“คมนาคม” ผุดแผนลงทุนพัฒนา 6 สนามบินภูมิภาค รองรับท่าเรือทวาย และเชื่อมประเทศอาเซียน 6 ประตูชายแดน โดยจะก่อสร้าง 6 สนามบินใหม่ ที่ เบตง, แม่สอด, มุกดาหาร, อุตรดิตถ์, กาญจนบุรี และสระแก้ว และขยายขีดความสามารถสนามบินแม่สอด “อาคม” เผยเร่งศึกษาสรุปแผนใน 1-2 เดือน เตรียมเริ่มก่อสร้างในปี 58
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคม มีแผนที่จะศึกษาการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค 6 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทาง ทั้งนักท่องเที่ยว และนักธุรกิจเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในภูมิภาค และเชื่อมโยงประเทศในอาเซียนในทุกภาค ประกอบด้วย 1.ท่าอากาศยานแม่สอด เพื่อรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ สามารถเชื่อมโยงการเดินทางระหว่าง East West Corridor และกรุงเทพมหานคร ไปยังประเทศพม่าได้สะดวกมากขึ้น 2.ท่าอากาศยานเบตง จะเป็นความร่วมมือระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อเชื่อมโยงการเดินทาง และสร้างความเจริญในพื้นที่ โดยขณะนี้ผ่านการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว
3.ท่าอากาศยานมุกดาหาร ที่ อ.เลิงนกทา ซึ่งจะรองรับการความต้องการเดินทางของภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบัน จ.มุกดาหาร ไม่มีสนามบิน หากผู้โดยสารต้องการเดินทางโดยเครื่องบินจะต้องไปลงที่สนามบิน จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการจำนวนมาก หรือไปลงที่สนามบินนครพนม และเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปยังมุกดาหาร
4.ท่าอากาศยานอุตรดิตถ์ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการเดินทางสู่พื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือที่ยังไม่มีสนามบิน 5.ท่าอากาศยานกาญจนบุรี ซึ่งคาดว่าเมื่อการพัฒนาโครงการท่าเรือทวายเต็มโครงการในอนาคต จะมีนักธุรกิจเดินทางในเส้นทางนี้มากขึ้น ดังนั้น จะต้องเตรียมความพร้อมของสนามบินไว้รองรับ และ 6.ท่าอากาศยานสระแก้ว ที่ อ.อรัญประเทศ หรือที่ อ. คลองลึก จ.ตราด เพื่อเชื่อมกับฝั่งประเทศกัมพูชา
นายอาคม กล่าวว่า จะศึกษารายละเอียดสรุปแผนการลงทุนทั้ง 6 ท่าอากาศยานให้แล้วเสร็จใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อเริ่มดำเนินโครงการภายในปี 2558 โดยจะใช้เวลาในการก่อสร้างและพัฒนาประมาณ 5 ปี ทั้งนี้ นอกจากการศึกษาความเหมาะสม ความจำเป็น ซึ่งเป้าหมายในการลงทุนดังกล่าวเพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางจากเดิมที่ใช้เส้นทางถนนเป็นหลัก มาเป็นการเดินทางโดยเครื่องบินแล้ว จะต้องพิจารณาหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย ว่า จะเป็นกรมการบินพลเรือน (บพ.) หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.
สำหรับกรณีที่ยังมีท่าอากาศยานภูมิภาคหลายแหล่งที่ยังประสบปัญหาขาดทุน และไม่มีสายการบินไปให้บริการนั้น นโยบายต้องการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาคให้เต็มที่ ซึ่งขณะนี้แนวโน้มความต้องการในการเดินทาง และจำนวนผู้โดยสารมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งไม่ได้เน้นการท่องเที่ยวในเมืองหลักๆ อย่างเดียว ดังนั้น เมืองรอง หากมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีจะรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้นไปด้วย