xs
xsm
sm
md
lg

สั่งยกคดีสนามบินสุวรรณภูมิ ไม่ระงับเครื่องขึ้นลง5ทุ่ม-ตี5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่ นายชั้น ด้วงใหญ่ และพวกรวม 23 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ลาดกระบัง มีนบุรี ของกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ฟ้องบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-6 กรณีขอให้สั่งผู้ถูกฟ้อง ระงับการให้บริการขึ้นลงของเครื่องบินทุกประเภท ในช่วงเวลา 23.00 -05.00 น. ของทุกวัน เพื่อคุ้มครองสิทธิในการพักผ่อนของประชาชนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ และพิพากษาให้กระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมการสิ่งแวด ล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.45 และที่เห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มี.ค. 48 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศให้สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษ
โดยเหตุผลที่ศาลฯ ยกฟ้องระบุว่า ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยวิธีประชาพิจารณ์ 2539 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนั้น ให้เป็นดุลยพินิจของ รมว.คมนาคม ที่จะพิจารณาความเหมาะสมว่า ควรมีการจัดรับฟังความคิดเห็นโดยวิธีประชาพิจารณ์ หรือไม่ เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่า รมว.คมนาคม ใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ศาลจึงไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปใช้ดุลยพินิจพิจารณาทบทวนแทนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบโดยตรง ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ และโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้เริ่มดำเนินการไปก่อนที่ระเบียบฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 ก.ย. 48
ดังนั้น มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการประชุมวันที่ 2 พ.ค.45 และวันที่ 10 มี.ค. 48 จึงไม่ได้เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนที่อ้างว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี ละเลยปฏิบัติหน้าที่ ไม่ประกาศให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ และไม่กำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษนั้น เห็นว่าจากรายงานผลการตรวจวัดระดับเสียงตั้งแต่ก.ค.50-มิ.ย.55 จำนวน 13 สถานีตรวจวัด พบว่า ค่าระดับเสียงเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินจากเกณฑ์มาตรฐานเพียงเล็กน้อย และเป็นเฉพาะบางช่วงของการตรวจวัด ขณะที่กากของเสียทั้งหมดทางบริษัทท่าอากาศยานไทยก็ได้ว่าจ้างบริษัทที่ได้รับการอนุญาตตามกฎหมายนำไปกำจัด ไม่ได้ปล่อยให้มีการรั่วไหล หรือแพร่กระจายออกสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก ปัญหามลพิษทางเสียง และทางอากาศในพื้นที่พิพาท จึงยังไม่ถึงขั้นมีแนวโน้มร้ายแรงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังอยู่ในวิสัยที่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ ขณะเดียวกัน นายชั้น และพวกทั้ง 23 คน เข้ามาพักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวหลังจากที่กระทรวงคมนาคม มีประกาศกำหนดเขตปลอดภัยในการเดินอากาศ 12 ธ.ค.16 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ที่จะเรียกร้องให้รัฐชดเชยผลกระทบทางเสียงให้ตามกฎหมายได้ และการที่จะให้ศาลมีคำสั่ง บริษัทท่าอากาศยานไทย ระงับการให้บริการขึ้นลงของเครื่องบินทุก ประเภท ในช่วงเวลา 23.00 -05.00 น.ของทุกวัน เพื่อคุ้มครองสิทธิในการพักผ่อนของผู้ฟ้องคดี และประชาชนโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมินั้น ก็เห็นว่า การจำกัดช่วงเวลาทำการบินในเวลากลางคืน จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อระบบการขนส่งและเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศ กรณีจึงไม่มีเหตุผลอันสมควรที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจมีคำสั่งตามที่ขอ

---------
กำลังโหลดความคิดเห็น