งย่อมนำไปสู่ความพ่ายแพ้..........................................

“Thus do many calculations lead to victory, and few calculations to defeat;…………………”

บทสรุป

ข้อเสนอต่างๆ ที่ผู้เขียนได้นำเสนอในบทความที่ 7, 7.2, 7.3 ส่วนใหญ่ได้พัฒนามาจากหนังสือที่เป็นหลักจำนวน 7 เล่มคือ (1) The Art of War ซึ่งเขียนโดย Sun Tzu, (2) The Prince เขียนโดย Niccolo Machiavelli, (3) สามก๊ก ฉบับที่แปลโดย วรรณไว พัธโนทัย,(4)Internal Wars: Rethinking Problem and Response เขียนโดย อาจารย์ Max G. Manwaring แห่งวิทยาลัยการสงคราม ประเทศสหรัฐอเมริกา, (5) Counterinsurgency Operations ของ U.S.A. Joint Chiefs of Staff, Joint Publication 3-24, (6) Microeconomics 8th.ed.เขียนโดย Robert Pindyckและ (7) Macroeconomics 8th.ed. เขียนโดย N. Gregory Mankiw

ท้ายบทความ : เรื่อง บทความของผู้เขียน และสภาปฏิรูปแห่งชาติ

มีหลายท่านถามมาว่า ทำไมต้องใส่วงเล็บภาษาอังกฤษไว้ด้วย ก็ขอชี้แจงว่า เนื่องจากมีนักวิชาการ อาจารย์ นิสิตนักศึกษา ข้าราชการ และนักการเมืองหลายท่านได้ติดตามอ่านบทความของผู้เขียนมาอย่างต่อเนื่อง และอาจมีบางท่านต้องการค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดยิ่งขึ้นด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงจำเป็นต้องระบุภาษาอังกฤษควบคู่กันไปเท่าที่จะทำได้ และจะระบุชื่อหนังสือรวมทั้งข้อความที่อ้างอิงเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้ทราบที่มาและที่ไปของข้อความต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่านหนึ่งได้เคยถามผู้เขียนว่า ได้เอาทฤษฎีหรือแนวความคิดของใครมาใช้ในการแก้ไขปัญหาในภาคใต้ เพราะอ่านแล้วดูแปลกไปจากอาจารย์ท่านอื่นๆ ที่ได้เคยศึกษาและทำการวิจัยไว้ ก็ขอตอบท่านว่า ผู้เขียนได้จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา (ภาคใต้) โดยได้พัฒนามาจากแนวความคิดของ Sun Tzu, Niccolo Machiavelli, อาจารย์ Max G. Manwaring และหนังสือสามก๊กเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้ท่านรู้สึกแปลกไปจากที่เคยได้อ่านมา

มีผู้ถามอีกว่า จะรวบรวมพิมพ์เป็นเล่มหรือไม่ ก็ขอตอบว่า กำลังคิดอยู่ครับ

เรื่องสุดท้าย คือ ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วยครับ มีหลายท่านที่รู้จักกันมานาน หลายท่านเป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน แต่ก็มีหลายท่านที่ดูแล้วไม่น่าที่จะถนัดในเรื่องแบบนี้ (หรือท่านประยุทธ์คงได้ดูแต่ชื่อ คงไม่มีเวลาได้ดูประวัติ) ก็ขอให้ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถและบรรลุผลสำเร็จตามที่ประชาชนทั้งประเทศตั้งความหวังไว้ และขอให้ท่านอย่าเดินตามกรอบ(รอยเท้า)เดิมของรุ่นพี่ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็น “เหล้าเก่าในขวดใหม่” และจะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงจริงๆ

แสดงความคิดเห็นหรือต้องการส่งข้อมูลต่างๆ กรุณาส่งที่ udomdee@gmail.com ขอบคุณครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น