หน.ปชป.เผยปฏิรูปยังอยู่ระดับหนึ่ง ย้ำระวังกลุ่มประโยชน์ขัดกัน ชี้พรรคการเมืองควรอยู่ในฐานะให้ข้อมูล แทนร่วมตัดสิน แนะ คสช.เผยข้อมูลสะท้อนความเห็น เรียนรู้อดีต ยก ตปท.ชี้มีปัญหาจริงต้องยอมรับ ทุกคนหวังมีมาตรฐานสากล ชี้ คสช.อยู่ในช่วงรวมข้อมูล ยกขอนแก่นโมเดล เหมาะแจง ตปท. ลั่นกลัวแต่แตกแยกยิ่งสร้างความเข้าใจยาก ไม่แปลกใจการเมืองเคลื่อนไหวใน ตปท.
วันนี้ (27 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการปฏิรูปประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ว่าเท่าที่ทราบคณะทำงานมีการรวบรวมความเห็นจากกลุ่มต่างๆ รวมทั้งจากพรรคการเมืองด้วย โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ให้ความเห็นและข้อมูลไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน การกระจายอำนาจ การปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ปัญหาที่ดินทำกิน ไปจนถึงเรื่องพลังงาน การศึกษา สื่อมวลชนและการเมือง โดยเข้าใจว่าหลังจากนี้อาจจะมีการจัดประชุมสัมมนาแต่ไม่ทราบว่าจะมีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถือว่าอยู่ในระยะที่หนึ่ง เพื่อรวบรวมข้อมูลส่งไปให้สภาปฏิรูป ทั้งนี้พรรคอยากเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม โดยให้ระมัดระวังกลุ่มที่มีผลประโยชน์ขัดกันหรือกลุ่มที่มีส่วนได้เสียก็ต้องระมัดระวัง
เมื่อถามว่าหากมีการขอให้พรรคประชาธิปัตย์ส่งตัวแทนไปร่วมในสภาปฏิรูปจะตัดสินใจอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าสภาปฏิรูปทำกติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ตนก็เห็นว่าพรรคการเมืองควรอยู่ในฐานะที่ให้ความเห็นหรือให้ข้อมูลมากกว่าที่จะไปมีส่วนร่วมในการลงคะแนนตัดสินใจเพราะจะกลายเป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน สำหรับองค์ประกอบของสภาปฏิรูปที่จะทำให้เกิดความมั่นใจต่อประชาชนนั้นเห็นว่าควรจะมีความหลากหลาย เปิดเผยข้อมูลและให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งตนก็มีความเป็นห่วงอยู่ เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่าการทำงานระหว่าง คสช.กับสื่อมวลชนยังต้องปรับความเข้าใจกัน หากถึงจุดที่ต้องเดินหน้าเรื่องการปฏิรูป การให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนให้ภาคสังคมสามารถสะท้อนความเห็นได้เป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนกรณีที่ คสช.ตั้งคณะกรรมการ 5 ชุดขึ้นมากำกับดูแลสื่อมวลชนแขนงต่างๆ นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นห่วงตรงนี้ว่าทำอย่างไรในช่วงการปฏิรูปจะทำให้ข้อมูลข่าวสารมีการแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าในช่วงที่เข้ามาจำเป็นต้องให้ทุกอย่างสงบสังคมมีความเข้าใจ แต่เมื่อถึงจุดที่จะต้องพิจารณาทิศทางอนาคตของประเทศ มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราต้องเรียนรู้จากอดีตด้วย ถ้าเราไม่ยอมพูดถึงสภาพปัญหาเลยก็จะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และตอนนี้ก็มีแรงกดดันจากต่างประเทศ คสช.ก็ต้องชี้แจง อะไรที่เป็นปัญหาจริงต้องยอมรับว่ามีและแก้ไข เช่น แรงงานต่างด้าว ไม่มีอะไรดีกว่าการแสดงให้เห็นว่าจริงจังเดินหน้าแก้ปัญหา กรณีการเมืองเขาคงจับตาเรื่องสิทธิมนุษยชนก็ต้องว่าตามความเป็นจริง เรามีหน้าที่ให้บ้านเมืองเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ทุกคนก็ปรารถนาที่จะเห็นบ้านเมืองมีมาตรฐานสากล จึงต้องอธิบายให้ได้ว่าเราเดินไปขั้นตอนไหนอย่างไร
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงการเข้าควบคุมการบริหารประเทศของ คสช. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาว่า คสช.ได้หยุดยั้งปัญหาที่คนกลัวในเรื่องความรุนแรงความไม่สงบ มีการจับกุมอาวุธเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็มีการสะสางบางปัญหาที่ต้องจัดการ แต่ในเชิงโครงสร้างการปฏิรูปยังอยู่แค่ในช่วงการรวบรวมข้อมูลเท่านั้น ยังไม่เห็นว่าจะเดินหน้าทิศทางไหนคิดว่าคงต้องรอระยะที่สอง
“ผมคิดว่าประเด็นที่ดำเนินการแล้วต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบ เกี่ยวโยงกับใครก็ควรเผยแพร่ด้วย เพราะปัญหาเรื่องการจับกุมอาวุธจะช่วยให้เราชี้แจงต่างประเทศได้มากด้วย ผมก็แปลกใจว่าทำไมเรื่องขอนแก่นโมเดลจึงเงียบไป เพราะจากที่มีโอกาสสนทนากับต่างชาติสิ่งที่จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น คือการนำข้อเท็จจริงพวกนี้ออกมา หากไม่กล้าเอาข้อเท็จจริงเหล่านี้ออกมา เพราะว่ากลัวเกิดความแตกแยกก็ยากที่จะสร้างความเข้าใจได้ และการปฏิรูปประเทศต้องยอมรับสภาพความเป็นจริงของปัญหาเผชิญกับปัญหาอย่างตรงไปตรงมา” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ส่วนการเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองในต่างประเทศนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คาดการณ์กันอยู่แล้ว
สำหรับการตั้งคณะกรรมการคุมรัฐวิสาหกิจหรือที่เรียกกันว่าซูเปอร์บอร์ดนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ชัดเจนว่าอำนาจหน้าที่ครอบคลุมแค่ไหน แต่องค์ประกอบในส่วนภาคเอกชนตัวบุคคลก็เป็นที่ยอมรับ แต่ยังไม่ทราบว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่จะเกี่ยวข้องกับแต่ละรัฐวิสาหกิจมากน้อยแค่ไหน ส่วนจะต้องรอให้มีกฎหมายรองรับหรือไม่ยังไม่แน่ใจว่า คสช.ตั้งใจทำในลักษณะให้สะสางปัญหาเฉพาะหน้า หรือเป็นเรื่องของโครงสร้างต่อไป